posttoday

กระบวนการพรากสิทธิ กรณีป่าชุมชนบุญเรือง

28 มิถุนายน 2560

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด

โดย...ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

กระบวนการที่ผู้คนในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ อาจเรียกว่า “กระบวนการพรากสิทธิ” เพื่อการพัฒนา หรือ Developmentalist regime of de-possession ดังตัวอย่างของการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร และการยึดครองที่ดินสาธารณะเพื่อทำเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐ

กระบวนการพรากสิทธิ มีได้ 2 ลักษณะใหญ่ คือ กระบวนการพรากสิทธิตามกลไกทางเศรษฐกิจ เช่น การขายที่ดินเพื่อชำระหนี้ หรือที่ดินหลุดมือ และกระบวนการพรากสิทธิโดยกลไกนอกเหนือเศรษฐกิจ นั่นก็คือ ไม่ใช่การพรากสิทธิตามกลไกตลาด แต่เป็นการพรากสิทธิโดยกลไกรัฐ

ปัญหาของการพรากสิทธิโดยกลไกรัฐก็คือ รัฐไม่ได้ใช้อำนาจของตน เพื่อพรากสิทธิไปสร้างประโยชน์สาธารณะ หรือสินค้าสาธารณะ (Public Goods) เหมือนอย่างที่เคยเข้าใจกัน แต่รัฐกลับใช้อำนาจของตน ไปพรากสิทธิ เพื่อนำเอาสินค้าหรือทรัพยากรไปให้เอกชน (บางราย) ใช้ซื้อหรือเช่าใช้ประโยชน์ในระยะยาว เช่น การนำเอาที่ดินหรือป่าชุมชนไปทำนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

กลายเป็นว่า รัฐบาลกำลังใช้ “อำนาจสาธารณะ” ไปตอบโจทย์ของ “ผลประโยชน์ของเอกชน” ไม่ว่าเอกชนที่ได้รับประโยชน์นั้นจะมีความสัมพันธ์ภายในกับผู้ใช้อำนาจรัฐหรือไม่ก็ตาม

ในสภาพการณ์แบบนี้ รัฐจึงไม่ได้ทำหน้าที่ “รัฐพัฒนา” หรือ Developmentalist State แต่หันมาทำหน้าที่เป็น “รัฐนายหน้า” หรือ Boker State ให้กับ “นักลงทุน” แทน

หลายครั้ง รัฐนายหน้าจะพรากสิทธิไปมากกว่าที่ตนหรือเอกชนจะใช้จริงเสียอีก เช่น เอาที่ดินสาธารณะไปเป็นที่ดินเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อรอการใช้ประโยชน์ แต่ปรากฏว่า การลงทุนที่เกิดขึ้นจริงกลับมีน้อยมาก กลายเป็นว่า รัฐนายหน้ามิได้มีแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินจริงๆ แต่ใช้อำนาจพรากสิทธิของชุมชนไปก่อน เพื่อไปเร่ขายให้กับนักลงทุน (ซึ่งอาจขายได้หรือไม่ได้)

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ กรณีป่าชุมชนบุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ที่ถูกเสนอให้เป็นที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่ป่าชุ่มน้ำริมแม่น้ำอิง ที่ชุมชนยังคงใช้ประโยชน์เป็นประจำ

ผมจึงชวนให้นิสิตสาขาวิชาการจัดการทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2 คน คือคุณถิราพร กับคุณภณิดาลงไปศึกษารวบรวมข้อมูลเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน จนได้บทสรุปที่น่าสนใจหลายประการ ดังนี้

ป่าชุมชนบุญเรืองเป็นป่าชุ่มน้ำริมแม่น้ำอิง พื้นที่ 3,700 กว่าไร่ ในหน้าน้ำ น้ำจะท่วมบริเวณป่า จนเกินหนองน้ำขึ้น 31 หนอง ปัจจุบัน ป่าชุมชนบุญเรืองยังคงมีความสมบูรณ์มาก มีไม้ใหญ่น้อยจำนวนมาก ถ้าใช้เกณฑ์ป่าเสื่อมโทรมมาเทียบ ป่าบุญเรืองมีความสมบูรณ์ของพรรณไม้มากกว่าป่าเสื่อมโทรมตามเกณฑ์ถึง 8 เท่า

มูลค่าประโยชน์ทางตรงที่ชาวบ้านทั้ง 5 หมู่บ้าน ไปเก็บหาของป่าอยู่ 27 รายการ โดยรายการที่มีมูลค่าสุทธิมากที่สุด คือ รังต่อ หน่อไผ่ ปลาตะเพียน และรวมมูลค่าการใช้ประโยชน์ทางตรงรวมกันทั้งสิ้น 14 ล้านบาท/ปี และมีผู้เข้าใช้ประโยชน์ทั้งหมดมากกว่า 600 ครัวเรือน

แต่มูลค่าที่มากกว่าประโยชน์ทางตรงคือ ผลประโยชน์ทางอ้อม ได้แก่ การกักเก็บคาร์บอนเกือบ 2 แสนตัน/ปี การเป็นแหล่งกักเก็บน้ำมากกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร การเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ การเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และการเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ

อย่างไรก็ดี เมื่อนำบริการทางระบบนิเวศเหล่านี้มาเทียบเคียงเป็นมูลค่า พบว่า ป่าบุญเรืองมีมูลค่าการใช้ประโยชน์ทางอ้อมกว่า 111 ล้านบาท/ปี มากยิ่งกว่ามูลค่าประโยชน์ทางตรงหลายเท่า

เมื่อรวมประโยชน์ทางตรงและทางอ้อมแล้ว ป่าบุญเรืองมีมูลค่ามากกว่า 125 ล้านบาท/ปี และมูลค่าทั้งหมดนี้ที่ชุมชนและสาธารณชนได้ประโยชน์ก็จะต้องสูญเสียไป หากเปลี่ยนเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

นอกจากนั้น น้องนิสิตและชุมชนบุญเรืองยังได้วางแผนกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชน 4 กิจกรรม คือ การเดินป่า การปั่นจักรยาน การตกปลา และการเปิดพื้นท่ี่ขายสินค้าของชุมชน โดยมีการคำนวณขีดความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยวในด้านต่างๆ อย่างละเอียด เช่น พื้นที่เดินป่า ห้องน้ำ ที่จอดรถ

โดยภาพรวมพบว่า พื้นที่ป่าบุญเรืองสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 200 คน/วัน แต่สิ่งที่ต้องรีบดำเนินการก่อนเปิดการท่องเที่ยวคือ การจัดการขยะชุมชน ซึ่งหากดำเนินการได้สำเร็จมูลค่าของประโยชน์ทางตรงจากป่าแห่งนี้ก็จะยิ่งเพิ่มพูนขึ้นไปอีก

แต่หากรัฐบาลพรากสิทธิของชุมชนไป ผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมเหล่านี้ รวมถึงศักยภาพที่จะพัฒนาขึ้นในอนาคตของชุมชนก็ต้องหายไปด้วย เหลือแต่สิทธิในการพัฒนาของนายทุนแทน

พี่น้องเชียงรายเตรียมนำข้อมูลเหล่านี้ไปเจรจากับภาครัฐ เพื่อรักษาสิทธิในป่าชุมชนของตน มิให้ถูกพรากเพื่อการพัฒนา

การต่อสู้กับการใช้อำนาจรัฐที่มาพรากสิทธิประชาชน จึงจำเป็นต้องผนึกกำลังกัน ทั้งในส่วนของชุมชนของเจ้าของพื้นที่ และภาควิชาการที่จะนำข้อมูลของสิทธิ (ของประชาชน) ที่กำลังจะถูกพรากมาทำให้เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่า กระบวนการพรากสิทธินั้นมันไม่ชอบธรรมเพียงใด