posttoday

เลียบท่าวาสุกรี เยือนวัดราชาธิวาสฯ

24 กรกฎาคม 2559

วันหยุดที่ผ่านมา สมแขกมีโอกาสไปเดินเที่ยวย่านเทเวศร์ ชุมชนคนกรุงที่ยังฝังตัวอยู่กับรอยอดีตอันงดงาม

โดย...สมแขก ภาพ : คลังภาพโพสต์ทูเดย์

วันหยุดที่ผ่านมา สมแขกมีโอกาสไปเดินเที่ยวย่านเทเวศร์ ชุมชนคนกรุงที่ยังฝังตัวอยู่กับรอยอดีตอันงดงาม ความจริงเทเวศร์มีเรื่องราวซ่อนอยู่ไม่น้อยไปกว่าถิ่นอื่น อาจแบ่งแยกความสำคัญได้หลายประเภท เริ่มตั้งแต่ วัด วัง เวียง วิถี ซึ่งวัดไทยรากหนึ่งของราชวงศ์จักรีอย่างวัดราชาธิวาสวิหาร ทั้งยังเป็นวัดต้นกำเนิดแห่งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ที่แม้จะอยู่ในเขตเมืองแต่ก็ยังร่มครึ้มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ นอกจากนี้ ยังนับเป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา และมีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีตลอดมา สันนิษฐานว่ามาจากภาษาเขมรว่าถมอราย แปลว่า หินเรียงราย ตามหลักฐานปรากฏว่าได้รับการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชทานนามให้ใหม่ว่า “วัดราชาธิวาสวิหาร” อันหมายถึง วัดอันเป็นที่ประทับของพระราชา เนื่องจากเป็นวัดแรกที่เป็นที่ประทับจำพรรษาของพระภิกษุเจ้าฟ้าแห่งราชวงศ์จักรี นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เหตุการณ์ที่ทำให้วัดราชาฯ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ก็คือ รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงผนวชและจำพรรษา ณ วัดแห่งนี้ ได้ก่อตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้น เพราะเล่ากันไว้ว่า สมัยก่อนนั้นสภาพวัดเป็นป่ามีต้นไม้ใหญ่น้อย เหมาะสำหรับการเจริญภาวนาของพระสงฆ์ จึงไม่ค่อยสนใจการก่อสร้างบูรณะถาวรวัตถุในวัดทำให้วัดทรุดโทรม

เลียบท่าวาสุกรี เยือนวัดราชาธิวาสฯ

 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2451 สมัยรัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้ออาคารสร้างใหม่หมด นับเป็นการซ่อมและบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ “พระอุโบสถ” ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นายช่างใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นผู้ทรงออกแบบ โดยยังคงรักษาโครงสร้างของพระอุโบสถเดิมที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 ไว้ มีการประยุกต์แนวคิดสมัยใหม่ที่เน้นความงามทางทรวดทรงเรขาคณิตมาประกอบกับโครงสร้างแบบเดิม ไม่ได้ออกแบบตามประเพณีนิยม พระอุโบสถเป็นอาคารทรงขอม หน้าบันประยุกต์แบบศิลปะลพบุรี ลวดลายเลียนแบบสถาปัตยกรรมขอม มีเสาพาไลรอบ นับเป็นต้นแบบในการออกแบบหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย และเมื่อเข้าไปภายในพระอุโบสถก็ยิ่งต้องตะลึงกับความงามและความแปลกตาที่ไม่เหมือนใคร

ภายในพระอุโบสถเป็นห้อง 3 ตอน คือ ระเบียงห้องหน้า ห้องกลางเป็นห้องพิธี ประดิษฐานของพระสัมพุทธพรรณีจำลอง ซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดให้หล่อเพื่อเป็นการอุทิศพระราชกุศลถวายแด่รัชกาลที่ 4 หลังพระประธานเป็นซุ้มคูหา มีภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในแสดงเรื่องพระเวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงร่างภาพ ซึ่งรูปร่างหน้าตาของพระเวสสันดรและคนอื่นๆ จึงดูออกแนวลูกครึ่งฝรั่งกันทั้งนั้นและ ศ.ซี. ริโกลี (C. Rigoli) จิตรกรชาวอิตาเลียน นายช่างใหญ่ชาวอิตาเลียนในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นผู้เขียนด้วยการใช้สีปูนเปียก (Fresco) และเป็นคนเดียวกับที่เขียนภาพบนเพดานโดมในพระที่นั่งอนันตสมาคมด้วย

เลียบท่าวาสุกรี เยือนวัดราชาธิวาสฯ

 

นอกจากนี้ ด้านหลังของพระอุโบสถยังแบ่งเป็นอีกห้องหนึ่ง ประดิษฐาน “พระสัมพุทธวัฒโนภาส” ซึ่งใต้ฐานชุกชีนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระบรมราชสรีรังคาร สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และเส้นพระเกศาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ไว้ด้วย

สิ่งมหัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งคือ ศาลาการเปรียญซึ่งตั้งอยู่หน้าวัด สร้างเลียนแบบจากศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม จ.เพชรบุรี เป็นศาลาหลังใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ จุคนได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน สร้างขึ้นด้วยไม้สักทองทั้งหลัง มีบุษบกและยานมาสน์ที่ใช้สำหรับแสดงธรรม ทั้งยังเป็นสถานที่เก็บวัตถุโบราณ

จบสายวันหนึ่งที่วัดราชาฯ ก่อนจะเดินหาของอร่อยๆ ในย่านเทเวศร์ และเดินหาต้นไม้สวยๆ ไปลงสวนในบ้านในตลาดต้นไม้ ความงดงามของวัดวาหากอธิบายด้วยตัวอักษรคงไม่สามารถถ่ายทอดได้ถึงภาพได้ทั้งหมด หากอยากสัมผัสความงามและร่วมอิ่มเอมกับเรื่องราวและความงดงาม จะต้องไปเยี่ยมชมและสัมผัสด้วยตัวเอง ที่ถนนสามเสน 9 ใกล้กับหอสมุดแห่งชาติและท่าเรือวาสุกรี

เลียบท่าวาสุกรี เยือนวัดราชาธิวาสฯ

 

เลียบท่าวาสุกรี เยือนวัดราชาธิวาสฯ

 

เลียบท่าวาสุกรี เยือนวัดราชาธิวาสฯ

 

เลียบท่าวาสุกรี เยือนวัดราชาธิวาสฯ

 

เลียบท่าวาสุกรี เยือนวัดราชาธิวาสฯ

 

เลียบท่าวาสุกรี เยือนวัดราชาธิวาสฯ