posttoday

ตามรอย "อู๋ ธนากร" สู่เมืองอาร์ต คางาวะ

23 มกราคม 2559

กระแส “น้าราม” ฟีเวอร์ ไม่เพียงทำให้แฟนละครตามหาไร่บัวขาว เพราะตั้งแต่ทราบว่า อู๋-ธนากร โปษยานนท์

โดย...รอนแรม ภาพ... คางาวะ

กระแส “น้าราม” ฟีเวอร์ ไม่เพียงทำให้แฟนละครตามหาไร่บัวขาว เพราะตั้งแต่ทราบว่า อู๋-ธนากร โปษยานนท์ เป็นทูตประจำเมืองคางาวะ (Kagawa) ก็ทำให้คนไทยอยากตีตั๋วไปญี่ปุ่นเสียเดี๋ยวนี้

คางาวะเป็นจังหวัดที่เล็กที่สุดในประเทศญี่ปุ่น เขาออกเดินทางแบบไม่มีสคริปต์ เก็บครบทุกฤดู และทิ้งเส้นทางไว้ให้ตามรอย ใครที่ชอบน้าราม เอ๊ย... ชอบเที่ยวเมืองเล็กที่เต็มไปด้วยงานศิลปะ ธรรมชาติ และเส้นอุด้ง ต้องห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง

ทูตคางาวะ

ถามถึงที่มาที่ไปของตำแหน่งทูตประจำเมืองคางาวะ อู๋ย้อนกลับไปตอนถ่ายซีรี่ส์ชุด เดอะ ไรซิ่ง ซัน ที่ประเทศญี่ปุ่น ในขณะที่กำลังถ่ายรูปไปเรื่อยอยู่ในสวนนาริตะซัง อู๋ได้ยินชาวญี่ปุ่นพูดว่า “คะโค่ยๆ” (แปลว่า เท่) จากนั้นก็เดินเข้ามาทาบทามให้ไปร่วมโปรเจกต์สักอย่างเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้นครึ่งปีก็ได้รับการติดต่อจากชิฮารุ คนญี่ปุ่นผู้ประสานงานกองถ่ายในขณะนั้นว่า ได้นำโปรไฟล์ไปขายแก่จังหวัดคางาวะ และทางจังหวัดก็เลือกเขาแล้ว

คางาวะคือจังหวัดหนึ่งบนเกาะชิโกกุ มีขนาดเล็กที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ด้านใต้มีเทือกเขาซานุกิ ส่วนด้านเหนือติดทะเลในซาโตะ เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์กว่าพันปี ซึ่งครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองมากเป็นที่ตั้งปราสาทตั้งแต่ยุคโบราณ ทุกวันนี้คางาวะถูกพัฒนาให้เป็นดินแดนแห่งศิลปะ คนญี่ปุ่นรู้จักเมืองนี้ในฐานะเมืองต้นกำเนิดอุด้ง แต่สำหรับเขา “ไม่เคยรู้จัก” ผิดกับตอนนี้ที่สามารถเล่าได้ทั้งวันหลังจากได้ไปสัมผัสคางาวะมาแล้วครบทุกฤดูกาลตลอดปีที่ผ่านมา

“ถ้าให้ผมนิยามเมืองนี้ ผมจะนิยามว่า เส้น ศิลป์

ตามรอย "อู๋ ธนากร" สู่เมืองอาร์ต คางาวะ

และธรรมชาติ เส้นก็คืออุด้ง ศิลป์คือทั้งหมดของเมืองๆ นี้ที่ถูกขนานนามว่าเป็นเมกกะของคนรักงานศิลป์ และธรรมชาติก็ยังถูกรักษาไว้”

เส้น

บ้านเกิดของเส้นอุด้งอยู่ที่คางาวะ ไม่ว่าเข้าร้านไหนก็จะได้กินอุด้งเส้นสดรสชาติอร่อยทุกร้าน “ที่นี่มีร้านขายอุด้งมากกว่าเซเว่นอีเลฟเว่นซะอีก” เขากล่าว

นอกจากนี้ คางาวะยังเป็นอาณาจักรความอร่อย ด้วยเป็นแหล่งปลูกมะกอกที่สำคัญของญี่ปุ่นอันเป็นเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้ปลาโอลีฟฮามาจิ วัวโอลีฟ และหมูที่ถูกเลี้ยงด้วยใบมะกอกบดมีกลิ่นหอมอ่อนๆ และเนื้ออุดมไปด้วยกรดโอเลอิกซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค หรือของหวานอย่างซอฟต์ครีมที่มีให้เลือกหลายรสชาติทั้งรสโอลีฟ รสโชยุออร์แกนิกที่ได้มาจากการหมักตามธรรมชาติ รสมันหวานเผา และที่เด็ดสุดคือ ซอฟต์ครีมอุด้ง

ศิลป์

เกาะสวรรค์ของคนรักงานศิลป์มีอยู่หลายแห่ง แต่ที่มีชื่อเสียงคือ เกาะนาโอชิมะ มีสัญลักษณ์เป็นฟักทองสีแดงลายจุด และเกาะเทชิมะ มีผลงานกระจายทั่วทั้งเกาะและมีหอศิลป์ เทชิมะ อาร์ต มิวเซียม รวบรวมผลงานของจิตรกรมากมาย

เขาเล่าให้ฟังว่า ก่อนที่เมืองนี้จะกลายเป็นเมืองอาร์ต ครั้งหนึ่งเกือบเคยเป็นเมืองร้างเพราะหนุ่มสาวพากันออกนอกเมือง เหลือไว้เพียงคนแก่ไม่ถึง 500 คน กระทั่งบริษัทเบเนเซเข้ามาบุกเบิกให้เป็นเมืองศิลปะ โดยเชิญให้ศิลปินเข้ามาสร้างสรรค์ผลงานไว้ตามบ้านเรือนและสถานที่ว่างเปล่า

“เจ้าของเบเนเซได้ไปยืนที่จุดชมวิวของเกาะนาโอชิมะแล้วรู้สึกว่าอยากให้คนทั่วโลกมาเห็นเหมือนเขา แต่แทนที่จะสร้างโรงแรม เขากลับสร้างพิพิธภัณฑ์เบเนเซเฮาส์ที่กลมกลืนกับธรรมชาติ และพัฒนาแบบยึดความต้องการของคนบนเกาะเป็นหลัก ถ้ามีโปรเจกต์ไหนที่ชาวบ้านไม่เห็นด้วย เขาก็จะไม่ทำ” อู๋กล่าว และเชิญชวนให้ทุกคนไปชมงานศิลปะด้วยตัวเอง เพราะการมองจากภาพถ่ายอาจจะสวยเหมือนกัน แต่ความรู้สึกที่ได้สัมผัสมันต่างกัน

ตามรอย "อู๋ ธนากร" สู่เมืองอาร์ต คางาวะ

 

ธรรมชาติ

“ที่นี่มีจุดชมวิวที่สวยติดอันดับ 1 ใน 3 ของญี่ปุ่นชื่อว่าคังคะเค ถ้าช่วงใบไม้เปลี่ยนสีในฤดูใบไม้ร่วงทั้งหุบเขาจะเต็มไปด้วยใบไม้สีแดงสลับเหลือง มองเลยไปหน่อยจะเห็นทะเลในเซโตะเพราะที่ตั้งของจังหวัดอยู่ติดกับทะเล”ว่าแล้วเขาก็เปิดรูปวิวจากหุบเขาคังคะเคจากโทรศัพท์มือถือให้ดู มันสวยงามอย่างที่พรรณนา

อีกแห่งที่อู๋แนะนำคือ สวนริทสึริน สวนแบบเต๋าและเซนอายุกว่า 400 ปีที่ยังคงความสวยงามจนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่น แต่ละฤดูจะสวยงามต่างกันซึ่งครั้งล่าสุดเขาไปช่วงเดือน พ.ย. ใบไม้กำลังเปลี่ยนสีและทางสวนได้จัดไฟสวยงาม จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนชอบถ่ายภาพ

ญี่ปุ่นในสายตา

คนไทยคุ้นชินกับความเป็นญี่ปุ่นมานมนาม ผ่านการ์ตูน ของเล่น การแต่งตัว จึงไม่แปลกว่าทำไมคนไทยถึงชอบไปเที่ยวประเทศนี้นัก เหมือนกับเขาที่ชอบทั้งบ้านเมืองและผู้คน โดยเฉพาะลักษณะสังคมที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมเก่าแก่กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ไว้ด้วยกัน

“ภาพแรกที่ผมเห็นคือ ผู้หญิงใส่ชุดกิโมโนเดินอยู่ในย่านอะกิฮะบะระ ย่านที่ขึ้นชื่อเรื่องเทคโนโลยีและคึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในโตเกียว แต่ผู้คนยังรักษาการแต่งกายและกล้าแต่งออกมาเดินตามท้องถนน มันเป็นภาพที่รู้สึกถึงความคอนทราสต์แต่กลมกลืนในเวลาเดียวกัน”

ช่างเป็นนิสัยของช่างภาพที่ชอบมองทุกอย่างเป็นภาพ ถ้าใครติดตามอินสตาแกรมคงทราบว่าเขาถ่ายภาพสวยเพียงใด แม้จะบอกว่าตัวเองเป็นมือสมัครเล่น แต่จับกล้องมาตั้งแต่ ป.6 ฝึกปรือมาเรื่อย จนตอนนี้ใครเห็นฝีมือก็ต่างบอกว่าเข้าขั้นมืออาชีพ

ความหมายการเดินทาง

“การเดินทางของแต่ละคนมีจุดมุ่งหมายต่างกัน แต่มีสิ่งที่เหมือนกันคือ ทุกคนมีจุดมุ่งหมายของการเดินทาง” เขานิยามความหมายของการเดินทางไว้เช่นนั้น

“บางคนไปช็อปปิ้ง บางคนไปเสพธรรมชาติบางคนไปเพื่อกิน แต่ทุกคนจะได้รับประสบการณ์ใหม่ๆกลับไป อย่างผมไปคางาวะสี่ครั้ง มันคือคางาวะที่เดิม แต่ว่าความรู้สึกที่ได้รับมันต่างกัน”

เขาไปคางาวะครั้งล่าสุดเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมาและวางแผนไว้ว่าในปีนี้จะชวนเพื่อนๆ ที่ชอบงานศิลปะและชอบถ่ายรูปกลับไปอีกครั้งช่วงเดือน เม.ย.

โลกของธนากร

ถามเขาว่า ถ้ามีโลกของตัวเองหนึ่งใบ อยากให้โลกใบนั้นเป็นอย่างไร “อยากให้ผู้คนถือศีล 5” ตอบสั้นๆ เพียงนี้ อย่างเขาเองก็พยายามทำให้ได้โดยยึดวันเกิดของตัวเองเป็นวันถือศีลในหนึ่งสัปดาห์

ส่วนชีวิตจริงของ อู๋ ธนากร มีโลกแห่งความอร่อยอยู่ที่ร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อ เกียวโต โยชิโน (Kyoto Yoshino) ในโครงการพาสิโอ ถนนกาญจนาภิเษก (คนที่ร้านแอบกระซิบว่า พี่อู๋เข้าร้านบ่อย บางวันเข้าครัวเอง) สำหรับงานละครตอนนี้มีเรื่องตามรักคืนใจ และอีกเรื่องน่าจะได้ชมกันช่วงปลายปีนี้