posttoday

Waste to Energy ...จัดการขยะคือเรื่องใหญ่ ส่วนผลิตไฟ คือของแถม

05 กันยายน 2558

เรื่องขยะล้นโลกกำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศ และนับวันจะยิ่งลุกลามใหญ่โต เพราะมนุษย์เรามีความต้องการกิน

โดย...ทีมงานโลก 360 องศา [email protected]

เรื่องขยะล้นโลกกำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศ และนับวันจะยิ่งลุกลามใหญ่โต เพราะมนุษย์เรามีความต้องการกิน ความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา บางทีก็ซื้อหากันเกินความจำเป็น ทำให้เกิดของเหลือกินเหลือใช้มากกว่าที่ควรจะเป็น อีกทั้งวัสดุหีบห่อเพื่อเพิ่มคุณค่าให้สินค้า ก็มีการแข่งขันกันทำให้สวยงามอลังการขึ้นทุกวัน นี่ยังไม่นับรวมข้าวของเครื่องใช้ที่ถูกโดยทิ้งจากความล้าสมัย ทั้งที่จริงๆ แล้วยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้

ในเรื่องการสร้างขยะนั้น ประเทศไทยเราเอง ก็ไม่น้อยหน้าชาติอื่นเช่นกัน เพราะในแต่ละปี เราก็สร้างขยะมากมายมหาศาล เฉพาะที่มีการประมาณการได้ก็กว่ายี่สิบล้านตัน โดยแบ่งเป็นขยะจากครัวเรือนกว่า 14 ล้านตัน และขยะจากภาคอุตสาหกรรมอีกกว่า 10 ล้านตัน/ปี ดังนั้น เราจึงเริ่มเห็นผลกระทบต่างๆ ก็ตามมาอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ฝนตกลงมาแต่ละที หรือน้ำท่วมใหญ่ในบางพื้นที่ เราจะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นทุกวัน ทั้งเรื่องของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะรวมถึงบางครั้งก็จะมีปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน เช่น ควันพิษที่เกิดไฟไหม้บ่อขยะ  น้ำเน่าที่เกิดจากน้ำท่วม

การแก้ปัญหาขยะนั้นซับซ้อน และมีความละเอียดอ่อนมากขึ้นทุกวัน จะคิดเอาง่ายๆ เข้าว่า ก็จะแก้ปัญหากันไม่จบไม่สิ้น ครั้นจะนำไปเผาทิ้งเสียให้หมด ก็คงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะขยะนั้นมีหลายประเภท ทั้งขยะแห้ง ขยะเปียก ขยะมีพิษ ขยะที่ย่อยสลายได้ และขยะที่ย่อยสลายได้ช้า ซึ่งขยะที่พอจะเอาไปเผาทิ้งได้ก็เป็นเพียงแค่ขยะแห้งส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง

Waste to Energy ...จัดการขยะคือเรื่องใหญ่ ส่วนผลิตไฟ คือของแถม กระบวนการแยกขยะต้นทาง จากร้านค้าและครัวเรือน

 

แต่บรรดาขยะเปียก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากครัวเรือนนั้น ถ้าจะเอาไปเผาก็ค่อนข้างยาก หรือถ้าจะพยายามจะเผาเสียให้ได้ ก็ต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาอีก ดังนั้น ในหลายๆ ประเทศจึงต้องคิดหาวิธีจัดการกับขยะให้ฉลาดรอบคอบที่สุด รวมทั้งในประเทศไทยเราเอง ก็มีแนวคิดนำเอาขยะมาสร้างประโยชน์ โดยหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีการทดลองและพยายามนำเอาขยะที่มีอยู่มาจัดการ หรือแปรรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อย่างเช่น ที่ศูนย์ปฏิบัติการวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็มีโครงการต้นแบบ โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะ และโครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะเหลือทิ้งในครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงเป็นเพียงโครงการต้นแบบเท่านั้น เพราะการจะพัฒนาให้เกิดเป็นโครงการใหญ่ๆ ที่ใช้งานได้จริงจะมีปัจจัยอื่นๆ มาเกี่ยวข้องด้วยอีกมาก ทั้งเรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายท้องถิ่น เงินลงทุน และความยุ่งยากของการบริหารจัดการ

ซึ่งจะว่าไปแล้วแนวคิดของการนำเอาขยะมาแปลงเป็นพลังงานนั้น มีทฤษฎีมานานแล้ว แต่ในหลายๆ ประเทศ ก็ยังคงมีข้อจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาด้านความคุ้มค่าในการลงทุนเชิงพาณิชย์แล้ว ก็ยังถึงจุดคุ้มทุนได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น ถ้ายังต้องการให้เกิดโครงการหรือเกิดการลงทุนขึ้น ฝั่งรัฐบาลจำเป็นจะต้องให้การสนับสนุนเงินทุน ปรับแก้ข้อกฎหมาย และให้สิทธิพิเศษเพื่อสร้างแรงจูงใจต่อนักลงทุนพลังงาน

คุณพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แสดงมุมมองว่า “รัฐบาลชุดนี้ทำได้ดีเลยทีเดียว หลังจากที่พยายามที่จะปลดล็อกต่างๆ ที่เป็นอยู่ ที่ผ่านมาท่านทำได้ดีมากแล้วนะครับ คือว่าถ้าใครจะทำธุรกิจเรื่องของพลังงานขยะ ก็ไม่ต้องไปประมูล แล้วก็เรื่องของการศึกษาผลกระทบอย่าง EHIA, EIA ก็ไม่ต้องทำ

แต่ถ้าจะให้คนลงทุนเพิ่มขึ้น รัฐบาลเองท่านก็เพิ่มค่าไฟให้อีก ซึ่งไม่ว่ามุมมองของนักลงทุนจะเป็นการแก้ปัญหาถูกจุดหรือไม่ก็ตาม แต่ที่แน่ๆ คือ รัฐบาลก็คงต้องหามาตรการอะไรสักอย่างที่ช่วยแก้ไขและป้องกันปัญหาขยะอย่างตรงจุดที่สุด เพราะจะว่าไปแล้ว หากมีการส่งเสริมธุรกิจการแปรรูปขยะให้เป็นพลังงานไฟฟ้าจริงๆ ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไรบ้าง

คิดเล่นๆ ว่า ถ้าเอกชนลงทุนทำโรงไฟฟ้าจากขยะจริงๆ ก็จะต้องการขยะที่สม่ำเสมอในปริมาณที่มากๆ แล้วก็คงเกิดเป็นคำถามต่อไปว่า เมื่อถึงเวลานั้น การรณรงค์เพื่อลดขยะจะเกิดผลกระทบอย่างไรต่อธุรกิจแขนงนี้ และอีกประเด็นหนึ่งที่เคยเป็นคำถามจากสังคมว่า เม็ดเงินที่รัฐบาลนำไปสนับสนุนกลุ่มธุรกิจนี้จะมาจากไหน ถ้าไม่ไปคิดเพิ่มจากบิลค่าไฟฟ้าของประชาชน ดังนั้น เรื่องของการส่งเสริมธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากขยะนั้น ถือเป็นแนวคิดที่ดี แต่ควรทำในปริมาณที่เหมาะสม เหมือนดั่งที่ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คุณสุณชัย คำนูณเศรษฐ์ ได้ให้แง่คิดว่า “ที่เห็นข่าวคราวว่าประเทศในแถบยุโรป เขาประสบผลสำเร็จในการผลิตไฟฟ้าจากขยะ จนถึงขั้นขยะไม่เพียงพอนั้นเรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจในรายละเอียดก่อน อย่าเพิ่งรีบสรุป เพราะที่เขาทำแบบนั้นได้ เพราะต้นทุนการจัดการกับขยะของเขาสูง และกระบวนการคัดแยกขยะของเขามีประสิทธิภาพตั้งแต่ครัวเรือน ดังนั้น ขยะที่จะเอาไปเป็นเชื้อเพลิงได้จะถูกแยกมาแล้ว และเมื่อนำไปเผาไฟก็จะให้ค่าความร้อนค่อนข้างดี

แต่ในบ้านเรา มันไม่เหมือนกัน บ้านเราน่ะ ส่วนใหญ่พวกกระดาษ ถุงพลาสติก หรือขวดแก้วต่างๆ เราเก็บไปขายแล้วส่วนขยะที่เหลือจะเป็นขยะเปียก ที่เอาไปเผาไม่ได้ หรือได้ก็ต้องใช้พลังงานสูง กลายเป็นว่าไม่คุ้มกันแน่ แต่อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าแนวคิดการนำเอาขยะไปแปลงให้เป็นพลังงานนั้นเป็นแนวคิดที่ดี เพราะนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาขยะแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งแหล่งพลังงานเสริมได้ แต่อย่างที่บอกว่า ทำได้แต่ควรทำแต่พอดี”

ในบรรดาประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีนั้น ก็จะมีความพยายามพัฒนาประสิทธิภาพของการแปลงขยะให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งหนึ่งในประเทศที่ทำเรื่องนี้ได้อย่างเด่นชัดเพราะมีการเปิดให้เอกชนลงทุนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว โดยที่รัฐบาลไม่จำเป็นต้องรับซื้อไฟฟ้าในราคาพิเศษ เพราะโรงไฟฟ้าจากขยะส่วนใหญ่จะได้รายได้หลักจากการรับจ้างเผาขยะอยู่แล้ว ประกอบกับกฎหมายของเยอรมนีตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 ที่กำหนดว่า ขยะอะไรที่เอาไปเผาได้ ต้องเอาไปเผา ห้ามเอาฝังทิ้งเหมือนเมื่อก่อน ทำให้การเผาขยะทิ้งเป็นเรื่องที่ต้องทำ โดยกฎหมายอยู่แล้ว

ตัวอย่างบริษัทที่ดำเนินธุรกิจรับจ้างเผาขยะ แล้วได้ผลพลอยได้เป็นรายได้จากการขายไฟฟ้า ก็คือบริษัท EEW Energy from Waste ซึ่งลงทุนไปกว่า 70 ล้านยูโร เพื่อสร้างโรงกำจัดขยะที่มีศักยภาพกำจัด
ขยะได้สูงสุดถึง 250,000 ตัน/ปีเลยทีเดียว โดยรายได้กว่าร้อยละ 80 ก็เกิดจากค่าจ้างเผาขยะ ส่วนค่าไฟฟ้าที่ขายได้ก็ถือเป็นส่วนเสริมเท่านั้น

นอกเหนือจากการเอาขยะไปเผา เพื่อผลิตไฟฟ้าโดยตรงแล้วเยอรมนีก็ยังมีเทคโนโลยีการนำเอาขยะครัวเรือน ไปหมักให้เกิดก๊าซชีวภาพมีเทน แล้วนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้อีก แต่ก็แน่นอนว่า ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลอีกเช่นกันซึ่งเอกชนยังไม่มีความคุ้มค่าในการลงทุน จะมีก็เพียงแต่หน่วยงานภาครัฐอย่างเช่น BSR ซึ่งเป็นบริษัทของเทศบาลเบอร์ลิน ที่บริการจัดการด้านขยะและของเสียให้แทบทุกครัวเรือนในนครหลวงเบอร์ลิน

BSR มีโครงการต้นแบบ ที่เอาขยะเปียกซึ่งเก็บได้จากชุมชน นำมาผ่านกระบวนการหมักให้เกิดก๊าซมีเทน แล้วนำไปสกัดเป็นก๊าซชีวภาพมีเทน แล้วเอากลับไปใช้เป็นเชื้อเพลิงให้รถเก็บขยะของบริษัท ซึ่งจะว่ากันไปตามจริงแล้ว เงินลงทุน30 ล้านยูโร ที่ลงไปคงยังไม่สามารถคุ้มทุนได้ด้วยประโยชน์เพียงแค่นี้ แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทก็คาดหวังว่าในอนาคตข้างหน้าเมื่อน้ำมันเชื้อเพลิงแพงขึ้น ก็จะมีก๊าซชีวภาพมีเทนนี่แหละเป็นทางเลือก

จะว่าไปแล้ว แม้แต่ประเทศเจ้าเทคโนโลยีอย่างเยอรมนีก็ยังออกตัวว่า การแปลงขยะให้เป็นพลังงานนั้น ยังไม่ถึงจุดคุ้มค่าในปัจจุบันอย่างแน่นอน แต่ประโยชน์โดยตรงที่ได้ คือวิธีการในการเผาและกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น คนไทยเราก็อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปไปว่า เราจะสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มทุนอย่างแท้จริง แต่อยากให้มาช่วยกันคิดในเรื่องที่สำคัญกว่า 2 ประเด็น คือ หนึ่งจะทำอย่างไรเพื่อช่วยกันลดปริมาณขยะและสอง จะทำอย่างไรเพื่อช่วยกันประหยัดไฟฟ้า...

คืนวันเสาร์นี้ เรามาลอง มาชม มาฟัง หลากหลายมุมมองที่เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ในรายการโลก 360 องศาที่จะออกอากาศทาง ททบ. 5 เวลา 21.20-22.05 น. แล้วบางทีเราอาจจะเข้าใจเรื่องนี้อย่างกระจ่างชัดขึ้นก็ได้