posttoday

หนึ่งวัน ณ บางลำพู

06 สิงหาคม 2560

บางครั้งสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเกินไปคนไทยอาจไม่ได้ให้รายละเอียด อย่าง “แหล่งวัฒนธรรมย่านบางลำพู” ที่ไม่ได้มีแค่ถนนข้าวสารกับโรตีมะตะบะ

โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

บางครั้งสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเกินไปคนไทยอาจไม่ได้ให้รายละเอียด อย่าง “แหล่งวัฒนธรรมย่านบางลำพู” ที่ไม่ได้มีแค่ถนนข้าวสารกับโรตีมะตะบะ แต่เต็มไปด้วยความลับแห่งภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอีกมากซุกซ่อนอยู่

เคทีซี หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย  ผู้ดำเนินชมรม KTC PR Press Club ได้จัดกิจกรรมทัวร์ไทยไทย ตอน “เดินทอดน่องท่องย่านเก่า” โดยเริ่มต้นก้าวแรกที่ “สวนสันติชัยปราการ” สวนสวยริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ถูกสร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2542 ภายในสวนร่มเย็นด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ มองออกไปเห็นทัศนียภาพของแม่น้ำเจ้าพระยา สวนหลวง ร.8 และสะพานพระราม 8

นอกจากนี้ สวนสันติชัยปราการยังเป็นที่ตั้ง “ป้อมพระสุเมรุ” ป้อมปราการเก่าแก่ซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ป้อมแห่งนี้เป็น 1 ใน 14 ป้อมปราการของกรุงเทพฯ ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ปัจจุบันเหลือเพียง 2 ป้อม คือ ป้อมพระสุเมรุและป้อมมหากาฬ เนื่องจากป้อมปราการได้หมดความจำเป็นลงจึงได้ถูกรื้อถอนไป สิ่งที่หลงเหลืออยู่ทุกวันนี้จึงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และควรค่าแก่การอนุรักษ์

หนึ่งวัน ณ บางลำพู

จากนั้นเดินต่อเนื่องไปยังบ้านศิลปินแห่งชาติ “บ้านดุริยประณีต” ตั้งใกล้กับวัดสังเวชวิศยารามมานานร้อยกว่าปี และยังคงสืบทอดและถ่ายทอดวิชาดนตรีไทยให้แก่เยาวชนและผู้สนใจดังปณิธานของบรรพบุรุษสืบทอดกันมา ทั้งวิชาขับร้อง รำ และดนตรีไทย

ปัจจุบันบ้านถูกตกทอดสู่ ครูสุดจิตต์ อนันตกุล (ดุริยประณีต) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) ประจำปี 2536 ยังคงเปิดบ้านเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ชาวไทย และชาวต่างประเทศสามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้โดยไม่เสียค่าบัตรผ่านประตู

ต่อด้วยการฟังเรื่องราวที่น่าสนใจของเครื่องถมเงินจากทายาทรุ่นที่ 3 ณ ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ไทยนคร หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อ “หสน. ไทยนคร” ร้านรับทำเครื่องถมเงินแห่งเดียวที่ยังคงเหลืออยู่ในกรุงเทพฯ นคร โดยสมจิตร-ปราณี เที่ยงธรรม เป็นผู้ก่อตั้งและผลิตสินค้าเครื่องเงิน เครื่องถม จำหน่ายเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ลูกค้ารายใหญ่สำคัญที่สุด คือ สำนักพระราชวัง สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ธนาคารต่างๆ และลูกค้าระดับสูงในสังคมไทย

หนึ่งวัน ณ บางลำพู

ในปี 2489 หสน.ได้รับพระราชทานครุฑตราตั้งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และอยู่ในความอุปการะของรัฐบาลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งสินค้าเครื่องเงิน เครื่องถมของ หสน.ไทยนคร เป็นสินค้าเครื่องเงิน เครื่องถมสำเร็จรูปรายแรกของประเทศไทย ที่ส่งออกไปยังทั่วโลกตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง

ปัจจุบันนอกจากเครื่องถมเงินแล้ว ในปี 2549 ทายาทได้เริ่มกิจการสวนยางพาราที่เมืองแกลง จ.ระยอง และการเกษตรอื่นๆ เช่น สวนมะพร้าว สวนสน และสวนยูคาลิปตัส ในประจวบคีรีขันธ์ ธุรกิจจึงถูกขยายไปยังการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากต้นยางพารา อาทิ เครื่องเรือน เครื่องครัว ไม้ยางพาราแปรรูป และผลิตภัณฑ์จากยางพาราอื่นๆ ผลิตภัณฑ์จากต้นมะพร้าว ต้นสน และต้นยูคาลิปตัส ทุกประเภททั้งแปรรูปและไม่แปรรูป โดยจำหน่ายทั้งภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ

ปิดท้ายด้วยการชมและรับฟังเรื่องราวของวิถีชุมชนบางลำพู ย่านการค้าและแหล่งความบันเทิงอันเฟื่องฟูในอดีตที่ “พิพิธบางลำพู” โดยมี ธานัท ภุมรัช นักประชาสัมพันธ์ กลุ่มงานพัฒนาการท่องเที่ยว กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ให้ความรู้

หนึ่งวัน ณ บางลำพู

ในอดีตพิพิธบางลำพูเคยเป็นอาคารโรงพิมพ์คุรุสภา โดยกรมธนารักษ์ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมและเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงเป็นศูนย์การเรียนรู้เชิงการศึกษาวัฒนธรรมชุมชนบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์

ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบไปด้วยห้องนิทรรศการหมุนเวียนที่สลับเวียนเรื่องราวกันไป ห้องป้อมเขตขัณฑ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่เล่าความเป็นมาของการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี กลางห้องมีแนวกำแพงเก่าที่จำลองขึ้นเพื่อเล่าเกี่ยวกับการสร้างกำแพงพระนครและเกร็ดความรู้เรื่องการหล่ออิฐด้วยเทคนิคช่างโบราณ รวมถึงเรื่องราวของคูคลองล่องลำนำ คูเมืองรอบพระนคร และคลองสำคัญต่างๆ ในกรุงรัตนโกสินทร์ที่ทำให้เกิดย่านชุมชนย่านการค้า

เรื่องราวของประตูคู่วิถีเกี่ยวกับประตูเมืองที่มีส่วนสำคัญกับความเป็นอยู่ของผู้คนในอดีต และความเป็นมาของป้อมปกนครา เกี่ยวกับป้อมเก่าแก่ทั้ง 14 ป้อมรอบเกาะรัตนโกสินทร์ โดยทั้งหมดสามารถเข้าชมเองได้ตามอัธยาศัย

หนึ่งวัน ณ บางลำพู

ทว่าหากศึกษาอย่างลึกซึ้ง ที่นี่จะเปิดให้เข้าชมพร้อมเจ้าหน้าที่เป็นรอบๆ ทุกๆ 30 นาที โดยเจ้าหน้าที่จะพาขึ้นไปสู่นิทรรศการตั้งแต่ทำความรู้จักกรมธนารักษ์ ไปสู่เรื่องราวบนอาคารไม้ด้านหลังทั้งการฉายภาพยนตร์สั้นเรื่องสีสันบางลำพู เข้าสู่ห้องเบาะแสจากริมคลอง ที่ทำให้เห็นผู้คนหลากเชื้อชาติที่อาศัยร่วมกันในย่านบางลำพูทั้งไทย มอญ ลาว เขมร แขกตานี และจีน ไปต่อที่ห้องพระนครเซ็นเตอร์ ที่มีรถรางสีเหลืองคันใหญ่พาไปชมลิเกคณะหอมหวล ชมหนังกลางแปลงลอดรูสังกะสี เพราะบางลำพูในอดีตเป็นแหล่งรวมมหรสพที่เฟื่องฟูที่สุดในพระนคร

จบที่ความลึกซึ้งสุดขีดที่ห้องย่ำตรอกบอกเรื่องเก่า ให้ทำความรู้จักของดีย่านบางลำพูที่ซุกซ่อนอยู่ในตรอกซอกซอย เช่น การปักชุดโขนของชุมชนตรอกเขียนนิวาส-ตรอกไก่แจ้ บ้านดุริยประณีต บ้านพานถม การตีทองคำเปลวและทำธงของชุมชนวัดบวรรังสี การแทงหยวกของชุมชนวัดใหม่อมตรส การทำข้าวต้มน้ำวุ้นและใบลานของชุมชนวัดสามพระยา และชุมชนทำแหวนรุ่นที่บ่มเพาะช่างทองหลวง เรียกได้ว่าทุกเรื่องราวของย่านบางลำพูได้ถูกขมวดไว้ ณ พิพิธบางลำพูเป็นที่เรียบร้อย

ปัจจุบันย่านบางลำพูเป็นศูนย์กลางการค้าหลายชนิดทั้งผ้า เสื้อผ้า และอาหาร มีทั้งร้านค้าที่ตั้งอยู่ในอาคารตึกเก่าบางลำพู และร้านค้าที่ตั้งอยู่ริมถนนสิบสามห้าง ถนนบวรนิเวศ ถนนสามเสน และถนนจักรพงษ์ ส่วนถนนข้าวสาร เป็นบริเวณใกล้เคียงกับบางลำพู เรียกว่า ถิ่นขุนนางเดิม คือ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของบรรดาข้าราชบริพารในวังหน้า (กรมพระราชวังบวร) ที่ทำงานช่างวังหน้าและช่างฝีมือของโรงกษาปณ์เป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปที่ดินถูกเปลี่ยนมือไปเป็นของพ่อค้าชาวจีน และเมื่อมีคนอเมริกันเข้ามาพักในกรุงเทพฯ ชาวจีนก็ได้กั้นห้องให้เช่าในตึกแถวเพื่อทำการค้าขายและบาร์เหล้าจนทำให้เศรษฐกิจเงินดอลล่าร์เฟื่องฟูกระทั่งปัจจุบัน

บางลำพูจากเก่าถึงใหม่จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าฉงนใจ ซึ่งสามารถย้อนรอยด้วยสองน่องได้ภายในวันเดียว

หนึ่งวัน ณ บางลำพู

หนึ่งวัน ณ บางลำพู

หนึ่งวัน ณ บางลำพู

หนึ่งวัน ณ บางลำพู

หนึ่งวัน ณ บางลำพู