posttoday

บทเรียนจาก ฝันร้าย

28 พฤศจิกายน 2558

จริงหรือเปล่าที่บางคนบอกว่า “โถ่เอ๊ย…ไฟดับแป๊บเดียว เดี๋ยวก็มา ไม่เห็นมีอะไรต้องกังวลเลย”

โดย...ทีมงานโลก 360 องศา [email protected]

จริงหรือเปล่าที่บางคนบอกว่า “โถ่เอ๊ย…ไฟดับแป๊บเดียว เดี๋ยวก็มา ไม่เห็นมีอะไรต้องกังวลเลย” คำตอบของคำถามนี้คงขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นที่ไหน เพราะถ้าใครที่เคยมีฝันร้ายจากสถานการณ์ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง หรือที่เรียกว่า Blackout มาแล้วละก็ รับรองต้องบอกว่า นี่ไม่ใช่เรื่องธรรมดา ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ เมื่อปี พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทยเรา บางคนที่อาจไม่เคยรู้เลยว่าไฟฟ้าดับครั้งนั้นสร้างความเสียหายเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาทเลยทีเดียว

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ก็เคยเผชิญสถานการณ์ Blackout มาแล้วเช่นกัน อย่างมาเลเซียเพื่อนบ้านเรา ที่มีระบบไฟฟ้าที่ค่อนข้างมั่นคง ก็ยังเคยเผชิญ Blackout ในปี พ.ศ. ​2539 ทำให้เกิดไฟฟ้าดับนานถึง 16 ชั่วโมง สร้างความเสียหายมูลค่าไม่น้อยกว่า 1,250 ล้านบาทเลยทีเดียว หรือแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วสุดๆ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ก็ยังเจอสถานการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่เมื่อไม่นานมานี้ ในปี พ.ศ. 2543 เมื่อครั้งที่ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างในรัฐแคลิฟอร์เนีย สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่าไม่น้อยกว่า 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนกว่า 1.5 ล้านคน เฉกเช่นเดียวกับแอฟริกาใต้ ที่ได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 4.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากเหตุไฟฟ้าดับอยู่บ่อยครั้งนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา

ตัวอย่างเพียงบางส่วนเหล่านี้ น่าจะพอเป็นหลักฐานการันตีแล้วว่าไฟฟ้าดับไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่คำถามที่ตามมาคือ แล้วเราจะป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาไฟฟ้าดับ เพื่อจะได้ไม่เกิดความเสียหายมากมายอย่างที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งแนวทางที่หลายๆ ประเทศดำเนินการกันอยู่ก็คือ (1) ผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการ และ (2) พัฒนาระบบส่งให้มีประสิทธิภาพ

บทเรียนจาก ฝันร้าย

 

เรื่องของการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอนั้น ยังเป็นเรื่องที่มีความเห็นแตกต่างกันอยู่บ้างในสังคมไทย ว่าที่เรามีอยู่นั้นเพียงพอหรือไม่ และเรามีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มหรือไม่ ซึ่งตัวเลขและข้อมูลจากสองฝ่าย (ฝ่ายรัฐบาล กับฝ่ายที่เห็นต่าง) ก็แตกต่างกันไป แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นความจริงที่ทุกคนต้องยอมรับคือ เราใช้ไฟฟ้ามากขึ้นทุกวันๆ และนับวันก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างแน่นอน และหลายๆ ประเทศทั่วโลกก็เป็นเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางเทคโนโลยีมากเพียงใด หรือจะเป็นประเทศที่มีนโยบายส่งเสริมการประหยัดพลังงานมากเพียงไหนก็ตามแต่ ดังนั้นเรื่องของการผลิตไฟฟ้าให้ได้ในปริมาณที่มากขึ้นจึงเป็นเรื่องจำเป็น อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัตินั้น ก็ต้องมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องนำมาพิจารณาอีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเสถียรภาพ ราคา และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ส่วนประเด็นที่สอง เรื่องของการพัฒนาระบบส่งให้มีประสิทธิภาพนั้น หมายถึงส่งถึงประชาชนได้ทั่วทุกครัวเรือน ในปริมาณที่เพียงพอ และสม่ำเสมอ สอดคล้องกับความต้องการใช้งานของแต่ละพื้นที่ ซึ่งประเทศไทยเราอาจไม่ต้องกังวลเรื่องนี้มากนัก เพราะเราขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระบบส่งที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในอาเซียน ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านหลายๆ ชาติแล้ว ก็มั่นใจได้เลยว่าเรามีระบบส่งที่ดีกว่าหลายๆ ประเทศแน่นอน

ถ้าทั้งระบบผลิตและระบบส่งดี โอกาสในการเกิดไฟฟ้าดับก็แทบจะไม่มีเลย แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าทั้งสองอย่างยังไม่ดีพอล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น

บทเรียนจาก ฝันร้าย

 

เราขอหยิบยกเอาบังกลาเทศมาเป็นกรณีศึกษา เพราะประเทศนี้ได้ชื่อว่ามีระบบไฟฟ้าที่พัฒนาน้อยที่สุดในเอเชียใต้ แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศนี้ก็มีแผนการพัฒนา ที่อาจจะพลิกโฉมหน้าของประเทศได้ในเร็ววันนี้ และปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บังกลาเทศพลิกโฉมได้ก็คือ เจ้าพลังงานไฟฟ้านี่แหละ

ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2557 เกิดไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ทั่วประเทศ กินเวลากว่า 10 ชั่วโมง สร้างความเสียหายอย่างหนักทั้งวิถีชีวิตและธุรกิจ แต่ด้วยความที่บังกลาเทศยังไม่ได้มีการพัฒนาด้านระบบฐานข้อมูลมากนัก จึงไม่ได้มีรายงานตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจออกมา แต่ก็เชื่อได้ว่าหนักหนาสาหัสอยู่ทีเดียว

ย้อนหลังกลับไปก่อนหน้านั้นอีกหลายปี ประเทศที่มีประชากรกว่า 160 ล้านคนแห่งนี้ ติดอันดับท้ายๆ ของประเทศในเอเชียใต้ที่มีการพัฒนาทางระบบไฟฟ้า ถ้าจะพิจารณาที่ความทั่วถึง ก็ต้องบอกว่ายังน้อยมาก เพราะประชาชนเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่มีไฟฟ้าใช้ และยิ่งพิจารณาเรื่องคุณภาพของไฟฟ้าหรือประสิทธิภาพของไฟฟ้าแล้ว ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานมากนัก เพราะในหลายพื้นที่ที่มีไฟฟ้าใช้ก็ยังต้องเผชิญปัญหาไฟฟ้าติดๆ ดับๆ อยู่ดี

บทเรียนจาก ฝันร้าย

 

ทำไมเรื่องไฟฟ้าจึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับประเทศนี้นัก (อันที่จริงก็เป็นปัญหาของทุกประเทศนั่นแหละ) ก็เพราะว่าธุรกิจหลักของประเทศนี้ขึ้นกับการส่งออกเสื้อผ้า และปอกระเจาสำหรับทำกระสอบ ซึ่งทั้งสองธุรกิจหลักต้องใช้แรงงานและเครื่องจักร ถ้าหากว่าไฟฟ้าติดๆ ดับๆ ละก็ คงต้องเป็นเรื่องใหญ่แน่ เพราะเวลาที่ไฟฟ้าดับในโรงงานจะสร้างความเสียหายมากกว่าไฟฟ้าดับในบ้านเรือนอย่างแน่นอน เครื่องจักรอาจเสียหาย พนักงานก็อาจได้รับอันตราย รวมทั้งชิ้นงานก็อาจจะได้รับความเสียหายเช่นกัน ดังนั้นทุกโรงงานในบังกลาเทศจะต้องมีเครื่องปั่นไฟฟ้าสำรองขนาดใหญ่ไว้เป็นของตัวเอง

บางคนอาจตั้งคำถามว่า ทำไมบังกลาเทศถึงยังเผชิญปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า ทั้งที่มีข้อมูลว่าประเทศนี้มีก๊าซธรรมชาติอยู่มากที่สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งสาเหตุที่บังกลาเทศยังมีไฟฟ้าไม่พอใช้นั้น ก็ต้องบอกว่ามาจากจำนวนโรงไฟฟ้าที่ยังมีไม่เพียงพอ แม้จะเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนแล้วก็ตาม ส่วนเรื่องระบบส่งที่ไม่ทั่วถึงนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งข้อจำกัดที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากยังต้องอยู่แบบไม่มีไฟฟ้าใช้

แต่สถานการณ์แบบนี้อาจจะเปลี่ยนไปในไม่ช้า อย่างที่ได้เกริ่นไว้ เพราะตอนนี้รัฐบาลของบังกลาเทศได้ตกลงสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ถึง 2 โรง โดยมีความร่วมมือกับบริษัทจากรัสเซีย ซึ่งจะทำให้อีก 7 ปีข้างหน้า บังกลาเทศจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใช้เป็นโรงแรก และก็จะตามมาด้วยโรงอื่นๆ อีกหลายโรง ประกอบกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศที่ใกล้จะแล้วเสร็จ ซึ่งเหล่านี้ก็จะทำให้บังกลาเทศมีความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ส่วนสาเหตุที่ว่า ทำไมบังกลาเทศจึงหันไปหานิวเคลียร์และถ่านหิน ทั้งที่ประเทศตัวเองก็มีก๊าซธรรมชาติอยู่แล้ว คำตอบก็คือว่า ก๊าซธรรมชาติของบังกลาเทศกำลังจะหมดไปในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ดังนั้นจึงต้องมองหาเชื้อเพลิงที่มีเสถียรภาพมากกว่า และมีราคาที่ไม่เป็นภาระกับประชาชน ซึ่งถ่านหินและนิวเคลียร์ก็เป็นคำตอบที่ลงตัวที่สุดในยุคนี้

เราคงต้องจับตาต่อไปว่า แผนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะช่วยนำพาให้บังกลาเทศก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้หรือไม่ และประสบการณ์เลวร้ายจาก Blackout จะเป็นบทเรียนที่สร้างแรงผลักดันให้บังกลาเทศสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าได้สำเร็จหรือไม่

ย้อนกลับมามองที่ประเทศไทยเราบ้าง เพราะเราเองก็ยังพึ่งพิงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติอยู่ไม่น้อย ในขณะที่การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในบ้านเราคงยังต้องใช้เวลาพิจารณานานกว่าบังกลาเทศหลายปี และโรงไฟฟ้าถ่านหินแต่ละแห่งก็เกิดขึ้นได้ด้วยความยากลำบาก ดังนั้นถ้าก๊าซธรรมชาติหมดไปจริงๆ เราจะหาแหล่งเชื้อเพลิงใหม่มาทดแทนได้ทันเวลาหรือไม่ เรื่องนี้คงต้องช่วยกันคิด ช่วยกันพิจารณาว่าการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของไทยควรจะเดินหน้าไปทางไหนดี…