posttoday

ก่อนดอกไม้จะหายไป ช่วงเวลาสุดท้ายบนภูลมโล

18 กุมภาพันธ์ 2560

ประวัติศาสตร์สงครามบนภูลมโลน่าสนใจพอๆ กับทุ่งพญาเสือโคร่งที่กำลังเบ่งบาน

โดย...กาญจน์ อายุ

ประวัติศาสตร์สงครามบนภูลมโลน่าสนใจพอๆ กับทุ่งพญาเสือโคร่งที่กำลังเบ่งบาน ย้อนกลับไปในปี 2511-2525 พื้นที่สีชมพูในปัจจุบันเคยเป็นพื้นที่สีแดง โดยเป็นสมรภูมิรบระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์กับรัฐบาลไทย เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการรวมพลและเป็นสนามบินลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วย

14 ปีของการสู้รบสิ้นสุดลงพร้อมการเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ หลังการประกาศให้ภูลมโลและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าเมื่อปี 2527 ทางอุทยานฯ ได้เข้ามาขอคืนพื้นที่จากชาวม้งที่ทำไร่เลื่อนลอยจนทำให้ภูลมโลเป็นเขาหัวโล้น โดยทำข้อตกลงกันให้ชาวม้งปลูกพืชไร่ควบคู่ไปกับต้นพญาเสือโคร่งเป็นระยะเวลา 3 ปีก่อนออกจากพื้นที่ ทำให้ปัจจุบันมีต้นนางพญาเสือโคร่งประมาณ 3 แสนต้น บนพื้นที่ราว 2,000 ไร่ กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าที่สามารถท่องเที่ยวได้เพียง 3 เดือนตั้งแต่เดือน ธ.ค.-ก.พ.

ก่อนดอกไม้จะหายไป ช่วงเวลาสุดท้ายบนภูลมโล

ปีที่ผ่านมาชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวกกสะทอน มีรายได้จากการให้บริการรถนำเที่ยวมากกว่า 2.7 ล้านบาท มีจำนวนเที่ยวรถวิ่งขึ้นภูลมโล 1,724 เที่ยว สำหรับปีนี้ยังนับไม่เสร็จ แต่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวใช้บริการรถขึ้นภูลมโลเพิ่มขึ้นร้อยละ 20-30 ในช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้ว ทว่าการเดินทางขึ้นภูลมโลสามารถขึ้นได้ 3 ทาง คือ ทางบ้านร่องกล้า จ.พิษณุโลก ทางภูทับเบิก จ.เพชรบูรณ์ และทางกกสะทอน จ.เลย ดังนั้นรายได้ภายใน 3 เดือนจึงต้องมีมากกว่า 3 ล้านบาท และรถที่วิ่งขึ้นภูลมโลก็น่าจะมีมากกว่า 3,000 เที่ยว

ถึงกระนั้น ทางกกสะทอนเป็นเส้นทางที่ไกลและลำบากที่สุด ด้วยระยะทาง 19 กม. จากตัวตำบลไปถึงภูลมโลจำเป็นต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อผ่านถนนลูกรัง ขรุขระ ฝุ่นตลบ คดเคี้ยว แต่กลับเป็นเส้นทางที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชอบความท้าทาย ซึ่งนักท่องเที่ยวต้องใช้บริการรถยนต์ของชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวกกสะทอน ห้ามใช้รถส่วนตัวขึ้นไป เพื่อควบคุมปริมาณรถและจำนวนนักท่องเที่ยว

ก่อนดอกไม้จะหายไป ช่วงเวลาสุดท้ายบนภูลมโล

 

เส้นทางชมพญาเสือโคร่งจะเปลี่ยนไปแล้วแต่ช่วงเวลา ข้างบนหนาวก่อนจะบานก่อนไล่จากแปลงบนสู่แปลงล่างตามระดับความสูง ซึ่งแปลงที่บานแล้วจะมีเวลาอวดโฉมเพียง 3 สัปดาห์ ก่อนที่จะร่วงโรยจนเหลือแต่กิ่งก้านเปล่าเปลือย ส่วนเส้นทางและช่วงเวลาขึ้นภูลมโลแนะนำเป็น 2 ช่วง คือ เช้ามืด กับ เช้ามาก เช้ามืดคือ ล้อหมุนตี 5 ไปดูพระอาทิตย์ขึ้นบนยอดภูลมโล ส่วนเช้ามากคือ ไปให้ทันชมพญาเสือโคร่งสัมผัสแสงนวลแรก

รถโฟล์วีลถูกบังคับด้วยความชำนิชำนาญไปตามความมืดระยะทางกว่า 20 กม. ผู้โดยสารแทบไม่รู้ว่ามันไกลหรือใกล้จนกระทั่งรถได้หยุดจอดอยู่บนพื้นราบตีนดอยภูลมโล หลายคนรอคอยพระอาทิตย์อยู่ตรงนี้ แต่อีกหลายคนก็เดินขึ้นไปดูบนยอดภู เส้นทางเดินไม่ยากแต่เมื่อย ซึ่งข้างบนมีสิทธิเห็นพระอาทิตย์มากกว่า แต่ก็มีลมมากกว่า หนาวมากกว่า และอาจมีหมอกมากกว่าไม่สามารถคาดคะเนได้ในแต่ละวัน

ก่อนดอกไม้จะหายไป ช่วงเวลาสุดท้ายบนภูลมโล

 

กล่าวง่ายๆ คือ แล้วแต่ดวง บางวันเห็นเป็นไข่แดง แต่บางวันอาจเป็นไข่ขาว มันน่าสนุกตรงนี้ ตรงที่ควบคุมอะไรไม่ได้สักอย่างกับธรรมชาติ แต่ตะวันก็ไม่ใจร้ายเกินไปนัก เพราะทุกครั้งมันจะส่องแสงผ่านก้อนเมฆมาตกกระทบน้ำค้างปลายกลีบดอกนางพญาเสือโคร่งไม่ผิดพลาด นั่นคือจังหวะที่งดงามที่สุด

ถึงแม้ว่าปีนี้จะมีฝนหลงฤดูมาทำให้ขนาดดอกเล็กกว่าปีก่อน แต่ทุ่งนางพญาเสือโคร่งยังสวยเป็นผืนใหญ่ สีสันยังฉ่ำใจ และรายละเอียดของดอกไม้ยังเหมือนเดิม พี่พลขับจะพาแวะทุกแปลงที่บาน ซึ่งทุกคันจะไปปิดท้ายที่จุดชมวิวทุ่งนางพญาเสือโคร่งมุมสูงที่จะเห็นโลกสีชมพูเต็มตา สวยสด และงดงาม ตัดกับภาพเขาหัวโล้นนอกเขตที่ถูกทำเป็นแปลงปลูกกะหล่ำปลี

ก่อนดอกไม้จะหายไป ช่วงเวลาสุดท้ายบนภูลมโล

 

นางพญาเสือโคร่งแปลงสุดท้ายน่าจะบานไปถึงสิ้นเดือน ก.พ.ตามที่คาดการณ์ไว้ หลังจากนั้นภูลมโลจะปิดฤดูการท่องเที่ยวให้ธรรมชาติฟื้นตัว ส่วนชาวบ้านก็กลับไปสู่วิถีชีวิตปกติ ประกอบอาชีพชาวไร่ปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง และขิง

ทั้งนี้ อบต.กกสะทอนได้ประกาศตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวกกสะทอนตั้งแต่ปี 2555 พร้อมการสนับสนุนและดูแลจากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) โดยในเขตพื้นที่พิเศษเลย ทาง อพท.ได้จัดตั้งชุมชนต้นแบบขึ้น 2 แห่ง คือ ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนกกสะทอน และชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนปลาบ่า

ก่อนดอกไม้จะหายไป ช่วงเวลาสุดท้ายบนภูลมโล

 

ชุมชนปลาบ่า เป็นชุมชนน้องใหม่ที่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยเน้นไปที่ธรรมชาติ อย่างเส้นทางพิชิต “ภูบักได๋” เดินป่า กางเต็นท์บนยอดภูที่ขึ้นชื่อเรื่องความหนาวและมีลมแรงตลอดปี และค้นหาต้นน้ำของแม่น้ำ 4 สายที่สำคัญของอีสาน หรือนั่งรถอีแต๊กดูแปลงผักแนวกันไฟมีชีวิตที่ชาวบ้านช่วยกันทำเพื่อกันไฟป่าในฤดูแล้งและเป็นเสบียงอาหารของคนในชุมชน หรือนอนโฮมสเตย์ใช้ชีวิตพอเพียงแบบชาวบ้าน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นกิจกรรมที่กำลังเป็นที่สนใจของกลุ่มเจนวายที่กำลังหาที่เที่ยวไม่ซ้ำใคร โดยชุมชนเพิ่งเปิดการท่องเที่ยวเมื่อ 2 ปีก่อน สร้างรายได้กว่า 4.7 ล้านบาทในปีแรก และโตต่อเนื่องถึง 7 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา

การท่องเที่ยวชุมชนถือเป็นการท่องเที่ยวทางเลือกที่กำลังได้รับความนิยม ทาง อพท.เห็นแนวโน้มว่าเป็นเช่นนั้น ทั้งในกลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ที่ต้องการเพิ่มประสบการณ์ชีวิต รวมถึงกลุ่มบริษัทและผู้ประกอบการที่ต้องการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ทำให้การท่องเที่ยวชุมชนเป็นตลาดคุณภาพ

ก่อนดอกไม้จะหายไป ช่วงเวลาสุดท้ายบนภูลมโล

 

ปัจจุบันทั้งสองชุมชนได้เป็นต้นแบบให้ชุมชนใกล้เคียง 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนแสงภา ชุมชนบ้านผาหวาย ชุมชนชัยพฤกษ์ ชุมชนบ้านต้นหล้า และชุมชนนาอ้อ ในอนาคตชุมชนจะกลายเป็นชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวได้หรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับชาวบ้านและไม่ใช่เรื่องที่น้อยหน้าใคร เพราะการท่องเที่ยวไม่ใช่ทุกอย่างของการพัฒนา แต่คุณภาพชีวิตและความสุขของชาวบ้านต่างหากที่เป็นตัวชี้วัดสำคัญ