posttoday

ข้าวและชาวเขา พ่อของเราที่แม่ฮ่องสอน

22 ตุลาคม 2559

ไม่มีที่ไหน ที่ในหลวงไม่เคยเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศไทย

โดย...กาญจน์ อายุ ภาพ กาญจน์ อายุ, กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร

ไม่มีที่ไหน ที่ในหลวงไม่เคยเสด็จฯ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศไทย ไม่เว้นแม้แต่สถานที่ทุรกันดาร ไม่มีถนน ไม่มีความสะดวกสบาย เพื่อพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวเขาให้ดีขึ้น

ข้าวและชาวเขา พ่อของเราที่แม่ฮ่องสอน เณรออกบิณฑบาตรบนสะพานซูตองเป้

 

ชาวเขา

อย่างงานพัฒนาโครงการหลวง ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรชาวเขาบ้านดอยปุย ทรงทอดพระเนตรเห็นชาวเขาปลูกฝิ่นแต่ยากจน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำริและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ตั้งโครงการหลวงในปี 2512 เพื่อช่วยเหลือราษฎรชาวไทยภูเขาจากการดำรงชีวิตด้วยการทำไร่เลื่อนลอย และการปลูกฝิ่น ให้หันมาปลูกพืชเพื่อสร้างรายได้ทดแทน รวมทั้งการฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร

ข้อมูลของมูลนิธิโครงการหลวง (Royal Project Foundation) ระบุว่า ระยะเริ่มแรกเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฏรชาวเขาได้พระราชทานพันธุ์พืชชนิดต่างๆ และหมูพันธุ์ลูกผสม ต่อมาได้มีอาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ กรมวิชาการเกษตร กรมประชาสงเคราะห์ และหน่วยงานต่างๆ เดินทางไปเยี่ยมเยียนเกษตรกรชาวเขาในหมู่บ้านต่างๆ ประจำทุกสัปดาห์ เพื่อจัดทำแปลงสาธิตการเกษตร และให้คำแนะนำแก่เกษตรกรด้านต่างๆ รวมทั้งให้การฝึกอบรมเกษตรกรชาวเขาในการปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์

ข้าวและชาวเขา พ่อของเราที่แม่ฮ่องสอน สวนธรรมภูสมะ

 

ต่อมา เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2517 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำรัส เรื่องช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขา ความว่า

“เรื่องที่จะช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขานั้น มีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขา เพื่อจะส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถที่จะเพาะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นรายได้ของเขาเอง ที่มีโครงการนี้ จุดประสงค์อย่างหนึ่งก็คือ มนุษยธรรม หมายถึง ให้ผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร สามารถที่จะมีความรู้และพยุงตัว มีความเจริญก้าวหน้าได้ อีกอย่างหนึ่งก็เป็นเรื่องช่วยในทางที่ทุกคนเห็นว่าควรจะช่วยเพราะเป็นปัญหาใหญ่คือ ปัญหาเรื่องยาเสพติด ถ้าสามารถช่วยชาวเขาปลูกพืชที่เป็นประโยชน์บ้างเขาจะเลิกปลูกยาเสพติดคือ ฝิ่น ทำให้นโยบายการระงับการปราบปรามการปลูกฝิ่นและการค้าฝิ่น ได้ผลดี อันนี้ก็เป็นผลอย่างหนึ่ง ผลอีกอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญมากก็คือ ชาวเขา ตามที่รู้เป็นผู้ที่ทำการเพาะปลูกโดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ถ้าพวกเราทุกคนไปช่วยชาวเขา ก็เท่ากับช่วยบ้านเมืองให้มีความดี ความอยู่ดีกินดี และปลอดภัยได้อีกทั่วประเทศ เพราะถ้าสามารถทำโครงการนี้ได้สำเร็จ ให้เขาอยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง สามารถที่จะมีความอยู่ดีกินดีพอสมควร และสนับสนุนนโยบายที่จะรักษาป่าไม้ รักษาดินให้เป็นประโยชน์ต่อไป ประโยชน์อันนี้จะยั่งยืนมาก”

ข้าวและชาวเขา พ่อของเราที่แม่ฮ่องสอน พื้นไม้ไผ่สะพานซูตองเป้

 

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น แสดงให้เห็นถึงความสำคัญ วัตถุประสงค์ รวมถึงเป้าหมายของการทำงานของโครงการหลวงที่ชัดเจน โดยโครงการหลวงทำงานครบวงจร ประกอบด้วย หนึ่ง การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อให้เกิดความชัดเจนของพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร และพื้นที่ใช้ประโยชน์อื่นๆ สอง การปลูกป่าในพื้นที่ส่วนที่ควรเป็นป่า เช่น การปลูกป่าชาวบ้าน ตามแนวพระราชดำริป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง สาม การทำการเกษตรภายใต้ระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำ รวมทั้งการพัฒนาพื้นฐาน ได้แก่ ระบบชลประทาน รวมถึงการปรับปรุงถนนระหว่างหมู่บ้านสำหรับการขนส่งผลผลิตต่างๆ ไปสู่ตลาด สี่ การวิจัย ซึ่งต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะการปลูกพืชเขตหนาวทุกชนิดเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ผลจากการวิจัยได้นำไปส่งเสริมต่อเกษตรกร รวมถึงการพัฒนาคนด้านการศึกษาและสาธารณสุข เพื่อช่วยเขาให้ช่วยตนเอง และห้าการขนส่ง การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และการตลาด เพื่อนำผลผลิตของเกษตรกรไปสู่ผู้บริโภค

ยกตัวอย่าง ชาวปะเกอกะเญอ ที่บ้านเมืองแพม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ชาวเมืองแพมส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ปลูกข้าว ปลูกกระเทียม และถั่วลิสง โดยชุมชนได้จำแนกพื้นป่าตามแนวพระราชดำริ คือ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 ได้แก่ พื้นที่ป่าต้นน้ำ บริเวณห้วยเฮี๊ยะ พื้นที่ป่าใช้สอย บริเวณทิศเหนือของหมู่บ้าน และพื้นที่ป่าอนุรักษ์หรือป่าบวช  บริเวณห้วยโป่ง

ข้าวและชาวเขา พ่อของเราที่แม่ฮ่องสอน วัดพระธาตุดอยกองมู

 

พระองค์มีพระราชดำรัสว่า “การปลูกป่า ถ้าจะให้ราษฎรมีประโยชน์ให้เขาได้ ให้ใช้วิธีปลูกไม้ 3 อย่าง แต่มีประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ โดยปลูกรองรับการชลประทาน ปลูกรับซับน้ำ และปลูกอุดช่วงไหล่ตามร่องห้วยโดยรับน้ำฝนอย่างเดียว ประโยชน์อย่างที่ 4 คือ สามารถช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ”

บ้านเมืองแพมยังเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน มีโฮมสเตย์ 17 หลัง โดยสามารถศึกษาวิถีชีวิตของชาวปะเกอกะเญอได้ที่ บ้านผ้าทอกะเหรี่ยง ชาวเมืองแพมทอแบบไม่ใช่กี่ แต่จะยึดผ้าไว้กับเสาแล้วใช้ตัวดึงผ้าให้ดึง และทอเหมือนใช้กี่ทั่วไป บ้านหมอยาสมุนไพร บ้านจักสานและช่างไม้ รวมถึงกิจกรรมเดินป่าไปดูการจัดการป่าไม้ของชุมชน

ข้าวและชาวเขา พ่อของเราที่แม่ฮ่องสอน ทุ่งดอกบัวตองดอยแม่อูคอ

 

นอกจากนี้ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวชุมชนอีกแห่งที่บ้านเมืองปอน อ.ขุนยวม หมู่บ้านที่ยังมีวิถีชีวิตดั้งเดิม ทั้งบ้านแหลงคำ คงมณี ทำจองพารามานาน 60 ปี บ้านแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารดอกเอื้องงาม บ้านตัดเย็บผ้าไตป้าอู๊ด บ้านจักสานกุ๊บไต และบ้านทำข้าวปุ๊ก ขนมท้องถิ่นทำจากแป้งคล้ายโมจิ โดยมีโฮมสเตย์รองรับนักท่องเที่ยวจำนวน 20 หลัง

นาข้าว

แม่ฮ่องสอนเวลานี้สีเหลืองอร่ามด้วยรวงข้าวเต็มทุ่งเกือบทุกบริเวณ ซึ่งจังหวัดนี้เป็นที่ตั้งของธนาคารข้าวแห่งแรกของไทย ที่บ้านป่าแป๋ ใน อ.แม่สะเรียง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานข้าวเพื่อตั้งเป็นธนาคารข้าวเป็นแห่งแรก เพราะชาวลัวะที่นั่นบางปีขาดแคลนข้าว ต้องยืมเงินซื้อโดยเสียดอกเบี้ยสูงมากจนไม่มีทางจะชำระหนี้ได้หมด ธนาคารข้าวที่ตั้งขึ้นนี้ได้คิดดอกเบี้ยต่ำ ชาวบ้านสามารถใช้คืนได้ในฤดูเก็บเกี่ยวครั้งต่อไป โดยหลักเกณฑ์ของธนาคารมีอยู่ว่า ชาวบ้านต้องช่วยกันสร้างยุ้งข้าว และรวมกลุ่มกันดูแลการจ่ายออกและทวงคืน

ข้าวและชาวเขา พ่อของเราที่แม่ฮ่องสอน บ้านเมืองแพม หมู่บ้านพอเพียง

 

ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2513 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเยี่ยมเยียนราษฎร โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่โครงการหลวงชาวเขานำข้าวสารพระราชทานคิดเป็นมูลค่า 2 หมื่นบาท มอบให้กับราษฎร เพื่อให้เป็นกองทุนหมุนเวียนช่วยเหลือราษฎรที่ประสบความเดือดร้อนจากการขาดแคลนข้าว ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ทั้งยังได้ต่อยอดไปสู่การรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน การแปรรูปเป็นข้าวดอยปลอดสารพิษ และทดลองแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มมูลค่าให้กับข้าวดอยป่าแป๋

บ้านป่าแป๋อยู่ในหุบเขาท่ามกลางธรรมชาติ และเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยชาวบ้านมีความเชื่อและพิธีกรรมการขนข้าวสู่หลอง (ยุ้ง) ข้าว และนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตเรียบง่ายของหมู่บ้านกลางท้องนา ในแม่สะเรียงยังเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุ 4 จอม ได้แก่ พระธาตุจอมแจ้ง พระธาตุจอมทอง พระธาตุจอมมอญ และพระธาตุจอมกิตติ โดยแต่ละวัดตั้งอยู่บนภูเขาทั้งสี่ทิศเป็นที่สักการบูชาของชาวแม่สะเรียง

ข้าวและชาวเขา พ่อของเราที่แม่ฮ่องสอน บ้านทำจองพาราในบ้านเมืองปอน

 

อีกหนึ่งความสวยงามของท้องนาอยู่ที่ สะพานซูตองเป้ ห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนประมาณ 8 กม. สะพานทำจากไม้และไม้ไผ่ กว้าง 2 เมตร ยาว 500 เมตร. คำว่า ซูตองเป้ เป็นภาษาไทยใหญ่ แปลว่า อธิษฐานสำเร็จ ซึ่งเชื่อกันว่า หากได้มายืนอยู่กลางสะพานแล้วอธิษฐานขอความสำเร็จใดๆ ก็จะพบกับความสมหวัง ซึ่งสะพานซูตองเป้เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของพระภิกษุสงฆ์และชาวบ้านกุงไม้สัก ที่ต่างช่วยกันลงแรงสานพื้นสะพานด้วยไม้ไผ่ทอดยาวเชื่อมต่อระหว่างสวนธรรมภูสมะและหมู่บ้านกุงไม้สัก เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์และชาวบ้านได้ใช้สัญจรไปมาระหว่างหมู่บ้านสะดวกขึ้น

สีเหลืองทองยังเหลืองอร่ามไปยัง ดอยแม่อูคอ เขตบ้านสุรินทร์ ต.ยวมน้อย อ.ขุนยวม ภูเขาที่กำลังถูกปกคลุมด้วยดอกบัวตองในเดือน พ.ย.-ต้นเดือน ธ.ค. ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ยาวไปจนเกือบสุดปลายทางถนน 108 และยังปกคลุมไปทั้งใจของชาวบ้านที่ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ไม่มีที่ไหน ที่ในหลวงไม่เคยเสด็จฯ ช่างแท้จริง ไม่ว่าแม่ฮ่องสอนจะอยู่ห่างไกล แต่ก็ไม่ไกลเกินกว่าที่พ่อของแผ่นดินจะเสด็จฯไปถึง ส่งเสริมให้ชาวเขามีอาชีพ สร้างสรรค์ให้ชาวนามีข้าวไม่ขาดแคลน เป็นตัวแทนของกว่าพันโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงทำเพื่อคนไทย

ข้าวและชาวเขา พ่อของเราที่แม่ฮ่องสอน แม่ค้าขายหอมแดงที่บ้านเมืองปอน

 

ข้าวและชาวเขา พ่อของเราที่แม่ฮ่องสอน ชาวเขาปะเกอกะเญอทำแก้วไม้ไผ่จำหน่าย