posttoday

กฎหมายในรัชกาลที่ 9

18 ตุลาคม 2560

นักร่างกฎหมายนั้น แท้จริงแล้วเป็นการถวายงานพระมหากษัตริย์โดยตรงมาตั้งแต่ครั้งอดีต

โดย...ปกรณ์ นิลประพันธ์รองเลขากฤษฎีกา

นักร่างกฎหมายนั้น แท้จริงแล้วเป็นการถวายงานพระมหากษัตริย์โดยตรงมาตั้งแต่ครั้งอดีต แม้ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 จะมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการร่างกฎหมายอยู่บ้าง แต่ท้ายที่สุดแล้วก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมาย พระมหากษัตริย์จะทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างกฎหมายที่นักร่างกฎหมายเป็นผู้จัดทำขึ้น

ความภาคภูมิใจของนักร่างกฎหมายที่ได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาทนี้มีผลโดยตรงต่อวิธีคิดและวิธีทำงานของนักร่างกฎหมาย เพราะพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงมีพระราชปณิธานให้ประเทศชาติและพสกนิกรของพระองค์มีความสุขความเจริญอย่างยั่งยืน

งานร่างกฎหมายจึงไม่ใช่งานประเภทที่ทำกันอย่างลวกๆ ไปวันๆ หรือทำตามแบบ ลอกแบบ ลอกกฎหมายต่างประเทศ หรือทำตามคำขอของใครต่อใคร ทั้งมิใช่การตรวจคำถูกคำผิด การใช้คำกับ แก่ แต่ ต่อ และ หรือ ตามที่ผู้คนจำนวนมากมีความเข้าใจผิด แต่เป็นการทำงานประเภทที่ทุกอย่างต้อง "ดีที่สุด" เพื่อให้ร่างกฎหมายที่จะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายนั้นเป็นกฎหมายที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมสมดั่งพระราชปณิธานของพระมหากษัตริย์

นอกจากต้องมีความรู้ความสามารถดังกล่าวแล้ว นักร่างกฎหมายยังต้องเป็นผู้มีจิตใจสะอาด สว่าง และสงบ ปราศจากอคติ 4 อันได้แก่ ฉันทาคติ โทสาคติ ภยาคติ และโมหาคติ เพราะกฎหมายใช้บังคับแก่ประชาชนทุกคน หากจิตใจไม่มั่นคงหรือมีอคติเสียแล้ว ร่างกฎหมายที่ทำขึ้นก็จะเต็มไปด้วยอคติ ไม่ใช่กฎหมายที่ดี ซึ่งนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมาอีกด้วย

ที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นความภาคภูมิใจของนักร่างกฎหมายที่ได้ถวายงานแด่พระมหากษัตริย์มาโดยตลอด แม้ดูเหมือนจะเป็นภารกิจที่หนักหนา แต่ก็มีวันหยุดวันพัก ความหนักหนาของภารกิจของนักร่างกฎหมายแต่ละคนจึงไม่อาจเทียบแม้กระทั่งละอองธุลีพระบาทของพระมหากษัตริย์ซึ่งจะต้องมีพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับร่างกฎหมายทุกฉบับอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนลงพระปรมาภิไธย

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แม้จะทรงตรากตรำกับพระราชกรณียกิจเยี่ยมเยียนราษฎรภายในขอบขัณฑสีมามากมายประการใด พระองค์ทรงใส่พระทัยในพระราชกรณียกิจด้านกฎหมายไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน และมีพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับร่างกฎหมายแต่ละฉบับโดยละเอียด

ดังเช่นในปี 2546 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้สำนักราชเลขาธิการส่งร่างกฎหมายสองฉบับที่มีข้อบกพร่องซึ่งแม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยคืนแก่รัฐสภาเพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง ในพระราชกระแสองค์นั้นทรงอธิบายว่าหากร่างกฎหมายทั้งสองฉบับนั้นประกาศใช้เป็นกฎหมายไปแล้วย่อมไม่อาจนำไปใช้ให้สัมฤทธิผลตามความประสงค์แห่งการตรากฎหมายนั้นๆ และอาจก่อให้เกิดความยุ่งยากขึ้นในอนาคต

ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกถึง 71 ปี และทรงลง พระปรมาภิไธยในกฎหมาย 13,524 ฉบับ เป็นกฎหมายระดับรัฐธรรมนูญ 29 ฉบับ ระดับพระราชบัญญัติ 3,294 ฉบับ ระดับพระราชกำหนด 179 ฉบับ และระดับพระราชกฤษฎีกา 10,022 ฉบับ

แม้กระทั่งระยะเวลาที่พระองค์ทรงประชวรก็ยังคงทรงงานด้านกฎหมายอย่างต่อเนื่อง และทรงลงพระปรมาภิไธยในกฎหมาย 3 ฉบับสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2559 ก่อนเสด็จสวรรคตในวันที่ 13 ต.ค. 2559 ปวงข้าพระพุทธเจ้านักร่างกฎหมายขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ และขอปฏิญาณว่าจะดำรงความเป็นนักร่างกฎหมายที่ดีตามรอยพระบาทจนกว่าชีวิตจะหาไม่ n