posttoday

โอเค! เบตง

24 มิถุนายน 2560

“เบตง” เป็นอำเภอที่มีขนาดใหญ่ใน จ.ยะลา นับเป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ใต้สุดของประเทศไทย โดยมีลักษณะเป็นหัวหอก

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ / โสภิตา สว่างเลิศกุล

 “เบตง” เป็นอำเภอที่มีขนาดใหญ่ใน จ.ยะลา นับเป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ใต้สุดของประเทศไทย โดยมีลักษณะเป็นหัวหอกยื่นเข้าไปในประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่ในแนวเทือกเขาสันกาลาคีรี มีเนื้อที่ประมาณ 1,328 ตารางกิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองยะลาประมาณ 140 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 1,220 กิโลเมตร

 ด้วยภูมิประเทศของ อ.เบตง ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงจึงทำให้เบตงมีอากาศดี และมีหมอกตลอดปี ดังคำขวัญประจำอำเภอที่ว่า “เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน”

 สภาพโดยรวมของพื้นที่เป็นที่ราบสูงเนินเขา ลุ่มน้ำ เมืองเบตงตั้งอยู่ในหุบเขา มีลักษณะเหมือนแอ่งกระทะที่โอบล้อมด้วยหุบเขาน้อยใหญ่ พื้นที่ทั่วไปสูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 1,900 ฟุต ตัวเมืองเบตงอยู่ห่างจากด่านชายแดนเบตงเป็นระยะทาง 7 กิโลเมตร เป็นเมืองที่มีความสำคัญด้านการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้า เป็นเมืองหน้าด่านที่จะนำสินค้าเข้าออกไปยังท่าเรือน้ำลึกปีนังของมาเลเซีย

 ปัจจุบัน อ.เบตง จ.ยะลา ถูกยกระดับให้เป็น 1 ใน 3 อำเภอของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กำหนดไว้เมื่อปี 2559 ให้ อ.เบตง เป็นเมืองต้นแบบด้านการพัฒนาเพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับอีก 2 อำเภอ คือ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส ที่ทั้งหมดจะเป็นสามเหลี่ยมเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

 เมืองเบตง ในฐานะที่เป็นไข่แดง และถือเป็นเมืองที่สวยงามของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ถูกตั้งเป้าหมายการพัฒนาในระยะสั้น คือ 1.การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้เป็น 1.2 ล้านคน จากเดิมที่เฉลี่ยปีละ 2.5 แสนคน

 2.การสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับประชาชนไม่น้อยกว่า 5 หมื่นราย

 3.มูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่จะต้องมีการเจริญเติบโตไม่น้อยกว่า 2,500 ล้านบาท

 ภายใต้เม็ดเงินที่รัฐอุดหนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้มากที่สุด เพื่อหวังว่าความเจริญ การจัดการที่เป็นระบบ จะช่วยลดระดับความรุนแรงจากปัญหาการก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ให้ลดน้อยลงและหมดไป

โอเค! เบตง

สถานการณ์ดีขึ้น การพัฒนาจึงไหลตาม

 เมื่อมองไปยังสถานการณ์ความรุนแรงของพื้นที่ในตลอดระยะเวลากว่า 13 ปี หน่วยหลักที่รับผิดชอบอย่างทหาร ซึ่งสำนักนโยบายและแผนงาน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภ.4 สน.) ได้เผยตัวเลขการก่อเหตุในห้วงเวลานับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2559 มาจนถึงปัจจุบัน พบว่าสถิติการก่อเหตุลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 56% หรือการก่อเหตุจากจำนวน 197 ครั้ง เหลือเพียง 79 ครั้ง

 นั่นเป็นข้อบ่งบอกของสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่รัฐบาลได้เสนอภายใต้การปฏิบัติงานของทหารที่คุมพื้นที่ และเมื่อเล็งเห็นว่าสถานการณ์ดีขึ้น การพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจในพื้นที่จึงต้องเดินหน้าอย่างทันที

 กระนั้น แม้สถานการณ์จะดีขึ้นมา แต่ในส่วนของทหารก็ยังคงไม่อาจไว้วางใจ และยังคุมพื้นที่อย่างเข้มงวดเช่นเดิม

 พล.ต.นิพนธ์ รองสวัสดิ์ เลขาธิการ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ฉายภาพเรื่องสถานการณ์ในพื้นที่เอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า การป้องกันเหตุรุนแรงเพื่อสร้างความปลอดภัยให้ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทหารยังคงยึดมั่นและไม่ลดละ ทุกอย่างเดินหน้าตามแผนที่วางเอาไว้ และผลจากการเข้มงวด การเข้าถึงมวลชน ได้ส่งผลให้เหตุความไม่สงบของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ไม่อาจขยายพื้นที่ก่อเหตุเข้ามาในเขตเมืองของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ แม้จะมีความพยายามอย่างหนักในการก่อเหตุก็ตาม

 “แน่นอนว่าเราเผลอไม่ได้ เพราะเผลอเมื่อไหร่เขาก็เล่นเราทันที แต่เพราะความเข้มแข็งที่เราช่วยสร้างและส่งเสริมให้กับภาคประชาชน ทำให้การหลงผิดไปอยู่กลุ่มเห็นต่างจากรัฐลดลง และสถิติการก่อเหตุรุนแรงก็ลดลงตามไปด้วย” พล.ต.นิพนธ์ กล่าว 

 ยุทธศาสตร์สำคัญที่ทหารนำมาใช้ปรับกับการปฏิบัติหน้าที่ มีอยู่ 3 หลักใหญ่ คือ กฎหมายนำ การทหารตาม และการเมืองขยาย

 + กฎหมายนำ เป็นการนำความถูกต้องยุติธรรมเข้าสู่พื้นที่ พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐเองได้มุ่งเน้นในด้านการแสดงความจริงใจ และอำนวยความยุติธรรมกับทุกคนอย่างเท่าเทียม

 + การทหารตาม มุ่งเน้นเพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ นักลงทุน และนักท่องเที่ยว

 + การเมืองขยาย เป็นการนำนโยบายรัฐบาลมาปฏิบัติให้เกิดผลรูปธรรม เพื่อสร้างความเข้าใจ ลดความหวาดระแวงของคนในพื้นที่ และยกระดับคุณภาพชีวิต และเพิ่มศักยภาพของประชาชนให้ดีขึ้น

 3 องค์ประกอบที่ว่า พล.ต.นิพนธ์ เน้นย้ำว่าเป็นแนวนโยบายที่ได้ผล และสอดรับการพัฒนาเร่งด่วนในพื้นที่ภายใต้สถานการณ์ ตามหลัก “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ขณะเดียวกันการเดินหน้าของการเจรจาสันติสุขก็ยังคงรุดหน้าอยู่เช่นเดิม

 “หากมองในเรื่องของความรุนแรง ผมบอกได้ว่า 80% ส่วนใหญ่เป็นเรื่องส่วนตัว และอีก 20% เป็นเรื่องของความมั่นคง แต่เพื่อความชัดเจนในแต่ละความรุนแรงที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ก็ต้องสืบสวนให้ลึกเพื่อหาความเชื่อมโยง” พล.ต.นิพนธ์ ย้ำถึงภาพรวมของสถานการณ์

โอเค! เบตง

เมืองสงบไร้ก่อการร้าย

 ในข้อกังวลว่าสถานการณ์กลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลาม หรือกลุ่มไอเอส ที่แผ่ขยายเข้ามายังภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจส่งผลกระทบถึงประเทศไทย โดยเฉพาะสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

 คำตอบจาก พล.ต.นิพนธ์ คงทำให้เบาใจขึ้น เมื่อยืนยันและรับรองแน่นอนว่าไม่มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายไอเอสเข้ามาในพื้นที่ อีกทั้งปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้ รัฐบาลยืนยันมาตลอดว่าเป็นปัญหาภายใน นานาชาติไม่อาจเข้ามาแทรกแซง และขณะเดียวกัน ปัญหาภายในที่ว่าก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ก่อการร้ายของโลกด้วย

 “กลุ่มคนเห็นต่างจากรัฐ กระทำการที่ผิดกฎหมายของไทย และรัฐเข้าไปจัดการด้วยกรอบกฎหมายไทย เราไม่ได้ใช้กฎหมายสากลเข้ามาจัดการปัญหาของเรา และทุกคนที่จับตัวมาได้ ก็เป็นคนไทย ไม่มีคนต่างชาติแม้แต่คนเดียว” พล.ต.นิพนธ์ ยืนยัน

 หากให้มองภาพรวมของความปลอดภัยในพื้นที่ที่จะเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงส่งเสริมสภาพชีวิตของคนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้มีความเป็นอยู่ทีดีขึ้นได้อย่างไร?

 พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภ.4 สน. ให้คำตอบว่า ทหารจัดพื้นที่ปลอดภัย หรือที่เรียกว่า “เซฟโซน” ไว้ในหัวเมืองเศรษฐกิจรวมแล้ว 7 พื้นที่ กำลังหลักจะเป็นการบูรณาการร่วมระหว่างทหาร ตำรวจ ภาคพลเรือน และภาคประชาชน ความเข้มแข็งของภาคส่วนที่ร่วมมือกันทำงานทำให้พื้นที่มีความปลอดภัยสูงขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก

 “เหตุการณ์ระเบิดบิ๊กซี จ.ปัตตานี พื้นที่นั่นอยู่นอกพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งห่างจากเซฟโซนไปราว 5 กิโลเมตร แต่แน่นอนว่าเราเข้มงวดแค่ไหน หากมีช่องโหว่ก็จะเกิดเหตุได้ทันที” พ.อ.ปราโมทย์ ให้ความเห็น

 อย่างไรก็ตาม ในส่วนสถานการณ์การพูดคุยสันติสุข โดยเฉพาะประเด็นการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย จะต้องเป็นรูปแบบที่ร่วมกันตกลงทั้งสองฝ่าย และขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการทำงานทาง “เทคนิค” ที่ทหารก็ไม่อาจเปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้ให้สาธารณะได้รับทราบได้ โดย พล.ต.นิพนธ์ และ พ.อ.ปราโมทย์ ยืนยันในทิศทางเดียวกันว่า ทุกอย่างกำลังดำเนินการ

หนึ่งในเมืองสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ

 เมื่อทหารในฐานะหน่วยงานสำคัญที่จะต้องดูแลความสงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยืนยันถึงสถานการณ์ว่าอยูในช่วงที่ดีขึ้น การผลักดันในการพัฒนาจึงต้องเดินหน้าอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน

 ไข่แดงของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ อย่าง อ.เบตง จ.ยะลา ถูกนับเป็นหัวเมืองหลักใน 3 เมืองของพื้นที่ที่จะต้องพัฒนาให้เป็นเมืองต้นแบบภายใต้สถานการณ์ควันปืน ที่แม้จะดีขึ้น แต่ความรุนแรงก็ยังคงไม่ได้จางหายไป

 กระนั้น ทำไมจึงต้องเป็น “เบตง” เพราะภูมิพื้นที่ของเบตงถือเป็นเมืองโดดเดี่ยว ตั้งอยู่ใต้สุดของประเทศไทย ขณะที่การเดินทางต้องใช้ถนนหมายเลข 410 จาก อ.เมืองยะลาเข้าสู่พื้นที่ ในระยะทางราว 137 กิโลเมตร ท่ามกลางถนนที่คดเคี้ยวตัดภูเขา กอปรกับยังต้องผ่านพื้นที่เสี่ยงอีกด้วย

 ดำรงค์ ดีสกูล นายอำเภอเบตง ตอบคำถามนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า แม้เบตงจะถือเป็นเมืองเล็ก ประชากรอาศัยอยู่ราว 7 หมื่นคน แต่ภายในเมืองกลับน่าดึงดูดสำหรับนักท่องเที่ยว ทั้งธรรมชาติที่สวยงาม วิถีวัฒนธรรมของคนไทยหลากหลายเชื้อชาติ แสงสีในยามค่ำคืน สถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมาย รวมถึงอาหารต่างๆ องค์ประกอบเหล่านี้ได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ และจีน เข้ามาท่องเที่ยวในทุกๆ ปี

 ที่สำคัญ เบตง แม้จะอยู่ในพื้นที่ก่อเหตุความไม่สงบ แต่ให้นับตัวเลขของความรุนแรงกลับเกิดขึ้นน้อยครั้งอย่างมาก โดยครั้งสุดท้ายเกิดเหตุระเบิดเมื่อปี 2557 และนับตั้งแต่นั้นมา ไม่มีเหตุใดเกิดขึ้นอีกเลย

 “เพราะคนในพื้นที่เข้มแข็ง หวงพื้นที่ และไม่ต้องการความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ร่วมมือกันวางกำลังรักษาความปลอดภัยทั่วทั้งเมือง ความเข้มแข็งในจุดนี้ ถือว่าหยุดความรุนแรงให้ชะงักได้เลย” ดำรงค์ ให้ความเห็น

 กระนั้น แม้ อ.เบตง จะต้องถูกผลักดันพัฒนาอย่างเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐ เพื่อดึงเม็ดเงินและกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กับคนในพื้นที่ และอีกนัยก็เพื่อให้เป็นเมืองต้นแบบอย่างที่กล่าวเอาไว้

 แต่สิ่งหนึ่งที่นายอำเภอเบตงไม่อาจละเลย เพราะแม้เมืองจะพัฒนาไปมากแค่ไหน วิถีชีวิตของคนในพื้นที่จะต้องไม่ได้ผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน คนไทยพุทธ และคนไทยมุสลิม จะต้องอยู่อย่างมีความสุขควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองเบตง

โอเค! เบตง

เบตง จะพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

 สิ่งสำคัญที่จะทำให้เบตงเป็นเมืองต้นแบบด้านการพัฒนาเพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน องค์ประกอบความสำเร็จจะมาพร้อมการลงทุนจากภาครัฐ กรอบวงเงิน 1,900 ล้านบาท ถูกเทเข้าสู่พื้นที่เพื่อสร้างสนามบินเบตง บนพื้นที่กว่า 900 ไร่ มีหลุมจอดเครื่องบินขนาด 70 ที่นั่ง 3 ลำ ที่ ต.ยะรม อ.เบตง ซึ่งห่างจากตัวเมืองเบตงไปทางทิศเหนือในระยะทางราว 10 กิโลเมตร

 สนามบินแห่งนี้จะช่วยในการเดินทางของนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ ทั้งชาวไทยและต่างชาติให้มาที่เบตงได้สะดวกยิ่งขึ้น ขณะที่การก่อสร้างมีความคืบหน้าและคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2562

 นอกจากนี้ เงินอีก 90 ล้านบาทจะถูกนำมาใช้ก่อสร้างจุดชมวิวพื้นกระจก หรือ Sky Walk ที่เทือกเขาอัยเยอร์เวง หรือเขาไมโครเวฟ ที่เป็นจุดชมทะเลหมอกที่สวยไม่แพ้ภาคเหนือของเมืองไทย และชมได้ตลอดทั้งปี ทั้งนี้ Sky Walk จะช่วยให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับทะเลหมอกอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และที่สำคัญ Sky Walk ชมทะเลหมอกที่เทือกเขาอัยเยอร์เวง จะเป็นแลนด์มาร์คสำคัญที่นักท่องเที่ยวสามารถชมทะเลหมอกได้อย่าง 360 องศา ซึ่งจะยิ่งใหญ่และสวยที่สุดในทวีปเอเชีย

 สถานที่ท่องเที่ยวในเบตงยังมีอีกมากมาย ทั้งอุโมงค์ปิยะมิตร ที่เคยเป็นสถานที่ต่อสู้ในอดีตของคนจีนมลายูพลัดถิ่น ซึ่งอุโมงค์ที่เคยใช้เป็นพื้นที่หลบซ่อนภัยทางอากาศ ได้แปรเปลี่ยนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คงเอกลักษณ์ดั้งเดิมเอาไว้ เพื่อรอให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส หรืออาหารการกินที่มีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นอาหารเฉพาะถิ่นที่หากินได้ที่เบตงเท่านั้น ทั้งข้าวมันไก่เบตง หรือปลากือเลาะห์ ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ และแน่นอนว่าสร้างเม็ดเงินให้กับคนในพื้นที่ไม่น้อย

 บรรยากาศรอบเมืองเบตงที่ได้สัมผัส พบว่ามีเสน่ห์ดึงดูดที่น่าสนใจ ความน่ากลัวจากคนนอกที่มองว่าเบตง หรือเมืองอื่นๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังคงอันตรายนั้น หากได้มาสัมผัสกับวิถีการดำรงชีวิตของคนในพื้นที่ รอยยิ้มที่จริงใจแผ่ซ่านให้กับคนแปลกหน้า ความกลัวก็น่าจะจางลงไปพร้อมกับควันปืนด้วยเช่นกัน และท้ายสุด เบตงอาจจะเป็นเมืองที่นำความสำเร็จไปสู่การกลืนสถานการณ์ความรุนแรงให้หายไปก็เป็นได้

ดอกไม้ชายแดนใต้ “เบตง” บนความเจริญในวันนี้

 มนต์เสน่ห์และความพิเศษ หรืออัตลักษณ์เมืองในหุบเขา รวมถึงความประทับใจของเบตง ในฐานะคนที่เกิดที่นั่น ฝังรกรากที่นั่น ดุสิต ศิลากอง รองผู้อำนวยการ World Film Festival of Bangkok หลายสมัย ซึ่งเป็นชาวเบตงโดยกำเนิด ครอบครัวฝังรกรากที่นี่มายาวนานตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษที่อพยพมาเป็นคนจีนโพ้นทะเลที่นี่ จนกลายเป็นชาวเบตงแท้ที่มีส่วนร่วมสร้างบ้านแปลงเมืองจนถึงทุกวันนี้

 ดุสิต เล่าถึงจุดเด่นของเบตงว่า หลักๆ ทั่วไปคงเป็นเรื่องของอากาศที่มีอุณหภูมิเฉลี่ย 25 องศาเซลเซียสทั้งปี และอาหารการกินที่หลากหลาย

 “ด้วยว่า อ.เบตง มีขนาดเล็กกะทัดรัด และด้วยอายุของอำเภอที่มีอายุ 110 ปี ทำให้ผู้สูงอายุรุ่นที่ 2 ที่มีอายุระหว่าง 70-80 ยังมีอยู่ค่อนข้างมาก จึงยังทำให้วัฒนธรรมและประเพณีในอดีตยังคงดำเนินต่อไป การเป็นเมืองเล็กทำให้บรรยากาศของเมืองเต็มไปด้วยการทักทายกันบนท้องถนน ทำให้มันดูอบอุ่น การไปมาหาสู่ทำได้ง่าย”

 จากสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่งผลกระทบต่อผู้คนในเบตง เปลี่ยนแปลงขนาดไหน ดุสิตชี้ว่าสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อ อ.เบตงน้อยมาก เพราะเศรษฐกิจส่วนใหญ่มาจากเม็ดเงินของนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย

 “ความเข้าใจกันระหว่างคนเบตง กับคนใน อ.เมืองยะลา เรียกได้ว่าแทบจะไม่รู้จักกัน คนทั้งสองพื้นที่ไปมาหาสู่กันน้อยมาก คนเบตงส่วนใหญ่จะไปที่ อ.หาดใหญ่ หรือไม่ก็ไปปีนังมากกว่า อีกทั้งด้วยความที่เบตงเป็นเมืองเข้าออกทางเดียว การจะทำเหตุรุนแรงอะไรทำได้ค่อนข้างยาก ถึงแม้จะมีเหตุความรุนแรงบ้าง แต่การจับกุมใช้เวลาไม่มากก็ทำการจับกุมสำเร็จ และไม่มีข้อครหาเรื่องการจับแพะเลย ไม่เหมือนกับพื้นที่อื่น”

 การวางเบตงให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ คิดว่าดีหรือเหมาะสมอย่างไร? ดุสิตชั่งใจและบอกว่า เรื่องนี้ตอบได้ยากมาก แต่ถ้าพูดจากส่วนลึก ไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไหร่ แต่ถ้าวางเป็นเมืองท่องเที่ยว และเป็นด่านย่อย น่าจะดีกว่าเพราะส่วนของภาครัฐไม่ได้เริ่มลงมือทำความเข้าใจเรื่องอะไรพวกนี้เลย รวมไปถึงระบบโลจิสติกส์ที่ยังไม่ได้วางแผนอะไรเลย

 “ในแง่เศรษฐกิจภายในประเทศ อย่างที่กล่าวไว้ด้านบน คนเบตงไม่ค่อยได้มีการปฏิสัมพันธ์กับคนทางยะลา ปัตตานี หรือนราธิวาส ตอนนี้ดูเหมือนคนจากที่ดังกล่าวเริ่มทยอยเดินทางมาเที่ยวทะเลหมอก ที่ ต.อัยเยอร์เวงมากขึ้น แต่ไม่เข้ามาถึงตัว อ.เมือง เพราะค่าครองชีพที่เบตงถือว่าสูงมาก

 “เรื่องความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนส่วนใหญ่เกิดระหว่างทาง ซึ่งเป็นเส้นทางเดินทาง เช่น ที่ อ.รามัน กรงปินัง ที่ชาวบ้านยังกลัวกันอยู่ หากยังคงมีข่าวแบบนี้ต่อไปก็ยากที่จะมีการทำการค้าต่อกัน ในแง่เศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศมาเลเซีย เฉพาะจุดของเบตง ไม่น่าจะใช่เส้นทางลำเลียงสินค้านำเข้าหรือส่งออกที่สำคัญมากนัก เนื่องจากท่าเรือที่บัตเตอร์เวิร์ทของประเทศมาเลเซีย ที่มีการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนจำนวนมหาศาล รวมไปถึงการตั้งโรงงานขนาดใหญ่ของบริษัทต่างชาติดังๆ ที่บริเวณสะพานข้ามทะเลอันใหม่ของเกาะปีนัง การลำเลียงสินค้าผ่านด่านที่สะเดา สะดวกกว่ามาก

 “เรื่องการท่องเที่ยวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คนมาเลเซียที่เดินทางมาท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นคนละแวกๆ ชายแดน และมาจากเมืองอิโปห์เสียส่วนใหญ่ ที่น่าแปลกใจคือคนจากปีนัง ที่มีระยะห่างแค่ 125 กิโลเมตร เดินทางมาเที่ยวน้อยมาก ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการพูดถึง ยังไม่รวมไปถึงศักยภาพของคน ที่ปัจจุบันคนอายุ 45 ลงไป พื้นฐานทางภาษาอังกฤษ และจีน และอาจรวมไปถึงภาษาบาฮาสามาเลย์ ถือว่าไม่ดีเอาเสียเลย อันนี้น่าเป็นห่วง คนเชื้อสายมาเลย์ ฝั่งมาเลเซียเอง ภาษาอังกฤษก็เลวร้ายพอๆ กัน”

 สนามบินมูลค่า 1,900 ล้านบาท ที่จะเสร็จในปี 2562 จะเปลี่ยนแปลงเบตงให้ยกระดับขึ้นอีกขั้นไหม? ดุสิตยอมรับว่า แน่นอน เพราะอย่างน้อยก็จะต้องมีคนไทยเดินทางมาท่องเที่ยวมากขึ้น ไม่ต้องกังวลเรื่องที่จะเดินทางผ่านเส้นทางยะลา-เบตง ทำให้เทศกาลอาหารและผลไม้ของเบตงจะต้องคึกคักเป็นอย่างมาก รวมไปถึงการเข้ามาลงทุนของคนนอกที่จะต้องมีเข้ามาแน่นอน

 “หากเป็นไปตามความเห็นกว้างๆ ก็อยากจะให้มันสำเร็จไปตามแผนที่รัฐได้วาดโครงการมา รวมไปถึงความสงบ แต่มันคงยังตอบอะไรมากไม่ได้ว่ามันจะเป็นไปตามเป้าหมายหรือเปล่า ทั้งนี้เพราะการเติบโตของโรงแรมที่พัก ถนนหนทาง การจัดการเมืองให้เป็นระเบียบ ยังดูไม่ดีนัก รวมไปถึงการพัฒนาทักษะด้านภาษา และช่างฝีมือก็ยังน้อย นี่ยังไม่รวมถึงระดับการักษาของโรงพยาบาลที่เครื่องไม้เครื่องมือเองก็ยังไม่ทันสมัยเอาเสียเลย ซึ่งในกรณีหลังเป็นเรื่องที่ไม่มีใครให้น้ำหนักกันมากนัก แต่ผมเชื่อว่านี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะการมาท่องเที่ยว หรือจะมาประกอบธุรกิจที่นี่นานๆ เรื่องสาธารณสุขพื้นฐานเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้”

 สุดท้าย ดุสิต ก็สรุปตามประสาคนท้องถิ่นที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของเบตงในรอบเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาว่า เบตงเป็นเมืองที่น่ามาท่องเที่ยวพักผ่อน อากาศดี อาหารอร่อย แต่ยังไม่เหมาะนักกับการลงทุนทำธุรกิจ เพราะจำนวนคนที่นั่นยังน้อย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และเด็ก

 “ดังนั้นกำลังซื้อไม่ดีมากนัก ผู้สูงอายุมีเงินแต่ไม่ใช้ เด็กอยากใช้แต่ไม่มีเงิน ก็หวังแค่ว่าหากประชากรผู้อยู่อาศัยมากขึ้น เบตงเป็นหนึ่งในที่ที่น่าลงทุนที่หนึ่งในประเทศไทยอย่างแน่นอน”