posttoday

อุ้มอุดมผางดินแดนแห่งขุนเขา

10 สิงหาคม 2556

ผมเคยไปเที่ยวอุ้มผางมาสักสองสามครั้ง ทุกครั้งที่ไปก็สนุกกับการวางแผนการเดินทาง เพราะผมไม่ชอบที่จะขับรถผ่านช่วงหุบเขา

โดย...นพพล ชูกลิ่น

ผมเคยไปเที่ยวอุ้มผางมาสักสองสามครั้ง ทุกครั้งที่ไปก็สนุกกับการวางแผนการเดินทาง เพราะผมไม่ชอบที่จะขับรถผ่านช่วงหุบเขาที่เริ่มต้นจาก อ.แม่สอด จ.ตาก มุ่งสู่ อ.อุ้มผาง ที่มีโค้งมากถึง 1,219โค้ง ในช่วงเวลาค่ำมืด เพราะถือว่าเป็นช่วงที่อันตรายมากๆ ผมเลยต้องออกจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่เช้าขับรถถึง อ.แม่สอด ไม่เกินบ่ายสองโมง แล้วผมก็จะถึงอุ้มผางก่อนค่ำพอดี อีกสาเหตุหนึ่งก็คือทิวทัศน์ตลอดสองข้างทางในช่วงโค้งต่างๆ ช่างงดงามจริงๆ แต่ถ้าหากท่านผู้อ่านเป็นผู้ขับรถท่านจะไม่มีโอกาสมองวิวทิวทัศน์ที่สวยงามนี้แน่ๆ ครับ เพราะท่านต้องมีสมาธิกับถนนที่มีเส้นโค้งเส้นเว้าสวยงามมากๆ จนคุณจะรับรู้ว่าพาหนะของท่านมีสมรรถนะดีขนาดไหน

ก่อนไปอุ้มผาง ขอแนะนำให้ท่านเช็กสภาพรถของท่านให้มีความพร้อม โดยเฉพาะระบบเบรกและคนขับที่มีความชำนาญในการขับรถขึ้นลงเขาที่แคบและชันมากๆ นะครับ

นอกจากความสวยงามตลอดสองข้างทางจุดพักรถครึ่งทางท่ามกลางขุนเขา ซึ่งต้องขอแนะนำให้ทุกท่านที่ใช้เส้นทางพักรถแล้ว ท่านนักเดินทางก็ต้องพักด้วยนะครับ เพราะเป็นจุดที่ท่านจะหากาแฟร้อนๆ ดื่มกับล้างหน้าล้างตาให้สดชื่น เข้าห้องน้ำให้ปลอดโปร่งนะครับ เพราะท่านไม่ต้องหวังที่จะให้จอดรถระหว่างทางได้ ไม่มีที่ให้ท่านจอด แถมถ้าจอดอันตรายมากๆ เลยนะครับ ผมสงสัยว่าทำไม อ.อุ้มผาง ช่างเหมือนดินแดนที่ราวอยู่ในเทพนิยาย เลยไปหาข้อมูลถึงความเป็นมาของอุ้มผาง (ขอขอบคุณวิกิพีเดีย)

อ.อุ้มผาง เป็นอำเภอหนึ่งทางตอนใต้ของ จ.ตาก จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา ตั้ง อ.อุ้มผาง ปี 2502 อันมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค. 2502 อำเภอนี้ที่มีขนาดพื้นที่มากที่สุดและเป็นอำเภอที่อยู่ห่างไกลจากตัวอำเภอเมืองมากที่สุดในประเทศไทย “อุ้มผาง” มีที่มาจากการสันนิษฐานของทางราชการว่ามาจากคำว่า “อุพะ” ที่เป็นคำเรียกกระบอกไม้ไผ่สำหรับเก็บเอกสารเดินทางในภาษาปะเกอกะเญอ เนื่องจากภูมิประเทศเป็นป่าเขารกทึบ การเดินทางลำบากและเอกสารฉีกขาดได้ง่าย ดังนั้นการเก็บเอกสารจึงต้องม้วนเก็บในกระบอกไม้ไผ่และมีฝาจุกปิดมิดชิด

เมื่อเดินทางมาถึงด่านตรวจ ก็จะเปิดกระบอกไม้ไผ่เพื่อแสดงเอกสาร ชาวกะเหรี่ยงจะเรียกเอกสารนี้ว่า “อุพะ” ซึ่งต่อมาได้ออกเสียงเพี้ยนมาเป็น “อุ้มผาง” จึงได้กลายมาเป็นชื่ออำเภอในปัจจุบันนี้ ในขณะที่ชาวปะเกอกะเญอหลายคนกล่าวว่า มาจากคำว่า “อูกึผะ” แปลว่า ไฟจะไหม้ไปทั่ว โดยได้อธิบายความหมายว่า “สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็ต้องเกิดและขยายไปทั่วไป”

อุ้มผางในอดีตเป็นที่อยู่ของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ต่อมาก็มีคนไทยจากภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ ได้อพยพหาที่ทำกินใหม่มาบุกเบิกป่าอุ้มผางเป็นที่อยู่อาศัย และเมื่อปี 2432 ได้ถูกกำหนดให้เป็นเมืองหน้าด่านชายแดนตะวันตกในชื่อ อ.แม่กลอง ขึ้นตรงกับ จ.อุทัยธานี เป็นจุดตรวจตราชาวพม่าที่เดินทางเข้ามาค้าขายในประเทศไทย โดยมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจเอกสารเดินทาง พ.ศ. 2469 ทางการได้ยุบ อ.แม่กลอง เป็น กิ่ง อ.แม่กลอง และโอนการปกครองจาก จ.อุทัยธานี ให้ไปขึ้นกับ จ.กำแพงเพชร และในปี 2499 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปอยู่บ้านอุ้มผางพร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นกิ่ง อ.อุ้มผาง ในวันที่ 22 เม.ย. 2502 ทางการได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะจากกิ่งอำเภอเป็น อ.อุ้มผาง และให้ขึ้นกับ จ.ตาก

ปี 2514 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้เริ่มการเคลื่อนไหวทางการเมือง มีการสู้รบกันบ้างระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือ ตำรวจตระเวนชายแดน หน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) และกองอาสารักษาดินแดน (อ.ส.) ช่วงปี 2527 เหตุการณ์ได้ยุติลงด้วยการใช้นโยบาย 66/2523 มีมวลชนที่กลับใจและเข้ามามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยประมาณ 2,000 กว่าคน ความสงบสุขจึงกลับมาสู่ชาวอุ้มผางอีกครั้ง

หลังจากเป็นเมืองปิดมาช้านาน ทางการได้ทำการตัดถนนจาก อ.แม่สอด สู่ อ.อุ้มผาง ลัดเลาะตามไหล่เขาและสันเขา 164 กิโลเมตร ซึ่งเป็นที่มาของชื่อถนนสายลอยฟ้า ระยะทางก่อสร้างกว่า 10 ปี เสร็จสิ้นเมื่อปี 2526

เมื่อเรื่องราวในอดีตปิดตัวเองลง ประตูแห่งเมืองท่องเที่ยวก็ได้เปิดออกเมื่อ นพ.บรรลือ กองไชย ได้เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ท่านได้ชักชวนให้นิตยสารการท่องเที่ยวเข้ามาชมและถ่ายทำสกู๊ปลงหนังสือ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนภายนอกได้รู้จักอุ้มผาง ในปัจจุบันคนอุ้มผางไม่น้อยที่หันมาทำธุรกิจท่องเที่ยว เริ่มจากการใช้แพไม้ไผ่ล่องแก่งและพัฒนามาเป็นเรือยาง โดยได้รับคำแนะนำในการท่องเที่ยวจากภาครัฐในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ คนอุ้มผางแท้ๆ ในปัจจุบันจึงเป็นคนรุ่นที่ 3 และ 4 ตามลำดับ

สิ่งที่ผมรักและชอบความเป็นอุ้มผางมากที่สุดนอกจากน้ำตกทีลอซูอันยิ่งใหญ่แล้ว ก็คือวิถีชีวิตของผู้คนที่มีความน่ารักของชนเผ่าต่างๆ ที่อยู่ร่วมกัน โรงเรียนอุ้มผางวิทยาที่มีคุณครูใหญ่ ที่มีจิตใจสุดแสนประเสริฐในการพยายามให้การศึกษากับชาวเขาเผ่าต่างๆ ด้วยหัวใจที่เปี่ยมล้นแห่งความดี ที่ผมไปอุ้มผางทุกครั้งต้องแวะไปพบท่าน เพื่อให้กำลังใจในคุณงามความดีที่ท่านทำต่อไป ผมเก็บภาพเด็กน้อยตามชุดประจำเผ่าของชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่โรงเรียนอุ้มผางวิทยา ที่ท่านอาจารย์ดูแลเด็กๆ เหล่านี้ด้วยการหาทุนด้วยตนเอง แวะไปเยี่ยมท่านหน่อยนะครับ ช่วยกันเป็นพ่อแม่อุปถัมภ์กับเด็กๆ เหล่านี้นะครับ เพราะเขาก็คือเยาวชนของประเทศไทย ในอนาคตถึงแม้ว่าเด็กๆ เหล่านี้จะไม่มีโอกาสเป็นคนไทยเต็มขั้นได้เลย ไปเที่ยวอุ้มผางกันนะครับ