posttoday

ทหารเรือมาแล้ว

04 พฤษภาคม 2560

ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

ประเด็นข่าวที่ถูกหยิบยกมาพูดและวิพากษ์วิจารณ์กันมากที่สุดเรื่องหนึ่งคือ โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ที่ถูกทั้งสื่อมวลชนและนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลนำมาขยายผลจากประเด็นความมั่นคงให้กลายเป็นประเด็นการเมืองจนได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลทำลับๆ ล่อๆ จนกระทั่งกองทัพเรือออกมาชี้แจง สถานการณ์จึงดีขึ้นเพราะคนส่วนใหญ่เชื่อในภาพลักษณ์ของทหารเรือ

หลังสงครามเวียดนามและสงครามในกัมพูชา ซึ่งสิ้นสุดลงในช่วงเวลาใกล้เคียงกับสงครามเย็น มีการประเมินสถานการณ์แนวโน้มความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียว่า  “ความขัดแย้งจะเคลื่อนจากแผ่นดินลงสู่ทะเล” ซึ่งเป็นการขัดแย้งเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ทางทะเล โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ด้วยการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลอาณาเขตและเขตเศรษฐกิจจำเพาะที่อาจเกยกันอยู่โดยเฉพาะในบริเวณที่คาดว่าจะมีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ในทะเล 

การประมาณการข่าวกรองดังกล่าวนับว่าถูกต้องเพราะหลังจากนั้น เกิดความขัดแย้งในทะเลจีนตะวันออกจนถึงทะเลจีนใต้  โดยการอ้างกรรมสิทธิ์อาณาเขตน่านน้ำ ถ้าเราเข้าใจแนวโน้มของสถานการณ์ ก็ต้องถามต่อไปว่า แล้วใครล่ะที่ดูแลผลประโยชน์ของชาติทางทะเลถ้าไม่ใช่กองทัพเรือ  เมื่อความขัดแย้งเคลื่อนย้ายจากบนลงสู่ทะเล  ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ต่างเพิ่มงบประมาณแก่กองทัพเรือมากขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพกองทัพเรือในการปกป้องผลประโยชน์และความมั่นคงแห่งชาติทางทะเลไทยก็เช่นกัน

ไทยมีพื้นที่ติดชายฝั่งทั้งด้านอ่าวไทยและทะเลอันดามันกว่า 2,782 กิโลเมตร มีอาณาเขตน่านน้ำและเขตเศรษฐกิจจำเพาะในพื้นที่หลายพันตารางกิโลเมตรที่กองทัพเรือต้องปกปักรักษาอธิปไตย กองทัพเรือไม่ใช่แค่ใช้กองเรือผิวน้ำเท่านั้น แต่ยังมีกองบินนาวีที่คอยลาดตระเวนเหนือน่านน้ำไทย  กองทัพเรือไทยอาจเป็นแห่งเดียวในโลกที่มีกองเรือดำน้ำและมีผู้บังคับการกองเรือดำน้ำแต่ไม่มีเรือดำน้ำสักลำ อย่างไรก็ดี กองทัพเรือได้ฝึกบุคลากรมานานนับสิบๆ ปีแล้วเพื่อให้พร้อมปฏิบัติการทันทีที่มีเรือดำน้ำ

หากดูแผนที่ เราจะเห็นอ่าวไทยเหมือนกับก้นถุง โดยมีปากถุงอยู่ที่แหลมญวนลากตรงมายังมาเลเซีย การเดินทางหรือการขนส่งทางทะเลจะต้องผ่านประเทศอื่นจึงจะออกทะเลเปิดได้ หากต่างชาติปิดปากถุง เศรษฐกิจของประเทศจะได้รับความเสียหายอย่างมาก อธิปไตยเหนือน่านน้ำของประเทศได้รับความกระทบกระเทือน นี่คือจุดอ่อนของประเทศ มีแต่ทะเลฝั่งอันดามันเท่านั้นที่เป็นทะเลเปิด เรือดำน้ำเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์เชิงรุกที่สามารถใช้ในการป้องกัน ป้องปราม ตอบโต้ข้าศึกได้ทั้งในยามสันติและยามสงคราม

อ่าวไทยมีความลึกโดยเฉลี่ยประมาณ 50 เมตรใกล้เคียงกับทะเลบอลติก แต่ก็มีช่วงลึกที่สุดและตื้นที่สุด ซึ่งไม่เป็นอุปสรรคสำหรับเรือดำน้ำ เยอรมนีก็มีเรือดำน้ำลาดตระเวนอยู่ในทะเลบอลติก สำหรับอ่าวไทยนั้น เรือดำน้ำขนาดใหญ่ของอเมริกายังเข้ามาดำเล่นหลายครั้งทั้งร่วมในการซ้อมรบและเยี่ยมเยียน ดังนั้น เรือดำน้ำที่ไทยซื้อจากจีนจึงเป็นเรื่องสบายมากสำหรับการใช้ในพื้นที่อ่าวไทย อีกทั้งเรือดำน้ำจะมีเส้นทางเดินเรือของตัวเองที่รู้ว่าตรงไหนน้ำตื้น ตรงไหนน้ำลึก สามารถลัดเลาะซอกซอนไปได้ตลอด

การปฏิบัติงานในเรือดำน้ำไม่ใช่ว่าจะเอาทหารเรือคนไหนไปทำก็ได้ ต้องมีการฝึกอบรมเป็นการเฉพาะเพราะเรือดำน้ำไม่เหมือนกับเรือผิวน้ำ บุคลากรต้องมีความทรหดอดทนเป็นพิเศษ น่าเสียดายที่วิทยาการด้านเรือดำน้ำของไทยสูญหายไปหลายสิบปี ครั้งนี้ กองทัพเรือคงได้ฟื้นฟูวิทยาการเรือดำน้ำอีกครั้ง กองทัพเรือได้เตรียมบุคลากรสำหรับปฏิบัติการในเรือดำน้ำมานานแล้ว เคยมีการส่งบุคลากรไปฝึกอบรมกับเรือดำน้ำสวีเดนโดยร่วมปฏิบัติการในเรือเป็นเวลาสองสามเดือน เคยส่งกำลังพลจำนวนหนึ่งไปฝึกอบรมกับเรือดำน้ำเยอรมันที่กองทัพเรือเตรียมจัดซื้อ หากมีการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน กองทัพเรือก็ต้องส่งบุคลากรซึ่งน่าจะเป็นคนที่มีประสบการณ์แล้วไปฝึกอบรมจากจีนเป็นการเฉพาะ และคงไม่เป็นเรื่องยากเกินไป เหมือนกับคนเคยขับรถยุโรปมาก่อน คราวนี้ก็เปลี่ยนมาขับรถญี่ปุ่นบ้าง พวงมาลัยอาจอยู่คนละข้างไฟเลี้ยวอาจอยู่สลับกันแต่คงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

กองทัพเรือใช้งบประมาณประจำปีของตนเอง ที่พิจารณาชะลอสิ่งที่มีความจำเป็นเร่งด่วนน้อยกว่าไว้ก่อน เป็นการบริหารจัดการภายในของกองทัพเรือ สำหรับเรือดำน้ำของจีนนั้น กองทัพเรือได้ชี้แจงอย่างชัดเจนถึงกระบวนการทุกขั้นตอนในการตัดสินใจจัดซื้อจัดหากว่าจะได้เรือดำน้ำจีนชั้นหยวน เอส.26ที. ซึ่งเป็นการนำส่วนดีของเรือดำน้ำชั้น “กิโล” ของรัสเซีย มาผสมกับส่วนดีของเรือดำน้ำชั้น “ซ่ง” ของจีน จนออกมาเป็นชั้น “หยวน” แต่เรือที่จีนขายให้ไทยนั้นเป็นรุ่นย่อส่วนซึ่งเหมาะสำหรับใช้ปฏิบัติการในอ่าวไทยและทะเลแถบนี้ นอกจากนี้การจัดหาอาวุธจากจีนก็เท่ากับเป็นการกระจายความเสี่ยงโดยจัดหาอาวุธจากหลายๆ ประเทศ หากมองในแง่การเมืองระหว่างประเทศเท่ากับทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศดีขึ้น และจีนอาจช่วยเหลือไทยมากขึ้นในด้านอื่น

แต่ละประเทศมีเรือดำน้ำด้วยเหตุผลและความจำเป็นเพื่อตอบสนองผลประโยชน์แห่งชาติ ไทยก็เช่นเดียวกัน เราคงไม่ได้ต้องการมีเรือดำน้ำเพราะเห็นประเทศเพื่อนบ้านมีก็อยากมีบ้าง แต่ไทยต้องการเรือดำน้ำเพราะเหตุผลและความจำเป็นด้านผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติไทย  หลายคนพูดว่าจะมีเรือดำน้ำไว้สู้รบกับใครเพราะเวลานี้เขาไม่รบกันแล้ว คำตอบคือ เราไม่ได้มีเรือดำน้ำไว้สู้รบกับใคร แต่เรือดำน้ำเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ที่ใช้ได้ทั้งยามสันติและยามสงครามเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

ผู้เขียนเห็นว่า ด้วยเหตุผลและความจำเป็นด้านการรักษาผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติ  รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณผูกพันให้กองทัพเรือมีเรือดำน้ำรวม 6 ลำ สำหรับการรักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ทางทะเลทางอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ที่ผ่านมางบประมาณของชาติถูกยักยอกและถูกคอร์รัปชั่นปีละหลายหมื่นหรือแสนล้านบาท  ถ้ารัฐบาล คสช.ลดการทุจริตคอร์รัปชั่นลงได้ เราก็มีเงินจำนวนนี้ให้กองทัพเรือซื้อเรือดำน้ำ และประชาชนคงเต็มใจที่จะให้นำเงินภาษีของพวกเขาไปใช้ในการปกป้องอธิปไตยเหนือน่านน้ำและผลประโยชน์ทางทะเล เพราะเขาเชื่อมั่นในกองทัพเรือ