posttoday

พลังวิเศษ...จากในหลวง แรงผลักดัน ‘ภราดร’ สู่ตำนาน

20 ตุลาคม 2559

"สำหรับผมคิดว่าพระองค์ท่านไม่ได้ไปไหน ยังอยู่กับเรา พระองค์ท่านเป็นเทวดาที่เสด็จลงมาให้ชาวไทยได้ชื่นชมพระบารมี และช่วยเหลือคนไทยให้มีชีวิตที่ดีขึ้นในทุกที่"

โดย...เปรมวดี ปานทอง

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าผลงานการคว้าแชมป์ 5 รายการในการแข่งขันเทนนิสอาชีพระดับเอทีพี ทัวร์ และเป็นนักเทนนิสจากเอเชียคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ติดท็อป 10 ของโลกในอันดับ 9 เมื่อเดือน พ.ค. 2546 ถือเป็นเกียรติประวัติอันยิ่งใหญ่ของ ภราดร ศรีชาพันธุ์ และวงการกีฬาไทย

แต่นั่นก็ยังเทียบไม่ได้กับความปลาบปลื้มที่สุดในชีวิตของตำนาน นักหวดของไทย จากการมีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ถึง 2 ครั้ง

เจ้าของฉายา “ซูเปอร์บอล” เล่าว่า หลังจากคว้าแชมป์รายการทีดี วอเตอร์เฮาส์ ที่สหรัฐ และสตอกโฮล์ม โอเพ่น ที่สวีเดน เมื่อปี 2545 ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายถ้วยรางวัลทีดี วอเตอร์เฮาส์ ซึ่งเป็นถ้วยในระดับเอทีพี ทัวร์ ใบแรกในอาชีพแด่พระองค์ท่าน ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2545

“ตอนนั้นเมื่อทราบว่าจะได้เข้าเฝ้าฯ ทั้งตัวผมเองและครอบครัวรู้สึกปลาบปลื้มและตื่นเต้นมาก เตรียมตัวกันใหญ่จะใส่ชุดไหนดี จะพูดกับพระองค์ท่านด้วยราชาศัพท์อย่างไร เมื่อถึงเวลาได้เข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด ได้กราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ถือเป็นบุญอย่างมาก ผมยังจำวินาทีนั้นได้มาตลอดเวลา และได้ถวายถ้วยรางวัล ครั้งนั้นพระองค์รับไว้ พร้อมกับตรัสว่าจะเก็บไว้ให้แขกบ้านแขกเมืองดู”

ในโอกาสดังกล่าว ภราดร ยังได้รับพระราชทานเหรียญ “พระมหาชนก” ซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งความเพียร พร้อมกับมีพระราชกระแสรับสั่งว่า เป็นนักกีฬาต้องขยันหมั่นเพียร ให้ตั้งใจขยันฝึกซ้อม ทำชื่อเสียงให้ประเทศชาติต่อไป

หลังจากนั้น นักเทนนิสขวัญใจชาวไทยได้น้อมนำเอาพระราชกระแสรับสั่งไปปฏิบัติ จากเดิมที่ตั้งใจฝึกซ้อมอยู่แล้ว ก็ยิ่งมีความเพียรพยายามมากยิ่งขึ้น และนำมาสู่ความสำเร็จในปีถัดมา ด้วยการขึ้นอันดับ 9 ของโลกในเดือน ส.ค.

พลังวิเศษ...จากในหลวง แรงผลักดัน ‘ภราดร’ สู่ตำนาน

 

อดีตนักหวดลูกสักหลาด วัย 37 ปี ยังเผยด้วยว่า พระองค์ท่านไม่เพียงเป็นแบบอย่างของนักกีฬา และอุปถัมภ์ค้ำชูวงการกีฬาเท่านั้น แต่ยังทรงเป็นกำลังใจและทอดพระเนตรนักกีฬาไทยเสมออย่างที่หลายคนเคยได้ยินมาบ้างแล้ว และมีครั้งหนึ่งที่ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ นั่นคือตอนแข่งขันวิมเบิลดันปี 2003

“วันนั้นเป็นการแข่งขันรอบสองของวิมเบิลดัน เจอกับนักเทนนิสชาวฝรั่งเศส (โอลิวิเยร์ มูติส) เล่นไปแล้ว 2 เซต ผมแพ้ไปแล้วทั้ง 2 เซต ซึ่งแข่ง 3 ใน 5 แพ้อีกไม่ได้แล้ว หลังจากนั้นมีฝนตกลงมาทำให้ต้องหยุดแข่ง และให้นักกีฬากลับเข้าไปในห้องพักได้ 5-10 นาที ผมกำลังจะเปลี่ยนเสื้อผ้า และมีเจ้าหน้าที่ของทัวร์นาเมนต์เดินมาตามว่า ภราดร มีโทรศัพท์ ผมก็แปลกใจว่ามีใครโทรมาตอนนี้ เมื่อรับโทรศัพท์ เสียงปลายสายเป็นเสียงของราชเลขาฯ ส่วนพระองค์บอกว่า ภราดร ตอนนี้พระองค์ท่านทอดพระเนตรอยู่นะ ตั้งใจนะ พระองค์ท่านทรงเป็นกำลังใจให้ นาทีนั้นรู้สึกตื้นตันและปลื้มปีติมาก”

หลังวางโทรศัพท์ ภราดร เดินไปบอกคุณพ่อชนะชัย ศรีชาพันธุ์ และอีกประมาณ 1 ชั่วโมงหลังจากนั้นทุกอย่างก็พร้อมแข่งต่อ พร้อมกับความตั้งใจต้องเอาชนะให้ได้

“เมื่อพระองค์ทรงรับสั่งและให้กำลังใจขนาดนี้ เป็นพลังวิเศษ ทำให้วิ่งทุกลูก เก็บทุกแต้ม และเป็นไปอย่างที่ตั้งใจไว้ คือกลับมาชนะ 3-2 เซต และสามารถเข้าถึงรอบ 16 คนสุดท้ายได้เป็นครั้งแรกในศึกแกรนด์สแลม ก่อนจะแพ้ให้กับ แอนดี ร็อดดิก (มือ 6 ของโลกในขณะนั้น)” ซูเปอร์บอล ย้อนความหลัง

นับเป็นความปลาบปลื้มสูงสุดในชีวิตพสกนิกรชาวไทยคนหนึ่งอีกครั้ง นอกเหนือจากเมื่อครั้งที่พระองค์ได้ตรัสกับผู้ดูแลในการเข้าเฝ้าฯ ครั้งแรกว่า “ดูแลภราดรให้ดีนะ ภราดรเป็นสมบัติของชาติ” ซึ่งเจ้าตัวเผยว่ารู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งที่ให้เกียรติกับนักกีฬาคนหนึ่ง

ความโชคดีในการได้เข้าเฝ้าฯ พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2546 หลังจากคว้าแชมป์ทีดี วอเตอร์เฮาส์ สมัยที่ 2 ติดต่อกัน โดยครั้งนี้ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ทั้งครอบครัว ที่วังไกลกังวล เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายถ้วยรางวัลอีกใบ

“แต่ครั้งนี้พระองค์ท่านทรงไม่รับไว้ และตรัสว่าให้เอาเก็บไว้ที่บ้าน เป็นที่ระลึกให้พ่อแม่ได้ชื่นชมความสำเร็จของลูก ทำให้ตอนนี้มีถ้วยรางวัลอยู่ที่พระราชวัง 1 ใบ และที่บ้าน 1 ใบ”

ภราดร ยังเล่าว่า การเข้าเฝ้าฯ ครั้งที่ 2 นี้ ได้มีโอกาสพูดคุยกับพระองค์ท่านอยู่นาน และพระองค์ได้สอนหลายอย่าง ทั้งเรื่องของการศึกษาคู่ต่อสู้ และสภาพแวดล้อมในการแข่งขัน เช่น ต้องดูสภาพสนามว่าเป็นอย่างไร ถ้าดูไม่ชัดก็ให้ดูตอนฝนตกและดูว่าน้ำเอียงไปทางไหน ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักกีฬา พระองค์สอนให้รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย

“เป็น 3 คำที่นำไปสู่ความสำเร็จได้ทั้งในการเล่นกีฬาและชีวิตจริง เพราะถ้าเรารู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย เราจะอยู่ในสังคมร่วมกันอย่างมีความสุข”

อดีตนักหวดมือ 1 เอเชีย ซึ่งปัจจุบันผันตัวไปเป็นนักกอล์ฟอาชีพ ยังเผยด้วยว่า หากถามว่าทำไมคนไทยถึงรักในหลวงมากมายขนาดนี้ คงไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายออกมาเป็นคำพูด แต่ถ้าจะเปรียบเทียบให้ชาวต่างชาติได้เข้าใจ ก็คงให้พวกเขานึกถึงประวัติศาสตร์ของตัวเอง เพราะถ้าไม่มีกษัตริย์คอยนำพาประเทศ เราคงไม่มีทุกวันนี้ เป็นความรักที่ถูกสะสมมายาวนาน เพราะเกิดมาก็เห็นในหลวงทรงงานพัฒนาประเทศมาตลอด

“ ความสูญเสียครั้งนี้นับเป็นความเศร้าโศกเสียใจอย่างยิ่งใหญ่ของคนไทย แต่สิ่งที่เราทำได้คือน้อมนำเอาคำสอนและพระราชกรณียกิจที่เปิดอยู่ในตอนนี้ ซึ่งหลายโครงการไม่เคยรู้มาก่อน นำไปปฏิบัติ พระองค์ท่านจะอยู่ในใจพวกเราไปตลอด” ภราดร ทิ้งท้าย