posttoday

โฮมสเตย์พอเพียง อาข่าฮิลล์เฮ้าส์

23 ตุลาคม 2560

อาข่าฮิลล์เฮ้าส์...โฮมสเตย์ที่ชาวไทยหลายคนอาจจะยังไม่เคยได้ยินชื่อเลยด้วยซ้ำ

ดย วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ภาพ อาข่าฮิลล์เฮ้าส์

อาข่าฮิลล์เฮ้าส์...โฮมสเตย์ที่ชาวไทยหลายคนอาจจะยังไม่เคยได้ยินชื่อเลยด้วยซ้ำ หากที่นี่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ด้วยวิถีชีวิตและความเรียบง่ายของชาวชนเผ่า ที่กลายเป็นเสน่ห์มัดใจชาวต่างประเทศ ความพอเพียงและธรรมชาติกลางป่าเขาแห่งหมู่บ้านโป่งน้ำร้อน อ.ดอยฮาง จ.เชียงราย

โฮมสเตย์พอเพียง อาข่าฮิลล์เฮ้าส์

บทความนี้จะเรียบเรียงด้วยภาษาง่ายๆ สั้นๆ และซื่อๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของชาวอาข่า พวกเขาพูดด้วยภาษาที่กระชับสั้น ตรงไปตรงมา หากเมื่อร้อยเรียงแล้วกลายเป็นเรื่องราวมหัศจรรย์ ก็หวังใจว่า "ภาษาที่แสนซื่อ" จะถ่ายทอดให้เห็นได้ ซึ่งพลังและความพอเพียงที่ยิ่งใหญ่ของพวกเขา

อาแป อามอ ผู้ก่อตั้งและเจ้าของอาข่าฮิลล์เฮ้าส์ เล่าว่า เขาเป็นคนดอย ไม่ได้เรียนหนังสือด้วย ทำไร่ทำนาอยู่กับป่าเขา ปีหนึ่งผลผลิตน้อยมาก จำได้เป็นปี 2530 ผลผลิตไม่พอกิน มองไปเห็นไกด์คนหนึ่ง ไกด์คนนี้เป็นกะเหรี่ยง กะเหรี่ยงคนนี้พานักท่องเที่ยวมาเที่ยวในหมู่บ้าน

"กะเหรี่ยงคนนั้นพูดภาษาอังกฤษ ผมก็สนใจ กะเหรี่ยงพูดอังกฤษได้ อาข่าก็ต้องพูดได้"

ก็เลยถามเขาว่า ช่วยสอนภาษาอังกฤษให้ 2 คำได้มั้ย อันนี้เรียกอะไร กับ อันนั้นเรียกอะไร กะเหรี่ยงตอบว่า What is this? กับ What is That? ก็บันทึกในสมุดไว้ คอยถามคอยจด สักพักก็ลงจากดอย ไปเป็นลูกหาบนักท่องเที่ยวที่ในตัวอำเภอ

"ก่อนที่ผมลงไป ผมหนักมาก เพราะแบกความหวังของชาวบ้านลงมาด้วย เขาบอกว่าอาแปลงไปแล้ว อย่าลืมเอาอาชีพกลับมาให้ชาวอาข่าด้วยนะ"

โฮมสเตย์พอเพียง อาข่าฮิลล์เฮ้าส์

ความหวังของอาแปหนักไม่เท่าไร แต่ความหวังของชาวบ้านหนักมาก ต้องทำให้ได้ ลงจากดอยไปเป็นลูกหาบต้นเดือน ธ.ค.ปีนั้น พอเดือน ม.ค.ก็พานักท่องเที่ยวไปเที่ยวเองได้เลย ตั้งใจมากๆ เดือนเดียว

หลังจากอาแปเป็นไกด์ ได้พาฝรั่งมากมายมาที่หมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านได้ขายของขายงานหัตถกรรม ชาวบ้านบางคนได้เป็นผู้ช่วยไกด์ บางคนได้อาชีพนวดแผนอาข่า หรือนวดโบราณแบบอาข่า กลางคืนได้เต้นรำอาข่า โชว์วัฒนธรรมชนเผ่า หลายคนเปลี่ยนอาชีพมาทำท่องเที่ยว

หมู่บ้านอาข่าที่อาแปพูดถึง เป็นส่วนหนึ่งของเผ่าอาข่าในเชียงราย ได้แก่หมู่บ้านโป่งน้ำร้อน มีชาวบ้านรวมกลุ่มกันอยู่ 4 หมู่บ้านเล็กๆ รวม 100 กว่าครอบครัว ประมาณ 800 คน บ้านของพวกเขาตั้งอยู่บนดอยฮาง ห่างจากตัวเมืองเชียงราย 23 กิโลเมตร

ปีแรกของการเป็นไกด์ เก็บเงินได้ 2.6 หมื่นบาท นำมาสร้างที่พักเล็กๆ ให้นักท่องเที่ยว 3 ห้อง เรียกมันว่าอาข่าฮิลล์เฮ้าส์ ค่อยๆ เก็บทำ มีเงินเมื่อไรก็ต่อห้องไปเรื่อยๆ จนมีหลายห้อง (26 ห้อง) ต่อมาก็มีอาข่าริเวอร์เฮ้าส์ สร้างเป็นโรงแรมในเมือง

โฮมสเตย์พอเพียง อาข่าฮิลล์เฮ้าส์

"ไปเปิดออฟฟิศในตัวเมืองด้วย ปลูกที่โรงแรมเราเอง เพราะเวลาไปรับนักท่องเที่ยวมา โรงแรมในตัวเมืองเขา มองเราไม่ดี เหมือนเราไปแย่งลูกค้าเขา ก็สร้างเป็นโรงแรมของเราขึ้นมาเสียเอง" นี่คือเหตุผลในการขยายกิจการ ของอาแป

อาข่าฮิลล์เฮ้าส์ และอาข่าริเวอร์เฮ้าส์ สร้างขึ้นภายใต้หลักการเดียวกัน นั่นคือไม่เบียดเบียนธรรมชาติ ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดเป็นบ้านดินกับไม้ไผ่ ฟืนไฟใช้ประหยัด นักท่องเที่ยวที่มาก็พาไปหมู่บ้าน ไปน้ำตก ไปเที่ยวธรรมชาติ ไปกินอยู่กับป่า ใช้ชีวิตแบบอาข่าคนหนึ่ง

"เราไม่หรูหรา ไม่ทำร้ายป่า สร้างแบบดูแล ห้องพักของเราเกาะเกี่ยวไปตามไหล่เขาในหมู่บ้าน ปลูกผักปลูกข้าว เลี้ยงไก่ เพื่อใช้ในโฮมสเตย์ของเรา"

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ปลูกสร้างขึ้นมาเป็นตัวเป็นตนของอาข่าฮิลล์ ก็คือแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ในหลวงทำคือโครงการต่างๆ กว่า 4,000 โครงการ กระจายทั่วทุกจังหวัดทุกภูมิภาคประเทศเรา ก็เพราะต้องการให้เกิดอะไรขึ้น ถ้าไม่ใช่อาชีพและการได้อยู่ได้กินของประชาชน

อาแปบอกว่า ในหลวงเป็นกษัตริย์ แต่ท่านขึ้นดอยขึ้นเขา ไปในที่ต่างๆ เพื่อประชาชน เพื่อพัฒนาอาชีพ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ แต่เราก็เป็นแค่ชาวบ้านธรรมดา ก็ทำในสิ่งที่เราพอจะทำได้ นั่นคือการสร้างหมู่บ้านท่องเที่ยวที่ยึดหลักปรัชญาความพอเพียง ใช้ชีวิตพอเพียง เดินตามรอยพระบาทของท่าน

"อาแปได้น้อมนำแนวทางของพระองค์มาใช้ เราเป็นอาข่าตัวเล็กๆ ก็ทำกับพื้นที่คนอาข่า ให้เกิดอาชีพเช่นกัน หลายปีมานี้ชาวอาข่ามากมายได้ไปฝึกอบรมกับ อบต. เป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ได้พาเที่ยวในท้องถิ่น เป็นผู้ช่วยไกด์ก็มาก เป็นลูกหาบก็มาก ได้ขายงานฝีมือและอีกมากมาย"

โฮมสเตย์พอเพียง อาข่าฮิลล์เฮ้าส์

อาข่าฮิลล์เฮ้าส์ได้กลายเป็นสถานที่ขึ้นชื่อของนักท่องเที่ยวแนวนิยมไพร รวมทั้งนักท่องเที่ยวผู้ชอบวิถีชีวิตพื้นถิ่นจากทั่วโลก ผู้มาเยือนเกือบ 100% เป็นชาวต่างประเทศ สูงสุดคือฝรั่งเศสและฮอลแลนด์ รองลงมามีสวิตเซอร์แลนด์และญี่ปุ่น เป็นต้น ส่วนคนไทยมีมาน้อยมาก

ตลอดปีที่นี่ห้องพักไม่เคยว่าง ต้องจองล่วงหน้าหลายเดือน บางคนมานอนที่นี่เป็นเดือนๆ ยิ่งสมัยก่อนอยู่กันเป็นปี-2 ปี หรืออย่างน้อยครึ่งปีก็มี ผู้มาพักทำตัวกลมกลืนชาวดอย กินอยู่ง่าย กินผักจากแปลงผัก กินไก่จากเล้าไก่ กินข้าวจากนาข้าว กินสับปะรดถ้ามี

"หากินกันเองนะ มีเราจะพาไปขุดหน่อไม้ พาไปดักปลาดักปูในลำห้วย เรามีกิจกรรมเดินป่าหากินอยู่ในนั้น จะสอนวิธีทำไข่เจียวจากกระบอกไม้ไผ่ให้ สอนก่อไฟ และสอนให้หลามไข่จากกระบอก"

อาแปเรียนน้อย แต่พูดได้ 5 ภาษา มีภาษาอังกฤษ ภาษาชนเผ่า ภาษาญี่ปุ่น ภาษาไทย และภาษาฮอลแลนด์ เคยไปเป็นวิทยากรด้านการท่องเที่ยวที่มหาวิทยาลัยจูรุในญี่ปุ่น ต่อมาอาแปได้จัดตั้งเครือข่ายอาสาสมัครชาวญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศ เพื่อเป็นครูสอนภาษาต่างชาติแก่เด็กที่นี่ เงิน 10% จากทุกบาททุกสตางค์ที่หาได้ มอบเป็นทุนการศึกษานักเรียนอาข่า

สุดท้ายอาแปบอกว่า แม้ในหลวงจะไม่อยู่กับเราแล้ว ก็ยังยึดมั่นแนวทางของท่าน จะทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และทำไปชั่วชีวิต พระองค์ไม่เคยเสด็จมาที่นี่ เคยเสด็จมาที่ใกล้ที่สุดที่ผาหมี ดอยตุง แต่สัมผัสได้ถึงบารมี แนวคิดและความพอเพียง

"จากแนวคิดของท่าน ผมอยากสร้างหมู่บ้านท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญไปด้วย คือพิพิธภัณฑ์ป่าเขา เมล็ดพันธุ์และพืชท้องถิ่นที่ควรค่า มีเงาะป่า มะม่วงป่า ลิ้นจี่ป่า พันธุ์พืชป่า สมุนไพรบนดอยต่างๆ แต่เรื่องนี้ใหญ่มาก ผมรู้ว่าผมทำคนเดียวไม่ได้"

เอาใจช่วยอาแป อามอ กับโครงการหมู่บ้านท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้บนดอยอาข่าของเขา ท่านผู้อ่านเล่า อยากไปเยือนอาแปและให้กำลังใจ ณ อาข่าฮิลล์เฮ้าส์ดูสักครั้งไหม (www.akhahill.com หรือโทร.09-1747-9499)

ศัพท์นักท่องเที่ยวมีอยู่คำหนึ่งว่า "ไปให้ถึง" หมายถึง ไปให้ถึงแก่นแท้ของสถานที่ที่ไป ไปให้ถึงอาข่าฮิลล์เฮ้าส์ ไปให้ถึงความพอเพียง ความพอดี หัวใจและความเรียบง่ายที่นั่น