posttoday

ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ จึงมั่นใจว่าอยู่ยาว?

27 สิงหาคม 2560

ทวี สุรฤทธิกุล

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

ตอบแบบไทยๆ ก็คือ “ท่านเป็นผู้มีบุญ”

คนไทยเชื่อว่า “ผู้มีบุญ” คือผู้ที่ประกอบคุณงามความดีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานอย่างเช่น พระโพธิสัตว์ที่เป็นผู้มีบารมีในระดับสูง ก็ต้องประกอบคุณงามความดีมาหลายชาติหลายภพ อย่างพระพุทธเจ้าของเราก็เสวยชาติเป็นพระโพธิสัตว์มาถึง 500 ชาติ โดยมีชาติใหญ่ๆ 10 ชาติ เรียกว่า “ทศชาติ” โดยในชาติสุดท้ายได้เสวยชาติเป็นพระเวสสันดรนั้น

สำหรับคนทั่วไปการประกอบคุณงามความดีก็คือ การสั่งสม “บุญบารมี” โดย “บุญ” ซึ่งก็หมายถึงคุณงามความดีที่ได้กระทำจะส่งเสริมให้เกิด “บารมี” คือได้รับความเคารพนับถือจากคนอื่น หรือคนทั้งหลายให้การยอมรับและเชื่อฟัง ในลักษณะที่เรียกว่าเป็น “ผู้มีอำนาจ” ไปจนถึงทำให้เกิดความศรัทธาเชื่อมั่นที่อาจจะถึงขั้นเป็น “ศาสดา” หรือ “ผู้วิเศษ” แต่บางคนเมื่อมีบารมีแล้วก็ละเลยไม่ได้ทำคุณงามความดีสืบต่อ แต่ได้ใช้ความเคารพนับถือเพิ่มพูนอำนาจให้แก่ตนเอง หรือแสวงหาประโยชน์เข้าตัวตนเองและพวกพ้อง กลายเป็น “คุณชั่วความเลว” บารมีนั้นก็จะค่อยๆ เสื่อมลงไป กลายเป็น “ผู้สิ้นบุญ” หรือ “หมดบุญ” ในที่สุด

สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในทัศนะนี้ก็ต้องถือว่าเป็นผู้มีบุญมากๆ อย่างยิ่งท่านหนึ่ง อย่างที่สำนวนไทยเรียกว่า “ผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่” ซึ่งจากข้อมูลที่ผู้เขียนรวบรวมมาได้ ท่านน่าจะมีบุญที่สำคัญๆ อยู่ทั้งภายในและรอบๆ ตัวท่านถึง “3 ประการ” ดังนี้

“บุญประการแรก” ของท่านก็คือ ท่านมีความเจริญก้าวหน้าในกองทัพจนได้เป็นถึงผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกนี้เป็นตำแหน่งเดียวที่สามารถจะทำรัฐประหารได้สำเร็จ ทั้งนี้ การที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งนี้ไม่ใช่ว่าจะสามารถเป็นได้ง่ายๆ ตามระบบของกองทัพแล้วจะต้องเห็นแววกันมาตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อย และเมื่อมารับราชการที่เติบโตมาตามลำดับก็จะมีการเชื่อมโยงกันเป็นรุ่นเป็นเหล่า สร้างสมบารมีมาเรื่อยๆ ดังนั้น เมื่อจะทำการใดก็จะมีความพร้อมเพรียงและเป็นพลังสนับสนุนไปยาวนาน

“บุญประการที่สอง” ของท่านก็คือ ความเจริญก้าวหน้าทางอาชีพทหารของท่านดำเนินไปในยุคที่สังคมมีความขัดแย้ง “อย่างสูงสุด” จนกระทั่งคู่ขัดแย้งนั้นฟาดฟันกันถึงขั้นย่อยยับไปทั้งคู่ โดยพวกหนึ่งต้องเผชิญชะตากรรมด้านคดีความและหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ อีกพวกหนึ่งแอบซบฝ่ายทหารและพยายามยกย่องเชิดชูทหาร ดังนั้น เมื่อท่านทำรัฐประหารได้ จึงดู “ลอยลม” คือแรงเสียดทานก็ถูกทำลาย แถมแรงส่งก็เข้มแข็ง ตามภาษาของคนเล่นว่าวว่า “ติดลมบน” ยากที่จะมีแรงกระชากใดๆ ทำให้ร่วงหล่นมาสู่พื้นได้

“บุญประการที่สาม” ของท่านก็คือ สถานการณ์ “พิเศษ” ในบ้านเมืองที่เสริมส่งให้ท่านมีความโดดเด่น เพราะในสถานการณ์อย่างนี้ ถ้าให้นักการเมืองที่จากการเลือกตั้งมาจัดการ ก็อาจจะมีข้อครหาถึงเรื่องความเชื่อใจ หรืออาจจะทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่เนื่องเพราะทหารเป็นสถาบันที่ค้ำจุนสถาบันสูงสุดมาช้านาน จึงเป็นที่เชื่อใจของสังคม แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือสังคมไทยได้มอบความไว้วางใจให้กับทหารในการดำเนินบทบาท เพื่อค้ำจุนและปกป้องสถาบัน โดยที่สถาบันหรือองค์กรทางการเมืองอื่นไม่อาจจะทำหน้าที่นี้ได้

อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนี้ก็ไม่ใช่ตำแหน่งที่ “สุขสบาย” เท่าใดนัก แม้ว่าในสายตาของคนภายนอกอาจจะมองว่าเป็น “บุญหล่นทับ” หรือ “ราชรถมาเกย” แต่ความจริงสำหรับคนที่ไปรับตำแหน่งนี้มักจะเป็น “ทุกขลาภ” คือต้องทำงานอยู่บนกองปัญหา ท่ามกลางผู้คนที่มีความต้องการหลากหลายที่มักจะมีความขัดแย้งกัน ลักษณะการทำงาน จึงเป็นเหมือนอยู่ใน “กองไฟ” ที่มีทุกข์ร้อนรุมเร้าอยู่ตลอดเวลา

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้เคยเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ 11 เดือน ในช่วงเวลาที่บ้านเมือง “ลุกเป็นไฟ” เคยกล่าวไว้ว่าผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ทนทานต้องเป็นคนประเภท “คอทั่งสันหลังเหล็ก” คือทนต่อการถูกทุบตีได้เหมือนทั่ง ทนต่อความร้อน และแรงเสียดสีได้เหมือนเหล็ก อนึ่งผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนี้จะต้อง “เสพวิกฤตเป็นภักษาหาร” คือจะต้องหล่อเลี้ยงชีวิตอยู่ท่ามกลางความวุ่นวาย หาความสงบสุขมิได้ ดังนั้น ใครที่คิดว่าจะมาเสวยสุขในตำแหน่งนี้ จึงเป็นการคิดที่ผิดพลาดโดยสิ้นเชิง

ถ้าท่านทั้งหลายยังจำได้ ในอดีตเคยมีนายทหารท่านหนึ่งคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผู้มีบุญบารมี “สุดๆ” ทั้งในส่วนของกองทัพและพรรคการเมือง รวมถึงประชาชนในทุกระดับชั้น ท่านเป็นคนพูดน้อยจนได้ฉายาว่า “เตมีย์ใบ้” (พระโพธิสัตว์องค์หนึ่งในทศชาติ) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองหลายคนในสมัยนั้นวิเคราะห์ว่า ท่านพูดน้อยเพื่อไม่ให้มีการกระทบกระทั่ง และเป็นกุศโลบายที่จะให้ทุกคน “ทำมากกว่าพูด” กระนั้นท่านก็ต้องเผชิญวิกฤตต่างๆ มากมาย เคยถูกลอบสังหารก็หลายครั้ง มีเหตุการณ์กบฏ และการแย่งชิงผลประโยชน์ของลิ่วล้อบริวาร แต่ท่านก็สามารถอยู่ในตำแหน่งได้กว่า 8 ปี ทว่าที่สุดท่านก็แพ้ภัยในความที่อยู่ในตำแหน่งอย่างยาวนานนั้นเอง นั่นก็คือสภาวะ “เบื่อป๋า” และท่านต้องประกาศว่า “ป๋าพอแล้ว” เพื่อลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างสง่างาม

ผู้เขียนไม่อาจจะเปรียบเทียบได้ว่าระหว่าง พล.อ.เปรม กับ พล.อ.ประยุทธ์ ท่านใดจะมีบุญบารมีสูงส่งกว่ากัน เพราะต่างยุคต่างสมัยและต่างสภาพแวดล้อม รวมถึงบุคลิกภาพเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน แต่ถ้าจะเปรียบเทียบโดยอาศัยทฤษฎี “สถานการณ์พิเศษ” ก็น่าจะทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ อยู่ไปอีกได้ยาวๆ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ เองก็น่าจะเชื่ออย่างนั้น

ใครที่จะลงเลือกตั้งในปีหน้าก็คงจะต้อง “อาศัยใบบุญ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ นี้ด้วย