posttoday

สุวิกรม อัมระนันทน์ ขอเดินทางตามรอยพ่อ

26 พฤศจิกายน 2559

การเดินทางในโครงการ “เดินทางพ่อ” เส้นทางอินทนนท์ ไม่เพียงคัดเลือกคนรุ่นใหม่จำนวน 20 คน มาร่วมทริป

โดย...รอนแรม

การเดินทางในโครงการ “เดินทางพ่อ” เส้นทางอินทนนท์ ไม่เพียงคัดเลือกคนรุ่นใหม่จำนวน 20 คน มาร่วมทริป แต่ยังเลือก เปอร์-สุวิกรม อัมระนันทน์ มาเป็นหนึ่งในสมาชิกด้วย เขาร่วมกิจกรรมทุกอย่าง ล้อมวงสนทนาแลกเปลี่ยนทัศนคติกับทุกคน ซึ่งสิ่งที่เขาถ่ายทอดออกจากความคิดนั้น ช่างไม่ธรรมดา

เปอร์เป็นผู้ชายวัย 28 ปี ที่เหมือนกับว่าผ่านเรื่องราวมามาก เพราะเขาเข้าใจชีวิต และพยายามเดินบนทางที่เลือกอย่างไม่ยอมแพ้ โดยมีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นแบบอย่าง ทั้งด้านการใช้ชีวิต การทำงาน และการเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อื่นต่อไป

ทำเพื่อพ่อ

เปอร์เล่าว่า เขากำลังมีโปรเจกต์ทำรายการพิเศษเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ชื่อโครงการว่า กาลครั้งนั้นของฉันกับในหลวง โดยจะทำภาพยนตร์สั้น 70 เรื่อง จากผู้กำกับ 70 คน เป็นตัวแทนของพสกนิกรทั้งหมด 70 ล้านคน เพื่อฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี

สุวิกรม อัมระนันทน์ ขอเดินทางตามรอยพ่อ

 

“เราอยากให้พระองค์ท่านเห็นว่าพสกนิกรมีความรู้สึกอย่างไร” เขากล่าว

และระหว่างการทำงานนั้น ทางโครงการเดินทางพ่อได้ติดต่อให้มาร่วมทริป ซึ่งเขาตอบรับคำทันทีด้วยความรู้สึกยินดี ทว่าความรู้สึกนั้นกลับเปลี่ยนไป เมื่อเกิดเหตุการณ์วันที่ 13 ต.ค. 2559 วันเสด็จสวรรคตของในหลวง รัชกาลที่ 9 จากที่คิดว่าจะมาเพียงศึกษาพระราชกรณียกิจ ความรู้สึกข้างในกลับกลายมี “ปม” นั่นคือ ปมของความโศกเศร้าเสียใจที่ติดตัวมา ซึ่งทำให้เขาตั้งใจมาศึกษาสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำไว้อย่างลึกซึ้ง

“ผมตั้งใจเรียนรู้เพื่อจะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้จริง ทริปเดินทางพ่อที่ได้ศึกษาโครงการหลวงอินทนนท์ เราพยายามค้นหาคำตอบว่าพระองค์ทรงทำอะไร เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่นี่เป็นอย่างไร (ดอยอินทนนท์) พวกเขารู้สึกรักและศรัทธาพระองค์ท่านแบบไหน รักด้วยเหตุผลอะไร เราอยากได้ยินจากปากของเขาเอง แน่นอนว่าคนไทยทุกคนบอกว่ารักในหลวง แต่ความรักของแต่ละคนไม่เหมือนกัน จึงอยากรู้ว่าความรักของชาวอินทนนท์นั้นมีความหมายว่าอะไร”

สุวิกรม อัมระนันทน์ ขอเดินทางตามรอยพ่อ

 

คำตอบที่เขาได้จากการไปคลุกคลีกับชาวบ้านมาตลอด 3 วัน ชาวบ้านบนดอยอินทนน์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พวกเขาไม่เดือดร้อนกับการที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯ มา แต่ทุกอย่างที่พระองค์ทรงแนะนำและพวกเขาได้ทำตามมีแต่เรื่องดีๆ ทั้งสิ้น ทำให้พวกเขาเข้าใจคำว่า เศรษฐกิจพอเพียง จากวันนั้นที่ชาวบ้านปลูกข้าวไม่พอกิน วันนี้ผืนป่าอุดมและผืนนาสมบูรณ์ มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว พวกเขายังคงใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ และยังยึดหลักความพอเพียงที่พระองค์ทรงสอนไว้มาปรับใช้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเขานิยามมันว่า “มหัศจรรย์”

ทำตามพ่อ

ตลอด 70 ปีที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงงานหนัก เปอร์ได้ตั้งคำถามกับตัวเองมาตลอดว่า อะไรคือสาเหตุที่พระองค์ทรงทำ ซึ่งเขาได้อุปโลกน์คิดคำตอบเองว่า พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ทรงตั้งคำถามกับตัวเองเสมอ ในขณะที่พระองค์อยู่ในวัง มีข้าราชบริพารมากมาย และมีชีวิตที่สุขสบาย มีพร้อมทุกอย่าง แต่สำหรับคนอื่นๆ ในฐานะที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน เขารู้สึกอย่างไร

“พระองค์ทรงเล็งเห็นว่า ชีวิตของคนอื่นนั้นสำคัญไม่แพ้ไปกว่าชีวิตของตัวเอง พระองค์จึงอุทิศสิ่งที่ตัวเองมีทั้งหมดให้กับคนอื่น ให้กับการทำเพื่อคนอื่น ผมรู้สึกว่านี่คือแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งที่ทำให้เรามองเห็นว่าพระองค์ท่านเห็นคุณค่าของชีวิตทุกคน นอกจากนี้ ตลอด 70 ปีที่พระองค์ทรงครองราชย์ เราได้สังเกตและคิดตามเอาเองด้วยเหตุและผลแล้วพบว่า พระองค์ท่านเป็นคนที่เวลาคิดแล้วจะลงมือทำจริงๆ ผมเชื่อว่า ต่อให้ไม่มีคนมาช่วยท่านทำ ท่านก็จะทำอยู่ดี และเมื่อท่านทำจริงจึงส่งผลให้มีคนทำตาม ส่งผลให้เกิดความศรัทธา ไม่มีข้อกังขาว่าจะทำตามไปเพื่ออะไร พระองค์ท่านทรงเป็นแบบอย่างที่ดีจริงๆ และเมื่อพระองค์ท่านทำได้ คนอื่นก็ต้องทำได้”

สุวิกรม อัมระนันทน์ ขอเดินทางตามรอยพ่อ

 

เปอร์ยังกล่าวด้วยว่า ในหลวง รัชกาลที่ 9 ไม่ได้ทำเพื่อให้คนรัก ไม่ได้ทำให้คนมาเคารพ เชิดชู สรรเสริญ แต่พระองค์ทำเพื่อเป็นตัวอย่าง ทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ซึ่งโครงการต่างๆ ที่พระองค์ทรงริเริ่มนั้นต่างประสบความสำเร็จประจักษ์แล้วว่า พระองค์ทรงทำเพื่อประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริง

“ผมไม่รู้ว่าผมเป็นคนพอเพียงหรือเปล่า” เขากล่าวถึงชีวิตพอเพียง “ชีวิตของผมไม่ได้ให้ความสำคัญกับความพอเพียงเป็นหลัก แต่ผมให้ความสำคัญกับเรื่องของความรู้ ความรู้สำหรับผมมันไม่เคยพอเพียงเลย ถ้าเรื่องของการใช้ชีวิตประจำวัน แก้วแหวนเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ หรืออะไรก็ตาม ไม่ใช่สิ่งมีค่าสำหรับผมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมจึงไม่รู้สึกว่าเราต้องพอเพียงหรือไม่พอเพียง เพราะมันไม่เคยมีค่า เงินทองไม่สามารถนำพาไปสู่สิ่งที่ต้องการ สิ่งที่มีค่าสำหรับผมคือ ความรู้ ถามว่าผมใช้ชีวิตแบบไหน ผมอยู่เพื่อเรียนรู้ ทำให้ชีวิตของผมแปรเปลี่ยนตลอดเวลาเพื่อที่จะได้ทำการศึกษามนุษย์ในวิธีที่แตกต่างกันออกไป การที่เรามีความรู้จะทำให้เรามีคุณค่า และเมื่อเรามีคุณค่าเงินก็จะมาเอง”

อาชีพพิธีกรจึงเป็นอาชีพที่เขาค้นหามาเนิ่นนาน ด้วยเป็นอาชีพที่ได้ศึกษาชีวิตคนอื่น ศึกษาความรู้ใหม่ๆ และสามารถบอกต่อแก่คนหมู่มาก

สุวิกรม อัมระนันทน์ ขอเดินทางตามรอยพ่อ

 

เดินทางพ่อ

เส้นทางเดินทางพ่อในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์มีเส้นทางที่ต้องขึ้นเขา ลงเขา เผชิญกับอากาศร้อนสลับอากาศหนาว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเส้นทางที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯ มาเมื่อครั้งที่ถนนหนทางยังไม่เจริญ เส้นทางเดินป่ายังไม่มี ดังนั้นการเดินตามรอยเท้าพ่อจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักแม้จะในห้วงเวลาปัจจุบันก็ตาม

“หลายคนคิดว่าพระองค์ท่านลำบาก แต่โดยส่วนตัวของผม ผมคิดว่า พระองค์ทรงชอบป่า ชอบเขา ชอบธรรมชาติ เพราะถ้าพระองค์ท่านไม่ชอบจะเป็นเรื่องที่ยากมากที่ท่านจะอยู่กับมันได้มากขนาดนี้ คนเรามีความชอบไม่เหมือนกัน เราไม่จำเป็นต้องเดินป่า ขึ้นเขา แต่จงทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด เรื่องที่ทำอาจจะแตกต่าง แต่วิธีการในการปฏิบัติสามารถศึกษาจากพระองค์ท่านได้ ผมรู้สึกแบบนั้น พระองค์ท่านรักแม่ขนาดไหน พระองค์ท่านรักประชาชนขนาดไหน พระองค์รักหน้าที่และความรับผิดชอบขนาดไหน เราคนไทยสามารถนำวิธีการใช้ชีวิตเหล่านี้มาเป็นเชื้อเพลิงให้ตัวเองได้”

สุวิกรม อัมระนันทน์ ขอเดินทางตามรอยพ่อ

 

เขายังกล่าวด้วยว่า การเดินทางพ่อครั้งนี้ตรงกับสุภาษิตไทย สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น กล่าวคือ คนไทยได้ยินเรื่องของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาตั้งแต่เด็ก แต่เราไม่เคยเห็นด้วยตัวเอง และสิบตาเห็น ไม่เท่าลงมือทำ เมื่อเห็นแล้วก็ต้องลงมือทำ เพราะการลงมือทำจะทำให้รู้ถึงปัญหา รู้จักวิธีการแก้ไข เฉกเช่นพระองค์ท่านที่นำสันติวิธีมาแก้ไขปัญหา และถ้าตั้งใจทำแล้ว สุดท้ายก็จะทำได้

“พระองค์ท่านเป็นแบบอย่างให้กับผม ผมจึงต้องทำ ทำ ทำ ทำให้เต็มที่ ถ้าเจออุปสรรคก็ต้องทำ ทำ ทำ ทำไปเรื่อยๆ เวลาจะพิสูจน์เอง อย่างน้อยคนรอบข้างที่เห็นจะเกิดการทำตาม เราสามารถเป็นเชื้อเพลิงให้คนอื่นต่อไป ซึ่งสิ่งนี้แหละเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะทุกอย่างต้องเริ่มจากตัวเองก่อน จากนั้นมันจะขยายไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด” เขากล่าวทิ้งท้าย