posttoday

ตามรอยประวัติศาสตร์ เรียนรู้ชาติ 'บังกลา'

02 มกราคม 2559

ดินแดนในภูมิภาคเบงกอลแห่งนี้ ได้พบหลักฐานจากเครื่องมือยุคหิน แสดงว่ามีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มานานกว่า 2 หมื่นปี

ดินแดนในภูมิภาคเบงกอลแห่งนี้ ได้พบหลักฐานจากเครื่องมือยุคหิน แสดงว่ามีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มานานกว่า 2 หมื่นปี ดินแดนแห่งนี้เคยมีความเจริญรุ่งเรืองของศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ก่อนที่พ่อค้าชาวอาหรับได้นำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแพร่ จนเป็นที่นับถือส่วนใหญ่ของชาวบังกลาเทศในปัจจุบัน  โดยในแต่ละยุค แต่ละสมัยก็จะมีความเจริญก่อตัวขึ้น และก็ถูกทดแทนด้วยอำนาจใหม่อย่างเป็นสัจธรรม คงเหลือไว้เพียงซากโบราณให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป

เมืองโบกราตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของบังกลาเทศ มี “มหาสถาน” (Mahastan) อาณาจักรโบราณที่ถูกขุดค้นพบ และมีการศึกษาจนเชื่อว่านี่คือเมืองหลวงของอาณาจักรปุนตรา (Puntra Kingdom) ซึ่งเคยรุ่งเรืองในสมัยเบงกอลโบราณ มีกำแพงป้อมปราการของมหาสถาน แสดงขอบเขตของพื้นที่อันกว้างขวาง สะท้อนถึงความมีอำนาจบารมีและความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์ในสมัยนั้น

ปุนตรานาครา (Puntranagara) คือเมืองหลวงของอาณาจักร ซึ่งล้อมรอบไปด้วยกำแพงที่ยาวสุดลูกหูลูกตา พื้นที่กว้างใหญ่ของป้อมมหาสถาน เคยถูกปล่อยให้รกร้างอยู่นานหลายปี ก่อนจะถูกค้นพบอย่างเป็นทางการ ซึ่งช่วงนั้นได้มีชาวบ้านเข้ามาตั้งบ้านเรือนและใช้พื้นที่เพื่อทำการเกษตรอยู่ก่อนแล้ว ทุกวันนี้ก็เลยมีการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ อยู่ในเขตรั้วของป้อมปราการมหาสถาน ทำให้ดูแปลกตาไปจากโบราณสถานในประเทศอื่นๆ ภายในรั้วมีการค้นพบ วัด สถูป มัสยิด และหลุมศพอีกหลายจุด ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงถึงการเคยมีอยู่ของ 3 ศาสนา และการผลัดเปลี่ยนของราชวงศ์

ตามรอยประวัติศาสตร์ เรียนรู้ชาติ 'บังกลา' สัมผัสประสบการณ์โฮมสเตย์พื้นบ้าน

 

ปัจจุบันนี้การขุดค้นในมหาสถานยังไม่สิ้นสุด จะเห็นได้จากการขุดค้นที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ และยังเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านรู้สึกถึงการมีส่วนร่วม เป็นเจ้าของสถานที่แห่งนี้อีกด้วย

นครสุเหร่าแห่งบาเกอฮัท (The mosque city of Bagerhat) อีกหนึ่งสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของศาสนาอิสลาม ตั้งอยู่ที่เมืองบาเกอฮัท (Bagerhat) ในอดีตบาเกอฮัทเคยเป็นเมืองที่ถูกลืม ไม่มีอะไรโดดเด่น ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและเศรษฐกิจ ผู้คนจึงใช้เป็นทางผ่านไปมาเท่านั้น จนกระทั่ง UNESCO ได้ขึ้นทะเบียนให้นครสุเหร่าแห่งบาเกอฮัทเป็นมรดกโลก ในฐานะที่มีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมโบราณ จึงทำให้บาเกอฮัทเป็นสถานที่ซึ่งนักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด

อนุสรณ์สถานหรือหลุมศพของท่าน  Khan-e-Jahan เป็นนักบุญทางศาสนาอิสลามที่มีชื่อเสียง ในแต่ละวันจะมีคนมาสักการะสุสานอย่างไม่ขาดสาย เนื่องจากท่านผู้นี้คือผู้สร้างให้เมืองบาเกอฮัท กลายเป็นนครสุเหร่าที่มีชื่อเสียงอย่างทุกวันนี้

ตามรอยประวัติศาสตร์ เรียนรู้ชาติ 'บังกลา' เด็กๆ ในหมู่บ้านปาฮาร์ปัวร์

 

นอกจากนี้ ภายในพื้นที่ของนครสุเหร่าโบราณมีการค้นพบอนุสรณ์สถานของศาสนาอิสลามกว่า 50 แห่ง และที่โดดเด่นที่สุด คือ สุเหร่า ชัท กัมบัด (Shat Gambud Mosque) หรือสุเหร่า 60 เสา 77 โดม ซึ่งนอกจากความเก่าแก่และแปลกตาแล้ว สถาปัตยกรรมยังสะท้อนถึงความคิดที่แปลกแตกต่างของมุสลิมในยุคนั้นด้วย การสร้างศาสนสถานให้ยิ่งใหญ่ได้ขนาดนี้ ต้องมีความศรัทธาอย่างแรงกล้าเป็นทุน เพราะต้องใช้ทั้งทุนทรัพย์ ​แรงกาย แรงใจ และต้องใช้ความอดทนเป็นเวลานาน

ปาฮาลปูร หรือปาฮาร์ปัวร์ (Paharpur) เป็นชื่อหมู่บ้านเล็กๆ ตั้งอยู่ในเนากวน ดิสตริก (Nagoan Distric) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของบังกลาเทศ ห่างจากกรุงธากาประมาณ 300 กิโลเมตร แต่สภาพถนนไม่ค่อยดี รถยนต์ไม่สามารถใช้ความเร็วได้ จึงต้องเสียเวลาในการเดินทางมาก อาจจะทำให้มีเฉพาะผู้ที่ต้องการเรียนรู้ประวัติศาสตร์จริงๆ เท่านั้นที่เดินทางมา แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึกมากกว่าการเห็นซากโบราณสถาน คือ การรับรู้ได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์และความศรัทธาของคนในสมัยนั้น

โสมาปุระ มหาวิหาร (Somapura Mahavira) คือ มหาวิหาร สร้างขึ้นในสมัยจักรวรรดิปาละ เรืองอำนาจเหนือเบงกอล ในช่วงศตวรรษที่ 8 ถึงศตวรรษที่ 12 เป็นหลักฐานสำคัญแห่งความรุ่งเรืองของพุทธศาสนานิกายมหายาน ในสมัยของพระเจ้าธรรมปาละ (Dharmapala Vikramshila) ถือเป็นยุคที่มีความมั่นคง และสงบสุขที่สุดช่วงหนึ่งของเบงกอล จึงมีการสร้างวัดวาอารามและสร้างงานศิลปะต่างๆ

ตามรอยประวัติศาสตร์ เรียนรู้ชาติ 'บังกลา' แสงแรกของดวงตะวันส่องกระทบโสมาปุระ มหาวิหาร

 

นอกจากนั้น โสมาปุระ มหาวิหารแห่งนี้ เคยเป็นศูนย์กลางแห่งปัญญาของพระภิกษุ คือเป็นโรงเรียนสงฆ์ที่เคยให้การศึกษากับพระสงฆ์มานับไม่ถ้วน ส่วนยอดบนสุดจะมีห้องเรียนอยู่ 4 ด้าน สลับหมุนเวียนเรียนกันไป 4 ปี 4 ห้องจนจบหลักสูตร  นักโบราณคดีเชื่อว่านี่คือหนึ่งในความสำเร็จทางสถาปัตยกรรมของโลก เพราะภายใต้รูปทรงที่ดูเรียบง่ายและสอดประสานกันนั้น เต็มไปด้วยประโยชน์ใช้งานตามหลักศาสนาอย่างสมบูรณ์แบบ

ช่วงเวลาที่สวยที่สุดในการชมปาฮาร์ปัวร์ คือยามที่แสงแรกของดวงตะวันส่องกระทบมหาวิหาร แต่นักท่องเที่ยวจำเป็นต้องตื่นมารอแต่เช้ามืด ซึ่งจะต้องพักค้างคืนที่นี่ แต่ปัญหาคือ ที่นี่ก็ยังไม่มีโรงแรมไว้บริการนักท่องเที่ยว นั่นจึงทำให้เกิดการบริการโฮมสเตย์ ซึ่งเป็นบ้านของชาวบ้านที่อยู่ใกล้กับมหาวิหาร  การให้บริการโฮมสเตย์เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นานมานี้ อันเป็นผลมาจากความพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยว และการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น แต่ปัจจุบันก็มีเพียงบ้าน 6 หลังเท่านั้น ที่เปิดให้บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากที่พักแล้ว นักท่องเที่ยวจะได้รับโอกาสในการสัมผัสประสบการณ์ การใช้ชีวิตแบบบังกลาเทศพื้นบ้านของแท้ๆ เลย

โดยส่วนใหญ่บ้านของชาวบังกลาเทศจะไม่สร้างสูงเท่าไหร่นัก เพราะด้วยเทคนิคการก่อสร้างที่ไม่ซับซ้อน และวัสดุไม่ได้แข็งแรงมากพอที่จะสร้างหลายๆ ชั้น  แต่ที่สำคัญเจ้าบ้านเป็นคนอัธยาศัยดี มีน้ำใจ และให้เกียรติผู้มาพักเป็นอย่างดี และเปิดโอกาสให้แขกผู้มาเยือนได้เรียนรู้วิถีความเป็นอยู่ของเขาในทุกๆ ด้าน

บรรยากาศยามเช้าของหมู่บ้านปาฮาร์ปัวร์มีเสน่ห์ไม่แพ้ความงามของโสมาปุระ มหาวิหาร เพราะการแสดงออกถึงความเป็นมิตรที่สังเกตเห็นได้ผ่านแววตาใสซื่อ แม้บางครั้งจะไม่เปิดเผยรอยยิ้มออกมาตรงๆ ก็ตาม แต่ก็รู้สึกได้ว่าพวกเขาพร้อมจะหยิบยื่นมิตรภาพให้เราอย่างไม่มีเงื่อนไข

ที่นี่ไม่มีห้างร้านทันสมัย ไม่มีสวนสนุก หรือแหล่งบันเทิง และชีวิตในแต่ละวันก็ไม่ได้มีอะไรให้เพลิดเพลินนัก ดังนั้น เมื่อมีงานรื่นเริงประจำปีของหมู่บ้าน จึงเต็มไปด้วยชีวิตชีวาและความสนุกสนาน บรรยากาศชวนให้นึกถึงงานวัดบ้านเราได้เหมือนกัน

แม้ว่าบังกลาเทศจะไม่ได้เป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ แต่ก็มีความหลากหลายพอสมควร  สีสันความวุ่นวายในกรุงธากาเป็นเพียงมุมหนึ่งของประเทศนี้ เฉกเช่นเดียวกับวิถีชีวิตชนบทที่เรียบง่ายของปาฮาร์ปัวร์ ก็เป็นอีกมุมหนึ่งเท่านั้น ซึ่งประเทศนี้ยังมีแง่มุมอื่นๆ ให้ได้ทำความรู้จักกันอีกมาก และสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางรายการโลก 360 องศา ทางช่อง 5 วันเสาร์3 ทุ่มครึ่งโดยประมาณ