posttoday

ขึ้นทะเบียนป่าชุ่มน้ำ ‘แม่อิง’ เสริมภูมิคุ้มกัน ‘ธรรมชาติ’

11 กุมภาพันธ์ 2559

รำเพยลมโชยกลิ่นแมกไม้เมืองเหนือ น้ำโขงไหลเอื่อย ดอกหญ้าบานสะพรั่ง

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

รำเพยลมโชยกลิ่นแมกไม้เมืองเหนือ น้ำโขงไหลเอื่อย ดอกหญ้าบานสะพรั่ง

บรรยากาศฤดูหนาวชักนำหัวใจหลายดวงออกเดินทาง แสวงหาความสุขตามอัตภาพ ตามจังหวะเต้นของหัวใจซึ่งไม่ว่าใครก็ไม่อาจควบคุม

จำไม่ได้ว่าเป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้วที่ผมกลับไปยังสถานที่แห่งนี้ ราวๆ แปดหรือสิบครั้งเห็นจะได้ ซึ่งทุกอย่างก็เหมือนเดิม อาคารหลังเก่ามุงหลังคาด้วยใบตองตึง โต๊ะไม้ ห้องหับเล็กๆ หมอนมุ้ง จะมีที่ผิดแผกแตกต่างไปบ้างก็คงเป็นคู่สนทนาที่แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมยามไม่ขาดสาย

ท่ามกลางความธรรมดาสามัญเหล่านั้น ระดับความโหยหาของผมไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยถอยลงเลย น่าแปลก

ขึ้นทะเบียนป่าชุ่มน้ำ ‘แม่อิง’ เสริมภูมิคุ้มกัน ‘ธรรมชาติ’

 

ผมมีโอกาสเดินทางไปยัง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ครั้งแรกเมื่อปลายปี 2557 ผ่านการชักชวนของ คุณภาสกร จำลองราช พี่ใหญ่ในวงการสื่อมวลชน จากนั้นก็หาโอกาสไปเองเรื่อยๆ

ระยะทาง 860 กิโลเมตร จากกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่อุปสรรคต่อการพานพบความงดงาม และเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ก็เป็นอีกครั้งที่ผมเดินทางกลับไป

แรกเริ่มเดิมที พี่น้องในนาม เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา ชักชวนผมเข้าร่วมขบวนเรือสำรวจระบบนิเวศ “แม่น้ำอิง” ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง แต่ด้วยสภาพอากาศที่เย็นยะเยือกจับขั้วหัวใจ ประกอบกับระดับน้ำขึ้น-ลงแปรปรวน เป็นเหตุให้กิจกรรมดังกล่าวต้องล้มเลิกอย่างฉับพลัน

แต่นั่นก็ใช่ว่าจะบดบังความงดงามที่งอกเงยตลอดระยะทาง 260 กิโมเมตร ของ “สายน้ำอิง” ที่ขอดข้ามพื้นที่ 2 จังหวัด คือพะเยาและเชียงรายไปได้

ทุกๆ วันที่ 2 ก.พ.ของทุกปี ถือเป็น “วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก” ซึ่งในปีนี้มีความพยายามจากเครือข่ายอนุรักษ์ฯ และสภาประชาชนลุ่มน้ำอิง ที่จะผลักดัน “แม่น้ำอิง” และผืนป่าชุ่มน้ำใน 8 อำเภอ 2 จังหวัด ตลอดระยะทาง 260 กิโลเมตร ขึ้นทะเบียนเป็น “พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ” 

ขึ้นทะเบียนป่าชุ่มน้ำ ‘แม่อิง’ เสริมภูมิคุ้มกัน ‘ธรรมชาติ’

 

แล้วเหตุใดจึงต้องเป็น “แม่น้ำอิง”?

ความสำคัญของ “แม่น้ำอิง” ลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง คือเป็นพื้นที่วางไข่ของพันธุ์ปลาต่างๆ โดยพบว่ามีปลากว่า 80% ในแม่น้ำโขง (ที่อยู่ในบริเวณ) เข้ามาวางไข่ เนื่องจากแม่น้ำอิงมีอุณหภูมิอุ่นกว่าแม่น้ำโขงและยังมีระบบนิเวศที่เหมาะสมกว่า

ที่สำคัญ น้ำในแม่น้ำอิงค่อนข้างนิ่งและมีพื้นที่ชุ่มน้ำรายรอบ ปลาจึงเข้ามาอาศัยอยู่ได้ทั้งฤดูน้ำหลากและฤดูน้ำแล้ง

ปัจจุบัน “แม่น้ำอิง” ถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากโครงการพัฒนาและโครงการบริหารจัดการน้ำ มีฝายตัดขวางกั้นสายน้ำอยู่ 14 แห่ง (รวมกว๊านพะเยา เป็น 15 แห่ง) และในอดีตรัฐบาลหมายมั่นที่จะเดินหน้าโครงการ “กก-อิง-น่าน” แต่ถูกชาวบ้านคัดค้านจนต้องยับยั้งไปในที่สุด

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าโครงการจะถูกฉีกทิ้งไป เพียงแต่ชะลอไว้ชั่วคราวเท่านั้น

 “เราต้องการให้ป่าชุ่มน้ำตลอดแม่น้ำอิงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งจะมีมติคณะรัฐมนตรีรองรับและโครงการพัฒนาต่างๆ หลังจากนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นในพื้นที่ชุ่มน้ำได้” ระวี ถาวร ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) อธิบาย

ระวี อธิบายเพิ่มว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการขึ้นทะเบียน “ป่าชุ่มน้ำ” เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำมาก่อน และพื้นที่ป่าชุ่มน้ำเหล่านั้นก็กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงทั้งจากการเข้ามาใช้ประโยชน์ โครงการพัฒนา เห็นได้ชัดจากนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษเฟส 2 ที่ก่อนหน้านี้มีความพยายามเสนอพื้นที่ป่าชุ่มน้ำ ต.บุญเรือง อ.เชียงของ ขนาดกว่า 3,000 ไร่ เป็นพื้นที่รองรับนโยบาย ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็หนีไม่พ้นนิคมอุตสาหกรรมฯ และผลกระทบก็จะเกิดกับแม่น้ำอิงและแม่น้ำโขง

สำหรับการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำ มีด้วยกัน 2 ช่องทาง ได้แก่ 1.เสนอผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด แต่เนื่องจากแม่น้ำอิงมีพื้นที่คาบเกี่ยว 2 จังหวัด จึงเป็นไปได้ยากที่จะผลักดัน 2.เสนอผ่านสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งแม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ แต่จำเป็นต้องใช้เวลา

ขึ้นทะเบียนป่าชุ่มน้ำ ‘แม่อิง’ เสริมภูมิคุ้มกัน ‘ธรรมชาติ’

 

สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ฯ และกรรมการสภาประชาชนลุ่มน้ำอิง บอกว่า อยากเสนอขึ้นทะเบียนแม่น้ำอิงตาม “บริบทลุ่มน้ำ” คือตลอดทั้งสายน้ำระยะทาง 260 กิโลเมตร ซึ่งหลังจากนี้ชาวบ้านจะต้องช่วยกันทำข้อมูลหรืองานวิจัยของชุมชน เพื่อเสนอให้ สผ.พิจารณา

สมเกียรติ บอกอีกว่า ระหว่างนี้จำเป็นต้องสร้างสภาประชาชนลุ่มน้ำอิงให้มีบทบาทในการอนุรักษ์น้ำอิงมากยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับประเด็นไปสู่การสร้างธรรมนูญหรือการกำหนดกรอบอนุรักษ์ร่วมกันตลอดระยะทาง 260 กิโลเมตร ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

“พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไม่ใช่ข้อกฎหมาย แต่หากผลักดันสำเร็จจะช่วยสร้างจิตสำนึกร่วมกันในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด” สมเกียรติ ระบุ