posttoday

คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่ามหรือไม่?

16 เมษายน 2560

เฟซบุ๊ก Kornkit Disthan

เฟซบุ๊ก Kornkit Disthan

ผมเคยไปถ่ายรูปหมุดนี้ไว้เมื่อเดือนเมษายน 2557 ตอนนั้นสภาพของมันก็น่าเวทนาพอสมควรแล้ว เพราะก่อนหน้าไม่กี่ปี มันถูกคนประทุษร้ายบ้าง บ้างแห่แหนบูชาบ้างไปตามสถานการณ์การเมืองอันบ้าบอ แต่หลังจากนั้นมันก็อยู่ของมันเงียบๆ ไปตามยถากรรม

พอหมุดหายปั๊บ กลายเป็นว่าชาวไทยถกเถียงกันเรื่องคณะราษฎรกับพระราชวงศ์กันยกใหญ่ จนดูเหมือนว่าเจ้าหมุดนี้จะมีคุณูปการเอาก็ตอนที่มันหายตัวไป

ประเด็นที่คนเถียงกันมานานและตอนนี้กลับมาร้อนแรงอีกครั้งคือ "คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่ามหรือไม่?" และเรื่องพระราชวงศ์ถูกคุกคามโดยคณะราษฎร

เรื่องหลังนี้ผมขอละไว้ เรื่องแรกผมคิดว่าถ้าไม่ชิงสุก มันก็อาจจะร่วงก่อนห่าม (เพียงแค่คณะราษฎรเตรียมการไม่ดีนัก แค่โชคดีที่ยึดอำนาจได้เพราะรัฐบาลสะเพร่า) สถานการณ์มันหมิ่นเหม่พอสมควร เรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบดี และทรงมีพระราชหัตถเลขาซักถามพระยากัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี. แซร์) ที่ปรึกษาของรัฐบาลว่า ควรจะเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นอะไรกันดี? เพราะพวกประชาชนก็หมดศรัทธา พวกสื่อก็บี้หนัก ข้าราชการก็ฉ้อฉล

ในเวลานั้นแม้ชาวบ้านทั่วๆ ไปจะไม่ทุกข์ร้อนนัก แต่หากอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ร่วมสมัยจะพบว่าพวกชั้นกลาง (ปัญญาชน สื่อเสรี ข้าราชการชั้นผู้น้อย/หรือถูกดุล) โจมตีรัฐบาลของรัชกาลที่ 7 รุนแรงเอาการ เพราะรัฐบาลผลงานไม่ดีนัก แถมเจ้าใหญ่นายโตยังมักอวดศักดาต่อสามัญชน รัชกาลที่ 7 ทรงตรึกว่าควรจะมีระบบรัฐสภาแบบอังกฤษ-อเมริกันดีไหม? แต่แล้วก็ทรงตอบเองว่าไม่น่าจะเหมาะกับคนสยาม น่าจะให้มีระบอบอภิรัฐมนตรีสภาไปก่อน แม้แต่ที่ปรึกษาอเมริกันก็คล้อยตามด้วย โดยชี้ว่า "คนจะเลือกตั้งต้องมีความรู้ก่อน" หมายความว่าน่าจะวางรากฐานความรู้กับการเมืองให้ประชาชน ก่อนจะเปลี่ยนระบอบ

แต่ก็อยางที่รู้ว่า รัชกาลที่ 7 ทรงยังไม่ทันทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน คณะราษฎรทนไม่ไหวเสียก่อน

ป.ล.

วันที่หมุดมันหายตัวไป ผมกำลังปีนเขากันอยู่ มีช่วงหนึ่งกำลังจะปีนผาตั้งมุมเกือบ 90 องศา คนบ้านผมทำท่าจะถอดใจ ผมเลยถามด้วยความเป็นห่วงว่า "ไหวไหม?" แต่ทางนั้นบอกขึงขังทั้งๆ ที่ยังหอบว่า "ไม่ไหวก็ต้องไหว" แล้วกำเชือกปีนหน้าผาขึ้นไปแบบเก้ๆ กังๆ

ผมมานึกๆ ดู ไม่ว่าคณะราษฎรจะชิงสุกก่อนห่ามหรือไม่ ประชาธิปไตยเหมาะหรือไม่? เราๆ ท่านๆ คงต้องบอกตัวเองว่า "ไม่ไหวก็ต้องไหว" เพราะไหนๆ ก็ปีนหน้าผาประชาธิปไตยกันมาเกือบค่อนศตวรรษแล้ว และคงไม่ต้องเสียเวลาเถียงกันแล้วกระมัง? ตอนนี้ควรมาช่วยกันคิดจะดีกว่าว่า จะทำอย่างไรให้ "ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีภูมิปัญญา" เพื่อป้องกัน "ระบอบอันฉ้อฉลและเป็นทรราชเป็น" ตามที่ฟรานซิส บี. แซร์เคยถวายทัศนะของท่านกับรัชกาลที่ 7

ลองอ่านบางตอนจากพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 7 ไปถึงฟรานซิส บี. แซร์ ดูเถิด (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ แฟ้มเอกสารสมัยรัชกาลที่ 7, 1.3/32 no. 47)

//////////////////////////////////////////////////////////////////

ดังที่ท่านทราบดี พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในทุกๆ ทาง หลักการนี้ถือว่าดีมากและเหมาะสมอย่างยิ่งกับประเทศแห่งนี้ ตราบเท่าที่เรามีพระมหากษัตริย์ที่ดี หากพระมหากษัตริย์เป็นพระราชาผู้เป็นอเนกชนนิกรสโมสรสมมติจริงๆ ก็มีความเป็นไปได้ที่พระองค์อาจจะเป็นกษัตริย์ที่ดี แต่การเลือกตั้งกษัตริย์เป็นแค่ทฤษฎี และในความเป็นจริงพระเจ้าอยู่หัวของสยามเป็นสืบทอดพระราชอำนาจโดยสายพระโลหิต และมีตัวเลือกที่น้อยอย่างยิ่ง ด้วยประการฉะนี้ จึงไม่เสมอไปที่เราจะมีพระราชาที่ดี หากเป็นเช่นนั้น อำนาจเบ็ดเสร็จก็อาจกลายเป็นภยันตรายโดยตรงต่อประเทศ นอกจากนี้ สถานการณ์ทุกวันนี้ยังเปลี่ยนไปมาก ในยุคสมัยก่อน แทบไม่มีใครกล้าท้าทายพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ การทำเช่นนั้นถือว่าเป็นอันตราย พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพและพระบรมราชโองการคือกฎหมาย แต่สิ่งต่างๆ เริ่มแปรเปลี่ยนไปภายใต้บรรทัดฐานใหม่ ในยุคของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่ยำเกรงและที่เคารพ

กระนั้น ในช่วงปลายรัชกาล มีกลุ่มคนหนุ่มเริ่มวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ในหลายๆ เรื่อง แต่มิได้ทำกันอย่างเปิดเผย ในรัชกาลที่เพิ่งสิ้นสุดลงไป สถานการณ์เริ่มแย่ลงกว่าเดิม แต่ด้วยเหตุผลหลายประการ ข้าพเจ้าคงมิต้องบอกต่อท่าน เพราะท่านคงทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี พระมหากษัตริย์ทรงมีแนวโน้มที่จะคล้อยตามพวกที่พระองค์ทรงรับฟังหรือทรงโปรด ข้าราชการทุกคนต้องสงสัยว่าเกี่ยวพันกับเรื่องฉ้อฉลหรือไม่ก็เล่นพรรคเล่นพวก โชคดีที่บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ยังได้รับการเคารพในฐานะผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่ชื่อเสียงของราชสำนักต้องด่างพร้อยอย่างหมดรูป และในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ ยังจวนเจียนจะถูกคนเย้ยหยันเข้าไปทุกที การถือกำเนิดของ "สื่อเสรี" ยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง สถานะของพระมหากษัตริย์ยิ่งดำรงอยู่ในสภาวะการณ์ที่ยากลำบาก การแสดงความเห็นที่แพร่หลายในประเทศนี้เป็นสัญญาณที่ชี้ชัดว่า อายุขัยของการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชนับวันยิ่งเหลือน้อยลงไปทุกที หากจะให้พระราชวงศ์ยืนยงต่อไป จะต้องทำให้สถานะของพระมหากษัตริย์มีความมั่นคง จะต้องมีการวาง "มาตรการ" เพื่อรับมือกับกษัตริย์ที่มิได้ทรงปราดเปรื่อง

สยามควรมีระบบการปกครองเช่นไร?

คำถามข้อที่ 3 สักวันหนึ่ง หากประเทศนี้จะต้องมีระบอบรัฐสภาเข้าจริงๆ ระบอบรัฐสภาพแบบแองโกล-แซกซันจะเหมาะกับประชาชนในดินแดนบูรพาหรือไม่?

คำถามข้อที่ 4 ประเทศนี้พร้อมที่จะใช้ระบอบการปกครองแบบตัวแทนหรือไม่?

โดยส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้ากังขาในประเด็นของคำถามข้อ 3 ส่วนคำถามข้อ 4 ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างหนักแน่น "ไม่"

ถ้าเป็นเชนนี้แล้วในเวลานี้เราควรทำอย่างไรดี?

*********************

พระยากัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี. แซร์) กราบทูลว่า

"หม่อมฉันไม่คิดว่าในเวลานี้ถือว่าไม่เหมาะที่จะมีการจัดตั้งองค์กรโดยประชาชนในแบบผู้แทนตามระบอบรัฐสภาในประเทศสยาม กลไกลระบบรัฐสภาจะขับเคลื่อนไปได้ แน่นอนที่สุดว่าจะต้องอาศัยผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีภูมิปัญญา หากปราศจากการควบคุมอย่างมีความรอบรู้เจนจัดโดยประชาชน ระบอบเช่นนั้นเห็นทีว่าจะกลายสภาพเป็นระบอบอันฉ้อฉลและเป็นทรราชเป็นแน่แท้"