posttoday

หลงป่าเฉียดตาย ภูเรือไม่เคยลืม

24 พฤษภาคม 2558

แม้จะเคยหลงป่าจนเกือบตาย แต่เขาก็ยัง “หลง” ป่าอยู่เช่นเดิมเรื่องราวเพียง 1 วันของ สาโรจน์ ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา

โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ สาโรจน์ ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา

แม้จะเคยหลงป่าจนเกือบตาย แต่เขาก็ยัง “หลง” ป่าอยู่เช่นเดิมเรื่องราวเพียง 1 วันของ สาโรจน์ ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา ที่มอบประสบการณ์การเดินป่าครั้งสำคัญในชีวิต

ไม่ฟังฝน

ตอนนั้นปลาย พ.ย. 2539 พิรุณพิโรธโหมห่าฝนถล่มหล่มสัก สาโรจน์นั่งรถทัวร์มาจากกรุงเทพฯ สู่ จ.เลย พร้อมภารกิจสำคัญ “ถ่ายดอกไม้ในป่าภูเรือ”

หลงป่าเฉียดตาย ภูเรือไม่เคยลืม

 

ตอนนั้นนักเดินป่าอย่างเขารู้ดีว่าการเดินป่ากลางสายฝนไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เขาไม่สามารถหยุดได้ เพราะอาชีพช่างภาพอิสระเมื่อรับงานมาแล้วต้องทำให้ลุล่วง เมื่อรถทัวร์จอดที่ จ.เลย เงยหน้ามองสายฝนก็ยังไม่ห่างเม็ด เขาตัดสินใจเดินเข้าร้านขายไก่ย่าง ไม่ใช่เพื่อกินแต่เพื่อหารถไปที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเรือ

“จะเอาแผนที่ไปทำอะไร” เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ถามย้ำอีกครั้งเชิงเตือนสติ ชายสะพายเป้คล้องกล้องกำแผนที่ยังยืนยัน “เดินป่าครับ” ตามปกติเจ้าหน้าที่จะไม่แนะนำให้เดินป่ายามฝนตกอยู่แล้ว ยิ่งในตอนนั้นฝนหนักมากกว่าปกติยิ่งต้องห้าม แต่ในท้ายที่สุด “เจ้าหน้าที่เขาบอกว่าอยากจะเดินก็ตามใจ แต่มันจะลำบากหน่อย” สาโรจน์จึงลงชื่อในสมุดบันทึก อย่างน้อยหากเขาไม่ออกมา เจ้าหน้าที่จะได้เข้าไปตาม

หลงป่าเฉียดตาย ภูเรือไม่เคยลืม

 

ตกน้ำตก

เส้นทางที่วางไว้คือ ขึ้นไปสู่ยอดภูเรือ เดินลงมาตามน้ำตกจนถึงน้ำตกห้วยไผ่ที่อยู่ข้างล่าง ระยะทางประมาณ 4.5 กม. “ตอนนั้นคิดว่าเราเดินได้” เขากล่าว “คิดว่าเราน่าจะรอดเพราะฝนมันคงไม่ตกยาว” เขาจึงเริ่มเดิน แม้ก้าวต่อไปจะเห็นเป็นม่านฝนสีขาวแทบมองไม่เห็นทาง

คำว่าลำบากหน่อยของเจ้าหน้าที่เริ่มไม่ใช่ เพราะพอเจอเข้าจริงมันลำบากมากกว่านั้น แต่เขายังไม่หวั่น ยังคงเดินไปถ่ายรูปไป ในใจของช่างภาพกลับคิดว่า ภาพดอกไม้เลอะน้ำฝนกลางป่าสนช่างสวยงาม

หลงป่าเฉียดตาย ภูเรือไม่เคยลืม

 

เขาถ่ายรูปไปเรื่อยจนถึงน้ำตกแรก เขาเคยเดินป่าภูเรือมาแล้วมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าน้ำตกแห่งนี้ระดับเลยตาตุ่มขึ้นมาไม่กี่เซ็น แต่วันนั้นระดับน้ำเกือบถึงหัวเข่าและไหลเชี่ยว “ด้วยความที่ช่างภาพมันชอบเอาชนะ มันจะหยุดถ่ายแค่ริมๆ ลงไปตรงกลางลำธารนั่นเลย” เขายังจำได้ทุกฉากเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน

“สมัยก่อนถ่ายฟิล์ม เดินไปกลางลำธาร ตั้งขาตั้งกล้องถ่ายไปเรื่อย เปลี่ยนมุมไปเรื่อย ปรากฏว่าฟิล์มหมด เราก็วางของตั้งกล้องไว้ตรงนั้นด้วยคิดว่าเลนส์กับกล้องมันหนักพอที่จะตั้งอยู่ เราก็เดินขึ้นฝั่งไปหยิบฟิล์มใหม่มา พอกำลังจะเปลี่ยน ลื่น! มือก็คว้ากล้องตามสัญชาตญาณ กล้องก็ล้ม เราก็ล้มด้วย กล้องมันก็ลอยไปติดตลิ่งแต่ตัวเรามันไปไม่ได้ มันหมุนและไหลไปกับลำธาร โชคดีที่เราไปคว้ากิ่งไม้ไว้ไม่งั้นคงตกเหวที่ปลายลำธาร”

หลงป่าเฉียดตาย ภูเรือไม่เคยลืม

 

วิญญาณช่างภาพยังไม่หนีไปไหน พอคว้ากิ่งไม้และพาตัวเองขึ้นสู่ฝั่งได้จึงรีบกู้กล้องแต่ปรากฏว่า “ตายสนิท” เขาหอบอุปกรณ์ทั้งหมดไปนั่งใต้ต้นไม้พร้อมกับความคิดที่แล่นเข้ามาฉับพลัน “กูมาทำอะไร” น้ำเสียงแฝงไปด้วยความสิ้นหวัง “เราเริ่มกลัว ปกติสมัยก่อนเราจะบุกเดี่ยวตลอด ไม่สนอะไร แต่ตอนนั้นมันคิดเลยว่าจะรอดไหม นี่มันแค่ครึ่งทางเอง” และเขาก็ตัดสินใจ “กลับ” เพราะรูปที่ถ่ายมาก็น่าจะพอให้เขียนสกู๊ปท่องเที่ยวตามที่รับงานมาแล้ว

ฝ่าลำธาร

แต่ทางกลับของเขาไม่ใช่ทางเดิมที่เดินมาเพราะหากหันหลังกลับมันคือทางขึ้นเขา สาโรจน์เดินหน้าต่อไปตามทางน้ำตกจนกระทั่งท้องฟ้าเริ่มเปิดมีแสงแดดอ่อนๆ ส่องลงมา เขารีบถอดเลนส์ออกจากกล้องแล้วนำไปตากแดด พอลองกดชัตเตอร์อีกครั้งมันกลับใช้ได้ “ตอนนั้นเริ่มมีใจขึ้นมานิดนึง” เขากล่าว “เราก็กลับมาถ่ายรูป แต่ว่าถ่ายไปสักพัก กล้องมันก็กลับมาใช้ไม่ได้อีก คราวนี้บอกกับตัวเองเลยว่า “เลิก” เก็บกล้องใส่กระเป๋าและเดินลงเขาต่อไป

หลงป่าเฉียดตาย ภูเรือไม่เคยลืม

 

ฝนตกพรำ เขาเดินย่ำดินแฉะไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเหตุการณ์กลับมาตึงเครียดอีกครั้งเมื่อเจอลำธาร “ปกติเดินข้ามง่ายมาก แต่วันนั้นมันคือน้ำไหลบ่าลงจากภูเขา จากธารน้ำเล็กๆ กลายเป็นธารที่กว้างมาก เชี่ยวแบบไม่มีทางจะข้ามได้” ปัญหาใหญ่อยู่ตรงหน้าเขาจึงเริ่มไตร่ตรอง เขาเดินมา 3 กม. และนี่เป็นทางเดียวที่ต้องไป

คิดไปคิดมาเหลือบไปเห็นเถาวัลย์ วิชาเอาชีวิตรอดในป่าจุดประกายขึ้นมาทันที “ตัดเถาวัลย์” เขาเริ่มเล่าขั้นตอน “ดึงดูว่ามันแข็งแรงหรือเปล่า แล้วลากมันลงไปในน้ำ จับให้แน่น ปรากฏว่าข้ามไปได้ครึ่งทาง ระดับน้ำไม่ลึก มั่นใจว่าข้ามได้ก็เดินมาหยิบขาตั้งกล้องไปอีกฝั่งหนึ่ง รอบแรกสำเร็จ เดินกลับมาหยิบกระเป๋ากล้องต่อก็ทำได้สำเร็จ” ด่านนี้เขาผ่านไปได้ทั้งที่คิดว่าไม่มีทางทำได้แล้ว

หลงป่าเฉียดตาย ภูเรือไม่เคยลืม

 

ด้วยความมั่นใจหลังรอดมาได้ก็ฮึกเหิมยังไม่ยอมเดินต่อไปที่ทำการอุทยานฯ ซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียงแค่กิโลฯ แต่ตัดสินใจเดินไปน้ำตกห้วยไผ่เพราะมันคือน้ำตกที่สวยงาม ปรากฏว่า “หลง”

หลงป่า

“แผนที่เละไปตั้งแต่ลื่นน้ำตกครั้งแรกแล้ว” เขาหัวเราะในโชคชะตา ตอนนั้นฝนตกหนักมากทำให้ป้ายบอกทางล้ม เขาก็เดินไปเรื่อย “จากประสบการณ์เราพอรู้เส้นทางอยู่บ้างว่าทางลงขวาคือไปห้วยไผ่ ทางลงซ้ายไปที่ทำการอุทยานฯ แต่ตอนนั้นเรามองไม่เห็นทางจึงเดินตรง พอเดินไปๆ ป่าเริ่มบางจนไปถึงขอบภูเขา ข้างหน้าคือทิวทัศน์ของทุ่งนาและไร่ข้าวโพด ตอนนั้นรู้ทันทีเลยว่าผิดทางและผิดไกลมาก ก็ต้องเดินย้อนกลับไป”

หลงป่าเฉียดตาย ภูเรือไม่เคยลืม

 

แต่แทนที่จะกลับไปที่ทำการอุทยานฯ เขาเลือกที่จะไปน้ำตกห้วยไผ่ต่อ เมื่อได้เห็นสมใจ (กล้องพังไปแล้ว) ถึงเดินกลับที่ทำการอุทยานฯ

รถยนต์จากร้านไก่ย่างมารับตามที่นัดไว้ แต่เขากลับจากภูเรือไม่ได้เพราะไม่มีรถทัวร์ จึงต้องไปขึ้นรถทัวร์ที่หล่มสักซึ่งในตอนนั้นน้ำท่วมถึงเอว “นี่มันยังไม่จบอีกหรือ” เขาถามโชคชะตา และวันนั้นก็จบลงด้วยความหนาวสั่นกลับกรุงเทพฯ

หลงป่าเฉียดตาย ภูเรือไม่เคยลืม

 

ฟ้าหลังฝน

หนึ่งวันในวันนั้นเขาจำได้ดีทุกนาทีที่เกิดขึ้น จำเสื้อผ้าได้ จำกล้องได้ จำป่าในวันนั้นได้ จำได้ว่าลื่นไปเกือบ 10 ครั้ง จำความกลัวที่เกิดขึ้นในจิตใจ และไม่เคยลืมความชะล่าใจที่เกือบทำให้ไม่รอด

“ปกตินักท่องเที่ยวทั่วไปเขาไม่เดินภูเรือแค่วันเดียว” เขากล่าว “แต่เพราะเราเป็นฟรีแลนซ์จะใช้เงินมากไม่ได้ หากค้างคืนต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะ และโจทย์ที่ลูกค้าให้มาต้องการแค่ดอกไม้กับลำธาร ไม่ต้องการทะเลดาวหรือหมอกที่มันต้องรอเวลา” เขายังกล่าวด้วยว่าการเดินทางครั้งนั้นเขาไม่ได้ดูพยากรณ์อากาศใดๆ มาเลย เพราะคิดอย่างเดียวว่าต้องทำงานให้เสร็จตามเวลา

หลงป่าเฉียดตาย ภูเรือไม่เคยลืม

 

“เราไม่คาดคิดว่าฝนจะตกหนักขนาดนั้น แต่ด้วยอาชีพเรา เราถอยไม่ได้” อย่างไรก็ตามทุกวันนี้สาโรจน์ก็ยังรักภูเรือ พอมีใครพูดถึงภูเรือเหตุการณ์นี้ก็จะกลับมาทุกครั้ง

ถามว่า “ไม่กลัวตายหรือ” เขาตอบ “ไม่เคยคิดเรื่องนี้ ณ ตอนนั้น แต่พอกลับมาคิดย้อนกลับไปถึงได้รู้ว่ามันน่ากลัวมาก”

หลงป่าเฉียดตาย ภูเรือไม่เคยลืม

 

เขายังกล่าวถึงแบ็กแพ็กเกอร์ที่ชอบเดินทางคนเดียวเที่ยวในเมืองไทยว่าควรหาเพื่อนร่วมทางไปด้วย เพราะเมืองไทยยังไม่ปลอดภัยในแง่ของคน รถ และความช่วยเหลือ โดยเฉพาะช่างภาพที่พกกล้องติดตัวไปด้วยอย่างเขา ควรมีเพื่อนเดินทางไปด้วย อย่างน้อยเวลาเข้าห้องน้ำก็ยังมีคนเฝ้าของให้ หรือเวลาเกิดปัญหาจะได้ช่วยกันแก้ไข

“อย่างตัวเองนี่เป็นตัวอย่างที่ดีมาก ถ้าไปสองคนยังสามารถช่วยกันได้มากกว่านี้ เช่นวิธีข้ามลำธารด้วยเถาวัลย์อาจจะมีวิธีที่ดีและปลอดภัยกว่าถ้ามีเพื่อนช่วยอีกแรง หรือเวลาเจอทางแยก ถ้าไปคนเดียวก็ต้องลองทั้งสองทาง”

หลงป่าเฉียดตาย ภูเรือไม่เคยลืม

 

เขายอมรับว่าการเดินป่าในครั้งนั้น “ยากที่สุดในชีวิต” แม้ว่าเขาจะเคยหลงป่ามาก่อน เดินป่าในสภาพแวดล้อมโหดร้ายมามาก แต่ไม่เคยเจอทั้งหลงและโหดร้ายพร้อมๆ กันเช่นนั้น

นอกจากนี้ จากประสบการณ์การเดินป่าอย่างโชกโชน เขาแนะนำว่าให้ไปเดินป่าในอุทยานแห่งชาติ แสดงตัวให้เจ้าหน้าที่เห็น ลงชื่อบันทึกไว้ว่าเข้าไปกี่โมง ไปกี่คน เพราะหากเราไม่ออกมา ในที่สุดแล้วเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตาม ก่อนเดินป่าต้องศึกษาแผนที่ให้ละเอียดและเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม ถ้าหลงป่าจริงสิ่งที่ต้องทำคือก่อกองไฟเพื่อเป็นสัญญาณให้รู้ตำแหน่ง ถ้าอยู่ในสถานการณ์ฝนตกอย่างเขาให้แกะเปลือกไม้ออกเพราะข้างในยังใช้ได้ ดังนั้นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้คือไฟแช็กและมีดฟันฟืน

หลงป่าเฉียดตาย ภูเรือไม่เคยลืม

 

ประสบพบประสบการณ์

จากวันนั้นมันกลายเป็นประสบการณ์ที่ดี “ไม่ถึงกับเข็ด” เขาว่า “แต่เริ่มรู้สึกไม่อยากเดินเดี่ยว ถ้าเดี่ยวก็จะไม่เดินทางยาก เพราะป่าคือป่า แค่ออกนอกเส้นทางมาถ่ายรูปแค่ 5 นาที มองกลับมาอีกทีก็ไม่รู้แล้วว่าทางเดินอยู่ไหน ถ้าไม่ทำมาร์กกิ้งตามต้นไม้” ถามเขาว่าจนถึงวันนี้พิชิตไปกี่ยอดภูกี่ผืนป่าแล้ว เขาตอบได้สมเป็นนักเดินป่าตัวจริงว่า “เหลือไม่กี่ป่า ที่เคยเดินมา เช่น ฮาบาบารา ภูหินร่องกล้า ภูกระดึง ภูหลวง และอีกมากมาย”

ในช่วงชีวิตหนึ่งเขาใช้ชีวิตอยู่ในป่าตลอด 1 ปี เพราะต้องเข้าไปเก็บข้อมูลให้ทางบริษัททัวร์ เขายกตัวอย่าง ป่าต้นน้ำเพชรที่ต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูลเรื่องผีเสื้อและพันธุ์ไม้

หลงป่าเฉียดตาย ภูเรือไม่เคยลืม

 

ป่าต้นน้ำเพชรคือป่าตะนาวศรีที่ติดกับพม่า ต้องเดินป่าและพายเรือต่อ 3 วัน เป็นป่าดิบแท้ปกคลุมร่องน้ำ มีความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์ป่า มีสุสานช้าง และเป็นผืนป่าที่พบสัตว์ป่ามากที่สุด เขาเล่าประสบการณ์

“ป่าดิบอย่างต้นน้ำเพชรแค่ห้าโมงเย็นก็ค่ำแล้ว ตอนนั้นเราพายเรือมีเพื่อนอีกสามคนรวมเป็นสี่พาย เห็นแล้วว่ามีช้างโขลงใหญ่อยู่ในป่า เวลาเจอช้างต้นน้ำเพชรอย่าปะทะเพราะมันเป็นช้างที่ดุมาก มันห่วงถิ่น ที่เครียดคือพวกมันกำลังเดินมาที่แม่น้ำ ตอนนั้นทุกคนไม่ได้พูดอะไรกันเลย พยักหน้าหนึ่งที และจ้ำพายไม่คิดชีวิต ขณะเดียวกันเมื่อช้างเห็น พวกมันก็รีบวิ่งมาเลยทั้งโขลง ร้องแปร๊นๆๆ วิ่งกรูกันมา โชคดีที่พายผ่านไปก่อนพวกมันถึงแม่น้ำไม่กี่วินาที ไม่เช่นนั้นถ้าปะทะคงไม่รอด”

นอกจากนี้ยังได้เจอหมี จระเข้ตีนเป็ด เสือ แต่โดยทั่วไปตามธรรมชาติของสัตว์ป่าจะไม่เลือกที่จะปะทะ ยกเว้นช้างที่จะไม่หลีกสัตว์ต่างถิ่นเพราะมีความห่วงบ้าน&O5532; คุณธรรมชาติ

เขาเห็นสิ่งมีชีวิตมากมายในป่า มันสะท้อนให้เห็นคุณค่าของทุกสรรพสิ่ง เขายกตัวอย่างน้ำประปาก็มีที่มาจากป่านั่นเอง “เวลาเราเดินจากตาน้ำไล่ลงมา เราจะเห็นแขนงของน้ำจากสายเล็กๆ รวมกันเป็นสายใหญ่ขึ้น” เขากล่าว

“ธรรมชาติทำให้เราเห็นการเจริญเติบโตตั้งแต่การเกิดของต้นน้ำ หรือพวกสัตว์ตั้งแต่แมลงจนถึงสัตว์ผู้ล่า เราได้เห็นวัฏจักรของชีวิต เห็นว่ามันล่ากันยังไงและเกื้อกูลกันยังไง บางคนเห็นเสือล่ากวางแล้วสงสาร นั่นคือวัฏจักรเพราะถ้ากวางมากไปสภาพป่าก็จะเปลี่ยน มันเป็นการควบคุมระบบนิเวศตามธรรมชาติ” ส่วนมนุษย์อยู่นอกเหนือวัฏจักรของป่าไม้

เวลาเข้าป่ามนุษย์คือตัวประหลาด ดังนั้นสิ่งที่ผู้บุกรุกควรทำคืออะไร เขายกตัวอย่าง เสื้อผ้าเดินป่าควรใช้สีที่เคารพธรรมชาติเช่นสีเทาสีเขียว เพราะถ้าใส่สีแดงสีฟ้าสัตว์จะรู้ทันทีว่าสิ่งแปลกปลอม พวกมันอาจจะเปลี่ยนที่หากิน แค่นี้ก็ถือว่าเป็นการรบกวนแล้ว

เวลาเดินป่าจะต้องเข้าใจก่อนว่า เราเข้าไปทำอะไร ไปดูอะไร บางคนเข้าป่าไปเพื่อดูพระอาทิตย์ขึ้นหรือดูทะเลหมอก แต่เขาไม่ขอเรียกว่าการดูป่า “ถ้าไปดูพระอาทิตย์มันไม่ใช่ดูป่าที่เรายืนอยู่ เพราะผืนดินที่เราเหยียบอยู่คุณกลับไม่รู้เรื่องเลย”

การเดินป่าสำหรับเขาไม่ใช่เพื่อความท้าทายเท่านั้น แต่เขาไปเพราะอยากสัมผัสป่า “ถ้ามองในความละเอียดอ่อนของมัน เราจะซาบซึ้งในความเป็นป่า ป่ามีอะไรให้เราถ่ายภาพอยู่เสมอ” เขาเคยเจอคำถามว่าทำไมถึงไม่ไปทะเล เขาให้คำตอบว่าโลกของทะเลมันคือโลกใต้น้ำ ไม่ใช่โลกบนผิวน้ำ

ทุกครั้งที่เขาก้าวเดินความคิดในหัวจะคิดตลอดว่า ไปข้างหน้าจะเจออะไร แม้ในเส้นทางที่เคยเดินแล้วเขาก็ยังตื่นเต้นทุกทีเพราะป่ามันไม่มีวันเหมือนเดิม

เขายังกล่าวด้วยว่าหากมนุษย์รู้จักนำวิถีแห่งป่ามาใช้คำว่าโลกร้อนจะไม่เกิดขึ้น เขาเล่าประสบการณ์เมื่อครั้งไปเจอปะเกอกะเญอที่สวนสนวัดจันทร์ จ.เชียงใหม่ คนที่นั่นจะตัดสายสะดือเด็กไปฝังใต้ต้นไม้ใหญ่เป็นต้นไม้ประจำครอบครัว เพราะฉะนั้นคนปะเกอกะเญอจะไม่ตัดต้นไม้ เพราะต้นไม้คือผู้ที่ให้ความเจริญเติบโต ให้ร่มเงา และเป็นที่ที่ฝัง “รกราก” สำหรับเขาความหมายของคำนี้คือแบบนี้

ตอนนี้สาโรจน์อายุเข้าสู่เลข 5 ตอนปลายแล้ว ถ้าเป็นไปได้ในช่วงชีวิตที่มีอยู่เขาอยากอยู่กับป่า “อยู่ริมๆ ก็ได้แต่ขอให้ได้กลิ่น ขอให้ได้เห็น เราอาจไม่ได้เข้าไปสร้างป่าในป่าลึกเพราะความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่พื้นที่ป่าเป็นป่าสงวนหรือพื้นที่อุทยานแห่งชาติเกือบหมดแล้ว” เขายังคงรักป่าและยังอยากอยู่กับป่าแม้ว่ามันจะมอบประสบการณ์เกือบตายให้เขามากกว่า 1 ครั้ง

“เราอยู่กับป่ามาจนรู้สึกว่ามีทั้งความกล้าและความกลัว แต่เราต้องใช้ทั้งสองอย่างผสมกันเพื่อทำให้ตัวเองอยู่รอด” ตอนนี้เขาได้อุทิศชีวิตให้ป่าในแบบของตัวเองผ่านงานเขียน ผ่านภาพถ่าย และการให้เกียรติป่าไม้ทุกครั้งที่ก้าวเดิน