posttoday

ตะไลสิบล้าน! ขีปนาวุธขอฝน

23 พฤษภาคม 2558

พญาแถนประทานฝนให้ปีนี้ ต้องยกความดีให้ตะไลสิบล้าน!

โดย...กาญจน์ อายุ

พญาแถนประทานฝนให้ปีนี้ ต้องยกความดีให้ตะไลสิบล้าน!

ประเพณีบุญบั้งไฟตะไลล้านของชาวบ้านกุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เพิ่งได้รับป้ายประกาศจากพิพิธภัณฑ์ริปลีส์ (เชื่อหรือไม่) ไปหมาดๆ ว่าเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีตะไลล้าน

กุดหว้าเป็นตำบลเล็กๆ มีพื้นที่เพียง 4.2 ตร.กม. ห่างจากตัว อ.กุฉินารายณ์ 10 กม. และห่างจากตัวเมืองกาฬสินธุ์ 85 กม. ระยะทางชั่วโมงกว่าๆ จากตัวเมืองมุ่งหน้ามุกดาหาร ถ้าเป็นวันอื่นอาจขับผ่านบ้านกุดหว้าโดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผ่าน แต่ไม่ใช่ช่วงเทศกาลบุญบั้งไฟตะไลล้านแน่ เพราะงานนี้ ต.กุดหว้า เล่นใหญ่ ติดป้ายประชาสัมพันธ์ ปิดถนนเบิกทางให้ขบวนแห่ บรรดาแม่ๆ ร่วมฟ้อนชุดผู้ไทยเกือบ 400 ชีวิต ทำเอารถติดที่สุดในรอบปี

ตะไลสิบล้าน! ขีปนาวุธขอฝน แหงนหน้ามองตะไล

 

สัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค.ของทุกปีชาวกุดหว้าจะทราบโดยพร้อมเพรียงกันว่าถึงเวลาสำคัญ ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็นแรมเดือนแต่ละหมู่แต่ละค่ายจะเตรียมทำตะไล

ตะไลถูกพัฒนามาจากบั้งไฟหางที่เห็นทั่วไปในอีสาน คนแรกที่คิดทำคือ พิศดาจำพล ช่างทำบั้งไฟท้องถิ่น เปลี่ยนจากบั้งไฟเป็นตะไลเมืี่อปี 2521 โดยนำลำปล้องบรรจุดินปืนวางไว้ในแนวราบ นำไม้ไผ่มาสานเป็นเส้นรอบวงติดกับกระบอก (กระบอกเหมือนเป็นเส้นผ่าศูนย์กลางวงกลม) เวลาจุดต้องจุดชนวนที่ปลายกระบอกทั้งสองข้าง ดินปืนจะทำปฏิกิริยากับความร้อนดันตัวเองขึ้นสู่ท้องฟ้า แต่เพราะจุดชนวนทั้งซ้ายและขวาทำให้มันหมุนเป็นวงกลมทะยานขึ้น เสียงฟ่าวฟ่าวฟ่าวค่อยๆ เร่งจังหวะ สูงขึ้นๆ กระทั่งดินปืนหมดก็จะร่วงลงมา แต่ชาวกุดหว้าไอเดียสุดเจ๋งติดผืนผ้าใบไว้ที่ตัวตะไล เวลาปล้องร้อนทำให้เชือกฟางที่พันผ้าใบขาด กางพรึ่บ! พยุงตัวตะไลให้ค่อยๆ ร่วงลงมาไม่เป็นอันตรายต่อบ้านเรือนที่อยู่ใกล้เคียง

ตะไลสิบล้าน! ขีปนาวุธขอฝน ผ้าใบกางพยุงตะไลให้ค่อย ๆ ลงพื้น

 

ตะไลมีหลายขนาดเริ่มตั้งแต่ตะไลแสน รุ่นนี้มีดินปืน 1,000 กก. มีความยาวกระบอก 3 ม. รุ่นใหญ่ขึ้นมาเป็นตะไลล้าน บรรจุดินปืน 1,200 กก. ความยาวกระบอก 6 ม. อัพไซส์อีกนิดเป็นตะไลสองล้าน มีความยาวกระบอกเท่ากัน แต่ปากกระบอกจะใหญ่กว่าบรรจุดินปืนได้มากกว่า และพี่บิ๊กเบิ้มที่สุดในปีนี้คือ ตะไลสิบล้าน ปากกระบอก 8.5 นิ้ว ต้องใช้รถเครนขน มีชนวน 8 รูเพื่อเพิ่มพลังขับเคลื่อน สรุปแล้วปีนี้มีตะไลแสน 61 กระบอก ตะไลล้าน สองล้าน และสิบล้าน รวม 7 กระบอก เริ่มจุดตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าไปเสร็จหกโมงเย็น

สถานที่จุดตะไลเป็นทุ่งนา แบ่งเขตผู้ชมจากสถานที่จุดห่างกัน 500 ม. เป็นระยะห่างที่ไกลมากพอไม่ให้อานุภาพของขีปนาวุธชนิดนี้ทำร้ายหากระเบิด ถามปลัดเทศบาล จีระพันธ์ ไชยขันธ์ ว่าเคยมีคนตายไหม “จะปฏิเสธว่าไม่มีก็คงไม่ใช่” เขาตอบเป็นประโยคความซ้อน แต่มันเกิดขึ้นนานมาแล้วตั้งแต่ครั้งที่ลองทำตะไลใหม่ๆ เหมือนเป็นความผิดพลาดทางวิทยาศาสตร์

ตะไลสิบล้าน! ขีปนาวุธขอฝน สาวงามถ่ายภาพกับขบวนแห่

 

อย่างไรก็ตาม ทางเทศบาลไม่เคยล้อเล่นกับเรื่องความปลอดภัย ทุกปีจึงมีการกั้นเขตผู้ชมอย่างเข้มงวดและชาวบ้านเองก็ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ส่วนบริเวณจุดตะไลมีบังเกอร์ให้หลบ เมื่อจุดไฟแล้วคนจุดต้องรีบวิ่งมาหลบหลังบังเกอร์ทันที หากมีใครลองดีไม่ทำตามกรรมการจะตัดสิทธิไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขัน

ดั้งเดิมการจุดบั้งไฟหรือตะไลทำไปเพื่อบูชาพญาแถน (หนึ่งในงานบุญเดือนหกของภาคอีสาน) ตะไลเป็นเสมือนสื่อในการบอกกล่าวพญาแถนเทวดาประทานฝนให้ทราบว่าเมืองมนุษย์กำลังเข้าสู่ฤดูทำนา ต้องการน้ำฝนในการเพาะปลูก ทุกวันนี้ความเชื่อนี้ก็ยังอยู่แต่ถูกลดบทบาทลง ชาวบ้านให้ความสำคัญกับการแข่งขันมากกว่าตะไลของค่ายไหนสามารถลอยอยู่บนท้องฟ้าได้นานที่สุด และเมื่อมีการแข่งขันทำให้การพนันเกิดขึ้นตามมา สิ่งอบายมุขต่างๆ ทั้งเหล้า บุหรี่ โคโยตี้ เข้ามาแทนที่นำไปสู่การทะเลาะวิวาทกระทั่งแปลงสภาพจากงานบุญกลายเป็นงานบาป กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่เทศบาลตำบลกุดหว้าแก้ไขอย่างจริงจัง

ตะไลสิบล้าน! ขีปนาวุธขอฝน ติดตั้งตะไลล้านเพื่อเตรียมจุดไฟ

 

เทศบาลร่วมมือกับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านรณรงค์ให้ชาวบ้านเห็นโทษของสุราและพยายามทำให้ทุกหมู่เป็นชุมชนปลอดเหล้า นโยบายนี้ดูเหมือนฝันลมๆ แล้งๆ แต่ต้องชื่นชมเสียงดังๆ ว่างานบุญบั้งไฟตะไลล้านปีนี้ไม่เห็นเหล้าเลยสักขวด ไม่เห็นเบียร์สักกระป๋อง เดินผ่านใครก็ไม่ได้กลิ่นแอลกอฮอล์ ไม่มีเหตุทะเลาะวิวาท ไม่มีคนเมา ไม่มีคนขาย ต้องปรบมือรัวๆ ให้ชาวกุดหว้าและคนมางานที่ทำตามกฎระเบียบ เรื่องนี้ท่านนายกเทศมนตรีตำบลกุดหว้า สาริกา อุทรักษ์ คุยโวแทนชาวบ้านได้เต็มปาก ท่านยังบอกด้วยว่าเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2553 ปีเดียวกับที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เข้ามาสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่ง ซึ่งการเข้ามาของ สสส. ยิ่งทำให้ต้องปลอดเหล้า 100% เพื่อการพิจารณางบประมาณสนับสนุนในปีถัดๆ ไป

กลับมาที่ตะไล การแข่งขันปีนี้ตะไลรุ่นแสนอยู่บนอากาศได้ยาวนานที่สุด 500 วินาทีเศษ ส่วนตะไลรุ่นล้านลอยได้นานสุดนาทีกว่า มีตะไลแสนระเบิด 1 กระบอกแต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บเพราะทีมจุดหลบอยู่หลังบังเกอร์ ผู้ชมอยู่ห่างไปหลายร้อยเมตร เหลือแต่ซากเหล็กที่พอเดาชะตากรรมได้ว่าหากใครโดนแม้เสี้ยวก็อาจสิ้นใจ ส่วนตะไลไฮไลต์ต้องยกให้ตะไลสิบล้าน ประวัติศาสตร์ประจำปีเพราะเป็นปีแรกที่มีตะไลใหญ่ขนาดนี้

ตะไลสิบล้าน! ขีปนาวุธขอฝน ตะไลแสนระเบิด

 

ตอนจุดเสร็จควันโขมงกลบตะไล มีแต่เสียงซู่...อยู่ภายใน คนดูแทบหยุดหายใจลุ้นว่าจะขึ้นไม่ขึ้น โฆษกเชียร์ออกไมค์ ขึ้น ขึ้น ขึ้น สุดท้าย ขึ้น! ตะไลสิบล้านควงสว่านลอยแตะอากาศ สูงขึ้นไปเหนือดิน เหนือยอดไม้ เหนือภูเขา เหนือจนแหงนคออีกไม่ได้แล้ว โฆษกมีแซว “ใครปวดฉี่ตอนนี้ให้ปล่อยเลยนะครับ” เพราะสายตาทุกคนกำลังจับจ้องอยู่ที่ตะไล แต่ความตื่นเต้นยังไม่จบ เพราะไม่ใช่ว่าขึ้นได้แล้วจะเสร็จสิ้น มันจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อผ้าใบกาง คราวนี้โฆษกเชียร์อีก กาง กาง กาง สุดท้าย กาง! วินาทีนั้นชาวบ้านโห่ฮิ้วด้วยความปรีดาเหมือนว่าพรที่ขอไปเป็นจริง

ตะไลล้านลอยเคว้งกลางอากาศ มันได้ทำหน้าที่เต็มความสามารถ ถ้ามันมีชีวิตก็คงกำลังภาคภูมิในตัวเองเช่นเดียวกับทีมงานสร้างตะไลค่ายชัยวิสิทธิ์เหิรฟ้าที่กำลังกระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจ และเช่นเดียวกับชาวบ้านที่เชื่อว่าปีนี้น้ำท่าจะสมบูรณ์

ตะไลสิบล้าน! ขีปนาวุธขอฝน ตะไลจำลองบนรถแห่

 

ย้ำอีกครั้ง งานบุญบั้งไฟตะไลล้านจัดขึ้นวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 3 ของ พ.ค.เป็นแบบนี้ทุกปี นักท่องเที่ยวที่อยากมาเห็นด้วยตาคงต้องเจอกันใหม่ปีหน้า ถ้าปีนี้มีโปรฯ ตั๋วเครื่องบินขอนแก่นหรือร้อยเอ็ดถูกๆ ก็จองไว้ก่อนเลย แล้วนั่งรถทัวร์ระหว่างจังหวัดต่อมากาฬสินธุ์ แต่ถ้าอยากเห็นบั้งไฟหางของยโสธร ยังเหลืออีกหลายชุมชนที่ยังจัดอยู่ถึงสิ้นเดือน พ.ค. ผู้ที่สนใจก็ไม่อยากให้พลาดเพราะหนึ่งปีมีเพียงครั้งเดียว

สุดท้ายฝากไว้หนึ่งอย่าง ถ้าพูดอย่างโฆษกต้องพูดว่า ร่ม ร่ม ร่ม ให้พกร่มไปด้วย เพราะตอนดูบั้งไฟแดดร้อนจัดแต่หลังจากนั้นฝนจะตก พญาแถนจัดให้ทันใจ อาจจะไม่เกิดขึ้นทุกปีแต่โดยมากพญาแถนไม่เคยช้าอย่างปีนี้ตกหนักมาก!

ตะไลสิบล้าน! ขีปนาวุธขอฝน ชาวผู้ไทยรำเปิดพิธีบุญบั้งไฟตะไลล้าน

 

 

ตะไลสิบล้าน! ขีปนาวุธขอฝน เกลียวควันลอยพุ่งขึ้นฟ้าสวยงาม