posttoday

กรณียุตินิตยสารสกุลไทย กรณีศึกษาการอ่านของสังคมไทย

18 กันยายน 2559

เฟซบุ๊ก นัท จุลภัสสร

เฟซบุ๊ก นัท จุลภัสสร

กรณียุตินิตยสารสกุลไทย กรณีศึกษาการอ่านของสังคมไทย

“อาจารย์มกุฏ อรฤดี” บรรยายในห้องเรียนวิชาบรรณาธิการศึกษา
ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๑๖ กันยายน ๒๕๕๙

ครูถือว่าข่าวการประกาศปิดตัวของนิตยสารสกุลไทยเป็นข่าวสำคัญ ครูจึงนำมาเป็นหัวข้อการเรียนในวันนี้ซึ่งตรงกับวิชาบรรณาธิการศึกษาที่เรากำลังเรียนกันอยู่

“เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และเอเย่นต์จัดจำหน่ายที่ลดลง ทำให้นิตยสารกระดาษค่อยๆลดบทบาทลงในยุคของสื่อดิจิตอลเช่นทุกวันนี้ ด้วยเหตุนี้ สกุลไทยจำเป็นอย่างที่สุดที่ต้องแจ้งต่อท่านผู้อ่านว่า คณะผู้บริหารนิตยสารสกุลไทยได้มีมติให้ยุติการจัดทำนิตยสารสกุลไทย โดยฉบับที่ ๓๒๓๗ ซึ่งจะวางจำหน่ายวันจันทร์ที่ ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ จะเป็นฉบับสุดท้าย...”

หนังสือที่จะอยู่ได้ นิตยสารที่จะอยู่ได้ จะต้องเศรษฐกิจดี ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีอยู่ไม่ได้หรอก

ส่วนเศรษฐกิจดีของนิตยสารมาจากว่า มีคนซื้อ มีผู้อ่าน ก็คือรายได้จากการขายนิตยสารนั้น และ รายได้จากโฆษณา

ในกรณีของสกุลไทย แสดงว่ารายได้จากการขายนิตยสารและรายได้จากโฆษณาลดลง

รายได้หลักของนิตยสารทั่วโลก ไม่ได้อยู่ที่การขายนิตยสาร แต่อยู่ที่รายได้จากโฆษณา ถ้าสังเกตย้อนกลับไปประมาณ ๕ ปีที่แล้ว สกุลไทยมีจำนวนหน้ามากกว่านี้ เพราะว่ามีหน้าโฆษณาหลายหน้า

ถามว่าคนอ่านสกุลไทยน้อยลงมั้ย มีคนให้ความเห็นว่าผู้อ่านสกุลไทยไม่ได้น้อยลง แต่ซื้อน้อยลงเนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจ

ดังนั้น ย่อมมีคนอีกจำนวนมากไปอ่านสกุลไทยจากห้องสมุด หรือในครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อน ซื้อเพียงฉบับเดียวแล้วหมุนเวียนกันอ่าน เพราะฉะนั้น คนอ่านสกุลไทยจึงมิได้ลดน้อยลง

แล้วทำอย่างไรละ ที่จะให้นิตยสารนี้อยู่ได้?

ถ้าเราพิจารณาสกุลไทยทั้งฉบับ ประมาณครึ่งฉบับเป็นสาระ อีกครึ่งฉบับเป็นบันเทิงคดีนวนิยายซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะดึงดูดให้คนอ่าน

ครูคิดว่าคนอ่านนิตยสารสกุลไทย ประมาณ ๘๐% อ่านเพราะนวนิยาย

นอกจากนั้น สกุลไทยยังมีคอลัมน์ที่น่าสนใจอยู่มาก มีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจอยู่มาก และเนื้อหาสาระที่น่าสนใจเหล่านี้ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับกระทรวงวัฒนธรรม

เราเป็นประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา เราจึงวัดการอ่านจากหนังสือที่เรียกว่า Book ไม่ได้ เพราะยังไกลเกินไปที่จะให้คนอ่านหนังสือเล่มหนาๆ

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าประเทศไหนก็ตามที่อยู่ในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา เช่น ประเทศอินเดียเมื่อ ๖๐ ปีที่แล้ว ก็เริ่มต้นให้ประชาชนรู้จักการอ่านด้วยนิตยสารเล่มบางๆที่มีเนื้อหาสาระต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันของประชาชน รวมทั้งนิทานบันเทิงคดีด้วย

เมื่อเขาเริ่มการอ่าน ใฝ่หาการอ่าน หลังจากนั้นเขาจึงไปอ่านหนังสือที่หนาขึ้นๆ

นี่คือตัวอย่างการจัดการเรื่องการอ่านของนักจัดการเรื่องการอ่านของภาครัฐในประเทศอินเดีย

ขณะที่เราจัดการเรื่องการอ่านแบบจัดงานอีเว้นท์ ตบแต่งซุ้มในงานอย่างสวยงาม เพื่อให้คนแห่กันไปดู แล้วหลังจากนั้นเงินจำนวน ๑๐-๒๐-๓๐ ล้านบาท ก็สูญสลายไป วิธีการอย่างนี้ไม่เป็นผล

แต่วิธีที่จะเป็นผลที่สุด ก็คือ สื่อซึ่งอยู่ในใจของคนมาเป็นเวลา ๖๑ ปีแล้ว ถ้านักจัดการหนังสือที่ฉลาด เขาจะใช้สื่อนี้แหละ เพราะอะไร เพราะว่าสกุลไทยลงทุนให้รัฐบาลมาตั้ง ๖๑ ปีแล้ว

ทำไมรัฐบาลไม่ถามสกุลไทยสักคำว่า คุณขาดทุนเดือนละเท่าไหร่

ถ้าครูเป็นรัฐบาล แค่หยิบเอาค่าโฆษณาของกระทรวงวัฒนธรรมมาสักจำนวนหนึ่ง

ค่าโฆษณาของกระทรวงศึกษาธิการอีกสักจำนวนหนึ่ง

ค่าโฆษณาของกระทรวงสาธารณสุขอีกสักจำนวนหนึ่ง

และค่าโฆษณาจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาอีกจำนวนหนึ่ง ฯลฯ

ในที่สุดเมื่อรวมทั้งหมดก็พอที่จะให้สกุลไทยไม่ขาดทุนและอยู่ต่อไปได้

โครงสร้างการอ่านก็ไม่สูญสลายไป นี่เป็นวิธีคิดที่ง่ายที่สุด

แต่บังเอิญรัฐบาลไม่มีคนที่จะมาคิดและรับผิดชอบเรื่องหนังสือและการอ่านของประเทศ จึงปล่อยให้นิตยสารดีๆต้องล้มหายจากไป

เมื่อ ๔-๕ ปีที่แล้ว ร้านหนังสือเล็กๆแห่งหนึ่งในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ประกาศว่าจะต้องปิดกิจการ เนื่องจากดำเนินการต่อไปไม่ได้ ประสบกับภาวะขาดทุน วันรุ่งขึ้น รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของฝรั่งเศสไปที่ร้านหนังสือแห่งนั้น เพื่อที่จะบอกว่าหยุดไม่ได้นะ แล้วผมจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ร้านหนังสือของคุณอยู่ได้ จะด้วยวิธีไหนก็ตาม

สำหรับนักจัดการเรื่องหนังสือและการอ่าน นิตยสารที่มีคนอ่านมากกว่า ๑ หมื่นคนขึ้นไป ถือว่าเป็นเครื่องมือสาธราณะ เพราะเราจะใส่สาระอะไรลงไปก็ได้ เพื่อที่จะดึงคนอ่านอย่างพื้นฐานที่สุด จนกระทั่งอ่านสูงขึ้น

ถามว่ามีอาจารย์มหาวิทยาลัยที่จบปริญญาเอกหรือนักวิชาการระดับสูงถึงระดับศาสตราจารย์เป็นจำนวนมากแค่ไหนหรือไม่ที่อ่านนิตยสารสกุลไทย มีบุคคลที่ประสบความสำเร็จกี่คนที่เริ่มการอ่านจากนิตยสารเล่มนี้ หรือใช้นิตยสารเล่มนี้เป็นองค์ประกอบในชีวิตด้วย

เมื่อ รัฐบาลไม่มีหน่วยงานที่จะมาจัดการดูแลเครื่องมือสาธารณะเกี่ยวกับเรื่องหนังสือและการอ่าน

แต่นิตยสารสกุลไทยคือเครื่องมือสาธารณะชิ้นหนึ่งที่มีอยู่เป็นเวลานานแล้ว เพียงแต่ไม่มีใครบอกว่านี่คือเครื่องมือของรัฐบาล

ถ้าเปิดดูเนื้อหาข้างใน นิตยสารสกุลไทยทำในบางคอลัมน์ได้ดีกว่ากระทรวงการท่องเที่ยวฯ ในบางคอลัมน์ทำได้ดีกว่ากระทรวงศึกษาธิการ แต่บังเอิญกระทรวงเหล่านี้ไม่รู้จักใช้เครื่องมือ แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป ถ้าเราหมดเครื่องมือนี้ไป

หากว่าเรามีเครื่องมือวัดจำนวนคนอ่านหนังสือ หมายความว่าวัดปริมาณคนอ่านและวัดปริมาณสิ่งที่อ่าน ท้ายที่สุด ทันที่สกุลไทยเลิก ปริมาณการอ่านของคนชนบทก็จะลดลง

เพราะอะไร เพราะให้สังเกตว่านิตยสารสกุลไทยจะมีอยู่ในห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดของสถาบันการศึกษาทั่วทุกภาคของประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดประจำอำเภอก็มี

หรือแม้แต่การที่ทำให้นิตยสารฉบับหนึ่งซึ่งมีเนื้อหาสาระครึ่งหนึ่งของจำนวนหน้าทั้งหมด ไปตกอยู่ที่ห้องสมุดกลายๆของประเทศทั้งประเทศ นั่นคือความสำเร็จอย่างใหญ่ยิ่งที่สุด

ห้องสมุดกลายๆของทั้งประเทศคืออะไร ร้านทำผม เห็นผลกำไรที่เกิดขึ้นไหม ระหว่างที่รอทำผมหยิบนิตยสารขึ้นมาอ่าน อาจจะอ่านได้เพียง ๘ หน้า ถ้าคนไทยที่เข้าร้านทำผม แล้วได้สาระจาก ๘ หน้านี้ ประเทศนี้จะเกิดอะไรขึ้น แล้วถ้าเผื่อมันสูญไป ๘ หน้าละ จะเกิดอะไรขึ้น

นี่คือสิ่งที่ผู้ที่ได้เรียนวิชาบรรณาธิการศึกษาต้องขบคิด หรือจะคิดเพียงแต่ว่าเจ๊งก็เจ๊งไป ไม่เป็นไร

อย่าเชื่อว่าขณะนี้สิ่งที่ล้มหายตายจากไป สืบเนื่องมาจากสื่อดิจิตอล แม้แต่ประเทศฝรั่งเศสเขาก็ไม่เชื่อว่าดิจิตอลจะอยู่ยั้งยืนยง

ดังนั้น หนังสือกระดาษในประเทศฝรั่งเศสจึงคงต้องมีอยู่ รัฐบาลฝรั่งเศสก็พยายามเข้ามาสนับสนุนอย่างยิ่งโดยการออกกฎหมายคุ้มครองเพื่อให้ร้านหนังสือเล็กๆได้คงอยู่ สำนักพิมพ์เล็กๆได้คงอยู่ และนักเขียนนักแปลเล็กๆได้คงอยู่

บังเอิญครูไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาล ถ้าครูมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาล วันนี้ครูจะไปหาเจ้าของนิตยสารสกุลไทย เพื่อที่จะถามว่าอยากได้สตางค์สักเท่าไหร่ เพื่อให้นิตยสารฉบับนี้อยู่ต่อไป ดีกว่าที่เราจะมาเริ่มต้นกับนิตยสารฉบับใหม่ ซึ่งจะมีคนอ่านสักกี่คนก็ไม่รู้ แต่อย่างน้อยสกุลไทยก็มีคนอ่านอยู่แล้วจำนวนนับแสนคน

การที่ทำให้คนสิบคนอ่านหนังสือ เป็นเรื่องยากมาก แต่สกุลไทยมีผู้อ่านอยู่แล้วทั่วประเทศเป็นแสนคน ทำไมรัฐบาลจึงไม่เข้ามาทำอะไร ไม่ทำให้สิ่งที่มีอยู่แล้วเกิดประโยชน์ให้มากที่สุด

อย่าลืมว่านิตยสารสกุลไทยมีการทำงานเหมือนนิตยสารชั้นดีอื่นๆทั่วโลก คือมีระบบบรรณาธิการที่ดี มีการเลือกเรื่องที่ดี ที่เห็นประโยชน์สำหรับผู้อ่าน มีวาระพิเศษต่างๆในการจัดทำฉบับนั้นๆ หรือถ้ามีการสัมภาษณ์เด็กที่เก่งมาลงในสกุลไทย สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร นั่นคือโฆษณากระทรวงศึกษาธิการที่ดีที่สุด โดยที่กระทรวงศึกษาฯไม่ต้องลงทุนเป็นเงินเป็นทองเลย แต่ว่าผลที่ได้มากมายมหาศาล เพราะคนที่อ่านสัมภาษณ์ จะรู้สึกว่ากระทรวงศึกษาฯนี่เก่ง ทำให้เด็กเก่งและดีได้

ดังนั้น นิตยสารที่ติดตลาดแล้วของชาติใดก็ตาม รัฐบาลควรจะดูแลให้คงอยู่ต่อไป เพราะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุด ชนิดที่พูดได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการบริหารประเทศด้วยซ้ำ

ที่มาจากเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1660289804284894&id=100009116720395&pnref=story