posttoday

หนึ่งร้อนก่อนตาย ณ แดนอาหรับราตรี

06 กันยายน 2558

สิ่งแรกที่เขาคิดออกเมื่อนึกถึงโอมาน คือตัวเลข “50” คุณหนุ่ม-ชวลิต กรรมสาธก เล่าว่ามันไม่ใช่อายุ ไม่ใช่ระยะทาง

โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ ชวลิต กรรมสาธก

สิ่งแรกที่เขาคิดออกเมื่อนึกถึงโอมาน คือตัวเลข “50” คุณหนุ่ม-ชวลิต กรรมสาธก เล่าว่ามันไม่ใช่อายุ ไม่ใช่ระยะทาง แต่มันคืออุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส ที่เขายังจำได้ดี

18 ชม.จากประเทศไทย คนเมืองร้อนเดินทางจากบ้านเกิดไปสู่ประเทศร้อนกว่าอย่างโอมาน “โอมานไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว” คุณหนุ่มกล่าวแบบนั้นแต่ก็ยังเดินทางไป โดยที่ทราบว่าช่วงนั้นเป็นฤดูร้อนที่ขนาดคนโอมานเองยังหนีไปเที่ยวต่างประเทศ แต่เมื่อองค์ประกอบทุกอย่างลงตัว เขาจึงไม่อยากพลาดโอกาส ซึ่งเขาพูดได้เต็มปากว่า “ครั้งเดียวพอ”

เมื่อถึงสนามบิน ณ กรุงมัสกัต ประเทศโอมาน คนไทยต้องไปขอวีซ่าประเภท Visa On Arrival และผ่านพิธีตรวจคนเข้าเมืองโดยสามารถอยู่ได้ 30 วัน แต่คุณหนุ่มขอเที่ยวเป็นทริปสั้นๆ 3 วัน เพื่อสำรวจเมืองมัสกัต หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม “อาหรับราตรี”

หนึ่งร้อนก่อนตาย ณ แดนอาหรับราตรี

 

โอมานอยู่ในทวีปเอเชีย มีชายแดนติดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย และเยเมน เป็นประเทศค้าน้ำมัน นับถือศาสนาอิสลาม ปกครองโดยสุลต่าน และประชากรไม่ต้องเสียภาษี ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวไม่ถูกส่งเสริม เพราะประเทศร่ำรวยจากการค้าน้ำมันแล้ว แต่ก็ยังเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ (คนเอเชียแทบไม่มี) อยู่บ้างตามจุดสำคัญๆ ในเมืองมัสกัตอย่างที่คุณหนุ่มไปเยือนมาแล้ว

มัสยิดหลักของเมืองชื่อ Sultan Qaboos Grand Mosque หรือเรียกสั้นๆ ว่า แกรนด์ มอสค์ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทัวร์เมือง เพราะเป็นแลนด์มาร์คของมัสกัต คุณหนุ่มให้ข้อมูลว่า มัสยิดจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเพียง 4 ชม.เท่านั้น ตั้งแต่เวลา 08.00-12.00 น. ยกเว้นวันที่มีพิธีกรรมทางศาสนาจะไม่อนุญาตให้เข้าไปด้านใน ดังนั้นควรไถ่ถามกับคนท้องถิ่นก่อนและใส่ไว้ในโปรแกรมวันแรก ไม่เช่นนั้นอาจเจอเหตุการณ์เดียวกับคุณหนุ่มที่พอดีไปเจอพิธีกรรมและอยู่เป็นวันสุดท้ายพอดี

แกรนด์ มอสค์ เป็นมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในโอมาน คุณหนุ่มพลาดชมพรมทอมือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่มีอยู่ภายใน แต่ยังดื่มด่ำกับความวิจิตรของสถาปัตยกรรมภายนอกที่แม้จะอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนอ้าวก็ยังดูอ่อนโยน เพราะศิลปกรรมตามผนังและสีน้ำตาลนวลที่ทำให้จิตใจร่มเย็นอย่างน่าประหลาด

หนึ่งร้อนก่อนตาย ณ แดนอาหรับราตรี

 

สถานที่สำคัญอีกแห่งอยู่ที่ พระราชวังอัล อาลาม (Al Alam Palace) เป็นที่ประทับของสุลต่านคาบูส คุณหนุ่มเล่าให้ฟังว่า “พระราชวังตั้งตระหง่านที่ปากอ่าวทางทิศตะวันตกของประเทศ รายล้อมไปด้วยปราสาทและป้อมปราการ” ซึ่งตามข้อมูลพระราชวังอัล อาลาม มีป้อมปราการโบราณ สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ป้อมหนึ่งที่ชื่อว่า จาลาลี ถูกทำเป็นพิพิธภัณฑ์ให้เข้าชม

จากนั้นคุณหนุ่มยังไปเดินสำรวจตลาด หรือที่เรียกว่า ซูค (Souk) เป็นตลาดขายของโบราณและสินค้ายอดนิยมอย่าง ผ้าซาราบั่น (ผ้าโพกหัว) ที่มีหลายเกรดให้เลือกตั้งแต่ราคา 200-1,000 บาท คุณหนุ่มเล่าให้ฟังว่า “ใจกลางกรุงมัสกัตมีตลาดซูคและห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของโอมานที่มีทั้งร้านอาหาร ร้านแบรนด์เนมให้เลือกซื้อของ” โดยสินค้าเกือบทั้งหมดเป็นสินค้านำเข้า จึงทำให้สินค้ามีราคาสูงกว่าปกติ ถ้าเป็นประเภทผลิตผลทางการเกษตรน่าจะมีแต่อินทผลัมที่นับเป็นสินค้าท้องถิ่นได้

นอกจากซูคแล้ว ย่านที่มีการค้าขายคึกคักคือบริเวณท่าเรือริมทะเล ย่านนั้นจะมีบ้านเรือนแบบอาหรับเป็นจำนวนมาก รวมถึงโรงแรมก็มักเลือกทำเลแถวนั้นด้วย คุณหนุ่มแนะนำให้เหมาแท็กซี่แล้วนั่งมากินลมชมวิวบนถนนเลียบชายหาด โดยเฉพาะยามเย็นหลังพระอาทิตย์ตกดิน แสงไฟจากบ้านเรือนจะเริ่มเปิดทำให้ย่านนั้นกลายเป็น อาหรับราตรี ของจริง

หนึ่งร้อนก่อนตาย ณ แดนอาหรับราตรี

 

“การเดินทางภายในเมืองมัสกัตไม่มีรถโดยสารสาธารณะ แต่จะมีรถตู้เหมือนคิวรถตู้หน้าจตุจักร” เขาเปรียบ และรถแท็กซี่โอมานไม่มีมิเตอร์ แต่จะคิดราคาตามที่ตกลงกัน แต่โดยส่วนใหญ่ผู้คนโอมานจะมีรถส่วนตัวขับใช้เอง

ถามคุณหนุ่มว่ามีความประทับใจกับสถานที่แห่งใดมากที่สุด เขาคิดอยู่สักพักก่อนจะตัดสินใจตอบ “ป้อมปราการ” เขาเจาะจงไปที่ป้อมปราการตรงปากอ่าวที่ให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปได้

“ก้าวขาขึ้นไปป้อมปราการในขณะที่อุณหภูมิประมาณ 40-50 องศาเซลเซียส มันเหนื่อยมาก แต่เมื่อขึ้นไปแล้วมองลงมาด้านล่างเห็นเมืองมัสกัตทั้งหมด เห็นทะเล เห็นท่าเรือ เรากลับรู้สึกคุ้มค่ากับเหงื่อที่เราเสียไป” คุณหนุ่มกล่าว

หนึ่งร้อนก่อนตาย ณ แดนอาหรับราตรี

 

ผู้ที่ชื่นชอบสถาปัตยกรรมน่าจะหลงใหลเมืองนี้เข้าอย่างจัง แต่สำหรับขาเที่ยวธรรมชาติ ต้องนั่งรถออกไปเที่ยวทะเลทรายที่อยู่ห่างออกไป 300 กม. เพราะหากอยู่แต่ในเมืองจะเห็นเพียงทิวเขาที่ไม่มีต้นไม้ คุณหนุ่มยังบอกด้วยว่า ต้นไม้ในโอมานถือเป็นทรัพยากรที่ถูกหวงแหน และจะเห็นต้นไม้ในย่านเศรษฐกิจดีๆ เท่านั้น

ฤดูร้อนที่โอมานยาวนาน 7 เดือน ตั้งแต่เดือน เม.ย.-ต.ค. จากนั้นเดือน พ.ย.-มี.ค.จะเป็นช่วงฤดูหนาวที่อุณหภูมิจะลดเหลือ 20-25 องศาเซลเซียส เขาแนะนำให้ไปช่วงปลายปีจะได้ไม่ต้องทรมานกับอากาศร้อนอ้าว และยังได้พบปะผู้คนตามท้องถนนในเวลากลางวันที่คุณหนุ่มการันตีว่า คนโอมานน่ารักและยิ้มแย้มแจ่มใสผิดกับหน้าตาที่แลดูเคร่งขรึม

สำหรับตัวคุณหนุ่ม ประสบการณ์โอมานครั้งแรกถือว่าเพียงพอแล้ว เขาเข็ดกับความร้อนระดับ 50 องศาเซลเซียส แต่กลับยังมีความทรงจำนานาที่ยังไม่ลืม โอมานไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว ไม่มีโปรฯ จากสายการบิน ไม่ได้อยู่ใน Wish List ของคนทั่วไป แต่เพราะเช่นนี้เองทำให้โอมานยังเป็นดินแดนอาหรับราตรีที่น่าเย้ายวนใจให้ตามหาความงาม

 

 รู้ไว้ก่อนไป 1. คนโอมานรับประทานอาหารกลางวันประมาณ 14.30 น. และอาหารเย็นประมาณ 21.00 น. 2. การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ในที่สาธารณะถือว่าผิดกฎหมาย 3. การถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน ชาวมุสลิมจะอดอาหารตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงตก ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่ไปช่วงนั้นควรเคารพกฎนี้อย่างการรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือเคี้ยวหมากฝรั่งในที่สาธารณะเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ 4. ชาวโอมานจะสวมใส่ชุดประจำชาติโดยผู้หญิงจะใส่เสื้อผ้ารัดกุม ดังนั้นนักท่องเที่ยวก็ควรเคารพวัฒนธรรมโดยการแต่งกายมิดชิด และไม่ควรใส่กางเกงขาสั้นทั้งหญิงและชาย

หนึ่งร้อนก่อนตาย ณ แดนอาหรับราตรี

 

หนึ่งร้อนก่อนตาย ณ แดนอาหรับราตรี

 

หนึ่งร้อนก่อนตาย ณ แดนอาหรับราตรี

 

หนึ่งร้อนก่อนตาย ณ แดนอาหรับราตรี

 

หนึ่งร้อนก่อนตาย ณ แดนอาหรับราตรี