posttoday

เยือนถิ่นอิเหนา เพื่อนบ้านเรา แต่เก่าก่อน

21 มีนาคม 2558

ในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด อินโดนีเซียเป็นประเทศใหญ่ที่สุด ทั้งขนาดพื้นที่และขนาดเศรษฐกิจ

โดย...ทีมงานโลก 360 องศา [email protected]

 ดังนั้นอินโดนีเซียจึงเป็นประเทศที่อยู่ในความสนใจมาโดยตลอด ซึ่งขนาดพื้นที่ร่วม 2 ล้านตารางกิโลเมตรนั้น ประกอบไปด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่กว่า 17,500 เกาะ ทำให้อินโดนีเซียเป็นประเทศหมู่เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ด้วยพื้นที่กว้างใหญ่ของอินโดเนีย ทำให้เป็นประเทศที่ครอบครองทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก ทั้งทรัพยากรป่าไม้ แร่ธาตุ ปิโตรเลียม และทรัพยากรทางทะเล และด้วยประชากรกว่า 250 ล้านคน ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชาวมาเลย์ ที่เหลือเป็นอินเดีย อาหรับ จีน และยุโรป โดยในแต่ละพื้นที่ก็ยังมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมและภาษาพูดของแต่ละชนเผ่า ซึ่งภายใต้ความหลากหลายนี้ ก็มีบ้างที่จะเกิดความขัดแย้ง แต่อินโดนีเซียก็พยายามประสานความหลากหลายเหล่านั้นให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

เยือนถิ่นอิเหนา เพื่อนบ้านเรา แต่เก่าก่อน ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่อยู่ร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพในอินโดนีเซีย

 

แม้ว่าชาวอินโดนีเซียจะมีความหลากหลาย แต่ก็มีกลุ่มคนที่มีฐานะดีอยู่จำนวนไม่น้อย คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มว่ากลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางก็จะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งนโยบายเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย มุ่งเน้นการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคง อย่างไรก็ตามด้วยความต้องการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการผลิตภายในประเทศยังไม่ครอบคลุมทุกด้าน ทำให้อินโดนีเซียยังคงต้องพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศอีกจำนวนมาก

ณ เวลานี้ อินโดนีเซียมีนโยบายในการกระจายความเจริญไปให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ในประเทศ ประเทศนี้จึงเป็นที่น่าสนใจสำหรับนักการตลาดและนักธุรกิจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เพราะอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก ดังนั้นอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลก็ต้องบอกว่ามีอนาคตสดใสทีเดียว ปัจจุบันประเทศไทยได้ส่งออกอาหารฮาลาลไปยังตลาดอินโดนีเซียอยู่แล้วบางส่วน โดยคิดเป็นมูลค่ากว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี ซึ่งถ้าคิดเป็นสัดส่วนความต้องการบริโภคทั้งประเทศแล้ว ถือเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย ดังนั้นหากประเทศไทยสามารถขยายตลาดนี้ได้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อทั้งสองประเทศ

เยือนถิ่นอิเหนา เพื่อนบ้านเรา แต่เก่าก่อน ไปอินโดนีเซียทั้งทีต้องไม่พลาดชมวิถีแห่งชนชาวเกาะบาหลี

 

นอกจากเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนแล้ว อินโดนีเซียยังต้องการให้รายได้จากการท่องเที่ยว มาเป็นส่วนเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งการท่องเที่ยวก็ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ เพราะประเทศนี้มีต้นทุนทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจนานนับพันๆ ปีเลยทีเดียว

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า ดินแดนที่เป็นประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน ศาสนาพุทธและศาสนาฮินดูนั้นเคยรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ซึ่งเคยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองยอกยาการ์ตา แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ของประเทศจะเป็นมุสลิม แต่ก็มีชาวอินโดนีเซียที่ถือศาสนาพุทธและศาสนาฮินดูรวมอยู่ด้วย โดยศาสนสถานที่ยังคงหลงเหลือในเมืองยอกยาการ์ต้า เป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยยืนยันการมีอยู่และสะท้อนถึงภาพความรุ่งเรืองได้เป็นอย่างดี

เยือนถิ่นอิเหนา เพื่อนบ้านเรา แต่เก่าก่อน ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องมาพิชิตดินแดนภูเขาไฟแห่งอาเซียน

 

ศาสนาฮินดูเข้ามาถึงเกาะชวาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 4 และรุ่งเรืองที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 9 เป็นยุคที่มีการสร้างศาสนาสถานหลายแห่งทั่วทั้งเกาะชวา โดยมีวัดพรัมบานันเป็นศูนย์กลางของศาสนาฮินดูในขณะนั้น วัดแห่งนี้เริ่มสร้างในสมัยราชวงศ์ฮินดู สันจายา ของอาณาจักรมาตาราม ซึ่งครั้งนั้นเคยมีศูนย์กลางอยู่ที่ยอกยาการ์ตา ทำให้วัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นให้มีความยิ่งใหญ่กว่าที่อื่น เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางและสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงยุครุ่งเรืองของศาสนาฮินดู ต่อจากพระพุทธศาสนาที่มีบุโรพุทโธเป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งเรือง

หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้านหนังตะลุงของภาคใต้ ที่ประเทศอินโดนีเซียก็มีเช่นกันเรียกว่า “วายังกุลิต” ซึ่งก็มีจุดกำเนิดมาจากพิธีกรรมความเชื่อในแบบศาสนาฮินดู โดยวายังนั้นเป็นการแสดงเล่นหุ่นที่มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ทั้งที่เป็นชนิดแผ่นหนังฉลุลาย ที่เรียกว่า “วายังกุลิต” หรือที่เป็นหุ่นกระบอกไม้ที่เรียกว่า “วายังโกเละ” นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีวายังชนิดอื่นๆ ที่แตกต่างกันออกไปตามชนิดของหุ่นเชิด

 

 

เยือนถิ่นอิเหนา เพื่อนบ้านเรา แต่เก่าก่อน วัดพรัมบานันเป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดูที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย

หากจะว่ากันตามจริงแล้ว นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอาจไม่คุ้นลิ้นนักกับอาหารอินโดนีเซีย แต่สำหรับคนไทยแล้ว ก็ถือว่ามีความใกล้เคียงกันในระดับหนึ่ง ตัวอย่างคือ กรูปุ๊ก (Krupuk) หรือ ข้าวเกรียบ ผลิตมาจากแป้งมันสำปะหลัง ปรุงรสกับส่วนผสมอื่นให้มีรสชาติ และอันที่จริงแล้วก็ไม่ใช่แต่ชาวอินโดนีเซียเท่านั้นที่นิยมรับประทานข้าวเกรียบ แต่ยังมีประเทศในแถบเอเซียอีกหลายประเทศที่ชื่นชอบเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย ฟิลิปินส์ เวียดนาม และจีน รวมทั้งคนไทยเองก็รู้จักข้าวเกรียบมานานแล้วเช่นกัน

บาหลีคืออีกหนึ่งในปลายทางยอดนิยมสำหรับคนที่อยากสัมผัสกับบรรยากาศท้องทะเลที่สวยงาม และตื่นตาตื่นใจกับสถาปัตยกรรมและพิธีกรรมทางศาสนาฮินดู นอกจากนั้นแล้วข้อมูลอย่างเป็นทางการมีการระบุว่า บาหลีมีรายได้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มาจากการท่องเที่ยว ที่เหลืออีก 20 เปอร์เซ็นต์ มาจากภาคการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นข้าว ผลไม้ แล้วก็รวมถึงกาแฟอีกด้วย ซึ่งพืชพรรณการเกษตรบนเกาะบาหลีเจริญเติบโตได้ดี เพราะมีปัจจัยมาจากพื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนภูเขาสูง ซึ่งมีความชื้นจากน้ำฝนอย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับมีระบบชลประทานที่ดีและแร่ธาตุจากดินภูเขาไฟ

ด้วยความเป็นหมู่เกาะน้อยใหญ่ของอินโดนีเซีย ซึ่งทางธรณีวิทยาเกิดขึ้นจากการทับถมของภูเขาไฟ ที่นี่เต็มไปด้วยภูเขาไฟมากมาย และบางแห่งก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมไปแล้ว เช่น ภูเขาไฟโบรโมบนเกาะชวา ภูเขาไฟลูกนี้ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติโบรโมเทงเกอร์เซเมรู มีความสูง 2,329 เมตร แม้ว่าจะไม่ได้เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด แต่ก็ถูกจัดอันดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของเกาะชวา ส่วนชื่อ “โบรโม” ก็มาจากสำเนียงภาษาชวาที่ออกเสียงคำว่า “พรหม” หรือพระพรหมที่เป็นเทพเจ้าผู้สร้างนั่นเอง โดยพื้นที่รอบๆภูเขาไฟโปรโม ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตของชาวพื้นเมืองที่เรียกว่า “ชาวเตงการี” หรือธรรมชาติเขียวชอุ่มของเนินเขาและทุ่งหญ้า

อันที่จริงแล้ว อินโดนีเซียยังมีแง่มุมอื่นที่น่าสนใจอีกมาก และจำนวนประชากรที่มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งการได้มีโอกาสทำความรู้จักประเทศนี้โดยแบ่งออกเป็นด้านต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว นอกจากจะสร้างความเข้าใจอันดีแล้ว ก็อาจจะนำมาซึ่งความร่วมมือในการพัฒนาร่วมกันในอีกหลายๆ ด้าน และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าทำความรู้จักกันให้มากขึ้นสำหรับคนไทย