posttoday

"มูลนิธิกระจกเงา"แนะ10แนวทาง"จัดระเบียบคนเร่ร่อน-คนไร้ที่พึ่ง"

02 มีนาคม 2560

"มูลนิธิกระจกเงา"เสนอ10แนวทาง"จัดระเบียบคนเร่ร่อน-คนไร้ที่พึ่ง" ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล

จากข้อสั่งการของ"พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ"รองนายกรัฐมนตรีให้มีการดำเนินการจัดระเบียบคนเร่ร่อน ไร้ที่พึ่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการมอบหมายให้กรุงเทพมหานครและตำรวจนครบาลเป็นผู้ดำเนินการจัดระเบียบประสานส่งคนเร่ร่อน ไร้ที่พึ่งให้แก่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ซึ่งมีสถานที่ในการรองรับนั้น

เมื่อวันที่ 2 มี.ค.มูลนิธิกระจกเงามีความเห็นและข้อนำเสนอต่อข้อสั่งการและการดำเนินการหลังจากคำสั่งการดังกล่าวของหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง คือ กรุงเทพมหานคร ตำรวจนครบาล กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดังนี้

1.การแก้ไขปัญหาดังกล่าวควรแก้ปัญหาไปให้พ้นจากกรอบคิดของการจัดระเบียบเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในพื้นที่สาธารณะเพียงเท่านั้น

2.การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นการไม่ยอมรับต่อข้อเท็จจริงที่มาของการเป็นคนไร้บ้านนั้น เกิดจากโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมที่มีปัญหาอย่างรุนแรง ถ้าปัญหาดังกล่าวยังไม่ถูกแก้ไข คนไร้บ้านที่เป็นผลผลิตของโครงสร้างปัญหาดังกล่าวก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป

3.เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตระหนังถึงความหลากหลายของปัญหา ความต้องการ ต้นทุนชีวิตที่มีไม่เท่ากัน เพราะถ้ามีความเข้าใจการแก้ปัญหามันจะนำไปสู่กระบวนการที่สร้างทางเลือก ช่องทางสวัสดิการ การให้การสนับสนุนเพิ่มต้นทุนให้เหมาะสมกับการได้เข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดี ฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเป็นลำดับ

4.วิธีการกระบวนการในการจัดระเบียบคนเร่ร่อน ไร้ที่พึ่งที่ผ่านมา เดือนพฤศจิกายน2559-กุมภาพันธ์2560 ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของกลุ่มคนเร่ร่อน ไร้ที่พึ่งอย่างมาก ตั้งแต่เรื่องการหารายได้เลี้ยงชีพ ที่อยู่อาศัยที่คุ้นชิน ทัศนคติความกลัวเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้มข้นขึ้น และส่งผลให้เกิดการถอยห่างจากกระบวนการของภาครัฐที่มีอยู่แล้วหนักหน่วงขึ้นไปอีก

5.การนำคนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่งเข้าสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหรือสถานสงเคราะห์อื่นของภาครัฐ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิการเลือกตัดสินใจว่าจะใช้ชีวิตในรูปแบบอย่างไร และในทางสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งเองแม้จะมี 11 แห่งทั่วประเทศ แต่สถานคุ้มครองดังกล่าวก็มีปัญหาต่อการฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้จริงเนื่องจากปัญหาผู้รับบริการล้น บุคลากรมีไม่พอต่อการสร้างกระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิต และปัญหาการไม่สามารถแบ่งแยกกลุ่มการพัฒนาฟื้นฟูได้ เช่น เกินกว่าครึ่งของสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั้งหมดเป็นผู้ป่วยจิตเวช และมีความซ้ำซ้อนพิการทางร่างกาย ซึ่งเมื่อคนปกติอย่างคนเร่ร่อน ไร้ที่พึ่งเข้าไปก็ต้องอยู่ร่วมกับผู้ป่วยจิตเวชอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้

6.เมื่อรัฐไม่สามารถใช้กฏหมาย พ.ร.บ.การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งได้ตามปกติเนื่องจากคนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่งหลายรายสามารถปฏิเสธการคุ้มครองได้ แต่เนื่องจากในพ.ร.บ.การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนั้นมีการเปิดช่องให้สามารถใช้การบังคับโดยอ้อมตามมาตราที่22 กล่าวคือให้ใช้ความผิดข้อบัญญัติท้องถิ่นอย่าง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ สร้างเงื่อนไขให้ต้องรับสภาพการคุ้มครองแทนการถูกดำเนินคดีตามความผิด พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ

7.หน่วยงานหลัก เจ้าหน้าที่หลักในการดำเนินการจัดระเบียบคนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่ง ในครั้งนี้เป็นฝ่ายตำรวจและเจ้าหน้าที่เทศกิจของทางกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีความเข้าใจต่อบริบทปัญหาคนเร่ร่อนไร้ที่พึ่งอย่างมาก รวมถึงแนวทางการดำเนินการจะมุ่งเน้นไปที่"การบังคับใช้กฏหมาย"มากกว่า"การให้การคุ้มครอง"

8.ในการดำเนินการจัดระเบียบคนเร่ร่อน ไร้ที่พึ่งในครั้งนี้ ควรเน้นและให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนเป็นหลัก(ผู้ป่วยข้างถนน)เป็นสำคัญ โดยมีการเตรียมความพร้อมของกระบวนการการดำเนินการ ความเข้าใจร่วมกันและการหาระบบคุณภาพรองรับผู้ป่วยใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

9.ควรเพิ่มช่องทาง กระบวนการในการดึงคนเร่ร่อน ไร้ที่พึ่งเข้าสู่ระบบที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมสนับสนุนเพื่อให้เกิดการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนเร่ร่อน ไร้ที่พึ่งโดยให้มีความหลากหลายตามสภาพความหลากหลายของกลุ่มคนเร่ร่อน ไร้ที่พึ่งในด้านต่างๆ

10.ภาครัฐควรให้การสนับสนุน ภาคประชาสังคม ท้องถิ่น เพื่อให้มีการดำเนินการป้องกัน แก้ไขปัญหา ตามเงื่อนไขปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดปัญหาคนเร่ร่อน ไร้ที่พึ่งขึ้นมาตั้งแต่ระดับชุมชน

โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา จะดำเนินการติดตามสังเกตการณ์ต่อการจัดระเบียบคนเร่ร่อน ไร้ที่พึ่งอย่างเข้มข้นเพื่อให้เกิดการติดตาม รายงานต่อสาธารณะ และเป็นการถ่วงดุลแนวทางการดำเนินการต่อการจัดระเบียบคนเร่ร่อน ไร้ที่พึ่งในครั้งนี้.