posttoday

วิถีเชียงตุง

30 เมษายน 2559

เชียงตุงเป็นเมืองที่มีความปลอดภัยมากที่สุดเมืองหนึ่งในรัฐฉานของประเทศเมียนมา

โดย...ทีมงานโลก 360 องศา [email protected]

เชียงตุงเป็นเมืองที่มีความปลอดภัยมากที่สุดเมืองหนึ่งในรัฐฉานของประเทศเมียนมาถึงแม้ว่าผู้คนที่นี่จะประกอบไปด้วยชาติพันธุ์และศาสนาที่หลากหลาย แต่ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมเกลียว อีกสาเหตุหนึ่งนั่นก็คือประชากรส่วนใหญ่ของที่นี่เป็นชาวไทเขิน ซึ่งมีบุคลิกลักษณะเฉพาะตัวคือเป็นคนอ่อนโยนและรักสงบ

ชาวไทเขินตั้งรกรากที่นี่มาตั้งแต่โบราณ สร้างบ้านเรือนอยู่ในตัวเมืองเชียงตุงและตั้งชุมชนอยู่ตามชานเมือง เพื่อใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ท่ามกลางธรรมชาติและวิถีเกษตรกรรมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ หากอยากจะหาชมวิถีชีวิตเหล่านั้น ก็ต้องเดินทางออกมานอกเมือง ซึ่งหนึ่งในหมู่บ้านที่เราได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนก็คือหมู่บ้านยางขวาย หนึ่งในชุมชนไทเขินโบราณที่ยังคงอนุรักษ์วิถีชีวิตในแบบดั้งเดิม

ผู้คนที่หมู่บ้านนี้ใช้ชีวิตแบบพอเพียง แต่ละบ้านจะปลูกข้าวไว้กินเองและแบ่งขาย เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ บนเนื้อที่ที่จัดสรรแบ่งปันกันอย่างเอื้อเฟื้อในครอบครัว ทำให้แทบจะไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรเลย เดือนๆ หนึ่งก็จะเข้าตลาดไปซื้อข้าวของบ้าง เช่น เกลือ น้ำตาล และน้ำมัน ส่วนเสื้อผ้าหรือเครื่องใช้ที่มีราคาแพงปีๆ หนึ่งพวกเขาก็จะซื้ออยู่ประมาณ 2 ครั้ง  ก็คือช่วงสงกรานต์และช่วงออกพรรษา ซึ่งจะนำเงินที่เก็บหอมรอมริบออกมาใช้จ่ายกันเพราะที่นี่ไม่มีระบบเงินผ่อน

วิถีเชียงตุง ผู้เฒ่าชาวอาเข่อ

 

ผู้คนที่นี่นิยมปลูกบ้านยกพื้นสูง จะไม่มีการฝังเสาเอกลงในดิน แต่จะนิยมนำหินมารองฐานเพื่อป้องกันปลวก ส่วนฝาผนังบ้านทำด้วยไม้ไผ่สานหรือไม้แผ่น ใครพอมีฐานะจะสร้างบ้านที่ก่อผนังด้วยอิฐ เพื่อเสริมความแข็งแรงของตัวบ้าน ซึ่งที่นี่ก็มีชื่อเสียงในการทำอิฐ มีชื่อเรียกว่าอิฐมะอุด เป็นอิฐที่มีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งในรัฐฉาน คนทำอิฐบอกกับเราว่า  เพราะเชียงตุงไม่เคยแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำ ทำให้ดินที่นี่มีความชุ่มชื้นและจับตัวเป็นก้อนได้ดี จึงเหมาะสำหรับทำอิฐโดยจะนิยมทำกันในฤดูร้อน เพราะว่างเว้นจากการทำนา  จึงมีเจ้าของนาหลายแห่ง ขายดินเพื่อทำอิฐ ซึ่งก็จะมีผู้ประกอบการมาทำสัญญากับเจ้าของที่ เพื่อขุดดินทำอิฐบนเนื้อที่ที่ตกลงกันไว้ เมื่อครบสัญญาแล้ว บ่อดินที่ถูกขุดก็จะกลายเป็นบ่อน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ต่อไป

วิถีชีวิตและวัฒนธรรมต่างๆ ของเชียงตุงกำลังเผชิญความท้าทายของโลกยุคปัจจุบัน จึงมีกลุ่มคนที่พยามรักษาและฟื้นฟูไว้ โดยมีวัดเป็นสถาบันหลักในการสนับสนุน ซึ่งวัดอินทร์บุปผาราม หรือที่ชาวเชียงตุงเรียกสั้นๆ ว่าวัดอินทร์ เป็นหนึ่งในวัดไทเขินที่มีความเก่าแก่และยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการฟื้นฟูและอนุรักษ์วัฒนธรรมไทเขิน ริเริ่มโดยครูบาคัมภีระ เจ้าอาวาสวัดอินทร์ และสานต่อโดยครูคำรอด ลูกศิษย์วัดที่เคยผ่านการเรียนภาษาไทเขินและการฟ้อนรำที่วัดแห่งนี้ ซึ่งหนึ่งในความสำเร็จของการฟื้นฟูวัฒนธรรมไทเขินของวัดอินทร์ คือการก่อตั้งคณะฟ้อนรำไทเขิน ที่ประกอบไปกลุ่มนักดนตรีพื้นเมืองและกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่เห็นคุณค่าของศิลปะการฟ้อนรำของไทเขิน จึงใช้วัดอินทร์เป็นสถานที่ฝึกซ้อม และหาโอกาสไปแสดงในงานบุญต่างๆ จนกระทั่งสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศทุกเวทีประกวด จนได้รับการยอมรับว่าเป็นคณะฟ้อนรำอันดับหนึ่งของเชียงตุง

วิถีเชียงตุง คณะฟ้อนรำไทเขินแห่งวัดอินทร์บุปผาราม

 

ชาวไทเขินส่วนมากก็จะอาศัยอยู่ในตัวเมืองเชียงตุง หรือตั้งชุมชนอยู่ตามริมแม่น้ำขืน ส่วนบนภูเขาก็จะมีชาวเขาและชนกลุ่มน้อยต่างๆ อาศัยอยู่ร่วมกันกับชาวไทเขิน เช่น ที่หมู่บ้านวันไซ ซึ่งมีชุมชนชาวไทเขินที่นับถือศาสนาพุทธอาศัยอยู่ร่วมกับชุมชนชาวอาข่า หรือที่ชาวเชียงตุงเรียกว่า “อาเข่อ” อาศัยอยู่ประมาณ 20 หลังคาเรือน และมีโบสถ์คริสต์สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เพราะนับถือศาสนาคริสต์ทุกบ้าน นักท่องเที่ยวที่มาที่นี่สามารถสนับสนุนสินค้าทำมือเล็กๆ น้อยๆ ของชาวอาเข่อได้อีกด้วย

อีกหนึ่งชนเผ่าที่สามารถพบเห็นได้เฉพาะที่เชียงตุง นั่นก็คือชนเผ่าแอ่นที่หมู่บ้านแอ่นหัวลัง ซึ่งผู้คนที่นี่ยังคงอนุรักษ์การแต่งกายดั้งเดิมด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าสีดำ ที่ประดับด้วยลูกปัดสี ส่วนภาษาพูดของพวกเขา ก็จัดอยู่ในกลุ่มของตระกูลภาษาไท-กะได คนไทยอย่างพวกเราจึงพอฟังออกได้เป็นบางคำ มากไปกว่านั้นชาวแอ่นที่นี่นับถือศาสนาพุทธ  

จึงมีวัดแอ่นหัวลังเป็นศูนย์กลางความศรัทธาของชาวบ้าน และเป็นสถานที่ให้การศึกษาแก่ลูกหลานด้วยการส่งมาบวชเณรที่วัดนี้ หากได้มาเที่ยวก็อย่าลืมอุดหนุนผ้าทอมือของชาวแอ่นด้วย แต่ถ้าอยากซื้อหาสินค้าทำมือที่เป็นเอกลักษณ์ และสื่อถึงความเป็นวิถีเชียงตุงจริงๆ ก็ต้องเป็นเครื่องเขินโบราณ

U Mu Ling Ta คือบ้านทำเครื่องเขินแห่งสุดท้ายของเชียงตุง ซึ่งสืบทอดศิลปะการทำเครื่องเขินมาจากบรรพบุรุษ ที่เคยเป็นช่างฝีมืออยู่ในวังเจ้าฟ้าเชียงตุง แต่ปัจจุบันการหาคนสืบสานงานหัตถศิลป์นี้ทำได้ยาก เพราะเป็นงานที่มีขั้นตอนซับซ้อน และใช้ความประณีตมาก ดังนั้นคนทำจะต้องเป็นคนใจเย็นและมีความอดทน ที่ผ่านมาก็มีคนพยายามมาเรียนรู้ แต่ก็ต้องล้มเลิกไปหลายรายจึงถือเป็นงานหัตถศิลป์ที่มีความเสี่ยงจะสูญหายไปจากเชียงตุง ใครที่ได้มีโอกาสมาเที่ยวที่นี่ก็อย่าลืมแวะไปอุดหนุน

วิถีเชียงตุง ช่างทำเครื่องเขินคนสุดท้ายในเชียงตุง

 

มีดจอมคำ คืออีกหนึ่งงานหัตถศิลป์ทรงคุณค่าของเชียงตุง ซึ่งปัจจุบันก็เหลือผู้สืบทอดไม่กี่รายแล้ว หนึ่งในนั้นคือลุงคิดละที่พยายามจะรักษางานศิลป์ชนิดนี้ไว้ และด้วยความที่ลุงคิดละเคยเป็นช่างสลักเครื่องเงินมาก่อน จึงใช้ความรู้ดังกล่าวสานต่อการแกะสลักลวดลายดาบตามแบบฉบับโบราณ ซึ่งคนที่ชื่นชอบสะสมดาบในละแวกรัฐฉานไปจนถึงประเทศจีนจะสามารถมองออกว่านี่คือผลงานของช่างตีดาบแห่งเชียงตุง

สังคมเชียงตุงยังเป็นสังคมแบบอนุรักษนิยม หนุ่มสาวที่ยังไม่ได้แต่งงานจะไปไหนมาไหนก็ถือว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม มากไปกว่านั้นโอกาสที่หนุ่มสาวจะออกมาเจอะเจอกันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ดังนั้นเมื่อออกมาทางนอกเมืองหรือเขตชนบท จะสามารถเห็นเพิงขายของเล็กๆ ตลอดสองข้างทาง ชาวเชียงตุงเรียกว่าสาวขายคัว ก็คือว่าหญิงสาวเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ก็จะหาเวลาว่างมาขายเครื่องดื่ม หนุ่มๆ ที่ขับรถผ่านไปมาก็จะถือโอกาสมาพูดคุยมาทำความรู้จัก  เพื่อเรียนรู้นิสัยใจคอกันก่อนคบหา เป็นอีกหนึ่งวิถีชีวิตน่ารักๆ ของหนุ่มสาวในเชียงตุง ซึ่งก็ถือเป็นกุศโลบายในการหาคู่ครองที่ดี ที่เป็นไปอย่างเปิดเผยและอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่

วิถีในแบบฉบับเชียงตุง เป็นอีกหนึ่งมุมมองที่ได้สัมผัสแล้วก็ต้องบอกว่ามีความสุข ซึ่งความสุขที่ว่าก็คือการที่ชาวเชียงตุงเปิดโอกาสให้ได้เข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิตอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง เพราะด้วยบุคลิกของผู้คนที่นี่มีความโอบอ้อมอารีและมีความเป็นมิตร ทำให้การเดินทางเข้ามาในฐานะผู้มาเยือนของเรา ก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากชาวเชียงตุง ที่พร้อมจะบอกเล่าถึงความภาคภูมิใจในวิถีเชียงตุงแง่มุมต่างๆ ให้กับผู้มาเยือนเรื่องราวดีๆ ของเชียงตุงยังมีให้รับชมได้อีกที่รายการโลก 360 องศา คืนวันเสาร์ 21.20 น. ทาง ททบ.5