posttoday

ทางเลือกที่สะอาดและถูกกว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่

09 มีนาคม 2560

โดย...พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์

โดย...พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์

เห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่หรือไม่?

ในอดีตผมเคยเห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ และผมอยู่ในคณะอนุกรรมการที่จัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือ PDP 2015 ซึ่งในแผนนั้นก็มีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนด้วย แต่ในตอนหลังนี้มีข้อมูลใหม่ซึ่งทำให้ผมเชื่อได้ว่าประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้ควรหันมาใช้ไฟฟ้าซึ่งผลิตจากพลังงานหมุนเวียนในรูปของพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ซึ่งอาจจะผสมกับไฟฟ้าจากกังหันลมและโรงไฟฟ้าชีวมวลบางส่วนด้วย

ทั้งนี้ มีข้อมูลและหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ นอกจากจะสะอาดกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินแล้ว ยังมีต้นทุนที่ลดลงมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และอาจจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลด้วยซ้ำไป

ในปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในบ้านเราอยู่ที่ระดับประมาณหน่วยละ 3 บาท เมื่อรวมกับค่าสายส่งและสายจำหน่ายแล้วผู้ใช้ไฟต้องซื้อในราคาหน่วยละ 4 บาท ดังนั้น ผมจึงเห็นว่าเราควรพิจารณาเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และลม และพลังงานหมุนเวียนชนิดอื่นๆ แทนที่จะใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน ซึ่งน่าจะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยรวมลดต่ำลงด้วย  เพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ที่เสนอให้ใช้เทคโนโลยีถ่านหินที่สะอาดน่าจะมีต้นทุนค่าไฟหน่วยละประมาณ 3 บาท โครงการลงทุนพลังงานหมุนเวียนที่ผมเสนอในภาคใต้ของเราเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่น่าจะมีต้นทุนประมาณหน่วยละ 2 บาท ข้อเสนอของผมนี้คงต้องนำไปศึกษาพิจารณาในรายละเอียดต่อไป แต่ในหลักการก็คือการใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งมีพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก

ถ้าดูในแง่ของพื้นที่ คิดว่าโครงการพลังงานทางเลือกที่เป็นพลังงานหมุนเวียนที่เสนอมาควรจะตั้งอยู่ที่ส่วนไหนของภาคใต้?

ข้อดีอันหนึ่งของโครงการพลังงานหมุนเวียนเช่นพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมก็คือ ไม่จำเป็นต้องตั้งอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง แต่สามารถกระจายออกเป็นหลายๆ พื้นที่ได้ จะตั้งอยู่ที่กระบี่เป็นส่วนใหญ่ก็ได้ แล้วกระจายส่วนที่เหลือออกไปตั้งในที่อื่นๆ เช่น สงขลา และพังงา  เพราะเราจำเป็นต้องใช้พื้นที่ค่อนข้างมาก ที่ผมคำนวณไว้ก็คือถ้าเราลงทุนเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีกำลังผลิตขนาด 800 เมกะวัตต์ จะต้องใช้พื้นที่ถึงกว่า 2 หมื่นไร่

ในขณะเดียวกันการกระจายแหล่งผลิตออกไปในที่ต่างๆ โดยเฉพาะไปในที่ที่ใกล้กับจุดที่มีการใช้ไฟฟ้าในปริมาณที่สูง เช่น ในจังหวัดใหญ่ๆ จะเป็นสงขลาหรือภูเก็ตก็ตาม จะทำให้การส่งกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพและมั่นคงมากขึ้น

ข้อดีอีกประการหนึ่งของการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนก็คือเราสามารถที่จะทยอยลงทุนได้ ไม่จำเป็นต้องลงทุนทีเดียวเป็นเงินจำนวนมากถึง 7 หมื่นล้านบาท เพื่อผลิตไฟฟ้าได้ 800 เมกะวัตต์ ตามที่เสนอในกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีข้อจำกัดอะไรบ้าง?

ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ของผมมักจะมีข้อท้วงติงว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลมมีข้อเสียและข้อจำกัดที่ว่า เป็นการผลิตไฟฟ้าที่ไม่มีความมั่นคงแน่นอนหรือไม่ Firm กล่าวคือผลิตได้เฉพาะตอนมีแดดหรือมีลมพัดเท่านั้น แล้วก็อาจจะมีบางช่วงบางเวลาที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในกรณีที่มีเมฆมากหรือมีลมพัดไม่แรงพอ ไม่เหมือนกับโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (เช่น ถ่านหิน) ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอดเวลาวันละ 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม  ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าผู้ผลิตไฟฟ้าในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเยอรมนี  สามารถแก้ไขและบริหารจัดการปัญหาความไม่มั่นคงของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ในระดับหนึ่งแล้ว  บางแห่งใช้เทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานเข้ามาเสริมเพื่อใช้เก็บไฟฟ้าส่วนเกินในช่วงที่มีแดดแรงๆ แล้วนำไฟฟ้าที่เก็บไว้มาใช้ในช่วงที่ไม่มีแดด เทคโนโลยีนี้อาจจะอยู่ในรูปของแบตเตอรี่ชนิดต่างๆ หรือวิธีการกักเก็บพลังงานประเภทอื่นๆ ในระยะหลังมีการพัฒนาซึ่งทำให้แบตเตอรี่ (ขนาด Utility Scale) มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีต้นทุนที่ลดต่ำลงค่อนข้างมาก

สำหรับภาคใต้ของไทย อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านไฟฟ้าและเพิ่มโอกาสในการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นได้ ก็คือการเสริมความมั่นคงของสายส่งแรงสูงที่เชื่อมภาคใต้เข้ากับส่วนอื่นๆ ของประเทศ

ผมคิดว่ามาตรการเหล่านี้เป็นสิ่งที่หลายประเทศได้เริ่มประสบผลสำเร็จในการนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่แน่นอนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแล้ว จึงน่าจะมีความเป็นไปได้และความคุ้มค่าที่ประเทศไทยจะนำมาตรการเหล่านี้มาใช้ในอนาคตอันใกล้ด้วย

การศึกษาข้อเสนอใหม่นี้จะทำให้การลงทุนด้านไฟฟ้าในภาคใต้ช้าเกินไปหรือไม่?

ถ้าเราศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยทำคู่ขนานกันไป ผมคิดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี และถ้าผลออกมาว่ามีความเหมาะสม ก็จะใช้เวลาอีกอย่างมาก 2 ปีในการลงทุนช่วงแรก เพราะโครงการประเภทนี้ใช้เวลาก่อสร้างและติดตั้งที่สั้นกว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทำให้สามารถเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นไปตามแผนเดิมที่วางไว้พอดี หลังจากนั้นก็ทยอยเพิ่มกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้

ผมคิดว่าในที่สุดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือ PDP 2015 ก็ควรมีการศึกษาทบทวนภายในปีนี้ด้วย โดยคำนึงถึงข้อมูลและสถานการณ์ใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ รวมทั้งปริมาณก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าจะผลิตได้ในประเทศในอนาคต