posttoday

น่าน เมืองคนไม่เอาถ่าน

06 กุมภาพันธ์ 2559

ไม่ต้องแปลกใจถ้าคุณก้าวขาเข้าเขตเมืองน่านแล้วจะกลายเป็น “คนไม่เอาถ่าน” แต่ไม่ใช่ว่าเป็นคน ไม่เอาไหน

โดย...กาญจน์ อายุ

ไม่ต้องแปลกใจถ้าคุณก้าวขาเข้าเขตเมืองน่านแล้วจะกลายเป็น “คนไม่เอาถ่าน” แต่ไม่ใช่ว่าเป็นคน ไม่เอาไหน เพราะความหมายของมันเปลี่ยนไปตั้งแต่ อพท. ที่มีชื่อเต็มยาวเหยียดว่า องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ยกให้น่านเป็นเขตพื้นที่พิเศษ แล้วใช้คำว่า คนไม่เอาถ่าน ในความหมายของ คนที่เที่ยวแบบประหยัดพลังงาน ซึ่งน่านมีวิถีแบบนั้น

สิ่งที่อธิบายได้ดีที่สุดคือ วิถีจักรยาน มันกลายเป็นค่านิยมของนักท่องเที่ยวไปแล้วว่า มาน่านต้องปั่น รวมถึงโรงแรม เกสต์เฮาส์ โฮมสเตย์ จะมีจักรยานให้บริการฟรี ประหนึ่งเป็นเซอร์วิสขั้นพื้นฐาน ซึ่งนั่นเป็นเรื่องดีที่ทำให้น่านวันนี้ยังเป็นเมืองสโลว์ไลฟ์ (แม้ว่าจะวุ่นวายกว่าแต่ก่อนมากโข) และด้วยความเป็นน่านทำให้นักท่องเที่ยวสนใจที่จะเข้าถึงชุมชนมากกว่ามาดูแล้วก็ไป

อพท.ได้จับมือกับ โลเคิล อไลค์ (Local Alike) วางโปรแกรมเที่ยวแบบคนไม่เอาถ่าน 3 วัน 2 คืน พาไปบุกชุมชนและลงมือเวิร์กช็อปให้ได้ประสบการณ์แบบบ้านๆ รวมถึงสถานที่สำคัญทั้งวัดพระธาตุแช่แห้ง วัดภูมินทร์ วัดพระเกิด วัดพระธาตุช้างค้ำ วัดพระธาตุเขาน้อย ตึกรังษีเกษม และหอศิลป์เมืองน่าน พูดให้ง่ายคือ โลเคิล อไลค์ ขายทัวร์ให้คนไม่เอาถ่านมาสัมผัสวิถีคนน่าน

น่าน เมืองคนไม่เอาถ่าน ห้องเรียนตั๋วล้านนา

 

ทอฝ้าย เขียนตั๋วเมือง @ โฮงเจ้าฟองคำ

รถรางบรรทุกนักท่องเที่ยวมาจอดหน้าโฮงเจ้าฟองคำประมาณยี่สิบคนเห็นจะได้ เดินขึ้นไปบนเรือนไม้ แม่ภัทร-ภัทราภรณ์ ปราบริปู นั่งอยู่บนนั้นมองดูคนแปลกหน้าเดินขย่มบ้านสั่น ในใจพลันคิดถึงยายใต้ถุนว่าจะทอฝ้ายได้ไหมท่ามกลางเสียงฝีเท้าระงม ผ่านไปสิบนาทีเหมือนกับว่าสะดุ้งตื่นกลุ่มคนเหล่านั้นหายไปกับรถรางและภาพสวยๆ ในอินสตาแกรมเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทุกวันหยุดนักขัตฤกษ์ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยที่แม่ภัทรยังไม่มีโอกาสอธิบายว่า บ้านหลังนี้สำคัญอย่างไร

โฮงเจ้าฟองคำเป็นบ้านไม้อายุมากกว่าร้อยปี ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประทับของเจ้าศรีตุมมา พระนัดดาของเจ้ามหาวงศ์เจ้าผู้ครองนครน่าน จากนั้นตกทอดไปถึงเจ้าฟองคำ พระนัดดาของเจ้าศรีตุมมา กระทั่งปัจจุบัน แม่ภัทรอยากเปิดบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ จึงปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ คงส่วนต่างๆ ในบ้านไว้แล้วจัดแสดงของเครื่องใช้พร้อมคำบรรยาย ส่วนใต้ถุนยังคงมีกี่ทอผ้าเช่นอดีต ทุกวันจะมีแม่แก่นั่งทอผ้า ท่านไม่หวงวิชา ถ้าใครจะถามว่ากี่เหล่านั้นใช้งานอย่างไรอีกมุมเป็นการสาธิตปั่นฝ้าย แม่อีกคนกำลังดีดฝ้ายแรงดีเหมือนละอ่อนอายุสิบแปด พร้อมบอกเล่ากระบวนการโดยที่ไม่ต้องมีใครถาม

“อยากให้อยู่นานๆ” แม่ภัทรกล่าวความในใจ เพราะเวลาสิบนาทีไม่ให้อะไร ยกเว้นภาพถ่ายที่ไม่สามารถไปเล่าต่อได้เลย

น่าน เมืองคนไม่เอาถ่าน รถรางพาเที่ยวเมืองน่าน

 

อันที่จริงแค่เดินอ่านป้ายอธิบายความหมายครบทุกป้ายก็ใช้เวลาไม่น้อย แต่จะสนุกขึ้นไปอีกถ้าได้ทำกิจกรรม เช่น เรียนทอผ้าที่แม้จะเป็นการสอนเบื้องต้นให้รู้วิธีการยกกี่ แทงกระสวย ไม่รับประกันว่ากลับบ้านไปจะทำเองได้หรือไม่ แต่อย่างน้อยก็ทำให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของผ้าไทยว่ากว่าจะได้มาต้องยกกี่กี่ครั้ง ร้อยฝ้ายกี่หนถึงกลายเป็นผ้าผืนให้นักท่องเที่ยวต่อรองราคา และกิจกรรมเรียนตั๋วเมืองหรืออักษรธรรมล้านนา ห้องเรียนอยู่กลางสนามหญ้าหน้าบ้านโฮงเจ้าฟองคำ ตำราเป็นแค่กระดาษเอสี่ไม่ถึงสิบแผ่น ถ่ายสำเนามาจากหนังสือเรียน นักเรียนนั่งอยู่หน้ากระดานดำอันน้อย ครูค่อยๆ อธิบายหลักการเขียนและการอ่านออกเสียง ซึ่งการเรียนครั้งนี้ก็ไม่ได้หวังให้ชำนาญ แต่คือการถ่ายทอดวัฒนธรรมล้านนาที่เรียบง่ายและอ่อนช้อยผ่านตัวอักษร

เวลาในโฮงเจ้าฟองคำผ่านไปไวเหลือเชื่อ ยังไม่ทันได้เขียนชื่อตัวเองเป็นภาษาล้านนา เวลาก็ผ่านไปแล้วสองชั่วโมง โดยที่ระหว่างนั้นมีรถรางมาเทียบตลอด ซึ่งเห็นชัดว่าทุกคนล้วนสนใจว่าห้องเรียนกำลังสอนอะไร แต่เพราะพวกเขามุ่งแต่เก็บจำนวนแห่งให้มากที่สุด จนหลงลืมที่จะเกี่ยวจำนวนประสบการณ์อันสำคัญกว่า

ทำตุงก้าคิง @ วัดพระเกิด

วัดพระเกิดไม่เป็นเพียงศูนย์รวมจิตใจ แต่ยังเป็นศูนย์กลางของชาวบ้าน วัดจึงเป็นห้องประชุมสมาชิกสหกรณ์และเป็นที่ตั้งชมรมผู้สูงวัยทำตุงก้าคิง

น่าน เมืองคนไม่เอาถ่าน โฮงเจ้าฟองคำ

 

ตุงก้าคิงมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ตุงชะต๋า ตุงเดี่ยว ส่วน ตุงก้าคิง หรือ ตุงค่าคิง เป็นภาษาไทยใหญ่ คำว่า ค่า แปลว่า เท่า ส่วนคำว่า คิง แปลว่า คนหรือตัวตุงนี้จึงหมายถึง ตุงเท่าตัว หรือมีความยาวเท่ากับความสูงของเจ้าของตุง ใช้เพื่อสืบชะตา เรียกขวัญ สะเดาะเคราะห์ ต่ออายุให้ยืดยาวออกไป และเพื่อความเป็นสิริมงคล (ถ้าใครเชื่อเรื่องปีชง การทำตุงก้าคิงก็เหมือนการแก้ชงวิธีหนึ่ง) ดังนั้นแม่ๆ ในชมรมทำตุงจะตระเตรียมตุงให้พอดีกับแต่ละบุคคล ทั้งเรื่องความยาวที่ต้องเท่าความสูงและปีนักษัตรที่ต้องระบุลงไป

ตุงทำจากกระดาษแข็งและสร้างลวดลายด้วยกระดาษสีแวววับ ความหมายของลวดลายสอดรับกับ อิติปิโส 108 ได้แก่ พระพุทธคุณ 56 พระธรรมคุณ 38 และพระสังฆคุณ 14 โดยแม่ๆ จะทำลวดลายไว้ให้เสร็จสรรพเหลือไว้เพียงใบหน้าและปีนักษัตรที่ต้องนำชิ้นส่วนมาติดเอง เริ่มจากติดจมูก ตา คิ้ว และปาก จากนั้นกล่าวคำถวายตุงแด่พระสงฆ์ และตุงทั้งหมดจะถูกแขวนไว้ในอุโบสถตลอดปี

ชาวล้านนาเชื่อตุงเป็นสัญลักษณ์ของความดี ความเป็นสิริมงคล แต่อีกแง่ ตุง คือ งานศิลปะที่มีความละเอียดอ่อนและแฝงไปด้วยคติธรรมทางพระพุทธศาสนา หรือกล่าวได้ว่า ตุงสอนคนอย่างมีศิลปะ นั่นเอง

น่าน เมืองคนไม่เอาถ่าน ทำตุงก้าคิงของตัวเองที่วัดพระเกิด

 

ตีเงิน @ บ้านพ่อบุญช่วยเครื่องเงินโบราณ

อาจเป็นเพราะ “เงิน” ที่ทำให้พ่อบุญช่วย หิรัญวิทย์วัย 83 ปี ยังแข็งแรง แม้กล้ามแขนจะห้อยไปตามกาลเวลาพ่อหัดทำเครื่องเงินมาตั้งแต่อายุ 17 ปี และยึดเป็นอาชีพมากว่าครึ่งทศวรรษ ทุกวันนี้บ้านพ่อยังทำเครื่องเงินโดยมีลูกชายเป็นคนสืบทอดภูมิปัญญา ที่ขึ้นชื่อคือ ประเภทขันเงินและพานเงินที่ทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีการเปลี่ยนแปลงด้านกรรมวิธีบ้างไปตามยุคสมัย รวมถึงลวดลายที่มีการคิดขึ้นใหม่เพื่อตอบโจทย์ผู้ซื้อที่ซื้อไว้เป็นของที่ระลึกมากกว่าใช้งาน

หน้าบ้านพ่อมีเตาเผาเงินขนาดย่อม แท่นตี ค้อน และอุปกรณ์ขึ้นรูปสารพัด พ่อบุญช่วยทำขึ้นเพื่อเป็นจุดสาธิต ซึ่งถ้าใครอยากลองก็ไม่ปฏิเสธ แถมยังจะบอกเทคนิคขึ้นพื้นฐานเผื่อสนใจอยากเป็นช่างทำเครื่องเงิน บ้านหลังนี้ไม่อยู่ในโปรแกรมทัวร์รถราง ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าเป็นเพราะถนนหน้าบ้านแคบเกินไปสำหรับรถรางหรืออย่างไร แต่ที่แน่ใจที่สุดคือ พ่อบุญช่วยยินดีสอนทุกคนที่ใคร่รู้เพื่อคงวิชาเครื่องเงินให้นานเท่านาน

สามกิจกรรมสามารถปั่นจักรยานไปถึงกัน สามกิจกรรมเหมาะสมกับคนไม่เอาถ่าน (แม้ว่ากระบวนการเผาเงินจะมีการใช้ถ่านอยู่บ้างก็ตามที) และหวังว่าคนบนรถรางจะกลับไปซ้ำอีกหนแต่เปลี่ยนเป็นคนให้เวลา ให้ความสนใจ ให้ลงมือทำ เพื่อให้การท่องเที่ยวมีคุณค่า และกลับไปเล่าต่อได้ว่า รูปที่ถ่ายมานั้นมีความหมายอย่างไร

น่าน เมืองคนไม่เอาถ่าน ลูกชายพ่อบุญช่วยสอนนักท่องเที่ยวให้ตีเงิน

 

น่าน เมืองคนไม่เอาถ่าน พ่อบุญช่วย ช่างเครื่องเงิน

 

น่าน เมืองคนไม่เอาถ่าน ฝึกเขียนภาษาล้านนา

 

น่าน เมืองคนไม่เอาถ่าน เผาเงิน

 

น่าน เมืองคนไม่เอาถ่าน ทอผ้าสาธิตใต้โฮงเจ้าฟองคำ

 

น่าน เมืองคนไม่เอาถ่าน กลุ่มผู้สูงอายุประดิษฐ์ตุงก้าคิง