posttoday

ป่าสวรรค์ร้อนนรก

29 พฤษภาคม 2559

พอบอกว่าผมถ่ายรูปนกแต้วแล้วท้องดำ (Gurney’s Pitta) แห่งป่าพม่าได้ ผู้คนก็ต้องมีคำถามตามมา แล้วมันมีตัวเยอะ หรือหาง่ายมากน้อยแค่ไหน?

โดย...ปริญญา ผดุงถิ่น

พอบอกว่าผมถ่ายรูปนกแต้วแล้วท้องดำ (Gurney’s Pitta) แห่งป่าพม่าได้ ผู้คนก็ต้องมีคำถามตามมา แล้วมันมีตัวเยอะ หรือหาง่ายมากน้อยแค่ไหน?

ตอบ ผมใช้เทปเสียงเช็กหาตัวนกจนเจอในเวลาแค่ 10 นาที หลังจากนั้นการบังไพรเพื่อถ่ายรูป ก็ใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที ก็ได้ตัวแล้ว

โดยสรุป ผมเจอนกแต้วแล้วท้องดำ รวมหมดทั้งเห็นตัวและได้ยินเสียง ก็ 5 ตัวด้วยกัน เป็นตัวผู้ 3 ตัวเมีย 2 ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องบอกว่านี่แทบไม่ได้ออกเดินสำรวจให้กว้างขวาง หรือเอาการเอางานเลย เพราะมุดอยู่ในบังไพรเป็นส่วนใหญ่

สิ่งที่ทำเอาผมน้ำตาจะไหล เป็นสภาพป่า มันมีหน้าตาเหมือน “ป่าต่ำปักษ์ใต้” สไตล์เขานอจู้จี้ จ.กระบี่ ซึ่งเป็นบ้านหลังสุดท้ายของนกแต้วแล้วท้องดำเมืองไทย เรียกว่า “เหมือนกันอย่างกะแกะ” มีพวกต้นพ้อต้นชิง ซึ่งเป็นไม้สัญลักษณ์ของเขานอจู้จี้อยู่ทั่วไป สลับกับไม้ใหญ่สูงทะยาน ขับกล่อมด้วยเสียงนกปักษ์ใต้บ้านเราอยู่ทั่วไป

และที่เหมือนยิ่งกว่า เหมือนก็คือ อากาศที่ร้อนอบอ้าวราวกับอยู่ในเตาอบตลอดเวลา ทั้งกลางวันกลางคืน แม้แต่น้ำในลำธาร ก็ไม่มีความเย็นชื่นใจแบบลำธารในป่าทั่วไป เป็นเอกลักษณ์แบบเขานอจู้จี้ทุกประการ สำหรับผมแล้ว ยามกลางคืนเป็นความทุกข์ทรมานสาหัส กว่าจะหลับลงก็ใกล้เช้ามืดแล้ว (แค่นึกยังสยอง)

วัดด้วยนาฬิกา Casio Pro Trek พบความสูงของพื้นที่แค่ 20 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นคำตอบที่ว่าทำไมถึงร้อนเหลือเหงื่อไหลขนาดนั้น

นก “ป่าต่ำปักษ์ใต้” ที่ทำเอาผมตะลึงซะยิ่งกว่าการได้เจอนกแต้วแล้วท้องดำ คือ นกเปล้าใหญ่ (Large Green Pigeon) ตัวนี้บ้านเราแทบไม่มีเหลือแล้ว ในป่าพม่ากลับพบนกชนิดนี้บินว่อนทั่วไป

ผมยังถ่ายรูป “นกเงือกเทพ” แห่งปักษ์ใต้มาได้ด้วย คือ นกเงือกหัวหงอก (White-crowned Hornbill) แต่ที่เจอแต่ถ่ายไม่ทัน เป็นถึง “นกเงือกมหาเทพ” นั่นคือ นกเงือกปากย่น (Wrinkled Hornbill)

คนนำทางบอกผมก่อนไปว่า ป่าพม่าแห่งนี้มีอาถรรพ์ ใครมาแล้วก็มักต้องกลับมาใหม่ ผมฟังแล้วเฉยๆ

แต่ตอนนี้บอกเลย เชื่ออย่างไม่มีข้อโต้แย้ง และเฝ้ารอหน้าแล้งปีหน้าอย่างใจจดใจจ่อ!