posttoday

ความหวังที่น่าน คนยืนได้ ไม้ยืนต้น

28 พฤษภาคม 2559

ฝนเทลงมาตลอด 2 อาทิตย์ ปลุกหญ้าระบัดขึ้นปกคลุมเขาหัวโล้น เปลี่ยนผืนดินสีแดงและดำร่องรอยของการเผา

โดย...กาญจน์ อายุ

ฝนเทลงมาตลอด 2 อาทิตย์ ปลุกหญ้าระบัดขึ้นปกคลุมเขาหัวโล้น เปลี่ยนผืนดินสีแดงและดำร่องรอยของการเผาไร่ข้าวโพดให้เป็นสีเขียวน่าชื่นใจ ทั้งพลอยทำให้ปัญหาเขาหัวโล้นที่ “ดราม่า” กันในสังคมไทยหายวับไปกับตา ทว่าสายฝนไม่ได้ชะล้างรากแก้วของปัญหา เพราะต่อให้ “ปลูกป่า” มากเท่าไรถ้าไม่ได้แก้ไขด้วยการ “ปลูกคน” ก็คงได้ดราม่ากันไปทุกปี

เมื่ออาทิตย์ก่อนได้ขึ้นไปยืนมองภูเขาหัวโล้นที่ จ.น่าน เคียงข้าง ผู้ใหญ่ฤทธิ์ ใจปิงผู้ใหญ่บ้านบวกหญ้า ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ มีลูกบ้าน 75 หลังคาเรือน มีพื้นที่ทำกินตามเชิงเขาทั้งหมดประมาณ 5,900 ไร่ ทุกไร่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และทุกเดือน เม.ย. หลังจากเก็บผลผลิตจะจุดไฟเผาเพื่อเตรียมปลูกใหม่

“ผมไม่โทษข้าวโพด เพราะพวกเราไม่รู้จะทำอะไร” ผู้ใหญ่ฤทธิ์ กล่าว นั่นเป็นความจำเป็นของปากท้อง เพราะเมื่อไม่รู้ว่าจะปลูกอะไร ไม่รู้ว่าจะหาเงินจากไหน พอมีคนยื่นพันธุ์ข้าวโพดให้จะมีใครบ้างที่จะปฏิเสธ

ความหวังที่น่าน คนยืนได้ ไม้ยืนต้น เขาหัวโล้นเริ่มมีสีเขียวหลังฝนตกติดต่อกัน

 

“เคยมีหน่วยงานมาส่งเสริมให้ปลูกกาแฟ แต่พอปลูกแล้วก็ไม่รู้จะไปขายที่ไหน” เมื่อเป็นเช่นนั้นการปลูกข้าวโพดจึงทำให้ท้องอิ่ม เพราะปลูกแล้วมีคนมาซื้อถึงที่ แม้ว่าจะมีรายได้ต่อปีเพียงไม่กี่พันก็ตาม

“มองดูเผินๆ ข้าวโพดทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น เราได้เงินก้อนทุกปีโดยที่ไม่ได้คิดว่าเขาหักค่าพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่านู่นนี่ไปหมดแล้ว” นั่นเป็นเพราะชาวบ้านไม่เคยทำบัญชีครัวเรือนเงินก้อนเดียวจากการขายข้าวโพดจึงน่าพอใจโดยดุษณี ชาวบ้านบวกหญ้าปลูกข้าวโพดเลี้ยงชีพมากว่า 10 ปี ซึ่งก่อนหน้านั้นผืนดินก็บอบช้ำมาแล้วจากการทำไร่เลื่อนลอย

อีกวันได้ไปยืนกลางดงกล้วยบนภูเขาบ้านน้ำช้างเชื่อมต่อบ้านน้ำรี ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ เคียงข้าง หมอน้อม พงษ์ประเสริฐ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ซึ่งเป็นสักขีพยานในเหตุการณ์ภูเขาหัวโล้นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว “เมื่อก่อนชีวิตเลื่อนลอยไปตามป่าฟันป่าทิ้งอย่างเดียว” หมอน้อม กล่าว “พอมีคนเอาพันธุ์ข้าวโพดมา เอาปุ๋ยมาให้ เขาบอกว่าตังค์อย่าเพิ่งจ่าย ให้ไปปลูกก่อน พอทั้งปีมารับซื้อเขาก็หักเงินจนเหลือแค่ 300 บาท นายทุนเขาอยากมีอยากได้ ไม่คิดถึงชาวบ้านพวกเราก็หลาบก็กลัว”

ความหวังที่น่าน คนยืนได้ ไม้ยืนต้น ภูเขาหัวโล้น

 

ทั้งสองหมู่บ้านต้องทำการเกษตรบนภูเขาเพราะไม่มีที่ราบให้เพาะปลูก แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้ภูเขาราบเป็นหน้ากลองเพราะเหตุที่แท้จริงคือชาวบ้านไม่รู้ว่าต้องปลูกอะไร ทำให้เขาต้องปลูกข้าวโพด เพราะมีคนมายื่นพันธุ์ให้แถมยังกลับมารับซื้อถึงที่ เป็นแบบนี้หลายชั่วอายุคน

จนกระทั่งปี 2552 ชาวบ้านได้เมล็ดพันธุ์ใหม่ที่ไม่ต้องใช้ดิน แต่ต้องปลูกในความคิดและจิตใจ โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้เข้าไป “ปลูกคน” ก่อนปลูกต้นไม้ ไปให้ความรู้แก่ชาวบ้านว่าควรปลูกอะไรเพื่อให้มีกินมีใช้และอยู่ร่วมกับป่าไม้ได้ ก่อนอื่นต้องแบ่งพื้นที่ป่าทั้งหมดของหมู่บ้านออกเป็น 3 เขต ได้แก่ หนึ่งป่าอนุรักษ์ เป็นเขตห้ามตัด ห้ามเผา ห้ามเข้าไปทำกิน สอง ป่าใช้สอย ที่ชาวบ้านสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ และสาม ป่าเศรษฐกิจ พื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้าน ทั้งสามเขตมีการแบ่งอาณาเขตอย่างชัดเจน และมีบทลงโทษในหมู่บ้านหากมีการรุกล้ำ

คำถามชาวบ้านต้องปลูกอะไร มีคำตอบอยู่ในผืนป่าเศรษฐกิจ พื้นที่เชิงดอยของบ้านบวกหญ้าและบ้านน้ำช้าง สามารถปลูกต้นมะม่วงหิมพานต์ได้ดี ปลูกกาแฟได้งาม และปลูกกล้วยได้ตลอดปี “ปลูกมะม่วงหิมพานต์ ปลูกกาแฟ ปลูกครั้งเดียวใช้ได้อีก 20 ปี” ผู้ใหญ่ฤทธิ์ กล่าว

ความหวังที่น่าน คนยืนได้ ไม้ยืนต้น ชาวบ้านน้ำรีหันมาปลูกมะม่วงหิมพานต์และทำบ่อพวงเก็บน้ำ

 

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้นำต้นกล้ามาให้ สอนวิธีปลูก สอนวิธีดูแล และเมื่อมันงอกงามได้ผลแล้วก็จะกลับมารับซื้อ ฟังแล้วคุ้นๆ เหมือนเรื่องนายทุนข้าวโพด แต่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงทั้งมาตรการและกระบวนการ

อาหารสัตว์ของทั้งไก่ หมู วัว มีส่วนประกอบของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ร้อยละ 35 ในเมื่อคนยังกินเนื้อสัตว์จากโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็ยังเป็นที่ต้องการจำนวนมหาศาล นายทุนจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ผลผลิตป้อนโรงงาน และเผอิญว่านายทุนเหล่านั้นมีความพยายาม เข้าไปหาถึงหน้าบ้าน ยื่นข้าวโพดให้ และกลับมาหาทุกปี โดยไม่สนใจว่าแต่ละปีๆ ชาวบ้านจะยากจนลงและป่าถูกบุกรุกมากขึ้นแค่ไหน

ณรงค์ อภิชัย ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคสนาม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง กล่าวถึงมาตรการของมูลนิธิว่า ทำอย่างไรให้คนอยู่กับป่าได้ โดยใช้กระบวนการระเบิดจากภายใน คือ ให้ความรู้แก่ชาวบ้าน สร้างความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นศรัทธา เพราะการปลูกคนปลูกป่าต้องใช้เวลา ชาวบ้านจึงต้องเข้มแข็งและสู้ไปด้วยกัน

ความหวังที่น่าน คนยืนได้ ไม้ยืนต้น ศึกษาเรื่องป่าน่านกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง

 

“ทุกโครงการมีประโยชน์ ถ้าตอบคำถามสองข้อว่าชาวบ้านมีส่วนร่วมอย่างไร และชาวบ้านได้ประโยชน์อะไร” พี่ณรงค์ กล่าว

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงจัดการพื้นที่เป็นลุ่มน้ำ อย่างบ้านบวกหญ้าและบ้านน้ำช้างอยู่บริเวณป่าต้นน้ำน่าน ซึ่งร้อยละ 45 ของแม่น้ำเจ้าพระยามาจากแม่น้ำสายนี้ การรักษาป่าต้นน้ำน่านจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันส่งผลต่อคนทั้งประเทศโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่เปิดใช้แม่น้ำเจ้าพระยาจากก๊อกซึ่งจะยังไม่เดือดร้อนถ้ามีเงินจ่ายค่าน้ำประปาทุกเดือน หรือเมื่อปี 2559 เมืองหลวงกลายเป็นเมืองบาดาล ต้นตอของปัญหาคือ ภูเขาไม่มีต้นไม้ไว้คอยซับน้ำ แต่มีใครบ้างคิดจะอนุรักษ์ป่าในตอนนั้น เพราะทุกคนมัวแต่ตื่นตูมกับปัญหาและกำลังแก้ไขปัญหาตรงหน้า จากนั้นก็ลืมมันไป

ความพยายามเปลี่ยนเขาหัวโล้นให้เขียวชอุ่มไปพร้อมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตมีตัวอย่างให้เห็นประจักษ์บน “ดอยตุง” จากเมื่อ30 ปีก่อน ดอยตุงเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดที่ใหญ่ที่สุดและมีกองกำลังชนกลุ่มน้อยลำเลียงฝิ่น ทำให้หน่วยงานรัฐยากที่จะเข้ามาในพื้นที่ ชาวบ้านจึงต้องเลี้ยงปากท้องด้วยการปลูกฝิ่น ค้ายาเสพติดทำไร่หมุนเวียน และขายลูกสาวเป็นโสเภณี สมเด็จย่าจึงมีพระราชดำริที่จะนำผืนป่ากลับมา พร้อมกับการยกระดับคุณภาพชีวิตชนกลุ่มน้อย

ความหวังที่น่าน คนยืนได้ ไม้ยืนต้น การเผาป่าแบบมีวัฒนธรรมคือ ทำแนวกันไฟจำกัดพื้นที่เผา

 

วันนี้ดอยตุงมีป่าอนุรักษ์ร้อยละ 69 ชาวบ้านปลูกต้นกาแฟ 4 ล้านต้น ต้นแมกคาเดเมีย 2.6 หมื่นต้น สร้างรายได้ปีละ 7 หมื่นบาท/ครอบครัว โดยส่งขายให้โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ทำให้
โครงการสร้างธุรกิจ 4 ประเภทภายใต้แบรนด์ดอยตุง ได้แก่ สินค้าจากผ้าทอมือ ผลิตภัณฑ์จากกาแฟและแมกคาเดเมีย การจำหน่ายดอกไม้และพืชประดับ และการท่องเที่ยว

ดอยตุงไม่เหลือเค้าภูเขาหัวโล้น ไม่เหลือฝิ่น ไม่มีการค้ามนุษย์ กลายเป็น “ดอยตุงโมเดล” ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ทุกพื้นที่ ทั้งยังเป็นความหวังและเป็นกำลังใจให้พื้นที่บอบช้ำอื่นๆ อย่างน่าน เพื่อหวังว่าสักวันน่านจะไม่มีภูเขาหัวโล้นให้ดราม่าอีก

กลับมาที่คนปลายน้ำอย่างคนเมืองว่า พวกเราสามารถทำอะไรได้บ้าง? การใช้น้ำอย่างประหยัด ตั้งคำถามก่อนซื้ออาหาร อนุรักษ์ต้นไม้หน้าบ้าน ออกเดินทางไปยืนคุยกับชาวบ้านบนเขาหัวโล้น หรือทำอะไรก็ได้ที่แสดงความรักแก่ธรรมชาติ และสำคัญคือ อย่ารอให้ถึงพรุ่งนี้ ในเมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ววันนี้ ณ ตอนนี้

ความหวังที่น่าน คนยืนได้ ไม้ยืนต้น แบ่งพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น กล้วย กาแฟ มะม่วงหิมพานต์

 

ความหวังที่น่าน คนยืนได้ ไม้ยืนต้น กลุ่มคนยืนได้ไม้ยืนได้ เดินเท้าศึกษาปัญหาเขาหัวโล้น

 

ความหวังที่น่าน คนยืนได้ ไม้ยืนต้น เดินลงเขาหัวโล้นตามหาต้นน้ำ