posttoday

นครวัดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ในวัดพระแก้ว

09 สิงหาคม 2558

ปราสาทนครวัดในวัดพระแก้ว ในพระบรมมหาราชวัง ด้านหลังปราสาทพระเทพบิดร บนลานพระมณฑป ใกล้กับพระศรีรัตนเจดีย์ เยื้องกับหอมณเฑียรธรรม

โดย...ส.สต

ปราสาทนครวัดในวัดพระแก้ว ในพระบรมมหาราชวัง ด้านหลังปราสาทพระเทพบิดร บนลานพระมณฑป ใกล้กับพระศรีรัตนเจดีย์ เยื้องกับหอมณเฑียรธรรม จำลองแบบจากของจริงโดยขุนนางไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 ผลงานนี้เป็นความอัศจรรย์ในความสามารถของขุนนางไทยที่ถ่ายทอดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกได้เสมือนจริง 

ทั้งนี้ เหตุเกิดหลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่มีพระราชดำริมหัศจรรย์ให้ย้ายปราสาทหินจากเสียมราฐมาตั้งให้คนไทยในสยามได้ดู

ความเป็นมาของปราสาทนครวัดที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว มีมาตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เพราะในช่วงนั้นเมืองเสียมราฐอันเป็นที่ตั้งของปราสาทนครวัดขึ้นอยู่กับสยามประเทศ รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชประสงค์จะให้ช่างไปรื้อปราสาทหินแห่งใดแห่งหนึ่งมาสร้างใหม่ที่กรุงเทพฯ เพื่อให้ราษฎรไทยได้ชม เพราะทรงเห็นว่าที่เมืองพระนครมีปราสาทหินมากมายถึง 72 แห่ง และเป็นของแปลก แต่เมื่อขุนนางไทยไปถึงเมืองเสียมราฐ กลับพบว่าปราสาทหินแต่ละแห่งนั้นมีขนาดใหญ่โตมหึมา เกินกำลังที่จะย้ายเข้ามาสร้างในเมืองไทยได้ 

ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ พระองค์จึงโปรดฯ ให้พระยาสามภพพ่าย ออกไปถ่ายแบบปราสาทนครวัดมาสร้างจำลองไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อให้คนทั่วไปได้เห็น

พระยาสามภพพ่ายใช้เวลาประมาณ 5 เดือน ถ่ายรูปแบบ พร้อมทั้งเขียนรูปแบบขององค์ปราสาทและพระระเบียง นำเข้ามาถวายให้ทอดพระเนตร เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2410 แบบที่พระยาสามภพพ่ายนำมาถวายนั้นมีความละเอียดลออมาก เพราะได้กล่าวถึงแทบทุกจุดของปราสาท ซึ่งในสมัยนั้นวิวัฒนาการของการถ่ายแบบเขียนภาพยังไม่ทันสมัย การที่พระยาสามภพพ่ายได้บรรยายออกมา นับว่าเป็นเรื่องที่ใช้ความสามารถยิ่ง ความปรากฏในพระราชพงศาวดารฯ หน้า 237 ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดฯ ให้จำลองตามแบบที่ถ่ายเข้ามา ตั้งขึ้นในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม การก่อสร้างเริ่มในรัชกาลที่ 4 นั่นเอง โดยใช้ปูนซีเมนต์ทั้งหมด แล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2425 ทันเสร็จพอดีในการเฉลิมฉลองพระนครครบ 100 ปี

นายช่างผู้ที่จำลองแบบ คือ ม.จ.ประวิช ชุมสาย พระโอรสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม ทรงรับราชการในกรมช่างศิลาและกรมช่างสิบหมู่

ปราสาทนครวัดจำลองได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ. 2525

อย่างไรก็ดี ใน พ.ศ. 2449 ประเทศไทยได้สูญเสียพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับการได้ จ.ตราด ซึ่งฝรั่งเศสยึดครองไว้กลับคืนมาเป็นของไทยและการยอมให้คนเอเชียในบังคับฝรั่งเศสขึ้นศาลไทย ยังผลให้ปราสาทนครวัดซึ่งอยู่ในเสียมราฐตกไปเป็นของฝรั่งเศสด้วย ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะพระปรีชาญาณที่เห็นการณ์ไกลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเห็นว่าสถานการณ์ในโลกเปลี่ยนไป สักวันหนึ่งชาติตะวันตกอาจเข้ามามีอิทธิพลในไทย ดังนั้น การที่ทรงให้จำลองนครวัดไว้ อาจไม่ใช่เพียงเพื่อ “จะให้คนทั้งหลายเห็นว่าเป็นของอัศจรรย์ทำด้วยศิลาทั้งสิ้นไม่มีสิ่งไรปน” เท่านั้น แต่อาจจะทรงให้เป็นประจักษ์พยานสำคัญแสดงว่าปราสาทนครวัดแห่งนี้มีความงดงามสมบูรณ์แบบน่าศึกษาเรียนรู้อย่างยิ่ง

นครวัดเป็นปราสาทหินขอมที่ใหญ่ที่สุด และได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดีที่สุด จนได้รับการยกย่องว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก แต่เดิมทีเดียวปราสาทหินแห่งนี้มีชื่อว่าปราสาทวัษณุเทพ ต่อมาเมื่อเมืองพระนคร นครหลวงของขอมโบราณอันยิ่งใหญ่มาหลายสมัยต้องร้างลงเช่นเดียวกับเมืองสุโขทัยปัจจุบัน ได้มีพระภิกษุสงฆ์เข้ามาจำพรรษาเป็นจำนวนมาก จึงเรียกติดปากกันต่อมาว่า นครวัด หรืออังกอร์วัด ตามภาษาเขมร ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต

ผู้สร้างปราสาทนครวัด คือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1656 เพื่อเป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดู อุทิศแด่วิษณุเทพ ใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้น 37 ปี

แต่การที่ปราสาทนครวัดหันหน้าไปทิศตะวันตก จึงสันนิษฐานว่า ได้สร้างเพื่อเป็นที่ฝังพระศพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2

ส่วนชื่อ นครวัด มาปรากฏหลังจากทิ้งร้างไปนาน เมื่อพระภิกษุสงฆ์เข้าไปอยู่ ยกย่องเป็นวัดในพระพุทธศาสนา มีที่ประดิษฐานพระพุทธรูปในนิกายเถรวาท จึงเป็นนครวัดนับแต่นั้นมา

(ข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และปกิณกคดีประวัติศาสตร์ไทย เล่มที่ 4 เรื่องนครวัดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดย อาทิพร ผาจันดา)