posttoday

ตามรอยพ่อ ณ แม่ฮ่องสอน

24 ธันวาคม 2559

บอกลา “พ่อ” เป็นครั้งสุดท้าย ณ สถานที่ที่พ่อเคยไปใน “แม่ฮ่องสอน” จังหวัดที่โอบล้อมด้วยภูเขาที่พ่อปลูก

โดย...กาญจน์ อายุ

บอกลา “พ่อ” เป็นครั้งสุดท้าย ณ สถานที่ที่พ่อเคยไปใน “แม่ฮ่องสอน” จังหวัดที่โอบล้อมด้วยภูเขาที่พ่อปลูก บนพื้นที่เกษตรกรรมที่พ่อสร้าง และในชุมชนชาวเขาที่พ่อพัฒนา เพื่อให้เราได้ไปศึกษาในสิ่งที่พ่อทำ

บ้านห้วยห้อม โครงการหลวงแม่ลาน้อย

หมู่บ้านเลี้ยงแกะ ปลูกข้าว และไร่กาแฟ 3 อย่างในบ้านห้วยห้อมที่ล้วนมาจากการส่งเสริมของโครงการหลวงแม่ลาน้อย ซึ่งสิ่งที่น่าเซอร์ไพรส์ที่สุดต้องยกให้เจ้าแกะขนปุย สัตว์แปลกถิ่นที่ไม่คิดว่าจะเติบโตในไทยได้

แกะตัวแรกเดินทางมาพร้อมกลุ่มมิชชันนารี มันมาโดยไม่มีใครรู้จักและไม่มีใครคิดว่าจะรอด และเมื่อเวลาผ่านไป สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงทราบข่าว จึงมีรับสั่งให้นำแกะจากต่างประเทศมาปรับปรุงสายพันธุ์ เพราะเห็นว่าบ้านห้วยห้อมสามารถเลี้ยงแกะได้ กระทั่งปัจจุบันมีแกะที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของไทย 3 สายพันธุ์ ซึ่งถูกแจกจ่ายให้ชาวบ้านในภาคเหนือนำไปเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมควบคู่ไปกับการเกษตร

ตามรอยพ่อ ณ แม่ฮ่องสอน ยามเช้าที่โครงการพระราชดำริปางตอง 2

 

แม่มะลิวัลย์ นักรบไพร ประธานกลุ่มทอผ้าขนแกะและกาแฟ เจ้าของฝูงแกะ ไร่กาแฟ และทุ่งนา ให้ความรู้ว่า ชาวบ้านห้วยห้อมส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรและเลี้ยงแกะเพื่อตัดขน โดยแต่ละปีจะตัดได้ 1 ครั้ง ครั้งละประมาณ 5 กก. จากนั้นจะนำขนแกะไปแปรรูปต่อเป็นผ้าพันคอ เสื้อผ้า และสิ่งทอต่างๆ ซึ่งขายได้ราคางามกว่าการทำเกษตร

นอกจากนี้ บ้านแม่มะลิวัลย์ยังเปิดบ้านเป็นโฮมสเตย์ มีร้านกาแฟ และเป็นจุดศูนย์กลางการท่องเที่ยวในหมู่บ้าน โดยมีโปรแกรมเที่ยวแบบวันเดียวเห็นทุกอย่าง เริ่มด้วยแม่จะพาเดินเท้าตัดผ่านหมู่บ้าน ทักทายบ้านหลังนู้นหลังนี้จนถึงปากทางเข้าป่า ลัดเลาะสันเขาไปเรื่อยๆ จนหยุดที่ไร่กาแฟ (ของใครก็ไม่รู้) จุดนี้แม่เล่าว่า กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงและสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านห้วยห้อมปีละกว่า 1 ล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์อราบิก้าจากบริษัท สตาร์บัคส์คอฟฟี่ประเทศไทย โดยจะปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่ซึ่งจะช่วยอนุรักษ์สภาพป่าไปด้วย จากนั้นแม่นำทางไปผ่านกอไผ่ปล้องใหญ่สองข้างทาง แม่เล่าต่อว่า แต่เดิมป่าแห่งนี้ไม่มีไผ่ แต่เพราะสมัยก่อนยังไม่มีระบบประปา ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงแนะนำให้ปลูกไผ่เพื่อใช้ปล้องลำเลียงน้ำจากภูเขาไปสู่หมู่บ้านแทน (คนกรุงถึงกับอึ้งกับภูมิปัญญา)

จากนั้นแม่พาเดินต่อไปดูอ่างเก็บน้ำที่พ่อของเธอเป็นคนขุดเอง แม่มะลิวัลย์ เล่าว่า ครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ มา ทรงแนะนำให้สร้างบ่อน้ำบนภูเขาเพื่อเก็บกักน้ำฝนและน้ำซับไว้ใช้ยามหน้าแล้ง หลังจากนั้นพ่อของเธอก็เริ่มลงมือขุดด้วยแรงตัวเองจนได้บ่อขนาดใหญ่และยังเก็บกักน้ำไว้ใช้ถึงรุ่นปัจจุบัน

ตามรอยพ่อ ณ แม่ฮ่องสอน หมอกบนผิวน้ำที่ปางอุ๋ง

 

นอกจากนี้ ระหว่างทางเดินกลับบ้าน แม่ยังเล่าต่อว่า อาชีพแรกของครอบครัวคือ ชาวนา ปลูกไว้กินในครอบครัว จนกระทั่งโครงการหลวงแม่ลาน้อยสามารถวิจัยและพัฒนาการปลูกกาแฟ และเลี้ยงแกะได้สำเร็จ แล้วนำมาส่งเสริมให้ชาวบ้าน ทำให้เธอและชาวห้วยห้อมมีตัวเลือกมากกว่าเดิม พร้อมตลาดรองรับผลผลิตที่การันตีราคาว่าจะไม่ตกต่ำแน่นอน

ทั้งนี้ โครงการหลวงแม่ลาน้อยกำลังทดลองการเลี้ยงแกะที่แม่แจ่มและดอยอินทนนท์ เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านในภาคเหนือมีอาชีพเสริมสร้างรายได้จากการเป็นเกษตรกร

ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ตามพระราชดำริ

เมื่อครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ มาประทับแรมที่ปางตอง ทรงมีรับสั่งให้หาทางแก้ไขปัญหาเรื่องความมั่นคง และปัญหายาเสพติด ด้วยการสร้างศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตองตามพระราชดำริขึ้น โดยได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และราบ 21 สร้างฐานเรียนรู้ให้คนเข้าไปเรียนและตักตวงนำไปใช้ประโยชน์

ตามรอยพ่อ ณ แม่ฮ่องสอน แกะขนปุยรอนักท่องเที่ยวป้อนอาหาร

 

ภายในศูนย์มีความรู้หลายแขนงให้ศึกษา ทั้งการสร้างฝายให้เป็นตัวอย่างเรื่องน้ำ โดยกรมชลประทาน การทดลองเลี้ยงปลากดหลวง และปลาสเตอร์เจียน (ทดลองมาแล้ว 10 ปี) โดยกรมประมง การสนับสนุนปลูกพืชนาขั้นบันได และการใช้หญ้าแฝก เพื่อป้องกันดินสไลด์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน การเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเพื่อขยายคืนกลับธรรมชาติ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช การส่งเสริมและปรับปรุงการเลี้ยงแกะและการแปรรูปขนแกะ โดยกรมปศุสัตว์ การปลูกกาแฟสายพันธุ์อราบิก้าและการพัฒนาชุมชนให้อยู่กับป่า โดยกรมวิชาการเกษตร และการสนับสนุนพันธุ์ข้าวและจัดหาพันธุ์ข้าวโดยศูนย์ข้าว

นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเที่ยวในศูนย์ได้ด้วยตนเอง อย่างโรงเรือนเฟิร์น โรงเรือนกล้วยไม้ บ่อเลี้ยงปลากดหลวงและปลาสเตอร์เจียน รวมถึงฟาร์มแกะที่ทางศูนย์จะปล่อยออกมากินหญ้าตามธรรมชาติในช่วงเช้าและเย็นที่มีอากาศไม่ร้อนจัด ซึ่งอาจต้องวัดดวงกันเล็กน้อยว่าจะเจอหรือไม่ แต่ที่เจอแน่ๆ คือ แกะประมาณ 5-6 ตัวในคอกที่รอให้นักท่องเที่ยวป้อนหญ้า

ในปีหน้าทางศูนย์จะเริ่มพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวมากขึ้น หลังเห็นว่านักท่องเที่ยวให้ความสนใจและเข้ามาชมฐานต่างๆ วันละหลายร้อยคน ซึ่งการพัฒนาให้มีร้านค้าและร้านอาหารจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้จับจ่าย และชาวบ้านที่เข้ามาเปิดร้านก็จะได้รายได้อีกทางหนึ่งด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวจะอยู่ภายในกรอบเดิมคือการเป็นแหล่งเรียนรู้ ซึ่งแน่นอนว่าจะไม่ทำให้รบกวนฝูงแกะและสิ่งแวดล้อมเด็ดขาด

ตามรอยพ่อ ณ แม่ฮ่องสอน รอยยิ้มของชาวลัวะที่บ้านป่าแป๋

 

โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง)

วัยรุ่นไทยรู้จักปางอุ๋ง ในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวหน้าหนาวที่มีบึงน้ำ มีป่าสน และมีความฮิปสเตอร์เหมาะสมแก่การท่องเที่ยว ซึ่งปางอุ๋งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) ซึ่งนอกจากอ่างเก็บน้ำแล้ว ภายในโครงการยังมีหมู่บ้านรวมไทยที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นหมู่บ้านตัวอย่างด้านเกษตรกรรม และขณะเดียวกันก็สามารถเป็นยามชายแดนระหว่างไทยกับเมียนมาด้วย

ก่อนที่จะมีโครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) ที่นี่มีสภาพเป็นป่าหัวโล้นจากการทำไร่เลื่อนลอย กระทั่งกรมป่าไม้เข้ามาปลูกป่า สร้างฝาย และปล่อยน้ำให้ชุมชนทำการเกษตรแทนถางป่าทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนำไปสู่การฟื้นฟูป่า สร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้ชาวบ้าน รวมทั้งแก้ปัญหายาเสพติดให้หมดไปจากพื้นที่

นักท่องเที่ยวนิยมมานอนกางเต็นท์ริมปางอุ๋งในช่วงฤดูหนาว เพื่อรอชมไอหมอกยามเช้าและชมดวงดาวยามค่ำคืน ซึ่งการเดินทางมาที่นี่ช่างสะดวกสบาย และไม่ต้องลำบากมากมายก็สามารถสัมผัสธรรมชาติได้อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าใครก็สามารถไป (ถึงขั้นแย่งกันไป) ปางอุ๋งช่วงต้นหนาวแบบนี้

ตามรอยพ่อ ณ แม่ฮ่องสอน ผลกาแฟสายพันธุ์อราบิก้า

 

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง

น้อยคนนักที่จะรู้จักบ้านป่าแป๋ ในเขตพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง ซึ่งเป็นสถานที่กำเนิดธนาคารข้าวแห่งแรกในประเทศไทย

ในอดีตช่วงปี 2499-2508 ชาวบ้านป่าแป๋ประสบปัญหาขาคแคลนข้าวอย่างหนัก เพราะทุกคนต่างทำไร่เลื่อนลอย ทำให้ไม่มีต้นไม้และไม่มีน้ำเพียงพอแก่การปลูกข้าว เมื่อถึงฤดูแล้งชาวบ้านจึงจำเป็นต้องไปซื้อข้าวราคาแพงจากนายทุน หรือต้องติดหนี้ดอกเบี้ยสูงเพื่อมีข้าวพอประทังชีวิต ทว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทอดพระเนตรเห็นความยากลำบาก จึงได้พระราชทานข้าว และมีพระราชดำริให้จัดตั้งธนาคารข้าวแห่งแรกในประเทศไทยขึ้น โดยมีหลักการว่าชาวบ้านต้องช่วยกันสร้างยุ้งข้าวและรวมกลุ่มกันดูแลการจ่ายออกและทวงคืน เมื่อไม่มีข้าวกินให้มายืมข้าวจากธนาคาร และเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวให้นำข้าวมาคืนแบบยืมสิบบวกสอง เช่น ถ้ายืมข้าวไป 10 ถัง ให้คืน 12 ถัง อันเป็นการแก้ปัญหาขาดแคลนข้าวได้อย่างถาวร

จากนั้นเมื่อมีการก่อตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง ทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว เสาวรส อโวคาโด พลับ เคฟกูสเบอร์รี่ กาแฟอราบิก้า และเลี้ยงสุกร รวมทั้งได้ส่งเสริมให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยมีคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นผู้ดูแลเรื่องโปรแกรมการท่องเที่ยว โฮมสเตย์ และการบริหารจัดการการท่องเที่ยว

ตามรอยพ่อ ณ แม่ฮ่องสอน กระบวนการตีขนแกะให้ฟูก่อนนำไปทอเป็นผ้าทอขนแกะ

 

ในวันนั้น ไกด์ท้องถิ่นได้นำทางไปยังธนาคารข้าวและเริ่มอธิบายว่า เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2513 ในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่ราษฎรบ้านป่าแป๋ จำนวน 2 หมื่นบาท เพื่อจัดตั้งธนาคารข้าว และทรงรับสั่งว่าเป็น “ธนาคารข้าวแห่งแรกของโลก”

นอกจากนี้ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ก็เคยเสด็จมา และทรงปลูกต้นลิ้นจี่ไว้ในโรงเรียนเจ้าพ่ออุปถัมภ์ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2518 ซึ่งปัจจุบันต้นลิ้นจี่ยังเติบโตสมบูรณ์และออกผลให้ชาวบ้านเก็บมารับประทานทุกปี

นับตั้งแต่ปี 2489 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงริเริ่มโครงการหลวงส่วนพระองค์และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากกว่า 4,000 โครงการทั่วประเทศ เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่ห่างไกลมีความเป็นอยู่ที่ดี และสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง อย่างที่พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธ.ค. 2540 ไว้ว่า

ตามรอยพ่อ ณ แม่ฮ่องสอน ต้นลิ้นจี่ของสมเด็จย่า

 

“...การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกินแบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง...

...ความพอเพียงนี้ ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอจะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก อย่างนี้ท่านนักเศรษฐกิจต่างๆ ก็มาบอกว่าล้าสมัยจริง อาจจะล้าสมัย คนอื่นเขาต้องมีการเศรษฐกิจที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน เรียกว่าเป็นเศรษฐกิจการค้าไม่ใช่เศรษฐกิจความพอเพียง เลยรู้สึกว่าไม่หรูหรา แต่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีบุญอยู่ว่าผลิตให้พอเพียงได้...

...ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนไป ทำให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียงไม่ต้องทั้งหมดแม้แต่ครึ่งก็ไม่ต้อง อาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็จะสามารถอยู่ได้ การแก้ไขอาจจะต้องใช้เวลา ไม่ใช่ง่ายๆ โดยมากคนก็ใจร้อนเพราะเดือดร้อน แต่ถ้าทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ก็สามารถที่จะแก้ไขได้...”

ตามรอยพ่อ ณ แม่ฮ่องสอน ชาวบ้านป่าแป๋กำลังโกยข้าวลงถังเพื่อนำไปเก็บไว้ในยุ้ง

 

ตามรอยพ่อ ณ แม่ฮ่องสอน อาหารกลางวันแบบชาวลัวะ

 

ตามรอยพ่อ ณ แม่ฮ่องสอน ลานกางเต็นท์ริมปางอุ๋ง

 

ตามรอยพ่อ ณ แม่ฮ่องสอน โรงเรือนเฟิร์นในศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ตามพระราชดำริ

 

ตามรอยพ่อ ณ แม่ฮ่องสอน ธนาคารแห่งแรกในประเทศไทย

 

ตามรอยพ่อ ณ แม่ฮ่องสอน อ่างเก็บน้ำช่วงใกล้รุ่ง

 

ตามรอยพ่อ ณ แม่ฮ่องสอน อ่างเก็บน้ำปางตอง