posttoday

ใครๆ ก็อยากได้ Renew

06 มิถุนายน 2558

ณ เวลานี้ สภาพเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาแต่ละด้านของประเทศเพื่อนบ้านเรา ก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงจากเดิม

โดย...ทีมงานโลก 360 องศา [email protected]

ณ เวลานี้ สภาพเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาแต่ละด้านของประเทศเพื่อนบ้านเรา ก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปไม่มากก็น้อย วันนี้ก็เลยขอพาไปอัพเดทสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศรอบบ้านเรากันดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพลังงานไฟฟ้า ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลในการพัฒนาให้ประเทศเดินหน้าได้อย่างไม่สะดุด ซึ่งปัจจัยและข้อจำกัดด้านต่างๆ ของแต่ละประเทศ ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energyมีบทบาทในประเทศเพื่อนบ้านของเรา

เริ่มต้นที่ประเทศลาว หรือ สปป.ลาว ประเทศนี้เขาวางบทบาทไว้อย่างชัดเจนว่า ภายใต้การพัฒนาที่จะเกิดขึ้นกับภูมิภาค ลาวจะขอทำหน้าที่เป็น “หม้อไฟแห่งเอเชีย” หรือ “Battery of Asia” ซึ่งคุณ Khamso Kouphokam รองอธิบดีกรมนโยบายพลังงานและแผน กระทรวงพลังงานและบ่อแร่บอกกับเราว่าจากการศึกษาขององค์กรแม่โขงสากล ชี้ให้เห็นว่าลาวมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำได้สูงถึง 2.6 หมื่นเมกะวัตต์ ทำให้ในปัจจุบันลาวมีโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และอยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าอีกหลายสิบโครงการ ในอนาคตจะสามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งไทย กัมพูชา และเวียดนามได้

ใครๆ ก็อยากได้ Renew โซลาร์เซลล์ทางเลือกสำหรับ หมู่บ้านห่างไกลในประเทศลาว

 

อย่างไรก็ตาม การจะก้าวขึ้นเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชียที่สมบูรณ์แบบได้นั้น ลาวเองก็ต้องเร่งพิสูจน์ว่ามีศักยภาพและมีเสถียรภาพทางด้านพลังงานที่เพียงพอ เพราะยังมีผู้คนอีกกว่า 7 ล้านคน ที่อาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายในพื้นที่ร่วม 2.4 แสนตารางกิโลเมตร แถมพื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นภูเขาสูงและเขตป่าไม้ ทำให้ไฟฟ้าและถนนเข้าถึงได้ยากหรืออยู่ในสภาพที่ไม่ดีเท่าที่ควร แต่กลับเป็นที่น่าประหลาดใจว่าประชาชนชาวลาวในพื้นที่ชนบท สามารถมีไฟฟ้าใช้ ทั้งๆ ที่สายส่งไฟฟ้ายังไม่สามารถเข้าไปถึงได้

โครงข่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดเล็ก ได้ทำให้ชาวบ้านกว่า 90 หลังคาเรือน ของบ้านหนองผา ในเขตพื้นที่ห่างไกลในประเทศลาว ได้มีโอกาสสัมผัสกับแสงสว่างยามราตรี ซึ่งซันระบบ (Sunlabob) บริษัทผู้พัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์รายใหญ่ของประเทศลาว ได้มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ชาวลาวในพื้นที่ห่างไกลได้มีโอกาสใช้ไฟฟ้าMr. Andy Schroeter บอกกับเราว่า ในพื้นที่ห่างไกลที่ผู้คนมีรายได้เพียง 1 เหรียญสหรัฐ/วัน การที่พวกเขาจะลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์เองไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ทำให้เกิดโครงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ระบบ Micro Grid ที่มีกำลังการผลิตราวๆ 600 กิโลวัตต์ เพียงพอสำหรับหมู่บ้านที่มีขนาด 800–100 ครัวเรือน ซึ่งแต่ละบ้านมีความจำเป็นในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่กี่ชิ้นอย่างไรก็ตาม รอง ผอ. Chantho Milattanapheng สถาบันส่งเสริมพลังงานทดแทนในลาวบอกกับเราว่า ในทางยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของประเทศ มองว่าพลังงานหมุนเวียนเป็น “พลังงานไม่รับประกัน” เพราะถ้าคิดเป็นต้นทุนต่อหน่วยถือว่าเป็นจำนวนเงินที่สูง แต่สามารถตอบโจทย์พื้นที่ชนบทห่างไกลที่ผู้คนพึ่งพาการใช้ไฟฟ้าที่น้อยนิดได้ ประเทศยังจำเป็นที่จะต้องมีแหล่งผลิตไฟฟ้าที่มั่นคงและเชื่อถือได้ ดังนั้นลาวจึงให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และถ่านหิน

ใครๆ ก็อยากได้ Renew แบตเตอรี่สำหรับเก็บกักไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ เพียงพอสำหรับผู้คนในชนบทที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่กี่ชิ้น

 

ถัดจาก สปป.ลาว เราไปดูอีกหนึ่งประเทศเพื่อนบ้านของเราที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็ว นั่นก็คือ ประเทศเวียดนาม ซึ่งมีเมืองอย่างฮานอยและโฮจิมินห์เป็นหัวใจหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจ และเป็นแหล่งสะท้อนความเป็นสังคมปัจจุบันของประเทศนี้ได้เป็นอย่างดี

เพื่อเปิดรับเอาเทคโนโลยีและความรู้ใหม่ๆ จากประเทศอื่นๆ สังคมเวียดนามจึงเปิดรับวัฒนธรรมภายนอกอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ดังนั้นวิถีชีวิตของผู้คนจึงผูกติดกับเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก และตามให้ทันกับเทรนด์ของโลก ดังเช่นแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการเติบโตแบบสีเขียว ซึ่งถูกกำหนดเป็นนโยบายหลายด้าน ทั้งด้านการส่งเสริมการลงทุน ที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างอาคาร การดำเนินธุรกิจ การทำเกษตรกรรม และยังรวมถึงการพัฒนาด้านพลังงานด้วยเช่นกัน

ใครๆ ก็อยากได้ Renew การมีแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหลักเป็นหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจของเวียดนาม

 

นินถ่วนเป็นจังหวัดที่ส่งเสริมภาพลักษณ์สีเขียวให้กับเวียดนาม เพราะจังหวัดนี้เป็นที่ตั้งของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำด่าหนิม (Da Nhim) ซึ่งเป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกทางตอนใต้ของประเทศ มีกำลังการผลิตเพียง 160 เมกะวัตต์ยังถือว่าห่างไกลความต้องการใช้ไฟฟ้าจริงอยู่มาก ดังนั้นโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน จึงยังมีบทบาทหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่กระนั้นก็ตามเวียดนามก็ประกาศว่าจะมีความพยายามเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น

จังหวัดบิงถ่วนที่อยู่ติดกันกับจังหวัดนินถ่วน ซึ่งมีอากาศร้อนและแห้งแล้งไม่แพ้กัน รัฐบาลจึงมีโครงการติดตั้งกังหันลมขนาดใหญ่เพื่อผลิตไฟฟ้า สามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด 30 เมกะวัตต์ ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงพอสำหรับความต้องการใช้งานจริง แต่นี่ก็เป็นหนึ่งในโครงการที่รัฐบาลพยายามทำให้เกิดเป็นรูปธรรมด้วยเงินลงทุนกว่า 96 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นของรัฐบาลจะมีอยู่ไม่กี่โครงการ ส่วนภาคเอกชนที่ต้องการลงทุนก็ยังไม่มีแรงจูงใจมากพอเพราะรัฐบาลยังไม่ประกันราคารับซื้อ ดังนั้นโครงการพลังงานหมุนเวียนในเวียดนามปัจจุบัน จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างสรรค์และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ มากกว่าการมุ่งใช้เป็นแหล่งพลังงานหลัก เพราะเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนามกำลังเติบโตไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว วิถีชีวิตของผู้คนมีความสะดวกสบายมากขึ้น เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนกับชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว พลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ แม้จะเป็นพลังงานสะอาด แต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งานของเวียดนาม

ใครๆ ก็อยากได้ Renew เครื่องปั่นไฟมีต้นทุนค่าน้ำมันวันละ2,000 จ๊าด ถือเป็นเงินจำนวนมากสำหรับคนในชนบทของเมียนมา

 

ถัดจากลาวและเวียดนาม เราเดินทางต่อไปที่ประเทศเมียนมา เพื่อดูว่าปัจจุบันประเทศนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ซึ่งถนนหลายสายที่เคยอยู่ระหว่างก่อสร้างและปรับปรุง ตอนนี้ก็เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว แม้จะยังมีบางส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ มีธุรกิจหลายแขนงที่ถูกมองว่ามีโอกาสและศักยภาพในตลาดเมียนมาซึ่งธุรกิจทางด้านพลังงานก็เช่นกัน ซึ่งทุกคนเข้าใจดีว่าเมียนมามีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องพัฒนาความมั่นคงทางด้านพลังงาน

แม้จะมีโครงการสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าใหญ่ๆ อยู่หลายแห่ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งานภายในประเทศ ประชาชนในหลายพื้นที่ยังขาดแคลนไฟฟ้า และอีกหลายพื้นที่ก็ยังมีปัญหาไฟฟ้าดับอยู่บ่อยครั้ง ระบบสายส่งที่ยังไม่ทั่วถึง ทำให้พื้นที่ห่างไกลต้องมีเครื่องปั่นไฟฟ้าไว้ใช้งาน ซึ่งจะตามมาด้วยต้นทุนค่าอุปกรณ์และค่าเชื้อเพลิงที่ต้องจ่ายอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นบริษัททางด้านพลังงานจากต่างชาติจึงมองเห็นโอกาสในการลงทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ชนบทของเมียนมา โดยใช้โครงข่ายไฟฟ้าแสงอาทิตย์ขนาดเล็ก เหมือนที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในการพัฒนาไฟฟ้าชนบทของประเทศลาว

ใครๆ ก็อยากได้ Renew โซลาร์เซลล์ขนาดเล็กอีกทางเลือกหนึ่งของชาวเมียนมาที่ต้องการเข้าถึงไฟฟ้า

 

ผู้จัดการของร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในย่างกุ้งเล่าให้เราฟังว่า ยังมีพื้นที่อีกหลายจุดในเมียนมาที่สายส่งไฟฟ้าเข้าไปไม่ถึง ดังนั้นชุดอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ขนาดเล็ก ซึ่งที่ร้านขายอยู่ที่ราคาประมาณ 1 แสนจ๊าด หรือประมาณ 3,000 บาท จึงค่อนข้างขายดี ส่วนบรรดาร้านขายเครื่องไฟฟ้าต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์จะมีความสำคัญอย่างมากต่อชาวเมียนมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกล และเจ้าของร้านขายของชำเล็กๆ ในหมู่บ้านในเขตชานเมืองย่างกุ้งที่ยังไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง ลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาดเล็ก เพื่อให้ลูกๆ ของเธอได้มีแสงสว่างในเวลากลางคืนและได้มีโอกาสดูโทรทัศน์บ้างในบางครั้ง และเธอยังถือโอกาสนี้ให้บริการชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถืออีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่หน้าฝนหรือช่วงที่ฟ้าหม่น แสงแดดไม่เพียงพอสำหรับโซลาร์เซลล์ ชาวบ้านก็ยังคงต้องพึ่งพาเครื่องปั่นไฟอยู่เช่นเดิม แต่ก็จะตามมาด้วยค่าน้ำมันอีกประมาณ 2,000 จ๊าด หรือ 60 บาท/วัน ดังนั้นพลังงานหมุนเวียนเหล่านั้นจึงไม่ใช่แหล่งพลังงานหลักที่สร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับเมียนมาในระยะยาว

ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่แสวงหาการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกๆ ด้าน ลาวต้องการพัฒนาเศรษฐกิจ ต้องการให้ผู้คนอยู่ดีกินดีอย่างถ้วนหน้า  เวียดนามต้องการสร้างความมั่นคงและยั่งยืน รวมถึงต้องการสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นที่ยอมรับ ส่วนเมียนมาเองก็ตระหนักดีว่าการสร้างความเชื่อมั่นทางด้านการลงทุน จำเป็นต้องมีสาธารณูปโภคที่พร้อม มีเสถียรภาพทางด้านพลังงาน ประเทศไทยเราก็เช่นกัน เราก็คงจะต้องหาโมเดลที่เหมาะสม  เพื่อให้เรามีความมั่นคงและเสถียรภาพด้านพลังงานไม่แพ้ชาติอื่นๆ และมีต้นทุนค่าไฟฟ้าสอดคล้องกับเศรษฐกิจและสังคมที่เราเป็นอยู่