posttoday

สมการอาเซียน

01 พฤษภาคม 2560

โดย...ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย

โดย...ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย

ตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมเป็นต้นมา เมืองที่เป็นมหาอำนาจของโลก หรือมีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจแซงหน้าประเทศอื่นๆ มักถูกเรียกว่า “เมืองท่า” นั่นคือ การเป็นเมืองที่มี “ท่าเรือ” ขนาดใหญ่ไว้ใช้ขนส่งสินค้า จึงเป็นเมืองที่มีการค้าขายเติบโต สร้างความมั่งคั่งให้ผู้คนในเมืองนั้น ในขณะเดียวกันยังเป็นศูนย์กลางด้านการเดินทางสัญจร ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายทรัพยากรมนุษย์เพื่อการท่องเที่ยว และตอบสนองการดำเนินธุรกิจ เมืองท่าที่คนรู้จักกันดี ได้แก่ นิวยอร์ก ลอนดอน อัมสเตอร์ดัม เซี่ยงไฮ้

สมการความรุ่งเรืองในสมัยนั้นจึงอยู่ที่ เรือ + ท่าเรือ = มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ

ต่อมาเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ก้าวสู่ยุค “อุตสาหกรรมการบิน” เฟื่องฟู ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการด้านขนส่งสินค้า (Cargo) และการขนส่งผู้คน เครื่องบินกลายเป็นสัญลักษณ์ของการเดินทางที่มีความรวดเร็วเเละมีศักยภาพพร้อมเติบโตไปข้างหน้าพร้อมกับโลกที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง

การเดินทางขนส่งสินค้าทางเรือจึงลดน้อยลงหรืออาจปรับรูปแบบให้เข้ากับยุคสมัย เรือกลายเป็นโอกาสในการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่จำนวนมาก หรือไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาที่ใช้ในการขนส่ง ในขณะที่การขนส่งสินค้าทางเครื่องบิน หรือ Cargo กลายเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่สะดวกสบาย รวดเร็ว ราคาสมเหตุสมผลในปัจจุบัน เห็นได้จากบริษัทขนส่งยักษ์ใหญ่อย่าง DHL, FEDEX, UPS มีเครื่องบินประจำการ เพื่อให้บริการการขนส่งสินค้าให้กับทุกภูมิภาคทั่วโลก

เช่นเดียวกับภาคการเดินทางของผู้คน การข้ามจังหวัด ข้ามประเทศหรือเเม้เเต่ข้ามทวีป ที่เครื่องบินมาแทนที่การเดินทางโดยเรืออย่างไม่มีข้อแม้ เพราะการโดยสารเครื่องบิน ซึ่งเชื่อมผู้คนทั่วโลกให้ถึงกันได้ง่ายเเละประหยัดเวลากว่าในราคาที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ในปัจจุบัน โดยเฉพาะการถือกำเนิดขึ้นของสายการบินราคาประหยัดในช่วงไม่ถึงสองทศวรรษที่ผ่านมา

เมื่อเราโยกความนิยมในวิธีการคมนาคมจากเรือมาเป็นเครื่องบิน สมการความรุ่งเรืองของยุคนี้จึงกลายเป็น “เครื่องบิน+สนามบิน = ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ” เเทน

มาถึงยุคของการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่แต่ละภูมิภาครวมตัวกัน พัฒนาเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่เพียงแค่เมืองใดเมืองหนึ่งเติบเดี่ยว ต้องจับกลุ่มกันโตให้เป็นกลุ่มก้อน แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือปัจจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตจึงเปลี่ยนแปลงไป

หากมองในภูมิภาคของเรา “อาเซียน” เราเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวช่วยนำพาความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ เพราะเราเป็นภูมิภาคที่มีทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์ที่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจการท่องเที่ยวมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

หากเราต้องการให้อาเซียนจะเดินไปในทิศทางนี้ คงต้องกลับมาพิจารณา โดยยึดพื้นฐานจากสมการความรุ่งเรืองนี้ ก็น่าจะออกมาในรูปแบบของ “นโยบายการท่องเที่ยว + โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง = การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของอาเซียน” ซึ่งทุกประเทศตะต้องพัฒนาและทำหน้าที่ของตัวเอง หยิบยกจุดเด่นของแต่ละประเทศมาพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับประเทศไทย ต้องยอมรับว่ามีจุดที่ตั้งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ดังนั้นหน้าที่เราคือการเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่ง การเดินทางในทุกรูปแบบ การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานในการขนส่งจึงน่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งนอกจากจะเป็นปัจจัยหลักในการเชื่อมโยงทุกประเทศเข้าด้วยกันแล้ว ยังเอื้ออำนวยต่อการท่องเที่ยว ที่อาเซียนต้องการยกระดับให้เป็นอุตสหกรรมหลักในการผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโต

แต่ถามว่าวันนี้ประเทศไทยมีการพัฒนาระบบขนส่งให้มีความพร้อมหรือยัง???

คำถามนี้อาจต้องใช้เวลาสักหน่อยที่จะหาคำตอบให้ครบถ้วน เเต่ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐเเละเอกชนหากร่วมมือกัน มีจุดหมายเดียวกัน เราจะสามารถเดินหน้าไปพร้อมกันเพื่อช่วยกันเทำให้สมการการพัฒนาอาเซียนเป็นจริงได้แน่นอน