posttoday

รื่นเริงดนตรี เปรมปรีดิ์อาหาร ณ ย่านนางเลิ้ง

23 เมษายน 2560

กรุงเทพฯ เล็กนิดเดียวแต่ยังเที่ยวไม่ครบ เช่น ชุมชนเล็กๆ ที่ชื่อคุ้นหูแต่ก็ไม่รู้ว่ามีอะไร อย่างชุมชน “นางเลิ้ง”

โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

กรุงเทพฯ เล็กนิดเดียวแต่ยังเที่ยวไม่ครบ เช่น ชุมชนเล็กๆ ที่ชื่อคุ้นหูแต่ก็ไม่รู้ว่ามีอะไร อย่างชุมชน “นางเลิ้ง” ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ที่เชื่อว่าคนกรุงเทพฯ ต้องเคยได้ยินชื่อ ตลาดนางเลิ้ง แต่รู้หรือไม่ว่า นางเลิ้ง ยังคงเป็นแหล่งอนุรักษ์วัฒนธรรมรำซัดชาตรี เป็นที่ตั้งของบ้านเต้นรำแห่งยุคโก๋หลังวัง และเป็นที่สถิตร่างของพระเอกผู้ล่วงลับ มิตร ชัยบัญชา

ในตรอกเล็กๆ ที่กว้างแค่พอให้จักรยานผ่าน มีเสียงดนตรีที่ไม่คุ้นหูลอดเล็ดออกมา มันไม่ใช่เพลงลูกทุ่ง ไม่ใช่ลูกกรุง และไม่ใช่เพลงป๊อปร็อก แต่มันคือการแสดงดนตรีสดที่น่าจะมีเครื่องดีด สี ตี เป่า และเสียงร้องที่จับภาษาไม่ได้ ดนตรีนำทางให้เดินเข้าไปหาจุดกำเนิด วอลุ่มดังขึ้นๆ จนเท้าไปหยุดหน้าประตูบ้านที่ไม่ปิดประตู และทั้งหมดก็เริ่มเฉลยเมื่อคนในบ้านตะโกนตอบสายตาขี้สงสัย “ยินดีต้อนรับสู่บ้านศิลปะ”

รื่นเริงดนตรี เปรมปรีดิ์อาหาร ณ ย่านนางเลิ้ง

บ้านศิลปะเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นเฉกเช่น รำซัดชาตรี ศิลปะการแสดงเก่าแก่ที่หาชมได้ยากที่ครั้งหนึ่งละครชาตรีนางเลิ้งเคยรุ่งเรืองและเป็นที่นิยมสูงสุดในประเทศไทย พี่แดง-สุวัน แววพลอยงาม เล่าว่า เมื่อรุ่นปู่ย่าตายายตายไป ลูกหลานไม่ได้สืบต่อทำให้ละครชาตรีอันเป็นศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นแทบสูญหายไปจากนางเลิ้ง บ้านศิลปะจึงเป็นเพียงแหล่งรวมตัวของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังคงคิดถึงวันวานของตน

รำซัดชาตรี หรือละครชาตรี คือ ละครรำดั้งเดิมของไทยที่มีมาแต่โบราณ มีต้นกำเนิดมาจากการละเล่นในพิธีกรรมทางศาสนาผีของชุมชนชาวบ้านดึกดำบรรพ์สุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ ราว 3,000 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย แต่เมื่อลิเกสร้างความทันสมัยโดนใจชาวบ้านมาแทนที่ ละครชาตรีก็ลดความนิยมลงจนใกล้จะสูญหาย จะเหลือไว้ก็เป็นเพียงการรำแก้บนเท่านั้น

รื่นเริงดนตรี เปรมปรีดิ์อาหาร ณ ย่านนางเลิ้ง

จากนั้นพี่แดงให้แขกผู้มาเยือนได้รับการชมการแสดงละครชาตรี และเมื่อสิ้นสุรเสียงองก์บูชาเทวดา เวลานั้นเสมือนกับว่าอดีตที่เกือบจะหายไปได้ย้อนกลับมามีชีวิต ณ ปัจจุบัน ดังนั้นจึงขอเพียงแค่มีคนรุ่นใหม่มาต่อลมหายใจ ละครชาตรีก็คงไม่หายลับไปกับกาลเวลา

เดินต่อมาห่างกันเพียงไม่กี่ก้าว หลังบ้านศิลปะเป็นที่ตั้งของบ้านไม้อายุกว่า 90 ปี ที่ยังมีแสงและเสียงสุดโก้สมัยโก๋หลังวัง “บ้านเต้นรำ” ถูกสร้างขึ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เริ่มมีความบันเทิงเข้ามาในสังคมไทย และข้าราชการไทยต้องเข้าสังคมตะวันตกด้วยการเต้นลีลาศ เจ้าของบ้านจึงเปิดเรือนเป็นโรงเรียนสอนเต้นลีลาศที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเกาะรัตนโกสินทร์

รื่นเริงดนตรี เปรมปรีดิ์อาหาร ณ ย่านนางเลิ้ง

ปัจจุบันบ้านเต้นรำถูกสืบทอดด้วยทายาทรุ่นหลาน เอ้ย-ธาริณี ตามรสุวรรณ และเธอกำลังบูรณะบ้านให้กลับมาเป็นโรงเรียนสอนเต้นลีลาศให้คนรุ่นเก่ามาย้อนวันวานและให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้

“ชุมชนนางเลิ้งในปัจจุบันจะเหลือแต่คนแก่ คนรุ่นใหม่แทบจะไม่อยู่แล้วเพราะสภาวะของครอบครัวที่ขยายมากขึ้น ดังนั้นบ้านเต้นรำจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างบรรยากาศให้ชุมชนของเราคึกคัก หวังว่าจะเป็นตัวดึงดูดลูกหลานให้กลับมาบ้าน และเปิดเป็นอาร์ตสเปซให้คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถแต่ไม่มีพื้นที่จัดแสดงงานมาจัดในบ้านหลังนี้ได้” ทายาทของบ้านเต้นรำกล่าว

รื่นเริงดนตรี เปรมปรีดิ์อาหาร ณ ย่านนางเลิ้ง

ถึงแม้ว่าอดีตจะไม่หวนคืนมา แต่เราสามารถสร้างอนาคตโดยเริ่มจากปัจจุบันนี้ได้ เหมือนเจตนารมณ์ของหลานเอ้ยที่จะปลุกชีวิตบ้านเต้นรำให้กลับมาน่ารักและคึกคักเหมือนเดิม

ไม่ไกลจากตรอกชาตรี เส้นทางเดินวันนี้ยังไม่สิ้นสุด ณ วัดสุนทรธรรมทาน (วัดแค นางเลิ้ง) วัดที่มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ภายในพระอุโบสถได้ประดิษฐานพระพุทธสุนทรมุนี องค์พระประธานหน้าตักกว้าง 4 ศอก มีซุ้มเรือนแก้วประดับแบบพระพุทธชินราชลงรักปิดทองประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีหินอ่อน ภายนอกเป็นชานกำแพงแก้วประดับมุกด้านหน้าและด้านหลังโดยรอบพระอุโบสถ

รื่นเริงดนตรี เปรมปรีดิ์อาหาร ณ ย่านนางเลิ้ง

รวมทั้งยังมีวิหารหลวงพ่อบารมี พระพุทธรูปคู่บุญบารมีกับวัดสุนทรธรรมทานมานานกว่า 50 ปี มีประวัติว่าพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ใกล้กับพระอุโบสถ ครั้งหนึ่งเกิดพายุพัดเอาต้นโพธิ์โค่นล้มลงมาตั้งแต่มิได้ทับองค์พระเป็นที่น่าอัศจรรย์ ชาวบ้านจึงพากันมากราบไหว้บูชาจนเป็นที่เลื่อมใสแก่พุทธศาสนิกชนตลอดมา

นอกจากนี้ ครั้งหนึ่งวัดสุนทรธรรมทานเคยเป็นสถานที่สวดอภิธรรมศพ มิตร ชัยบัญชา พระเอกอันดับหนึ่งของเมืองไทยที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุตกเฮลิคอปเตอร์ขณะถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง อินทรีทอง

รื่นเริงดนตรี เปรมปรีดิ์อาหาร ณ ย่านนางเลิ้ง

ตามประวัติ มิตร ชัยบัญชา เคยอาศัยอยู่บริเวณตลาดนางเลิ้งกับแม่และพ่อเลี้ยงในช่วงปี 2485-2497 ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่มิตรยังไม่ได้เข้าวงการภาพยนตร์ไทย เนื่องด้วยฐานะความเป็นอยู่ในช่วงนั้นไม่ค่อยดีนักจึงต้องลำบากทำงานหนักทุกอย่างมาโดยตลอด ที่นางเลิ้ง มิตรเข้ารับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนไทยประสาทวิทยาจนจบมัธยมศึกษาที่ 6

ช่วงเวลากว่า 15 ปี ที่มิตรอยู่ในวงการหนังไทย เขามีภาพยนตร์ที่แสดงนำถึง 350 เรื่อง จนกระทั่งประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2513 ภายหลังการเสียชีวิตได้นำศพของมิตรมาบำเพ็ญกุศลที่วัดแค และหลังจากพิธีพระราชทานเพลิงศพก็ได้นำอัฐิมาบรรจุที่วัดแห่งนี้ ปัจจุบันยังคงมีผู้คนมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่มิตรในวันครบรอบวันเสียชีวิตเป็นประจำทุกปี

รื่นเริงดนตรี เปรมปรีดิ์อาหาร ณ ย่านนางเลิ้ง

การเดินทางบนเส้นทางนางเลิ้งจะขาดไม่ได้ถ้าไม่พาไปเยือน ตลาดนางเลิ้ง ตลาดบกแห่งแรกของประเทศไทย ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และเปิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2443 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดเอง

ของขึ้นชื่อในตลาดนางเลิ้งต้องไม่พลาด คือ ขนมหวานที่ร้านนันทาขนมไทยและร้านสมจิตต์ เป็ดพะโล้ที่ร้าน ส.รุ่งโรจน์ ร้านข้าวแกงรัตนา สาคูไส้หมูแม่สอง และไส้กรอกปลาแนมรสเด็ดที่หารับประทานได้ยาก

รื่นเริงดนตรี เปรมปรีดิ์อาหาร ณ ย่านนางเลิ้ง

นอกจากนี้ บริเวณเดียวกับตลาดนางเลิ้งยังเป็นที่ตั้งของโรงหนังศาลาเฉลิมธานี เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรงหนังนางเลิ้ง มีลักษณะเป็นอาคารไม้สองชั้น เริ่มเปิดฉายภาพยนตร์ครั้งแรกเมื่อปี 2461 โดยสภาพที่นั่งเมื่อแรกเปิดกิจการจะเป็นม้ายาวที่ไม่มีการกำหนดที่นั่ง และไม่มีเจ้าหน้าที่ตรวจตั๋ว ระยะแรกเป็นหนังใบ้ไม่มีการพากย์เสียงจะใช้การเล่นแตรวงอยู่หน้าโรงหนังเพื่อเรียกร้องความสนใจคนดู และเมื่อเริ่มฉายหนังจึงย้ายเข้ามาเล่นข้างในศาลาเฉลิมธานี

ทั้งนี้ โรงหนังดำเนินกิจการเรื่อยมาจนถึงปี 2536 จึงได้ปิดกิจการลงเนื่องจากภาวะซบเซาของภาพยนตร์ไทย ซึ่งนับเป็นเวลานาน 75 ปีที่สร้างความบันเทิงให้คนกรุงเทพฯ ทว่าปัจจุบันโรงหนังใช้เป็นโกดังเก็บของ

ย่านนางเลิ้งถือเป็นย่านเก่าแก่บนเกาะรัตนโกสินทร์ที่รอคอยการชุบชีวิตและต่อลมหายใจ ดังนั้นก่อนที่อดีตจะเลือนหายไป นางเลิ้งรอคอยให้ทุกคนไปรื่นเริงดนตรีและเปรมปรีดา

รื่นเริงดนตรี เปรมปรีดิ์อาหาร ณ ย่านนางเลิ้ง