posttoday

อ่างศิลา นั้นหนามีดีกว่าที่คิด

16 เมษายน 2560

ทุกครั้งที่มีแผนเที่ยวหาดบางแสน เรามีกำหนดการพิเศษก่อนถึงหาดบางแสนก็คือแวะเที่ยวอ่างศิลา

โดย...กั๊ตจัง ภาพ Thiti Wannamontha

ทุกครั้งที่มีแผนเที่ยวหาดบางแสน เรามีกำหนดการพิเศษก่อนถึงหาดบางแสนก็คือแวะเที่ยวอ่างศิลา แหล่งขายครกหินและอาหารทะเลสดๆ เหตุผลก็ไม่ได้มีอะไรมากครับแค่อยากจะแวะมาซื้ออาหารทะเลราคาถูกชนิดที่เห็นแล้วต้องร้องว้าวกันเลยทีเดียว แต่เมื่อลองเดินอ่างศิลาไปเรื่อยๆ หลายคำถามก็เริ่มเกิดขึ้นในใจ ทำไมถึงชื่ออ่างศิลา ไม่เป็นครกศิลา เดินไปทางไหนก็มีแต่ครกหินชั้นดีที่ต้องมีทุกครัวเรือน จึงทำให้เราต้องค้นหาคำตอบกัน และทำให้เราพบว่าอ่างศิลานั้นมีอะไรมากกว่าที่เห็น

อ่างศิลาลือชื่อเรื่องครก

ต.อ่างศิลา ชื่อเดิมที่ชาวบ้านเรียกขานกันคือ อ่างหิน เพราะเป็นแหล่งหินชั้นดีของประเทศไทย ยังคงความหมายเดิมแต่ฟังเพราะขึ้น ยังไม่มีปีที่ระบุชัดเจนถึงการเปลี่ยนชื่อแต่คาดว่าน่าจะเปลี่ยนในช่วงรัชกาลที่ 4 ซึ่งหาดบางแสนนี้เป็นสถานที่พักตากอากาศของชาวกรุงมาช้านาน มีบันทึกหลักฐานบันทึกถึงชื่อ “อ่างศิลา” อย่างเป็นทางการ ในการบันทึกการเสด็จประพาสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประทับแรมที่ “อ่างศิลา” ลงลายพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 9 ม.ค. 2419

อ่างศิลา นั้นหนามีดีกว่าที่คิด

ส่วนสาเหตุที่ชื่ออ่างศิลานั้นเพราะมี อ่างศิลา นั่นเพราะมีแผ่นดินสูงเป็นลูกเนิน มีศิลาก้อนใหญ่ๆ เป็นศิลาดาดขนาดใหญ่ น้ำฝนไม่สามารถซึมผ่านได้ และมีอยู่ด้วยกันถึง 2 แห่ง ชาวบ้านมักจะใช้เป็นแหล่งน้ำยามฤดูแล้ง เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้สั่งการให้หลวงฤทธิ์ศักดิ์ชลเขตร ปลัดเมืองชลบุรี ก่อเสริมปากบ่อโดยรอบไม่ให้น้ำสกปรกไหลกลับเข้าบ่อหินกลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ให้กับชาวบ้านนั่นเอง ส่วนอ่างศิลาที่ว่านี้ ไม่มีปรากฏหลักฐานเด่นชัดว่าตั้งอยู่ที่ใดกันแน่ ถามชาวบ้านก็ไม่มีใครรู้ แต่เมื่อค้นประวัติหลังจากการสร้างก็พบว่าไม่ใช่เพียงเฉพาะอ่างที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เท่านั้น ยังมีบ่อน้ำที่ชาวบ้านขุดก่อกันขึ้นมาภายหลังอีกหลายแห่ง ด้วยพื้นที่บริเวณอ่างศิลาเต็มไปด้วยหินที่เหมาะกับการทำอ่างเก็บน้ำทำให้ไม่ทราบจุดที่ชัดเจน

ส่วนที่มาของครกหินนั้นเริ่มในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อมีคนไทยเชื้อสายจีนนำเอาหินในพื้นที่มาสลักเป็นเครื่องโม่แป้งสำหรับทำขนม แล้วนำหินที่เหลือมาทำเป็นครกไว้ตำเครื่องประกอบอาหารและยาต่างๆ เพื่อส่งออกขายไปทั่วประเทศ รวมถึงส่งออกไปต่างประเทศด้วย แต่ทำไปทำมาน่าจะเป็นลูกจ้างที่รู้วิชาออกมาเปิดกิจการร้านขายครกหินอ่างศิลาของตัวเอง ปัจจุบันเราถึงได้เห็นอ่างศิลาเต็มไปด้วยร้านขายครกอย่างที่เห็น

อ่างศิลา นั้นหนามีดีกว่าที่คิด

จุดเด่นของครกอ่างศิลาที่รู้แล้วอยากจะซื้อกลับบ้านในทันทีก็คือ หินมีความแข็งแกร่งสูง ตำแล้วไม่เป็นทรายและมีสีขาวนวลหรือเหลืองอ่อน หรือช่างแกะสลักหินเรียก สีมันปู เมื่อยกขึ้นเข้าหาแสงแดดจะมีประกายเพชรเปล่งออกมา เป็นลักษณะพิเศษของอ่างศิลาของแท้และต้องมี 2 หู ผมนี่ฟังแล้วรีบหยิบครกหินที่บ้านมาส่องแดดดูว่ามีประกายเพชรเปล่งออกมาไหม

แต่ข่าวร้ายที่ทราบกันมานานแล้วก็คือหินในพื้นที่อ่างศิลานั้นได้หมดไปเมื่อประมาณปี 2558-2559 ว่ากันว่าชุดครกหินรุ่นสุดท้ายที่ทำจากหินอ่างศิลาแท้ๆ ความกว้าง 11 นิ้ว แกะสลักด้วยมือไม่ใช้เครื่องเจียร นั้นขายได้ลูกละ 2.5 หมื่นบาทกันเลยทีเดียว

อ่างศิลา นั้นหนามีดีกว่าที่คิด

ล่าสุดที่เราเดินสำรวจมาก็ยังขายกันอยู่เหมือนเดิมครับ รูปลักษณ์มีทั้งแบบดั้งเดิมคลาสสิกและแบบโมเดิรน์ ทรงเหลี่ยมลูกเต๋าและทรงกลมกระบอก เหมาะสำหรับบ้านยุคใหม่ ส่วนหินนั้นมีการนำหินแกรนิตจากที่พื้นที่อื่นมาทำ เท่าที่สังเกตก็ไม่พบความแตกต่างของเนื้อหินมากนัก เจ้าของร้านต่างๆ บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าคุณภาพใกล้เคียงหรือเทียบเท่าหินในพื้นที่แต่ราคาจะสูงขึ้นเพราะต้องบวกค่าขนส่งเข้าไปด้วย

จากตลาดขายครกหินไปที่สะพานปลาอ่างศิลา เวลาที่คุณตั้งพิกัดแผนที่ในแอพนำทางให้ใช้คำว่า “สะพานปลาอ่างศิลา” ถ้าใช้คำว่า “ตลาดอ่างศิลา” แผนที่จะนำทางเราไปตลาด 100 ปีอ่างศิลา ซึ่งเป็นคนละสถานที่แต่อยู่ใกล้ๆ กัน เป็นตลาดร้อยปีที่ดูใหม่มาก เรายังไม่ได้มีโอกาสแวะเดินเที่ยวเพราะหาที่จอดรถได้ยาก ครั้นจะให้จอดรถที่สะพานปลาแล้วเดินย้อนมา 2 กิโลเมตรก็คงไม่ไหว

อ่างศิลา นั้นหนามีดีกว่าที่คิด

เลือกอาหารทะลสดๆ ที่สะพานปลา

สะพานปลาอ่างศิลา เป็นท่าเทียบเรือประมง จำหน่ายสินค้าอาหารทะเลสดและแห้งได้รับความนิยมจากพ่อค้าแม่ค้าและนักท่องเที่ยวสะพานปลาอ่างศิลานั้น เริ่มมาจากในสมัยรัชกาลที่ 4 มีความต้องการท่าเทียบเรือเพื่อขนถ่ายสินค้าจากสำเภาจากประเทศจีน สะพานเทียบเรือนี้จึงสร้างขึ้นและเรียกว่า “สะพานหิน” แม้จะชื่อว่าสะพานหินแต่ก็ไม่ได้ทำมาจากหิน แต่ทำให้ยื่นยาวออกไปจากทะเลมากเป็นพิเศษเพื่อให้พ้นเขตหินใต้น้ำที่มีอยู่มากในบริเวณนั้น

ส่วนเรือชาวประมงของชาวบ้านก็อาศัยเทียบหาดหรือท่าเรือเล็กๆ ในบริเวณนั้น จนกระทั่ง ปี 2499 ได้เปลี่ยนเป็นสะพานปลาอ่างศิลา เพื่อขนถ่ายสินค้าอาหารทะเล สินค้าที่นี่จึงมีความสดยกขึ้นจากเรือมาเห็นๆ แถมราคาถูกกว่าซื้อในตลาดสดในกรุงเทพฯ อยู่ประมาณกิโลกรัมละ 50-100 บาท เช่นเราซื้อปูเนื้อที่ตลาดยิ่งเจริญที่ว่าถูกที่สุดแล้วประมาณกิโลกรัมละ 450 บาท ที่ตลาดสะพานปลาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 350-370 บาท ส่วนความสดไม่ต้องพูดถึงยังมีชีวิตกันอยู่ทุกตัวรับประกันความสดแน่ๆ

อ่างศิลา นั้นหนามีดีกว่าที่คิด

มาแต่ละครั้งหมดเงินไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท กับค่ากุ้ง หอย ปู ปลา ไม่ต้องถามเทียบกับการไปรับประทานอาหารทะเลที่ภัตตาคารหรือร้านอาหารริมทะเล เพราะถูกกว่ากัน 3 เท่าแน่ๆ แถมได้ของสดและครบกว่า ที่ชอบอยู่อย่างหนึ่งในตลาดนี้ก็คือ การเขียนป้ายของชื่อสินค้าและราคาที่ชัดเจน มือใหม่ที่ไม่สันทัดเรื่องชื่อวัตถุดิบแค่มีใบสั่งจาก ผบ.ทบ. (ผู้บัญชาการที่บ้าน) แล้วยื่นให้พ่อค้าทุกอย่างก็จบ

มีร้านรับปิ้ง ย่าง นึ่ง ขายน้ำจิ้มซีฟู๊ดเสร็จสรรพ ใช้เวลาประมาณ 15-30 นาทีรอรับสินค้า ใส่ถุงไปนั่งกินชิลๆ ที่หาดบางแสนต่อได้เลย แนะนำว่าหากเป็นไปได้ถ้ามาซื้อของช่วงประมาณ ตี 4 ถึง 6 โมงเช้า จะเป็นช่วงเวลาที่ของลงใหม่ๆ เป็นช่วงเวลาของพ่อค้าแม่ค้ามาเลือกซื้อไปขายตามตลาดสด คุณจะได้อีกราคาที่ถูกกว่า หลัง 6 โมงเช้าไปจะเป็นราคาของลูกค้าทั่วไปที่เดินทางเข้ามาซื้อก่อนไปเที่ยวหาดบางแสนและพัทยา แต่ก็ยังถูกกว่าซื้อตามตลาดสดอยู่ดี แต่ถ้าให้ดีควรมาไม่เกิน 10 โมงเช้า จะยังพอมีตัวเลือกดีๆ เหลืออยู่

อ่างศิลา นั้นหนามีดีกว่าที่คิด

สถานตากอากาศแห่งแรกของประเทศไทย 

อ่างศิลานี้ค่อนข้างจะมีประวัติความเป็นมาในช่วงรัชกาลที่ 3-5 อยู่พอสมควร เพราะตามประวัติแล้วอ่างศิลาเป็นสถานตากอากาศริมทะเลแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ มีการบันทึกการสร้างพลับพลาที่อ่างศิลา ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริว่า ที่ชายทะเล ต.อ่างศิลา เป็นที่อากาศดี จึงโปรดให้สร้างพลับพลาเป็นที่ประพาส 2 แห่ง ที่สวนอ่างศิลา และเขาสามมุก

กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จไปประพาสอ่างศิลาอีกหลายครั้ง สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงสำเร็จราชการแผ่นดินในระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป ได้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ เพราะเป็นพลับพลาที่พระองค์ท่านเสด็จไปบ่อยครั้ง แล้วพระราชทานนามตึกหลังใหญ่ว่า “ตึกมหาราช” ตึกหลังเล็กว่า “ตึกราชินี” ปัจจุบันตั้งอยู่ตรงข้ามตลาด 100 ปีอ่างศิลา ไว้โอกาสหน้าเราจะมาเล่าความถึงสถานตากอากาศแห่งแรกในประเทศไทยอย่างละเอียดอีกครั้ง

แต่ที่แน่ๆ อ่างศิลาที่เคยเป็นแค่ทางผ่านไปพัทยากับบางแสนนั้นเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และมีดีกว่าที่เราคาดคิดอย่างมาก หากมีโอกาสอย่าลืมมาแวะเที่ยวชมกันครับ รับรองว่าคุ้มไม่รู้สึกเสียเที่ยวอย่างแน่นอน

อ่างศิลา นั้นหนามีดีกว่าที่คิด