posttoday

ลูกปัด พิพิธภัณฑ์ & การท่องเที่ยว จาก ‘หินตั้ง ไฟส่อง’ สู่ ‘มิวเซียม คัลเจอร์’

06 มิถุนายน 2558

“หินตั้ง ไฟส่อง...” เป็นคำจำกัดความของพิพิธภัณฑ์อันน่าเบื่อที่รวมของเก่าๆ ฝุ่นเขรอะ วางนิ่ง ไร้ชีวิตชีวา

โดย...เพ็ญแข สร้อยทอง

“หินตั้ง ไฟส่อง...” เป็นคำจำกัดความของพิพิธภัณฑ์อันน่าเบื่อที่รวมของเก่าๆ ฝุ่นเขรอะ วางนิ่ง ไร้ชีวิตชีวา เพราะพิพิธภัณฑ์แบบที่ว่ามีอยู่มากมายเกลื่อนกล่นในบ้านเรา (หรืออาจจะในโลก) นั่นจึงอาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยไม่ไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ จนหลายแห่งต้องเลิกหรือร้างไป แต่ในช่วงหลายปีหลังพิพิธภัณฑ์ในคอนเซ็ปต์ใหม่จำนวนหนึ่งก็ผุดขึ้น ด้วยความมีชีวิตชีวา น่าสนใจ แตะต้องสัมผัสได้ ทั้งยังให้ความรู้ พิพิธภัณฑ์จึงเรียกร้องชักชวนให้คนเดินเข้าหา เพื่อเรียนรู้ เพื่อท่องเที่ยว เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ

เส้นทางยิ่งใหญ่สู่ ‘มิวเซียม คัลเจอร์’

พิพิธภัณฑสถานหรือพิพิธภัณฑ์ (Museum) เป็นอาคารหรือสถาบันที่เก็บรักษาวัตถุต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ว่าจะโบราณวัตถุ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ เพื่อจัดแสดงให้คนเข้าชม ไม่ว่าจะแบบถาวรหรือชั่วคราว เพื่อให้บริการแก่สาธารณชนใช้ประโยชน์เรื่องการศึกษา สันทนาการ แสดงความภูมิใจของท้องถิ่น ทั้งยังเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่มีจุดมุ่งหมายในการเผยแพร่ความรู้และวัฒนธรรมซึ่งจะไม่เน้นการหากำไรเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ แต่ก็อาจจะเก็บเงินค่าเข้าชมหรือไม่ โดยทางพิพิธภัณฑ์เองจะมีเงินสนับสนุนจากหน่วยงานทางภาครัฐ หรือภาคเอกชน 

ลูกปัด พิพิธภัณฑ์ & การท่องเที่ยว จาก ‘หินตั้ง ไฟส่อง’ สู่ ‘มิวเซียม คัลเจอร์’

 

ในเมืองไทยเราก็มีพิพิธภัณฑ์หรือมิวเซียมนับร้อยๆ แห่ง ไม่ว่าจะพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีอย่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์การศึกษา พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ พิพิธภัณฑ์สื่อสารและคมนาคม พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาพื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์บุคคล พิพิธภัณฑ์ศิลปะ พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา ฯลฯ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่ประสบความสำเร็จและเป็นไปตามวัตถุประสงค์การก่อตั้งไปเสียทุกแห่ง โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์แบบ “หินตั้ง ไฟส่อง ...” เช่นที่กล่าวถึงเบื้องต้น

ราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) หน่วยงานสำคัญที่ผลักดันพัฒนาพิพิธภัณฑ์ในบ้านเราบอกว่า “เพื่อให้เกิดทัศนคติใหม่หรือเกิดความคุ้นชินกับกลุ่มเป้าหมายใหม่ว่า พิพิธภัณฑ์นั้นเป็นสถานที่ๆ เขาสามารถมาใช้พื้นที่ได้ เป็นสถานที่ๆ สามารถมาหาความรู้และสร้างแรงบันดาลใจได้ เมื่อคุ้นชินแล้วก็จะเกิดทัศนคติใหม่ๆ ต่อการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ และทัศนคติใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ก็จะเป็นตัวเพิ่มพูนหรือขยายผลต่อไปจนเกิดเป็นมิวเซียม คัลเจอร์ (Museum Culture) ในอนาคต ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาทั้งตัวของพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ รวมไปถึงตัวของผู้ชมที่เพิ่มจำนวนขึ้นไปพร้อมๆ กัน”

ลูกปัด พิพิธภัณฑ์ & การท่องเที่ยว จาก ‘หินตั้ง ไฟส่อง’ สู่ ‘มิวเซียม คัลเจอร์’

 

ต้นแบบของพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ของไทยซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ สพร. คือ มิวเซียมสยาม (ตั้งอยู่บนถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร) ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งแรกที่เน้นการสร้างประสบการณ์สดใหม่ในการชมพิพิธภัณฑ์ เป็นต้นแบบของแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่สนุกสนาน สร้างแนวคิดและภาพลักษณ์ใหม่ของพิพิธภัณฑ์ หลังมิวเซียมสยามทำหน้าที่มาครบ 7 ปี ทางสพร.ก็มีแผนปรับปรุงให้กลายเป็นจุดเชื่อมต่อกับพื้นที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในเกาะรัตนโกสินทร์ ทั้งยังมุ่งหวังจะขยายผลการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ด้วยการพัฒนา ทำให้เป็นมิวเซียมคัลเจอร์ ที่ถ้าเกิดเป็นจริงขึ้นมาได้เมื่อใดก็หมายความว่า คนไทยจะเดินเข้าพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นธรรมชาติและธรรมดา

พร้อมกับการเปิดให้บริการของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีรถไฟฟ้าสนามไชยซึ่งตั้งบนเกาะรัตนโกสินทร์จะทำให้พื้นที่ด้านหน้าของมิวเซียมสยามกลายเป็นประตูของการเดินทางเที่ยวชมพื้นที่ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเกาะรัตนโกสินทร์ ไม่ว่าจะเป็น พระบรมมหาราชวัง วัดโพธิ์ หรือวัดอรุณราชวราราม โดยหวังจะสร้างให้เกิดเป็น Culture District หรือ (ต้นแบบ) พื้นที่ทางวัฒนธรรมในอนาคต

ลูกปัด พิพิธภัณฑ์ & การท่องเที่ยว จาก ‘หินตั้ง ไฟส่อง’ สู่ ‘มิวเซียม คัลเจอร์’

 

กองหนุนของการท่องเที่ยว

นอกจากจะสร้างวัฒนธรรมพิพิธภัณฑ์และพื้นที่ทางวัฒนธรรมใหม่ๆ แล้ว สพร.ยังได้ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วประเทศพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ยกระดับการจัดการและพัฒนาให้มีความสอดคล้องกับความสนใจและความต้องการของผู้ชม ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ชม ในขณะเดียวกันก็ต้องกระตุ้นความสนใจให้ผู้ชมเห็นความสำคัญของแหล่งเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ผ่านกิจกรรมหรือนิทรรศการ โดยใช้สื่อใหม่ๆ ที่ทันสมัยและเข้าถึงกับผู้ชม

ไม่เพียงจะช่วยสร้าง มิวเซียม คัลเจอร์ พิพิธภัณฑ์ที่ดียังมีหน้าอื่นๆ รวมถึงการเป็นตัวดึงดูดในการท่องเที่ยว ซึ่งมีส่วนสำคัญกับเศรษฐกิจบ้านเรา เพราะช่วยดึงเงินตราต่างประเทศ ทำให้คนในท้องถิ่นมีงานทำและมีรายได้ นอกจากมีแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่สวยงาม โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเช่น ป่า เขา น้ำตก ถ้ำ ทะเล แล้วก็ยังมีแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ ศาสนสถานที่สวยงาม ภูมิปัญญาพื้นบ้าน รวมทั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านต่างๆ แต่ที่ผ่านมาพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ไม่ได้ทำหน้าที่ในจุดนี้มากนักจึงต้องมีหน่วยงานที่เข้าไปกระตุ้นช่วยเหลือ เพราะหากดึงการท่องเที่ยวเข้ามา พิพิธภัณฑ์ก็จะอยู่ได้ด้วย

ลูกปัด พิพิธภัณฑ์ & การท่องเที่ยว จาก ‘หินตั้ง ไฟส่อง’ สู่ ‘มิวเซียม คัลเจอร์’

 

“นักท่องเที่ยวมาเมืองไทย อาจจะไปช็อปปิ้งตามห้างต่างๆ แต่สิ่งเหล่านั้นมันก็จะอยู่ไม่นาน มีวันหมดไป แต่ที่เห็นความต่างคือ ประเทศเรามีอะไร อย่างคนรุ่นใหม่ที่เป็นฮิปสเตอร์นี่เขาก็จะไม่สนอะไรที่เป็นกระแส แต่สนใจสิ่งที่เป็นลักษณะเฉพาะ ถ้าเขาไปที่ไหนก็จะดูว่าอะไรที่เป็นลักษณะเฉพาะ ถ้าเราไปสิงคโปร์ ไปเดินช็อปปิ้งถนนออร์ชาร์ดอย่างเดียวก็เบื่อ อยากไปดูบ่อน้ำบ่อแรกของสิงคโปร์อยู่ตรงไหนอย่างนี้ ลักษณะอย่างนี้จะเป็นเทรนด์ของอนาคตในการเรียนรู้ จะเกิดเป็นการหมุนเวียนของความรู้ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ ทำให้พิพิธภัณฑ์เขาอยู่ได้ และการท่องเที่ยวก็อยู่ได้”

ตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์ซึ่งประสบความสำเร็จจากการท่องเที่ยวที่เด่นชัดในปัจจุบันคือ วัดไตรมิตร เพราะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของไทยตอนนี้คือ ชาวจีน (เอาชนะรัสเซียที่เคยครองแชมป์อยู่เดิม) คนจีนนิยมไปวัดไตรมิตรเพราะที่นี่มีของดีคือ พระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุด “นั่นคือ จุดขาย เขามาไหว้พระ แต่ว่าเขาอาจจะไม่มาเรียนรู้เรื่องราวๆ ต่างๆ เกี่ยวกับตัววัด มันได้ในเรื่องของรายได้ แต่ไม่ใช่ในเชิงของคุณค่า เพราะว่าเขามาไหว้แล้วก็กลับ แต่มันก็น่าจะนำมาปรับใช้กับตัวกิจกรรมหรือพิพิธภัณฑ์ในฐานะแหล่งเรียนรู้ได้เช่นกัน”

ลูกปัด พิพิธภัณฑ์ & การท่องเที่ยว จาก ‘หินตั้ง ไฟส่อง’ สู่ ‘มิวเซียม คัลเจอร์’

 

ผู้อำนวยการ ราเมศ เชื่อว่า กระบวนการจัดการก็มีส่วนสำคัญ “หากในอนาคตของเรามีของที่มีคุณภาพพอ มีสิ่งที่ใกล้เคียงหรือสัมผัสกับตัวของทัวริสต์ได้ การจัดทำนโยบายในอนาคตหากเรากำหมดเป้าหมายว่า นักท่องเที่ยวที่สำคัญของเราคือ จีน อินเดีย หรืออินโดนีเซีย เรามีอะไรที่จะดึงคนกลุ่มนี้ให้มาในสถานที่ที่เราสร้างขึ้น”

กระบี่... เมืองลูกปัดต้นแบบจังหวัดพิพิธภัณฑ์

หนึ่งในตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้คือ พิพิธภัณฑ์ลูกปัดแห่งจังหวัดกระบี่ ซึ่งเราได้มีโอกาสได้เดินทางไปเยือนกับโครงการ Museum Family ปี 3 ซึ่งสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างและเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ในจังหวัดกระบี่ พร้อมขับเคลื่อนให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิต

ลูกปัด พิพิธภัณฑ์ & การท่องเที่ยว จาก ‘หินตั้ง ไฟส่อง’ สู่ ‘มิวเซียม คัลเจอร์’

 

พิพิธภัณฑ์ลูกปัด เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอันดามัน ตั้งอยู่ในเมืองกระบี่ ดูแลโดยเทศบาลเมืองกระบี่ ภายใต้การนำของ กีรติศักดิ์ ภูเก้าล้วน นายกเทศมนตรีเมืองกระบี่ การไปเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ทำให้ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่มาพร้อมกับลูกปัดอายุหลายพันปีที่ขุดพบได้ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ พิพิธภัณฑ์ที่นี่เป็นมากกว่า “หินตั้ง ไฟส่อง” เพราะได้สื่อใหม่ๆ รวมทั้งแสงสีเสียงและจุดที่ทำให้ผู้มาเยือนเข้าไป “สัมผัส” ได้ ไม่ใช่เพียงแค่มอง สถานที่แห่งนี้เปิดให้คนเข้าชมฟรี โดยพิพิธภัณฑ์ก็มีรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายสินค้าเช่นลูกปัดทำเลียนแบบของโบราณซึ่งปัจจุบันทางเทศบาลตั้งโรงงานผลิตเป็นล่ำเป็นสัน และในอนาคตก็จะย้ายมาอยู่เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมกรรมวิธีการผลิตโดยช่างผู้เชี่ยวชาญ

เมืองกระบี่ยังมีพิพิธภัณฑสถานวัดคลองท่อม ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางแหล่งขุดพบลูกปัด นอกจากจะเล่าเรื่องราวของตัวพิพิธภัณฑ์ว่าเป็นมาอย่างไร ยังมีลูกปัดโบราณซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษย์เมื่อ 5,000 ปีก่อนที่ค้นพบมาแสดง พร้อมโบราณวัตถุซึ่งขุดค้นพบในบริเวณที่เรียกว่า “ควนลูกปัด” ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือหิน เครื่องประดับ เป็นต้น สถานที่แห่งนี้ได้รับงบประมาณจากส่วนกลางและท้องถิ่นทำให้กลายเป็นสถานที่ใหญ่โตโอ่โถง ต่อไปหากสามารถชักชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นก็จะสร้างรายได้ให้พิพิธภัณฑ์อยู่ได้ด้วยตัวเอง

ลูกปัด พิพิธภัณฑ์ & การท่องเที่ยว จาก ‘หินตั้ง ไฟส่อง’ สู่ ‘มิวเซียม คัลเจอร์’

 

และไกลออกไปจากตัวเมืองกระบี่ราว 70 กม. (แต่ต้องใช้เวลาเดินทางนานถึง 2 ชั่วโมง) ที่เกาะลันตา มีพิพิธภัณฑ์ชุมชนเกาะลันตา ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารที่ว่าการอำเภอเกาะลันตาหลังเก่า เป็นอาคารเก่าแก่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการปรับปรุงอาคารหลังนี้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อปี พ.ศ. 2550 ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่บอกเล่าประวัติความเป็นมาและวิถีชีวิตของชาวชุมชนเกาะลันตาดั้งเดิม ไม่ว่าจะคนเชื้อสายจีน ชาวเล หรือมุสลิมที่อยู่ร่วมกัน ข้าวของส่วนหนึ่งมาจากการบริจาคของคนท้องถิ่น ทำให้ทุกคนภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้

อาจจะยังไม่สมบูรณ์นัก แต่ทั้ง 3 พิพิธภัณฑ์ในกระบี่ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อเดินทางไปถึงความสำเร็จตามเป้าหมาย ทั้งในเรื่องการทำหน้าที่ชักชวนดึงดูดนักท่องเที่ยวไทย-เทศ มีศักยภาพเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ยั่งยืน ทั้งยังเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งที่อาจจะทำให้เกิดมิวเซียม คัลเจอร์ขึ้นในประเทศไทย อย่างที่นานาชาติเป็น ... ทำให้การเดินเข้าพิพิธภัณฑ์เป็นเรื่องธรรมชาติและธรรมดา

ลูกปัด พิพิธภัณฑ์ & การท่องเที่ยว จาก ‘หินตั้ง ไฟส่อง’ สู่ ‘มิวเซียม คัลเจอร์’

 

ลูกปัด พิพิธภัณฑ์ & การท่องเที่ยว จาก ‘หินตั้ง ไฟส่อง’ สู่ ‘มิวเซียม คัลเจอร์’

 

ลูกปัด พิพิธภัณฑ์ & การท่องเที่ยว จาก ‘หินตั้ง ไฟส่อง’ สู่ ‘มิวเซียม คัลเจอร์’

 

ลูกปัด พิพิธภัณฑ์ & การท่องเที่ยว จาก ‘หินตั้ง ไฟส่อง’ สู่ ‘มิวเซียม คัลเจอร์’

 

ลูกปัด พิพิธภัณฑ์ & การท่องเที่ยว จาก ‘หินตั้ง ไฟส่อง’ สู่ ‘มิวเซียม คัลเจอร์’

 

ลูกปัด พิพิธภัณฑ์ & การท่องเที่ยว จาก ‘หินตั้ง ไฟส่อง’ สู่ ‘มิวเซียม คัลเจอร์’

 

ลูกปัด พิพิธภัณฑ์ & การท่องเที่ยว จาก ‘หินตั้ง ไฟส่อง’ สู่ ‘มิวเซียม คัลเจอร์’

 

ลูกปัด พิพิธภัณฑ์ & การท่องเที่ยว จาก ‘หินตั้ง ไฟส่อง’ สู่ ‘มิวเซียม คัลเจอร์’

 

ลูกปัด พิพิธภัณฑ์ & การท่องเที่ยว จาก ‘หินตั้ง ไฟส่อง’ สู่ ‘มิวเซียม คัลเจอร์’

 

ลูกปัด พิพิธภัณฑ์ & การท่องเที่ยว จาก ‘หินตั้ง ไฟส่อง’ สู่ ‘มิวเซียม คัลเจอร์’

 

ลูกปัด พิพิธภัณฑ์ & การท่องเที่ยว จาก ‘หินตั้ง ไฟส่อง’ สู่ ‘มิวเซียม คัลเจอร์’