posttoday

ถ่านหินมีข้อดี เยอรมนียังคงใช้

13 มิถุนายน 2558

“เยอรมนี” เป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและสังคมที่มั่นคง รวมถึงมีการพัฒนาทางด้านพลังงาน

โดย...ทีมงานโลก 360 องศา [email protected]

“เยอรมนี” เป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและสังคมที่มั่นคง รวมถึงมีการพัฒนาทางด้านพลังงานอย่างยั่งยืนควบคู่กับการใส่ใจสิ่งแวดล้อม มากไปกว่านั้นการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน กำลังเป็นประเด็นที่ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญ ซึ่งประเทศเยอรมนีก็ให้ความสำคัญต่อการวางแผนการจัดการด้านพลังงานอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพเพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

หากพูดถึงบุคลิกโดยรวมของคนเยอรมันนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นคนเงียบขรึมและพูดน้อย แต่คนเยอรมันส่วนใหญ่ได้รับการยอมรับว่าเป็นคนเก่ง มีความคิดความอ่านอย่างมีหลักการและเป็นเหตุเป็นผล มีความละเอียดอ่อน และให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ดังเช่นที่เราเห็นได้จากระบบขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าหรือรถประจำทาง ก็จะต้องมีมาตรฐานเครื่องยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี

ถ่านหินมีข้อดี เยอรมนียังคงใช้ แม้พลังงานหมุนเวียนจะมีต้นทุนการผลิตที่สูง แต่ชาวเยอรมัน ก็ยอมจ่ายค่าไฟแพงเพื่อสนับสนุนให้เป็นพลังงานเสริม

 

แม้จะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจดีที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป แต่คนเยอรมันอีกจำนวนมากไม่นิยมใช้รถยนต์ส่วนตัว กลับใช้จักรยานในการเดินทาง เพราะคนเยอรมันตระหนักดีว่าการใช้จักรยานเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของตัวเอง

โดยเฉพาะในกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของประเทศ มีเส้นทางสำหรับเลนจักรยานรวมกว่า 620 กิโลเมตร ซึ่งก็จะมีทั้งเส้นทางสำหรับจักรยานโดยเฉพาะ และที่ใช้เส้นทางร่วมกันกับรถประจำทาง และที่ค่อนข้างพิเศษ คือ ในบางพื้นที่จะมีถนนสำหรับเลนจักรยานโดยเฉพาะ ซึ่งจักรยานจะได้รับความสำคัญเป็นพิเศษ และรถยนต์ที่จะวิ่งบนถนนนี้ก็จำกัดความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง

เมื่อทีมงานโลก 360 องศา ได้มีโอกาสเดินทางออกนอกตัวเมืองเบอร์ลิน เราก็จะเริ่มเห็นทิวกังหันลม และยิ่งห่างจากตัวเมืองมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งพบเห็นได้มากขึ้นเรื่อยๆ เสมือนเป็นองค์ประกอบของทัศนียภาพในเยอรมนีไปแล้วก็ว่าได้ นอกจากกังหันลมแล้ว เยอรมนีก็ยังมีการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์  พลังงานชีวมวล และไฟฟ้าจากพลังน้ำ

แม้จะมีการส่งเสริมอย่างจริงจัง และมีการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนอยู่มาก แต่แหล่งพลังงานเหล่านั้นก็ไม่ได้มีความเสถียรภาพและสม่ำเสมอมากพอ จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่เยอรมนีจะพึ่งพิงพลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งพลังงานหลัก เพราะยังมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูงและมีประสิทธิภาพต่ำ 

ดังนั้น การลงทุนในเชิงเศรษฐกิจจึงไม่ใช่เรื่องที่คุ้มค่าสำหรับเอกชน เว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลจะให้การสนับสนุน ดังนั้นรัฐบาลจึงได้มีการส่งเสริมให้มีการลงทุนทางด้านพลังงานหมุนเวียน โดยรับซื้อไฟฟ้าในราคาที่จูงใจนักลงทุน ทำให้ช่วงที่ผ่านมามีการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนอยู่มากในประเทศเยอรมนี แต่ในขณะเดียวกันประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าก็ต้องช่วยกันแบกรับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งในปีที่ผ่านมาคนเยอรมันต้องจ่ายค่าไฟฟ้าหน่วยละประมาณ 0.3 ยูโร หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณสิบกว่าบาทต่อหน่วย

ถ่านหินมีข้อดี เยอรมนียังคงใช้ เยอรมนีคืออีกหนึ่งต้นแบบการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมได้อย่างลงตัว

 

เพื่อให้เห็นภาพอีกมิติหนึ่งของประเทศเยอรมนีให้ชัดเจนมากขึ้น ทีมงานโลก 360 องศา ออกเดินทางจากกรุงเบอร์ลินมายังนครแฟรงก์เฟิร์ต ศูนย์กลางทางการเงิน การธนาคาร และเป็นที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์ จึงไม่แปลกที่เมืองนี้จะเต็มไปด้วยอาคารสูงรูปทรงอันทันสมัยและที่พักอาศัยราคาแสนแพง แต่อย่างไรก็ตามแฟรงก์เฟิร์ตยังถือได้ว่าเป็นเมืองที่มีความผสมผสานระหว่างความเก่าและความใหม่ได้อย่างลงตัวและกลมกลืน และด้วยสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชมที่นี่ไม่ขาดสาย

ทุกๆ เช้าจะมีคนมาเดินเล่น ออกกำลังกายและสูดอากาศบริสุทธิ์บริเวณพื้นที่สีเขียวริมแม่น้ำไมน์ (Main River) แม่น้ำสายสำคัญของแฟรงก์เฟิร์ต ซึ่งเป็นทั้งแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ เป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนและสินค้า รวมทั้งเป็นเส้นทางขนส่งถ่านหินมายังโรงไฟฟ้าไมโนว่า (Mainova) ที่ตั้งอยู่กลางเมืองแฟรงก์เฟิร์ต สำหรับชาวแฟรงก์เฟิร์ตแล้ว โรงไฟฟ้าแห่งนี้คือแหล่งพลังงานสำคัญ ที่คอยหล่อเลี้ยงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองนี้

ในแต่ละสัปดาห์จะมีเรือขนส่งถ่านหินล่องมาตามแม่น้ำไมน์ แล้วลำเลียงต่อไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยที่ไม่สร้างมลภาวะและสิ่งแวดล้อม แต่เนื่องจากพื้นที่ที่จำกัด จึงทำให้โรงไฟฟ้าขนาดเล็กกลางเมืองนี้ไม่สามารถขยับขยายตัวไปได้มากกว่านี้ ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนก็ไม่มีเสถียรภาพมากพอ  รัฐบาลจึงต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ในพื้นที่อื่นๆ อย่างเช่นโรงไฟฟ้าไนเดอรอซั่ม (Niederaussem) ที่มีกำลังการผลิตมากกกว่าโรงไฟฟ้าไมโนว่า (Mainova) ในแฟรงก์เฟิร์ตเกือบ 30 เท่าตัว แม้จะไม่ใช่โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนี แต่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งในโรงไฟฟ้าที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตไฟฟ้าหล่อเลี้ยงการพัฒนาประเทศ เพราะมีประสิทธิภาพและมีเสถียรภาพสูง

การบริหารจัดการด้านพลังงานไฟฟ้าของเยอรมนี ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมนีให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินควบคู่ไปกับการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทางอุตสาหกรรมและความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทางจัดการด้านพลังงานหมุนเวียนและพลังงานหลักอย่างเชื้อเพลิงถ่านหินในประเทศไทย

วิวัฒน์  ชาญเชิงพานิช ผู้ช่วยผู้ว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลกับทีมงานโลก 360 องศา ว่า การใช้พลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม มีต้นทุนการผลิตที่สูงและมีกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่สม่ำเสมอ ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงทางพลังงาน และทำให้ไฟฟ้ามีราคาสูงขึ้น ทำให้ภาระไปตกอยู่กับภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน 

ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นจะต้องพึ่งพาพลังงานจากถ่านหินที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ถูกกว่ามาก แต่อย่างไรก็ตามพลังงานหมุนเวียนยังคงอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา แต่ก็ยังไม่สามารถพัฒนามาใช้เป็นพลังงานหลักได้ ในขณะเดียวกันประเทศไทยเองก็ให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัย และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

พรเทพ ศรีบุญเรือง EIA จ.กระบี่ บอกกับเราว่า ปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานในประเทศเพิ่มสูงขึ้นมาก ดังนั้นการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่จำเป็นจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้าและชุมชนโดยรอบ เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศชาติ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่สร้างโรงไฟฟ้าก็ต้องให้ความมั่นใจและเชื่อใจกับประชาชนด้วยว่าการจะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่นั้นจะต้องไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีมาตรการที่ป้องกันได้จริง

จะว่าไปเยอรมนีเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีทั้งกฎหมาย เทคโนโลยีและมีมาตรการในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ECO DESIGN หรือการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีการควบคุมการผลิตและออกแบบให้มีประสิทธิภาพสูง และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ประเทศเยอรมนียังมีนโยบาย CSR หรือการรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ว่าจะดำเนินกิจการใดๆ ก็ตาม จะต้องไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างเด็ดขาด และจะต้องมีการทำธุรกิจการค้าอย่างเป็นธรรม

ดังนั้น การเดินทางมาประเทศเยอรมนีของเราในครั้งนี้ ทำให้เรามีโอกาสได้เห็นและได้เรียนรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของเยอรมนีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และยังได้เห็นอีกมิติหนึ่งของประเทศนี้ ที่สามารถสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างลงตัวที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ซึ่งก็เป็นแนวคิดสากลที่กำลังได้รับความนิยมในหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยอีกด้วย