posttoday

ชล วจนานนท์ การเดินทางคือหนังสือที่ไม่มีตอนจบ

23 กรกฎาคม 2559

สาวเมืองหลวงหนีกรุงไปเที่ยวจนติดใจและค้นพบตัวตนใหม่ที่เธอเองยังตื่นเต้น ชลลี่-ชล วจนานนท์

โดย...รอนแรม ภาพ... ชล วจนานนท์

สาวเมืองหลวงหนีกรุงไปเที่ยวจนติดใจและค้นพบตัวตนใหม่ที่เธอเองยังตื่นเต้น ชลลี่-ชล วจนานนท์ ผู้ประกาศข่าวช่องทีเอ็นเอ็น 24 หรือที่หลายคนเรียกเธอว่า เซเลบริตี้ ชลลี่เกิดกรุงเทพฯ โตกรุงเทพฯ เรียนในกรุงเทพฯ แต่เพราะได้ทำงานที่ต้องเดินทาง ทำให้เธอค้นพบโลกใหม่ที่มีชลลี่อีกคนอยู่ในนั้น

เดินทาง

ชลลี่ทำรายการท่องเที่ยว รอบเมืองไทยวาไรตี้ มาได้สองปีกว่า ซึ่งหมายความว่าเธอเดินทางไม่หยุดหย่อนมานานเท่านั้น “ชลพยายามนำเสนอผ่านมุมมองของตัวเอง ผสมผสานกับสิ่งที่ทีมงานอยากบอกแก่ผู้ชม ไม่ใช่การท่องเที่ยวที่อินดี้จ๋าหรือหรูหราฟู่ฟ่า แต่เราเที่ยวแบบคนธรรมดา เป็นคนปกติที่ออกเดินทางแค่นั้น”

ชล วจนานนท์ การเดินทางคือหนังสือที่ไม่มีตอนจบ

 

รายการเพิ่งได้รับรางวัลดาวเมขลา ประเภทรายการส่งเสริมการท่องเที่ยวโซนเอเชีย ซึ่งรายงานได้นำเสนอการท่องเที่ยวหลายรูปแบบทั้งเชิงอนุรักษ์ เชิงวัฒนธรรมประเพณี และเชิงวิถีชีวิต เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นการท่องเที่ยวที่หลากหลายและไปตามรอยได้จริง

“ชลโตมาในเมือง เรียนจบมหาวิทยาลัยก็ไม่เคยไปไหนเลย อยู่แต่ในเมืองตลอด จนมีโอกาสไปเรียนต่อปริญญาโทที่อเมริกา ทำงานเก็บเงินไปเรื่อยๆ คนอื่นอาจเก็บเงินเพื่อไปซื้อของ แต่ชลเก็บไปทุ่มกับการเที่ยว เพราะเรามองว่าสิ่งของจะซื้อตอนไหนก็ได้ แต่ประสบการณ์ชีวิตมันต้องไปทันที เพราะถ้าช้าเกินไปมันอาจจะไม่อยู่กับเราแล้วก็ได้ ทั้งภัยพิบัติต่างๆ กำลัง อายุ เราเลยเลือกซื้อประสบการณ์” เธอกล่าว

ชล วจนานนท์ การเดินทางคือหนังสือที่ไม่มีตอนจบ

 

ค้นพบ

เมื่อได้เดินทาง เธอก็ได้ค้นพบ ชลลี่สารภาพว่าเท่าที่ผ่านมาเธอใช้ชีวิตเป็นคนเมืองเต็มรูปแบบ เรียน ทำงาน หาเงิน ไม่มีจุดหมายปลายทางของชีวิต แต่การเดินทางทำให้เธอค้นพบในสิ่งที่คนอื่นชอบพูดกันคือคำว่า “แพสชั่น (Passion)” เธอยิ้ม “สุดท้ายเราก็เจอแล้วว่าการท่องเที่ยวนี่แหละคือแพสชั่นของเรา เพราะทุกครั้งที่ได้ไปเที่ยวมันคือการเติมเต็มชีวิต”

เมื่อเธอค้นพบทำให้เธอเริ่มขวนขวาย หน้าที่พิธีกรรายการท่องเที่ยวเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้เธอได้เดินทางและได้เจอคนหลากหลาย ตั้งแต่ท่านทูตไปถึงเกษตรกรที่ให้มุมมองการใช้ชีวิตต่างกัน

“การที่เราได้เดินทางไปคุยกับคนหลายกลุ่มทำให้เราไม่มีความคิดในการดูถูกคน แม้ว่าเขาจะใช้ชีวิตไม่เหมือนเรา แต่เขาก็มีข้อคิดดีๆ ทุกครั้งที่ได้เจอ เราก็เหมือนเขา เกิดมาเหมือนกันแต่ว่าการต่อยอดชีวิตอาจต่างกัน ซึ่งทุกคนมีคุณค่าในตัวเองเสมอ”

ชล วจนานนท์ การเดินทางคือหนังสือที่ไม่มีตอนจบ

 

ชลลี่เดินทางเพื่อทำงานทุกเดือน และเดินทางเพื่อพักผ่อนปีละ 4 ครั้ง ซึ่งทั้งสองวาระเป็นตัวเธอที่ต่างกัน ภาคหนึ่งเป็นเที่ยวลุยอีกภาคเป็นเที่ยวสบายกับครอบครัว เธอเล่าเหตุการณ์นอนกลางดิน กินกลางทราย บนเกาะช้าง จ.ระนอง เกาะที่มีไฟฟ้า ไม่มีประปาเธอนอนบนชายหาดใต้ต้นไม้ ไม่มีหมอน ไม่มีผ้าห่ม ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนคิดว่าชลลี่คนเมืองจะทำไม่ได้

“แต่ละคนมีกำแพงชีวิต แต่การท่องเที่ยวทำให้กำแพงนั้นค่อยๆ หายไป ทำให้เราเป็นคนเปิดใจมาก” เธอกล่าว “ไม่ใช่ว่าการอยู่ในเมืองมันไม่ดี เพราะชีวิตในเมืองมันก็เติมเต็มชีวิตเหมือนกัน แต่การเห็นโลกกว้างคือการเติมเต็มชนิดพิเศษที่ยิ่งเติม ช่องว่างในนั้นก็ยิ่งกว้างขึ้นเพื่อรองรับประสบการณ์ใหม่ต่อไปอีกเรื่อยๆ”

ประสบการณ์

ถ้าให้เล่าประสบการณ์ท่องเที่ยวในเมืองไทยเธอขอแบ่งเป็นภูมิภาคอย่างภาคเหนือ เธอยกให้ จ.ลำปาง เมืองที่ไม่หมุนตามกาลเวลา ทั้งสถาปัตยกรรมเก่า วิถีชีวิตเรียบง่าย รถม้าและวัฒนธรรมโบราณที่ยังรักษาสืบต่อกันมา

ภาคอีสาน เธอเลือก จ.เลย “ชอบห้วยกระทิงมาก” เธอเล่า “มีบ้านแพที่อนุญาตให้เปิดเป็นร้านอาหาร ไปนั่งชิล นอนผึ่งพุง และน้ำในห้วยกระทิงสะอาดมาก โอบล้อมด้วยภูเขา บนเขามีต้นไม้ผลัดใบสีแดงๆ ทั้งธรรมชาติ อาหาร อากาศ ทุกอย่างดีหมด เราแค่อยู่เฉยๆ ฟังเสียงน้ำกระทบแพก็มีความสุขแล้ว” ส่วนอุบลฯเธอเล่าถึงถ้ำผาแต้มที่มีทั้งธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และศิลปะ และสามพันโบก หรือแกรนด์แคนยอนเมืองไทย ที่สวยงามไม่แพ้ที่ไหนเลย

ชล วจนานนท์ การเดินทางคือหนังสือที่ไม่มีตอนจบ

 

สำหรับภาคใต้ เธอยกให้ จ.สตูล เพราะชอบหลีเป๊ะมากเป็นพิเศษ ทั้งน้ำทะเลสีฟ้าใส ทรายสีขาว แต่เธอก็มีความเป็นห่วงหลีเป๊ะ เพราะความเจริญเริ่มเข้าไปแล้ว “เราต้องเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ไม่อยากได้ยินคำว่าให้รีบไปเที่ยวก่อนที่มันจะพัง เพราะนั่นหมายความว่า เรากำลังไปทำลายธรรมชาติหรือเปล่า แต่หากเราเปลี่ยนมาเป็นเที่ยวแบบอนุรักษ์ แบบหวงแหนบ้านเกิดตัวเอง ไม่ว่าเวลาไหนเราก็สามารถกลับไปใหม่ได้”

นอกจากนี้ เธอยังแชร์ข้อคิดจากเสียงของชาวบ้านว่า คนในพื้นที่ไม่ต้องการให้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่เขาเปิดบ้านให้คนมาใช้ชีวิตแบบที่เป็นอยู่ต่างหาก ซึ่งหากนักท่องเที่ยวมีความคิดแบบนี้ คำว่าการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนก็จะไม่ใช่คำสวยหรู แต่สามารถเป็นความจริงที่เกิดขึ้นได้

โลกของชลลี่

ถ้ามีโลกของตัวเองหนึ่งใบ ชลลี่อยากให้โลกใบนั้นยังอยู่ในสภาพปกติดั้งเดิม และให้มนุษย์ปรับตัวเข้าหาสิ่งแวดล้อม มากกว่าที่จะตักตวง “การใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติคือปัจจัยหลักที่ทำให้โลกอยู่ได้อย่างยั่งยืน หลายคนไม่ตระหนักถึงผลกระทบเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วไม่ไกลตัวเราหรอก อย่างตอนนี้ธรรมชาติก็กำลังแสดงผลกระทบจากการตักตวงของมนุษย์อยู่” เธอทิ้งท้าย

การเดินทางเติมเต็มชีวิต (เธอพูดคำนี้หลายครั้งระหว่างการสนทนา) และเธอยังเปรียบเทียบว่าการท่องเที่ยวเหมือนการอ่านหนังสือที่ไม่มีหน้าสุดท้ายบางช่วงอาจเบื่อ บางช่วงอาจไม่ชอบเรื่องราว แต่ในหน้าต่อไปมันจะมีเหตุการณ์ใหม่ๆ มาให้อ่านเสมอ