posttoday

ว่าด้วยคำว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ"

16 ตุลาคม 2559

เฟซบุ๊ก วรรณคดีพระราชหัตถเลขา

เฟซบุ๊ก วรรณคดีพระราชหัตถเลขา

ว่าด้วยคำว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ"

คำนี้เกิดขึ้นเพราะธรรมเนียมโบราณแต่เดิมของไทย ผู้น้อยจะไม่บังอาจเอ่ยชื่อของผู้ใหญ่ หรือเอ่ยพระนามพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านายออกมาเป็นอันขาด ถือว่าเป็นการล่วงเกิน ไม่เคารพ

ทั้งพระนามพระมหากษัตริย์ในอดีตก็ไม่มีการขนานพระนามเป็นการเฉพาะ คนจะเรียกกษัตริย์พระองค์ใดก็ตามใจคนเรียก เช่น พระเจ้าเสือ ขุนหลวงหาวัด อย่างนี้เป็นต้น ความรู้นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงอธิบายไว้ในหนังสือ "พระราชกรัณยานุสร"

ตัวอย่างสำคัญของการที่คนสมัยก่อนไม่ออกพระนามพระเจ้าแผ่นดินตรงๆ อีกก็เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 3 คนเรียกแผ่นดินรัชกาลที่ 1 ว่า แผ่นดินต้น เรียกแผ่นดินรัชกาลที่ 2 ว่าแผ่นดินกลาง รัชกาลที่ 3 ทรงเห็นว่าไม่เป็นมงคล เพราะเรียกเช่นนี้ แผ่นดินของพระองค์ก็จะกลายเป็นแผ่นดินปลาย

ก่อนหน้าที่คนจะเรียกแผ่นดินต้น แผ่นดินกลาง คนก็เอ่ยถึงพระเจ้าอยู่หัวที่สวรรคตว่า ในพระบรมโกศบ้าง พระพุทธเจ้าหลวงบ้าง เหตุก็เพราะธรรมเนียมโบราณที่ผู้น้อยไม่ออกชื่อผู้ใหญ่นี้เอง

ต่อมาพระมหากษัตริย์ไทยได้ทรงเปลี่ยนธรรมเนียมนี้ เริ่มจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างพระพุทธรูป 2 องค์คือ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วโปรดเกล้าฯ ให้คนขานพระนามแผ่นดินรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 ตามนามพระพุทธรูปทั้งสองนั้น

หลักฐานอ้างอิงในเรื่องนี้ ดังในหนังสือ "พระราชพิธีสิบสองเดือน" ว่าด้วยพระราชพิธี เดือน 5 พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายว่า เหตุที่รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างพระพุทธรูปสำคัญทั้งสอง และโปรดเกล้าฯ ให้คนเรียกขานพระนามตามพระพุทธรูปนั้น "เพราะเหตุซึ่งไม่โปรดคำที่คนเรียกนามแผ่นดินว่า แผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ และพระพุทธเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศอย่างหนึ่ง หรือเรียกว่าแผ่นดินต้นแผ่นดินกลางอย่างหนึ่ง"

เห็นได้ว่า คำว่า "ในพระบรมโกศ" ไม่ต้องด้วยพระราชนิยมมาตั้งแต่รัชกาลที่ 3 แล้ว

มาจนถึงรัชกาลที่ 4 เมื่อรัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคต เกิดปัญหาการเรียกขานนามแผ่นดินก่อนขึ้นมาอีก พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกขานแผ่นดินรัชกาลที่ 3 ว่า แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนแผ่นดินของพระองค์เอง ก็เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ใครๆ เรียก "ในพระบรมโกศ" เมื่อสวรรคตแล้วอีก

ดังนั้น ธรรมเนียมการเอ่ยเรียกพระนามแผ่นดินก่อนจึงเปลี่ยนแปลงแต่นั้นมา เห็นได้ชัดเจนจากหลักฐานข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 27 หน้า 1782-1788 วันที่ 30 ตุลาคม ร.ศ. 129 ไม่มีการใช้คำว่า "ในพระบรมโกศ" แต่เรียกขานพระนาม "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" และ "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"

อย่างไรก็ตาม คนทั่วๆ ไปที่ยังติดธรรมเนียมเดิมก็ยังปฏิบัติอยู่ คือเรียก ในพระบรมโกศ บ้าง พระพุทธเจ้าหลวง บ้าง ดังในสมัยรัชกาลที่ 6 คนก็เอ่ยเรียกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า พระพุทธเจ้าหลวง และยังติดเรียกมาจนถึงปัจจุบัน

หรือแม้ขณะนี้ ที่มีการออกพระนามพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเสด็จสวรรคตนั้นว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ" ตามความนิยมตามแบบโบราณดั้งเดิม แพร่หลายไปในสื่อมวลชน

แต่จากหลักฐานต่างๆ จะเห็นได้ชัดเจนว่า ได้มีการเปลี่ยนธรรมเนียมการเรียกขานพระนามพระมหากษัตริย์มานานแล้ว การเอ่ยถึงพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเสด็จสวรรคตโดยพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" หรือ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช" จึงเป็นสิ่งสมควร ต้องด้วยพระราชนิยมที่เป็นมาตั้งแต่รัชกาลที่ 3

และที่สำคัญ พระนาม "ภูมิพลอดุลยเดช" นี้เป็นพระนามที่ทรงได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นพระนามที่มีความหมายว่า "พลังแห่งแผ่นดิน มีเดชไม่มีใดเสมอเมือน" อันลึกซึ้งตราตรึงใจเรา และเราปวงชนชาวไทยทั้งหลายได้เอ่ยเรียกพระองค์เช่นนี้ ด้วยความเคารพรักเทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯ มาตลอดหลายสิบปีแล้ว

และย่อมไม่มีวันเปลี่ยนแปรเป็นอื่น

Cr. ภาพ: ภาพข้อความจากหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ของศิลปาบรรณาคาร, พิมพ์ครั้งที่ 14, 2516.

ภาพพระพุทธรูปพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก: th.wikipedia.org