posttoday

เมื่อสหรัฐกลับมาจู๋จี๋กับไทย

08 พฤษภาคม 2560

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

โดย...ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ สายตรงคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลายเป็นที่สนใจทั้งของไทยและทั่วโลกเกี่ยวกับท่าทีของคุณทรัมป์ ซึ่งเดิมวางท่าใหญ่โตขู่จะเล่นงานทุกประเทศซึ่งได้ดุลการค้ากับสหรัฐ ไทยเป็นประเทศหนึ่งซึ่งมีโอกาสถูกเล่นงาน เพราะการค้าไทย-สหรัฐหักลบแล้วเกินดุลการค้ามาตลอด เฉพาะปีที่แล้วได้ดุลประมาณ 12,437 ล้านเหรียญสหรัฐ อยู่ในบัญชีรายชื่อคำสั่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ (Executive Order) ลำดับที่ 11 ของประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้า ซึ่งรัฐบาลสหรัฐจ้องเล่นงานอยู่

ก่อนหน้านี้ประเทศสหรัฐอเมริกาดูจะไม่ค่อยเป็นมิตรกับไทย ทูตแต่ละคนที่ส่งมาพูดจาแบบไม่ไว้หน้าเจ้าบ้าน ถูกกดดันเรื่องกฎหมายฟอกเงิน ยาเสพติด ประมงผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยไทยอยู่ในบัญชีจับตามอง (หาเรื่อง) เป็นพิเศษ (PWL : Priority Watch List)

ยิ่งเมื่อประเทศไทยได้รัฐบาลทหาร ซึ่งสหรัฐในสมัยรัฐบาลโอบามาถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตย การเจรจาระดับประเทศต่างๆ เช่น เอฟทีเอถูกยุติหมด แถมตัดงบทางการทหาร ลดการซ้อมรบประจำปี กดดันเรื่องสิทธิมนุษยชน แม้แต่ค่าเงินบาทอ่อนหรือแข็งก็เข้ามายุ่ง และสารพัดเรื่องที่จ้องเล่นงานไทย ขนาดประธานาธิบดีโอบามาบินไปประชุมที่เวียดนาม แถมมีเวลาถ่ายรูปนั่งกินเฝอและยังบินข้ามไทยไปพบผู้นำประเทศเมียนมาโดยเมินไม่แวะทักทาย แสดงว่าไทยไม่อยู่ในสายตาของสหรัฐ

การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ลงทุนโทรมาคุยกับนายกฯ ลุงตู่อย่างชื่นมื่น ให้คำหวานจะสนับสนุนรัฐบาลไทยในทุกเรื่อง และยังเชิญนายกฯ ไทยให้ไปเยือน โดยฝ่ายไทยก็ไม่เบาเสนอว่าช่วงประชุมเอเปกฟอรั่ม 2017 ซึ่งจะมีการประชุมในปีนี้ ณ เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ขอให้ผู้นำสหรัฐมาเยือนไทย ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ปกติแกปากไวอยู่แล้ว ตอบรับคำเชิญทันทีว่าจะมาเยือนไทยอย่างแน่นอน ตรงนี้ต้องชมเชยนายกรัฐมนตรี ถือเป็นการเปิดเกมเชิงรุกการเมืองระหว่างประเทศ

ดังนั้น ท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ลงทุนทอดไมตรีกับไทยครั้งนี้เป็นสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อประเทศ เนื่องจากสหรัฐเป็นตลาดส่งออกซึ่งมีมูลค่ามากที่สุด ตัวเลขส่งออกสูงถึง 24,494 ล้านเหรียญสหรัฐ (ปี 2559) ในช่วง 4 ปี ขยายตัวและได้เปรียบดุลการค้าทุกปีอย่างต่อเนื่อง การรื้อฟื้นความสัมพันธ์จึงเป็นประโยชน์กับไทย ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์รับปากจะดูแลเรื่องการค้า-การลงทุน และจะส่งผู้แทนการค้ามาหารือเป็นข่าวดีของไทย

ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนต่างออกมาตอบรับว่าเป็นสัญญาณทางบวก โดยเฉพาะด้านการส่งออกจะมีผลลดแรงกดดันในเรื่องการกีดกันการค้าจากมาตรการต่างๆ

ประเด็นที่ต้องนำมาวิเคราะห์เกี่ยวกับท่าทีของสหรัฐที่หันมาทำดีกับไทยแบบตั้งตัวไม่ทัน โดยต้องประเมินว่าเป็นเพียงแค่ “ท่าทีหรือจะทำจริง” เพราะที่ผ่านมาสหรัฐไม่ค่อยจะจริงใจกับประเทศใด เน้นแต่ผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ขณะเดียวกันประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ได้หยอดคำหวานโทรสายตรงกับนายกฯ ของไทย แต่ในช่วงใกล้ๆ กันก็ได้สายตรงคุยกับประธานาธิบดีดูเตอร์เตของฟิลิปปินส์ และคุยกับผู้นำอาเซียนหลายคน อาจประเมินได้ว่าการที่สหรัฐหันมาญาติดีกับไทยและประเทศในอาเซียนคงต้องการหาพวกในแถบเอเชียแปซิฟิก ซึ่งสหรัฐกำลังเผชิญหน้ากับเกาหลีเหนือ ขณะที่ประเทศจีนออกอาการไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อกรณีที่สหรัฐส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบินและเรือพิฆาตจำนวนมากเข้าไปในคาบสมุทรเกาหลี อีกทั้งการติดตั้งขีปนาวุธทาร์ด (THAAD) ซึ่งจีนถือเป็นการคุกคามโดยรัฐบาลปักกิ่งเปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบินใหม่ 2 ลำ แสดงแสนยานุภาพ

วิกฤตบนคาบสมุทรเกาหลีครั้งนี้เป็นเรื่องเลวร้ายที่สุด แต่คงไม่เป็นชนวนให้เกิดสงครามใหญ่ ซึ่งทั้งจีนและสหรัฐคงไม่ยอมเสี่ยงเอาเศรษฐกิจของประเทศเป็นเดิมพัน แต่แน่นอนว่าการเผชิญหน้าครั้งนี้โลกกำลังเข้าสู่สงครามเย็นยุคที่ 2 ซึ่งทั้งสองฝ่าย ต้องการดึงเอาอาเซียนเข้ามาเป็นพวก ขณะที่สหรัฐต้องการเพิ่มยกระดับความสัมพันธ์กับไทยหลังจากเหินห่างแบบไม่แยแสมาเป็น 10 ปี ทำให้ที่ผ่านมาไทยกลายเป็นประเทศลูกคนโปรดของจีน กรณีเรือดำน้ำที่ซื้อจากจีนทั้งราคาถูก แถมนู่นแถมนี่ และยังผ่อนส่งได้ยาว แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางการทหารที่จีนมีต่อไทย ซึ่งสหรัฐเองคงไม่ค่อยสบายใจนัก

สำหรับประเทศเล็กๆ อย่างเราทางเลือกคงมีไม่มาก ขนาดที่ประธานาธิบดีทรัมป์รับปากจะแวะมาเยือนไทยตรงนี้ไม่ธรรมดาแน่นอน ผลดีเป็นการลดแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งสหรัฐเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่สุดของประเทศ แต่ภายใต้สถานการณ์ตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งจีนวางบริบทตัวเองเป็นพี่ใหญ่ และในช่วงเวลาที่สหรัฐทอดทิ้งไทยจีนเข้ามาดูแลเป็นอย่างดี ในด้านเศรษฐกิจถึงดุลการค้าจะติดลบกับจีนสูง แต่มูลค่าการส่งออกไปจีนหากรวมส่งออกไปฮ่องกงมีมูลค่าถึง 35,270 เหรียญสหรัฐ สูงกว่าการส่งออกไปสหรัฐถึง 1.44 เท่า

คงเป็นประเด็นว่า ในสภาวะเช่นนี้เราจะถ่วงดุลความสัมพันธ์กับสองมหาอำนาจของโลกได้อย่างไร เลือกข้างคงเป็นไปไม่ได้ จะเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งคงต้องอยู่ในจังหวะและสถานการณ์ที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา เกี่ยวข้องกับมูลค่าด้านเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลและด้านความมั่นคง เพราะแต่ละประเทศล้วนมีอิทธิพลและมีพวกมาก ประเด็นนี้คงต้องอาศัยการทูตแบบปลาไหลใส่สเกต...แหละครับ

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.comหรือ www.facebook.com/tanit.sorat