posttoday

‘หมู่บ้านท่องเที่ยววัฒนธรรม’ สร้างมูลค่าด้วยภูมิปัญญาชุมชน

17 กรกฎาคม 2560

“จ.พะเยา” แม้นจะเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่ทว่าอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ งดงาม จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว

โดย...อักษรา ปิ่นนราสกุล

“จ.พะเยา” แม้นจะเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่ทว่าอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ งดงาม จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่ประทับใจผู้มาเยือน อีกทั้งความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของผู้คนที่ไม่น้อยกว่า 8 ชาติพันธุ์ ทำให้มีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์อย่างน่าชื่นชมและอนุรักษ์ สืบทอดไว้ให้ลูกหลานได้ภาคภูมิใจ

ความเป็นชุมชน หมู่บ้านในเมือง หรือในมุมสงบของ จ.พะเยา คือเสน่ห์ที่น่าไปเยือนและน่ายลมิเสื่อมคลาย บวกกับความใฝ่รู้ของผู้คนที่ขยันบนพื้นฐานวิถีเกษตรปลอดภัย ทำให้เกษตรกรพัฒนาฝีมือการทำเกษตรธรรมดาทั่วไปสู่เกษตรปลอดภัยเพื่อสุขภาพและสังคมด้วย

ศิลปวัฒนธรรมที่งดงามตามแบบล้านนา วิถีโบราณที่คงคุณค่า ทรัพยากรธรรมชาติที่สร้างสรรค์ในตัวเอง รวมทั้งวิถีเกษตรเพื่อสุขภาพ สิ่งเหล่านี้คือ “ทุนทางสังคม” ที่แข็งแกร่งของพะเยา เป็นหนึ่งในอัญมณีแห่งล้านนาสร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือน

‘หมู่บ้านท่องเที่ยววัฒนธรรม’  สร้างมูลค่าด้วยภูมิปัญญาชุมชน

จ.พะเยา จึงมีนโยบายเปิด “ชุมชนหมู่บ้านท่องเที่ยววัฒนธรรมจังหวัดพะเยา” โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพะเยา ได้จัดทำโครงการ “พัฒนาและสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและสุขภาพ” เพื่อเป็นการสร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ประจำปีงบประมาณ 2560 โดยจัดกิจกรรมการพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนต้นแบบของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 โดยประชารัฐ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เกษตร ศิลปวัฒนธรรมและสุขภาพ

ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในด้านต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ กิจกรรมดังกล่าวเป็นการกระจายรายได้ด้วยการท่องเที่ยวชุมชน สนับสนุนนโยบายการทำเกษตรปลอดภัย สร้างศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ยกระดับการพัฒนาผู้ประกอบการสู่มาตรฐานสากล ให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาทั้งด้านแหล่งท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว รวมถึงเส้นทางการท่องเที่ยว

ดังนั้น จึงมีการเชื่อมโยงพื้นที่ต้นทางคือชุมชนหมู่บ้านท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ และการพัฒนาในช่วงกลางทาง เพื่อยกระดับหรือมาตรฐานการท่องเที่ยว ให้เชื่อมโยงไปสู่ปลายทางที่ต้องมีการเร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุก ตั้งแต่ระดับนโยบายถึงระดับฐานราก โดยกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพะเยา และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพะเยา กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 5 ชุมชน ที่มีความโดดเด่นแตกต่างกันออกไป

 

‘หมู่บ้านท่องเที่ยววัฒนธรรม’  สร้างมูลค่าด้วยภูมิปัญญาชุมชน

ชุมชนหมู่บ้านท่องเที่ยวแต่ละแห่ง มีการประชุมเชิงปฏิบัติการและอบรมของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด การจัดทำเอกสารที่เป็นองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรม ภูมิปัญญา เช่น ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่เรียนรู้เชิงเกษตร แหล่งศิลปวัฒนธรรม วัด เพื่อให้พร้อมสำหรับผู้มาเยือนทั้งใกล้และไกล

5 ชุมชนหมู่บ้าน ใน 5 อำเภอ คือ 1.ชุมชนบ้านพระนั่งดิน หมู่ 7 ต.เวียง อ.เชียงคำ ไหว้พระพุทธรูปที่ตั้งบนดินไม่มีแท่นชุกชี อันซีนไทยแลนด์ เยี่ยมป่าชุมชนที่ยังรักษาภูมิปัญญาการตีผึ้งหลวงทุกปี การรักษาป่าเพื่อความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรมการดำรงชีวิต 2.ชุมชนบ้านปงใหม่ หมู่ 8 ต.ทุ่งกล้วย อ.ภูซาง จุดเด่นคือ “ฮอมผญา” ศูนย์เรียนรู้เรื่องการเกษตรปลอดภัย ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านอาหารบำบัด ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ 3.ชุมชนบ้านผาตั้ง หมู่ 6 ต.ขุนควร อ.ปง โดดเด่นด้านสถานที่ท่องเที่ยวคือ ถ้ำผาตั้ง มีค้างคาวอาศัยและขี้ค้างคาวสามารถนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ขายสร้างรายได้ วัดผาตั้งสถาปัตย์แบบล้านนาอายุกว่า 100 ปี และศูนย์เรียนรู้เกษตรปลอดภัยผักหวานป่า สวนทุเรียน ฯ 4.ชุมชนบ้านใหม่ราษฎร์บำรุง หมู่ 5 ต.สันโค้ง อ.ดอกคำใต้ สัมผัสสถานที่จำลองที่เกี่ยวข้องกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน สำหรับผู้ที่ต้องการหาที่เที่ยวสงบๆ และ 5.ชุมชนบ้านศรีเมืองชุม หมู่ 6 ต.ลอ อ.จุน ย้อนอดีตกับโบราณสถานเวียงลอ ชมวังปลาค้าวในแม่น้ำอิง กราบต้นพระศรีมหาโพธิ์ จากประเทศอินเดีย

แต่ละชุมชนหมู่บ้านมีกำหนดเปิดตัวในเดือน ก.ค.นี้ทั้งหมด หากนักท่องเที่ยวเข้าไปเยือนจะมีไกด์ท้องถิ่นแนะนำไปยังสถานที่ต่างๆ ให้ได้เที่ยวอย่างมีความสุขและได้รับความรู้ไปพร้อมกัน

‘หมู่บ้านท่องเที่ยววัฒนธรรม’  สร้างมูลค่าด้วยภูมิปัญญาชุมชน

ชิน ใจเย็น ปราชญ์ท้องถิ่นบ้านผาตั้ง ต.ขุนควร อ.ปง กล่าวว่า “บ้านผาตั้งเป็นหมู่บ้านห่างไกลเมืองใหญ่ ก่อตั้งมาแล้วกว่า 120 ปี ผู้คนอยู่กับธรรมชาติ จึงมีวิถีชีวิตทำเกษตรกรรม ปลูกข้าวไว้บริโภคเหลือก็ขาย รักษาป่าเพื่อเป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ เช่น ผักหวานป่า ร่วมกันปกป้องป่าเป็นแหล่งชีวิตที่ให้ความมั่นคงและยั่งยืนด้านอาหาร วัฒนธรรม ภูมิปัญญาพื้นบ้านจึงไม่สูญหาย เป็นหมู่บ้านที่ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนำไปสู่การปฏิบัติจริง เมื่อเปิดตัวเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยววัฒนธรรมแล้ว จะมีการต่อยอดเรื่องโฮมสเตย์ ฝึกอาชีพทำของฝาก เพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ทำให้คนในชุมชนมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวด้วย

แก่นแท้ของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม คือ คุณค่าของวัฒนธรรมดั้งเดิมที่รองรับชีวิตสมัยใหม่ เชิงเกษตรปลอดภัยและสุขภาพ คือการทำเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีหรือสารพิษใดๆ เพื่อสุขภาพปลอดภัยทั้งคนทำคนกิน เพราะออกกำลังกายตอนทำเกษตรสุขภาพแข็งแรง ด้านศิลปภูมิปัญญาที่ช่วยสร้างความตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของผลิตภัณฑ์ เช่น การจักสาน นอกจากสามารถใช้งานได้แล้ว ยังทำให้ช่วยฝึกสมาธิของคนทำด้วย การสืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น ลูกหลานได้สืบทอดมิให้สูญหาย

สิ่งเหล่านี้คือแหล่งท่องเที่ยวทางเลือก สำหรับผู้ที่ต้องการวิถี “สโลว์ไลฟ์” ตอบโจทย์ให้กับชีวิตที่ต้องการความสงบ เป็นธรรมชาติได้อย่างแท้จริง