posttoday

น่าน Plus แพร่ เที่ยวมุมใหม่สไตล์ศิลป์บวกธรรม

15 เมษายน 2560

ความน่าตื่นตาตื่นใจของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เนิบช้า เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่สามารถสัมผัสและรับรู้ได้จากดินแดนล้านนาตะวันออก

โดย...กาญจน์ อายุ

 ความน่าตื่นตาตื่นใจของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เนิบช้า เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่สามารถสัมผัสและรับรู้ได้จากดินแดนล้านนาตะวันออกอย่าง “น่าน Plus แพร่” เส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงในโครงการเมืองต้องห้าม... พลาด Plus ที่ต้องการกระจายตัวให้นักท่องเที่ยวเดินทางตามแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเมืองรองที่มีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวเช่นกัน

 เมืองต้องห้าม Plus เป็นการต่อยอดจากปี 2559 กับแคมเปญเมืองต้องห้ามพลาด และล่าสุดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เน้นปลุกกระแสให้นักท่องเที่ยวร่วมค้นหาและชื่นชมกิจกรรมและแหล่งท่องเที่ยวในมุมมองใหม่ หวังสร้างรายได้ให้เติบโต 10% หรือประมาณ 9.5 แสนล้านบาท จากการท่องเที่ยวในปี 2560

 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ (ดูแลพื้นที่แพร่และน่าน) จึงได้เปิดเส้นทางท่องเที่ยวมุมมองใหม่ โดยดึงเอกลักษณ์ของผ้าทอและงานศิลป์ท้องถิ่นขึ้นมาให้เด่นชัด เพื่อส่องสปอตไลต์ไปยังคนพื้นถิ่นและวิถีชีวิตที่จะบอกเล่าตัวตนของจังหวัดนั้นอย่างลึกซึ้ง

น่าน Plus แพร่ เที่ยวมุมใหม่สไตล์ศิลป์บวกธรรม ข้าวหลามป้าเพ็ญหลากหลายไส้

น่าน เนิบๆ

 น่านเป็นจังหวัดขนาดเล็กมีพื้นที่ประมาณ 7 ล้านกว่าไร่ หากเท้าความย้อนไปในอดีต น่านเป็นนครรัฐเล็กๆ ที่ก่อตั้งขึ้นกลางพุทธศตวรรษที่ 18 บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน ภายใต้การนำของพญาภูคา โดยมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองย่าง (บ้านเสี้ยว อ.ท่าวังผา) มีการปรากฏร่องรอยชุมชนในสภาพที่เป็นคูน้ำ คันดิน และกำแพงเมืองซ้อนกันอยู่

 ตั้งแต่ พ.ศ. 1993 เป็นต้นไป เมืองน่านได้ซึมซับศิลปวัฒนธรรมของล้านนาแทนที่ศิลปะแบบสุโขทัย หลังจากพระเจ้าติโลกราชกษัตริย์นครเชียงใหม่ยกทัพเข้ายึดเมืองน่าน เพื่อครอบครองแหล่งบ่อเกลือมาง (อ.บ่อเกลือ) เมืองน่านจึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาเกือบ 100 ปี

 ทั้งเจดีย์วัดพระธาตุแช่แห้ง เจดีย์วัดสวนตาล ล้วนเป็นศิลปะแบบล้านนา หรือเจดีย์วัดพระธาตุช้างค้ำ ที่แม้จะเหลือส่วนฐานที่มีช้างล้อมรอบแบบศิลปะสุโขทัยอยู่ แต่ส่วนองค์เจดีย์ขึ้นไปถึงส่วนยอดได้เปลี่ยนเป็นศิลปกรรมแบบล้านนาทั้งหมด จวบจนปัจจุบันศิลปะและวัฒนธรรมแบบล้านนากลายเป็นส่วนหนึ่งของชาวน่านไปแล้ว

น่าน Plus แพร่ เที่ยวมุมใหม่สไตล์ศิลป์บวกธรรม ศิลปินบ้านชมคำแสนกำลังแกะสลักพระไม้

ฝ้ายเงิน เพลินผ้าโบราณ

 พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ ร้านฝ้ายเงินเกิดจากความชื่นชอบสะสมผ้าโบราณของ เทิดศักดิ์ อินแสง ผู้รวบรวมและรักษาผ้าซิ่น เครื่องแต่งกาย ไทยวน ไทลื้อ-เมืองน่าน และชาติพันธุ์ต่างๆ ในอุษาคเนย์

 ผ้าที่มีความเก่าแก่ที่สุดมีอายุมากกว่า 160 ปี ปัจจุบันร้านฝ้ายเงินเปิดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าทอที่ยังคงการย้อมเส้นด้ายจากสีธรรมชาติ และยังมีกรรมวิธีในการทอผ้าแบบโบราณ ไม่ว่าจะเป็นลายล้วง ลายเก็บมุก ลายคาดก่าน รวมถึงซิ่นป้อง ซิ่นม่านของชาวไทลื้อที่ล้วนเป็นลายดั้งเดิมของชาติพันธุ์ในเมืองน่าน

 นอกจากนี้ เทิดศักดิ์ยังคงพยายามทอผ้าให้ถูกต้องตามงานต้นแบบโบราณ อย่างผ้าซิ่นลื้อเมืองงา อายุกว่าร้อยปีที่สามารถทำให้เสมือนจริง ซิ่นไทขาว นาหมื่น ลื้อเมืองฮุน น้ำปาดฟากท่า ผ้าซิ่นอาคาชิน และผ้าซิ่นมัดก่านไหมแกมฝ้ายที่ต้องทอตามแบบเบ้าโบราณตามต้นแบบของเก่าในคลังสะสมของตน

น่าน Plus แพร่ เที่ยวมุมใหม่สไตล์ศิลป์บวกธรรม รูปหล่อสมเด็จพระนเรศวร บ้านเทพ

 นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณฝ้ายเงินได้ทุกวัน เพื่อศึกษาและชื่นชมผ้ากว่าร้อยผืนที่ถูกจัดแสดงด้วยความใส่ใจและหวงแหน

ป้าเพ็ญ ข้าวหลามแจ้งแห่งเมืองน่าน

 ข้าวหลามแจ้งขนาดยาว 1 เมตร คือ ความแปลกประหลาด แต่สำหรับข้าวหลามแจ้งป้าเพ็ญ บ้านดอนไชย ต.ศิลาเพชร คือ ความแปลกที่สู้ไม่ได้กับความอร่อย ของขึ้นชื่อที่คนท้องถิ่นยังคลั่งไคล้และเป็นของฝากที่คนต่างถิ่นต้องการครอบครอง

 ทุกเช้าบ้านป้าเพ็ญจะเผ่าข้าวหลามเพื่อขายวันต่อวัน ซึ่งเอกลักษณ์ของที่นี่นอกจากจะเป็นข้าวหลามแจ้งขนาดยาวเป็นเมตรแล้ว ยังโดดเด่นด้วยความหลากหลายของไส้ทั้งถั่วดำที่เห็นกันทั่วไป สังขยา เผือก และกุ้ง ที่ทุกไส้ขายดิบขายดีจนต้องพรีออร์เดอร์

น่าน Plus แพร่ เที่ยวมุมใหม่สไตล์ศิลป์บวกธรรม ชาวเมืองแพร่นุ่งขาวห่มขาวร่วมงานนมัสการพระธาตุช่อแฮ

 หลายคนอาจเห็นข้าวหลามป้าเพ็ญวางขายอยู่ตามร้านขายของฝาก แต่ต้องบอกว่าป้าเพ็ญไม่มีหน้าร้าน เพราะสถานที่ขายคือบ้านของป้าเอง ดังนั้นหากนักท่องเที่ยวที่ต้องการเห็นกระบวนการทำและอยากซื้อจากป้าเพ็ญโดยตรงคงต้องไปถึงหน้าบ้าน และเมื่อไปถึงบ้านขนาดนั้นแล้ว ป้าเพ็ญคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่มีขาย

แพร่ เมืองอาร์ติสต์

 แพร่ หรือ เมืองแป้ เมืองเก่าแก่อายุกว่า 1,100 ปี เป็นที่ตั้งขององค์พระธาตุช่อแฮและนครแห่งวรรณกรรมอมตะเรื่อง ลิลิตพระลอ ปัจจุบันที่ตั้งของแพร่นับเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ สามารถเชื่อมโยงไปยังน่าน พะเยา เชียงราย ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ จึงเรียกได้ว่าแพร่เป็น ประตูสู่ล้านนา

 ทว่าปัจจุบันเมืองแพร่ได้รับสมญานามใหม่ว่า เป็นเมืองชิกๆ เพราะเป็นเมืองขนาดเล็ก ใกล้เชียงใหม่ เดินทางง่าย และเป็นขวัญใจสายอาร์ตที่ต้องการค้นหาอะไรใหม่ๆ ในเมืองเล็กๆ

น่าน Plus แพร่ เที่ยวมุมใหม่สไตล์ศิลป์บวกธรรม ของเก่ามีคุณค่าในพิพิธภัณฑ์บ้านเทพ

วัดพระธาตุช่อแฮ

 ปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองแพร่ เป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุและบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะเชียงแสน สร้างด้วยอิฐโบกปูน หุ้นด้วยแผ่นทองเหลืองลงรักปิดทอง และยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีขาล

 ชื่อของพระธาตุช่อแฮ นี้ได้มาจากผ้าแพรชั้นดีที่ชาวบ้านนำมาผูกบูชาองค์พระธาตุ โดยทุกปีจะมีการนมัสการตามจันทรคติในวันขึ้น 9 ค่ำ-15 ค่ำ เดือน 4 ใต้ เดือน 6 เหนือ อย่างที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 6-12 มี.ค. 2560 ได้มีงานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง

 พระโกศัยเจติยารักษ์ รองเจ้าคณะจังหวัดแพร่ และเจ้าอาวาสวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง เล่าว่า เมื่อเริ่มวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 4 ใต้ เดือน 6 เหนือ พุทธศาสนิกชนจากทุกสารทิศจะเดินทางมานมัสการพระธาตุ ด้วยความเชื่อที่ว่าในช่วงระยะเวลาขึ้น 9 ค่ำ ถึงขึ้น 15 ค่ำ พระบรมสารีริกธาตุจะแสดงปาฏิหาริย์แผ่บารมีเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่มาสักการะ

น่าน Plus แพร่ เที่ยวมุมใหม่สไตล์ศิลป์บวกธรรม งานพุทธศิลป์ ฝีมือสล่าอิทธิพล

ศิลป์สร้างสรรค์ ชมคำแสนแกลเลอรี่

 หอศิลป์ขนาดเล็กจากความตั้งใจของ สล่าอิทธิพล ปัญญาแฝง ช่างฝีมือท้องถิ่นผู้ถนัดงานแกะสลักไม้แนวทางพุทธศิลป์ เปิดบ้านตนให้เป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะและสถานที่เรียนรู้ศิลปะ

 ชมคำแสนแกลเลอรี่ ตั้งอยู่ที่บ้านวังหลวง อ.หนองม่วงไข่ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เฮือนคำแสน ภายในจัดแสดงศิลปะหลายรูปแบบแต่ที่โดดเด่น คือ งานแกะสลักแนวพุทธศิลป์ จากแนวคิดการอนุรักษ์ภูมิปัญญาฝีมือช่างพื้นบ้านให้คงอยู่และสืบทอด ให้เป็นแหล่งจัดแสดงผลงานศิลปะ เรียนรู้งานฝีมือด้านการแกะสลักแก่เยาวชนและผู้ที่สนใจ และเปิดให้นักท่องเที่ยวได้มาเยี่ยมชมสัมผัสศิลปะอันงดงามอีกแขนงด้วยตัวเอง

 สล่าอิทธิพล ถือว่าเป็นศิลปินด้านแกะสลักของบ้านวังหลวง อย่างช้างสามเศียร วัดห้วยมงคล จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก็เป็นหนึ่งในผลงานของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “สล่าเมืองแพร่” ปัจจุบันศิลปะการแกะสลักจากสล่าอิทธิพลได้รับการถ่ายทอดให้เยาวชนคนรุ่นหลังได้เรียนรู้ หวังให้งานศิลป์พื้นบ้านให้อยู่คู่กับชาววังหลวงและชาวไทย

น่าน Plus แพร่ เที่ยวมุมใหม่สไตล์ศิลป์บวกธรรม ผ้าโบราณร้านฝ้ายเงิน

บายศรี บาติกโมเดิร์น

 การย้อมผ้าทอมือด้วยสีธรรมชาติผสมผสานกับเทคนิคการทำบาติกบนผืนผ้าในดีไซน์ร่วมสมัยเป็นเอกลักษณ์ของ ร้านบายศรี หรือ บายศรี ครีเอชั่น สถานที่ที่ไม่ใช่เป็นเพียงร้านค้าแต่ยังเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้การทำลวดลายแบบบาติกด้วยตนเอง

 ศักดิ์จิระ เวียงเก่า นักออกแบบและผู้ก่อตั้งบายศรี ครีเอชั่น ได้นำเสนอสินค้าอยู่ 2 ประเภท คือ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และงานผ้าสำหรับการตกแต่งบ้าน โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้ใหญ่วัยทำงานอายุ 35 ปีขึ้นไป ที่น่าสนใจ คือ งานดีไซน์แบบเฉพาะตัวที่บายศรี ครีเอชั่นทำตลาดกับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นจากฝีมือการออกแบบของศักดิ์จิระและทักษะการผลิตครบวงจรที่โรงงานบายศรี จ.แพร่

 โรงงานบายศรีเริ่มตั้งแต่พัฒนาผ้าด้วยการพิมพ์ ย้อม เพนต์ ออกแบบ สร้างแพตเทิร์น ตัดเย็บจนสำเร็จเป็นสินค้า เรียกได้ว่าสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีสไตล์เฉพาะตัวได้ตั้งแต่ต้นจนจบ โดยทุกลวดลายไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน มีความทันสมัยตามเทรนด์โลก และให้ความรู้ใหม่กับวงการผ้าบาติกตลอดเวลา

น่าน Plus แพร่ เที่ยวมุมใหม่สไตล์ศิลป์บวกธรรม เทพหน้าประตูไม้สักสูง 4 เมตร

ของเก่ายังเก๋า พิพิธภัณฑ์บ้านเทพ

 แหล่งเรียนรู้ใหม่ในแพร่กับพิพิธภัณฑ์บ้านเทพ จากแนวคิดของ เทพ-วัฒนา เหลืองอุทัยศิลป์ ผู้สะสมของเก่าอันทรงคุณค่าและหาได้ยากมานานกว่า 40 ปี ไฮไลต์สำคัญคือ การสักการะขอพรพระบรมรูปหล่อเสมือนจริงขององค์ดำ (สมเด็จพระนเรศวร) ที่เชื่อว่าจะให้ผลสำเร็จเรื่องยศ ตำแหน่งราชการ และเมตตามหานิยม

 รวมถึงบานประตูไม้สักแผ่นเดียวสูงเกือบ 4 ม. อายุกว่า 400 ปี ชุดเฟอร์นิเจอร์ฝังมุกอายุ 100 ปี หีบไม้จันทน์ที่ส่งกลิ่นหอมเป็นอมตะ ตู้คัมภีร์ลายสลักจากงาช้าง เครื่องลายครามสมัยอยุธยา กลองมโหระทึกโบราณ เครื่องกระเบื้องสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งของทั้งหมดหาชมไม่ได้จากที่อื่น ซึ่งทำให้บ้านเทพได้สโลแกนเป็น บ้านนี้... ต้องห้ามพลาด เมื่อมาเยือนเมืองแพร่ไปแล้ว

 นอกจากนี้ ททท.สำนักงานแพร่ ยังได้แนะนำให้ลิ้มรสอาหารถิ่นเมืองแป้ที่สามารถบอกวิถีชีวิตของชาวบ้านผ่านอาหารได้ ยกตัวอย่าง ขนมเส้นเมืองแป้ อาหารถิ่นประจำจังหวัดที่คนแป้นิยมนรับประทาน เป็นเมนูที่แสดงถึงเส้นใยของความรักที่ยาวนานในหมู่ญาติมิตร และนิยมใช้เป็นเมนูจัดเลี้ยงในงานมงคลและงานบุญต่างๆ

 ดังนั้น เส้นทางน่าน Plus แพร่ จึงเต็มไปด้วยความน่าตื่นตาตื่นใจของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เนิบช้า และเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่สามารถสัมผัสและรับรู้ได้จากดินแดนล้านนาตะวันออก ตามนโยบาย “เที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋สไตล์ลึกซึ้ง” ที่ทุกคนสามารถเก๋ไก๋ หากเลือกท่องเที่ยวตามวิถีไทยและนำตัวเองเข้าไปสัมผัสอย่างลึกซึ้ง

น่าน Plus แพร่ เที่ยวมุมใหม่สไตล์ศิลป์บวกธรรม สล่าอิทธิพล ปัญญาแฝง เจ้าของเฮือนคำแสน

น่าน Plus แพร่ เที่ยวมุมใหม่สไตล์ศิลป์บวกธรรม เทิดศักดิ์เจ้าของพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณฝ้ายเงิน