posttoday

"คนนั่งรถเมล์" ต้องมีสิทธิบนถนนเท่ากับ "คนนั่งรถยนต์ส่วนตัว"

14 สิงหาคม 2560

คอลัมน์ Big City โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

คอลัมน์ Big City โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

สัปดาห์ก่อนอารมณ์เดือดของ “น้องอิมเมจ เดอะวอยซ์” ที่โพสต์ผ่านทวิตเตอร์กลายเป็นดราม่าในโลกออนไลน์

"เอาจริงๆ นะ แค่ทำให้รถเมล์รถตู้มาสม่ำเสมอทุกเส้นทางยังทำไม่ได้เลย จะเอาอะไรไปเจริญ ตลก"

"ยินดีจะทำงานหนัก ยินดีจ่ายภาษีที่แพงกว่านี้ ถ้าสวัสดิการในชีวิตประจำวันจะดีกว่านี้"

“ประเทศเฮงซวย จะอีก 50 ปี หรืออีก 1000 ปี ก็ไม่เจริญขึ้นหรอก ยิงกูดิ”

คนสนิทของน้องอิมเมจอธิบายคำพูดดังกล่าวว่า วันนั้นน้องตัดสินใจอยากเดินทางกลับบ้านเองและนั่งรอรถเมล์นานจนทำให้เกิดอารมณ์ไม่พอใจ เมื่ออารมณ์ชั่ววูบหายไป น้องก็ลบข้อความออก

เรื่องอารมณ์สุดเซ็งในการเดินทางในกรุงเทพฯ ของน้องอิมเมจ ผมเข้าใจดีครับ

เพราะแต่ละวัน เป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้วที่ผมต้องเดินทางด้วยรถสาธารณะแทบครบทุกรูปแบบ ไล่ตั้งแต่รถเมล์ รถตู้ รถไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถสองแถว พูดง่ายๆ ว่าจากบ้านที่ปทุมธานีมาทำงานที่คลองเตยนั้นขาดเพียงแค่เรืออย่างเดียว

2 ชั่วโมง ไปกลับเท่ากับ 4 ชั่วโมงที่หมดไปบนท้องถนนในแต่ละวัน เดือนหนึ่ง 30 วัน ลบวันหยุดก็เหลือประมาณ 20 วัน เท่ากับ 80 ชั่วโมง/เดือน ปีหนึ่งก็เท่ากับ 960 ชั่วโมง/ปี ที่ต้องเสียเวลาไปบนท้องถนน

ฉะนั้น เข้าใจดีว่าการรอคอยและการเดินทางอันยาวนานนั้นเป็นปัญหาขนาดไหน

 

"คนนั่งรถเมล์" ต้องมีสิทธิบนถนนเท่ากับ "คนนั่งรถยนต์ส่วนตัว"

 

ปัญหารถเมล์และการจราจรติดขัด ผมเคยคุยเรื่องนี้กับ ยรรยง บุญ-หลง สถาปนิกชุมชนชื่อดัง

เขาชี้ว่ารัฐต้องลงทุนและให้ความสำคัญกับระบบขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะ “รถเมล์” อย่างแท้จริง โดยภาพทัศนคติที่อยากให้ผู้มีอำนาจรวมถึงคนเมืองรับรู้ก็คือ "รถเมล์ 1 คัน = รถยนต์ 72 คัน"

“สมมติคนหนึ่งคนมีสิทธิขั้นต่ำเท่ากับรถยนต์ 1 คันบนถนน จะพบว่ารถเมล์ซึ่งสามารถจุคนได้ 72 คน จะมีสิทธิเท่ากับขบวนรถ 72 คันต่อกัน เมื่อคิดว่าในช่วงเร่งด่วนคนขับเฉลี่ย 1 คน/1 คัน”

เขาบอกว่ารถเมล์เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการแก้ไขปัญหาสภาพจราจร หากรัฐบาลไทยกล้าเปลี่ยนแปลง กำหนดให้มวลชนเป็นที่ตั้ง มองรถเมล์มีสิทธิเหนือรถยนต์ส่วนตัวบนพื้นที่ถนนอันจำกัด โดยสร้างเลนด่วนพิเศษที่ไม่ติดขัดให้อย่างจริงจังและมีโครงข่ายเชื่อมต่อที่ดี มิใช่แบบบีอาร์ทีที่เชื่อมต่อน้อยเกินไป และยังพบปัญหาในการละเมิดสิทธิผู้นั่งรถเมล์ด้วยการนำรถยนต์ส่วนตัวเข้าไปวิ่งในเลนพิเศษด้วย

นอกเหนือไปจากสิทธิบนท้องถนนแล้ว แกยังเห็นว่ารัฐบาลควรลงทุนกับความสามารถและประสิทธิภาพของตัวรถเมล์ด้วย เพื่อตอบสนองผู้ใช้งานทุกระดับตั้งแต่ล่างยันบน

“ซื้อรถเมล์หรูให้ประชาชนไม่เป็นไรหรอกครับ ตราบใดที่มีเลนด่วนและไม่ติด นักธุรกิจสามารถนั่งไปประชุมและเชื่อมต่อกับระบบที่ ‘ไม่ติด’ อื่นๆ ได้อย่างเป็นระบบ เช่น ระบบรถไฟฟ้าและเรือในคลองซึ่งต้องหรูกว่านี้  ถ้าเอามวลชนเป็นตัวตั้ง จะพบว่าจำนวน ‘คน’ ที่ไม่ติดจะมีมากขึ้นอย่างมหาศาล ทำยังไงให้คนไม่ติด สำคัญกว่าทำยังไงให้ ‘รถ’ ไม่ติด"

สถาปนิกด้านการออกแบบพัฒนาที่อยู่อาศัยรายนี้ บอกด้วยว่า เวลาที่สูญเสียไปบนท้องถนนคือสิ่งที่ประชาชนจะได้กลับคืนมาจากการลงทุนกับระบบสาธารณะอย่างจริงจัง โดยยกตัวอย่างความสำเร็จในต่างแดนของ “เช กูวารา” นักปฏิวัติชื่อก้องโลกให้ฟังว่า

เช เน้นเรื่องสิทธิของพลเมืองกับรถเมล์ และเคยปล่อยให้ภรรยานั่งรถเมล์พาลูกชายที่กำลังป่วยหนักไปโรงพยาบาล เมื่อเพื่อนหลายคนถามว่าทำไมเขาถึงไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัว เช ตอบกลับว่า ภรรยาและลูกเขามีสิทธิเท่ากับพลเมืองอื่น ระบบรถเมล์ก็สะดวกดี รถไม่ติดและถึงโรงพยาบาลได้โดยไม่เสียเวลา

แนวคิดเรื่องรถเมล์และสิทธิพลเมืองดังกล่าวถูกกลุ่มประเทศในละตินอเมริกาและอีกหลายประเทศนำไปใช้ทำระบบบีอาร์ที อย่างในเมืองโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย เมืองคูริติบา ประเทศบราซิล แม้แต่สหรัฐอเมริกาเองก็เริ่มใช้ระบบนี้กันอย่างกว้างขวาง

ผมฟังยรรยงพูดแล้วนึกถึงประโยคคลาสสิกของ “เอนริเก เปญาโลซา” อดีตนายกเทศมนตรีเมืองโบโกตา

“เมืองที่พัฒนาแล้วไม่ใช่เมืองที่คนจนทุกคนหันมาใช้รถ แต่เป็นเมืองที่คนรวยทุกคนหันมาใช้ขนส่งมวลชน”

ประเทศไทยจะมีวันนั้นได้ยังไง...แค่สั่งซื้อรถเมล์ใหม่ยังมีปัญหาเลย


ภาพประกอบ : พื้นที่ถนนที่เอาไว้รองรับคนจำนวน 72 คน โดยใช้ 1. จักรยาน 2. รถยนต์ 3 รถเมล์ Photo Credit: City of Münster’s planning department, 1991