posttoday

พรป.พรรคการเมืองฉบับ "พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม"

14 พฤษภาคม 2560

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

การเมืองไทยยุคหน้าท่าจะใสสะอาดจริงๆ สังเกตได้จาก “มาตรการทางกฎหมาย” ตั้งแต่ระดับบนสุดคือตัวรัฐธรรมนูญ ลงไปตามลำดับ ได้แก่ กฎหมายลูกคือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ รวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่กำลังจะตามออกมา ล้วนแต่มีความเด็ดขาดจริงจังในการที่จะ “เอาจริง” กับนักการเมืองและระบบการเมืองที่ไม่ดี

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (ที่เรียกย่อๆ ว่า พ.ร.ป.) ที่กำลังดำเนินการอยู่และมีความน่าสนใจว่าจะสามารถ “จัดการ” กับนักการเมืองที่ไม่ดีเหล่านั้น และจะสามารถ “สร้างเสริม” ให้ระบบการเมืองไทยดีขึ้นได้จริงหรือไม่ ฉบับหนึ่งนั้นก็คือ “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง” ซึ่งขณะนี้ได้พิจารณาในวาระที่ 2 โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญเรียงรายมาตราใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว

คณะกรรมาธิการวิสามัญคณะนี้มี พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) หลังการรัฐประหารเมื่อเดือน ก.ย. 2549 เป็นประธานคณะกรรมาธิการ เริ่มประชุมนัดแรกในวันจันทร์ที่ 24 เม.ย. ซึ่งมาถึงวันนี้ประชุมไปแล้ว 10 ครั้ง โดยมีการประชุมกันทุกวันจันทร์ อังคาร และพุธ แต่ก็มีสัปดาห์หนึ่งระหว่างวันจันทร์ที่ 1 พ.ค.ถึงวันศุกร์ที่ 5 พ.ค. ได้มีการประชุมกันทุกวัน เพราะต้องเร่งรัดให้กฎหมายฉบับนี้เสร็จภายในสิ้นเดือน พ.ค.นี้ เนื่องจากจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระที่ 1 ซึ่งได้ผ่านมาแล้วเมื่อวันที่ 21 เม.ย.ดังนั้นภายในวันที่ 20 มิ.ย. ร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ต้องมีการพิจารณาในวาระที่ 3 เพื่อให้ สนช.ทั้งสภาลงมติให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป แต่ก็ต้องมีเวลาให้สมาชิก สนช.ได้มีเวลาพิจารณาอีกพอสมควรอย่างน้อยสัก 15 วัน ด้วยเหตุนี้ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญต้องรีบเร่งพิจารณาให้เสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ ก็เพื่อจัดสรรเวลาให้สมาชิก สนช.ได้มีเวลาพิจารณาอย่างพอเพียงนั่นเอง

ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับนี้มี 142 มาตรา ร่างโดยคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานนั่นเอง จึงไม่ต้องประหลาดใจที่ร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้จะมีความ “แข็งกร้าว” ในการที่จะจัดการอย่างจริงจังกับนักการเมืองที่ไม่ดีทั้งหลาย ไม่ใช่แค่การทำงานการเมืองตั้งแต่การคิดจะก่อตั้งพรรค ไปจนถึงการบริหารกิจการของพรรคและดูแล สส.และสมาชิกของพรรคเท่านั้น แต่รวมถึงการดูแลให้คนที่ไม่ใช่สมาชิกของพรรคหรืออยู่นอกพรรครวมทั้งที่ “อยู่นอกประเทศ” เข้ามายุ่มย่ามในการทำงานของพรรคอีกด้วย ซึ่งก็เป็นใครไม่ได้นอกจาก “อดีตนายกฯ หนีคดี” คนนั้นนั่นแล

“ข้อปัญหา” ในการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้มีอยู่มากมาย เอาไว้ให้ผ่านการพิจารณาในขั้นคณะกรรมาธิการนี้ให้จบสิ้นเสียก่อน แล้วจะขอนำมาว่ากันเป็น “ฉากๆ” สำหรับท่านที่สนใจใน “อนาคตอันสุดแสนรันทด” ของพรรคการเมืองทั้งหลายที่จะต้อง “มีอันเป็นไป” ตามกฎหมายฉบับนี้ สำหรับส่วนตัวผู้เขียนที่ร่วมเป็นกรรมาธิการอยู่ด้วยผู้หนึ่ง ก็ยังหวั่นเกรงว่าอาจจะมีปัญหาในการพิจารณาในวาระที่ 3 แต่กรรมาธิการบางท่านบอกว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ต้อง “เรียบร้อยโรงเรียนมีชัย” อย่างแน่นอน เพราะนี่คือ “วิถีที่ต้องเป็นไป” อันเนื่องมาจากการกระทำของนักการเมืองที่ผ่านมาในอดีตนั่นเอง

การพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้มีบรรยากาศที่ดีมาก คณะกรรมาธิการทั้ง 31 ท่านให้ความเอาใจใส่และร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกันทุกนัด

แม้จะไม่เต็มจำนวนทั้งหมดในบางนัด แต่เมื่อได้มาร่วมประชุมแล้วก็ให้ความสนใจ ร่วมอภิปราย ให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อย่างมากมาย ภายใต้การกำกับดูแลการประชุมของท่านประธาน พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ที่ใช้หลักของการประสานประโยชน์ รับฟังอย่างรอบด้าน อดทน ใจเย็น และมีความมุ่งมั่นที่จะทำกฎหมายนี้ให้ออกมาอย่าง “ดีที่สุด”

ในนัดแรกของการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะนี้ พล.อ.สมเจตน์ได้เปิดประเด็นเกี่ยวกับความมุ่งหวังส่วนตัวของท่านในการทำกฎหมายฉบับนี้ว่า “ต้องการจะส่งเสริมและพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองการปกครองที่เป็นหลักของประเทศให้ได้จริงๆ” โดยที่ท่านก็คงจะทราบดีแล้วว่าถ้าต้องทำตามร่าง พ.ร.ป.นี้ทั้งฉบับก็คงไม่บรรลุความมุ่งหวังนั้น แต่ด้วยความสามารถในการใช้ “ลูกล่อ ลูกชน” ที่จะตะล่อมความคิดเห็นของหลายๆ ฝ่ายให้ออกมาในแนวที่จะไปสู่ความมุ่งหวังนั้น ในหลายๆ มาตราของร่าง พ.ร.ป.นี้จึงถูก “ผสมกลมกลืน” มีการแก้ไขและแปรร่างไปได้พอสมควร โดยเฉพาะการ ”เปิดรูหายใจ” ให้พรรคการเมืองทำงานได้อย่างไม่อึดอัด เช่น การลดงานธุรการของพรรค ความยืดหยุ่นในการทำกิจกรรมทางการเมือง และการลดหย่อนหรือให้ความเป็นธรรมในบทบัญญัติที่ว่าด้วยการลงโทษ ซึ่ง “ดูดี” ขึ้นมาก

บทความนี้ไม่ได้ต้องการจะเอออวยใครเป็นพิเศษ แต่อยากให้ความเข้าใจแก่สาธารณชนว่า การทำกฎหมายแม้ในยุคเผด็จการก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะที่สุดแล้วผู้เผด็จการที่ว่าเก่งที่สุดนั้น ก็ควบคุมได้แค่ “ร่าง” ของผู้ที่อยู่ใต้อำนาจเท่านั้น แต่ “ใจ” ของผู้คนนั่นเป็นอิสระเสมอ ไม่อาจจะควบคุมได้ตลอดไป ดังนั้นกฎหมายต่างๆ ที่กำลังจะออกมาตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ น่าจะมีปัญหาในการพิจารณาอยู่อีกมาก ไม่เฉพาะแต่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ต้องถูกเร่งรัดทั้งด้วยเวลาและ “ใบสั่ง” ทั้งหลาย ก็ยังมีความวุ่นวายจากภายนอกที่ “ใครบางคน” พยายามจะปลุกปั่นให้ชาวบ้านมองกฎหมายเหล่านี้ในแง่ที่จะเป็นการ “ให้ร้าย” ในแง่ต่างๆ อีกด้วย

อาจจะถึงขั้นไม่ให้เคารพกฎหมายเหล่านี้!