posttoday

ตามหาบ้านในโปสการ์ด ‘บ้านท่าม่วง’

28 พฤษภาคม 2560

สถาปัตยกรรมเก่า คือ เสน่ห์ของบ้านท่าม่วง ชุมชนเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำแม่กลองและถนนแสงชูโต เทศบาลตำบลท่าม่วง

โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

สถาปัตยกรรมเก่า คือ เสน่ห์ของบ้านท่าม่วง ชุมชนเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำแม่กลองและถนนแสงชูโต เทศบาลตำบลท่าม่วง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี โดยแต่เดิมนั้น ชุมชนแห่งนี้เคยเป็นย่านการค้าเก่าที่มีประวัติความเป็นมายาวนานถึง 118 ปี กระทั่งปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้นในรูปแบบของ “ตลาดเก่าท่าม่วง”

ย้อนกลับไปในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ชุมชนท่าม่วงมีประวัติศาสตร์ร่วมกับเหตุการณ์นั้น โดยเคยเป็นที่ตั้งค่ายของทหารญี่ปุ่น เป็นที่ซ่อมหัวจักรรถไฟ เป็นที่กักกันเชลยศึก เป็นที่ส่งเสบียงของกองทัพญี่ปุ่น และเป็นสถานที่ที่ชาวญี่ปุ่นทำมาค้าขายกับคนท่าม่วงหลายบ้านจนทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรืองมาก และยังแสดงให้เห็นถึงความโอบอ้อมอารีของเจ้าบ้านที่มีต่อผู้มาเยือน

ตามหาบ้านในโปสการ์ด ‘บ้านท่าม่วง’

หลังจากนั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง วิถีชีวิตของชาวท่าม่วงก็ได้เปลี่ยนแปลงไปและเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำแม่กลองในปี 2507 ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนริมแม่น้ำแม่กลองแห่งนี้ เพราะชาวท่าม่วงจะสร้างบ้านเรือนอยู่ริมลำน้ำแม่กลองเพื่อการสัญจรและค้าขาย ซึ่งประชากรกลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาสร้างบ้านเรือนในตลาดท่าม่วง หรือในสมัยนั้นใช้ชื่อว่า ตลาดนางลอย คือ ชาวจีนแต้จิ๋วและจีนแคระ โดยอาศัยอยู่ริมน้ำ สร้างบ้านหลังคามุงจาก ผนังก่อด้วยดิน และส่วนใหญ่ทำอาชีพทำไร่ทำนาและปลูกยาสูบ

จนกระทั่งชุมชนเกิดอัคคีภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2478 ทำให้ตลาดนางลอยหายไป ส่วนบ้านเรือนได้ถูกบูรณะใหม่และบางส่วนถูกสร้างขึ้นใหม่เป็นบ้านเรือนไม้ชั้นเดียวหรือสองชั้น รวมถึงส่งผลต่อวิถีชีวิตชาวจีนที่เคยทำไร่ทำนาก็เปลี่ยนมาทำค้าขาย โดยใช้ลำน้ำแม่กลองเป็นเส้นทางการค้ากับกรุงเทพฯ สมุทรสงคราม และฉะเชิงเทรา ปัจจุบันชุมชนก็ยังมีท่าน้ำทั้งหมด 3 ท่า คือ ท่าบน ท่ากลาง และท่าล่าง แม้ว่าคนจะมีถนนแทนลำน้ำแล้วก็ตาม

ตามหาบ้านในโปสการ์ด ‘บ้านท่าม่วง’

คำว่า ตลาดนางลอย จึงลบเลือนหายไป และถูกตั้งชื่อใหม่ให้เป็น ตลาดท่าม่วง ตามต้นมะม่วงที่ขึ้นอยู่มากมายริมน้ำ ซึ่งชื่อใหม่ได้มาพร้อมกับความเจริญเชิงพาณิชย์ จนตลาดกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งใหม่ที่อยู่ใกล้กับทางหลวง และยังคงทำหน้าที่เป็นแหล่งอาหารและของใช้ให้กับชาวบ้านในละแวกนั้นเหมือนในอดีตเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว

นอกจากนี้ สิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาอีกอย่างที่ต้องกล่าวถึง สถาปัตยกรรมดั้งเดิม เพราะชาวท่าม่วงทุกคนมีภารกิจสำคัญที่จะต้องรักษาโดยเฉพาะการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น เช่น บ้านอุดมพันธ์ บ้านค้าขายหลังแรกๆ ที่สร้างขึ้นในชุมชนแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2506 หรือบ้านปอเชียง ที่เป็นตัวอย่างอันสะท้อนให้เห็นความตั้งใจอนุรักษ์ของเจ้าของ จนทำให้ชุมชนท่าม่วงถูกยกให้เป็นชุมชนอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นด้วย 

ตามหาบ้านในโปสการ์ด ‘บ้านท่าม่วง’

ด้านการท่องเที่ยวนั้นต้องนิยามว่า ชุมชนท่าม่วงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพราะจุดเด่นของท่าม่วงมี 2 อย่างสำคัญ คือ สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมที่มีคุณค่า ดังนั้นหาซื้อโปสการ์ดสักหลายๆ ใบในตลาด แล้วออกเดินไปตามหาบ้านหรืออาคารที่เหมือนลายเส้นในโปสการ์ดนั้น จะได้เห็นอดีตปะทะปัจจุบันอย่างชัดเจนว่า กาลเวลาไม่อาจทำลายรากของวัฒนธรรมอย่างถิ่นที่อยู่ และอย่าลืมไปตามหาอาหารขึ้นชื่อประจำถิ่นอย่าง โอเลี้ยงโบราณ ที่ใช้เมล็ดกาแฟจากการคั่วด้วยมือในโรงคั่วท้องถิ่น รวมถึงข้าวหมกไก่ กวยจั๊บโบราณ และขนมเปี๊ยะโบราณ ซึ่งเป็นอาหารดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ

นอกจากนี้ ผู้เฒ่าผู้แก่ท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า บ้านท่าม่วงสามารถแทนด้วยตัวเลขหนึ่งถึงสี่ ได้แก่

ตามหาบ้านในโปสการ์ด ‘บ้านท่าม่วง’

หนึ่งสายน้ำ คือ แม่น้ำแม่กลองที่คอยหล่อเลี้ยงชาวท่าม่วงและเส้นทางสัญจรที่สำคัญในอดีต

สองศิลปะ คือ สถาปัตยกรรมไทยลักษณะเป็นเรือนไม้ และสถาปัตยกรรมจีนลักษณะเป็นอาคารตึกสไตล์ชิโนโปรตุกีส

สามศาสนา คือ พุทธ คริสต์ และอิสลาม ที่อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขมาเป็นร้อยปี

ตามหาบ้านในโปสการ์ด ‘บ้านท่าม่วง’

สี่วัฒนธรรม คือ วัฒนธรรมของไทยพุทธ คริสต์ อิสลาม และจีน

ปัจจัยทั้งหมดประกอบรวมเป็นชุมชนท่าม่วงบ้านฉัน ดีและงาม ชุมชนเรียบง่ายและสันติสุข อุดมไปด้วยรอยยิ้มและความน่ารักของชาวบ้าน และงามตาด้วยคุณค่าของสถาปัตยกรรม ซึ่งในอนาคตบ้านเรือนเก่าจะถูกพัฒนาด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านที่เห็นความสำคัญของวัฒนธรรมและรากเหง้า หวังให้ชุมชนท่าม่วงกลับมาสวยงามและมีชีวิตชีวาอีกครั้ง (อย่างที่เคยเป็นมา)

ตามหาบ้านในโปสการ์ด ‘บ้านท่าม่วง’

ตามหาบ้านในโปสการ์ด ‘บ้านท่าม่วง’