posttoday

"โรคเก็บสะสมของ" ชอบเก็บ-ไม่กล้าทิ้ง พบมากในคนโสด

24 สิงหาคม 2559

เฟซบุ๊ก สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย

เฟซบุ๊ก สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย

#Hoarding_disorder #โรคเก็บสะสมของ

หลายคนน่าจะเคยเห็นในรายการทีวีบ่อยๆ ที่มีคนกลุ่มหนึ่งที่มีปัญหาเก็บสะสมของในบ้านเยอะซะจนล้นเละเทะไปหมด วันนี้เรามารู้จักโรคหนึ่งที่มีอาการแบบนั้นกันครับ

โรค hoarding disorder เป็นโรคที่เพิ่งถูกเพิ่มเข้ามาใหม่ในเกณฑ์วินิจฉัยโรคทางจิตเวช (DSM 5) เมื่อปี พ.ศ. 2556 นี้เอง ก่อนหน้านี้ยังไม่มีเกณฑ์การวินิจฉัยโรคนี้มาก่อน

ด้วยเหตุว่าเป็นโรคใหม่ ในภาษาไทยจึงไม่มีศัพท์ที่ใช้เรียกอย่างเป็นทางการ ดังนั้นผมเลยตั้งชื่อเองไปก่อนว่า “โรคเก็บสะสมของ” ละกันนะครับ

=== พบได้บ่อยแค่ไหน? ===

การศึกษาในต่างประเทศ พบโรคเก็บสะสมของได้ประมาณ 2-5% ในคนทั่วไป
คนที่เป็นส่วนใหญ่มักจะเป็นคนโสด (ถ้าอ่านอาการแล้วจะเข้าใจครับว่าทำไมส่วนใหญ่ถึงโสด) โดยมักจะเริ่มเป็นตั้งแต่วัยรุ่นและเป็นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

=== อาการของโรค ===

1. เก็บของไว้มากเกินไป แม้ว่าของนั้นจะดูไม่ค่อยมีประโยชน์ หรือมีโอกาสใช้ประโยชน์น้อยมาก

2. มีความยากลำบากในการทำใจที่จะทิ้งของ (ตัดใจทิ้งของไม่ได้) โดยส่วนใหญ่เกิดจากความคิดว่า .... “ยังอาจจำเป็นต้องใช้” “อาจจะได้ใช้” ...... (ทั้งๆ ที่ก็ไม่เคยได้ใช้หรอก) หรือทิ้งแล้วจะรู้สึกไม่สบายใจ ก็เลยไม่ทิ้ง

3. ของที่สะสมมีเยอะมากจนรบกวนการใช้ชีวิต หรือทำให้เกิดอันตราย เช่น วางบนพื้นห้องจนไม่มีที่เดิน, วางท่วมล้นบนโต๊ะทำงานจนทำงานบนโต๊ะไม่ได้ หรือของเยอะจนทำให้เจ็บป่วยบ่อย เป็นต้น

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่คิดว่าตัวเองผิดปกติ ส่วนมากมองว่าการเก็บของของตัวเองนั้นสมเหตุสมผล (แต่คนอื่นหรือเพื่อนบ้านจะทนไม่ได้ -_-'')

สิ่งสะสมที่พบได้บ่อยได้แก่ หนังสือ นิตยสาร เสื้อผ้า ถุงพลาสติก และขวดต่างๆ ซึ่งการเก็บของนี้จะเยอะเกินกว่าปกติของคนทั่วไป เช่น เก็บจนล้นกองเต็มทั่วบ้าน เป็นต้น

(คนปกติบางคนอาจจะสะสมของบางอย่าง เช่น ชอบสะสมหนังสือ แต่สามารถเก็บวางไว้ในตู้ หรือจัดเก็บได้อย่างเรียบร้อยจะไม่ถือว่าเป็นโรคนี้)

การสะสมของจำนวนมากๆ แบบนี้หลายครั้งมักทำให้เกิดอันตรายตามมา เช่น บาดเจ็บเพราะหนังสือล้มทับใส่ ห้องรกจนเป็นภูมิแพ้รุนแรง หรือสกปรกจนติดเชื้อ เป็นต้น

=== การดำเนินโรค ===

โดยทั่วไปโรคสะสมของนี้มักเริ่มมีอาการตั้งแต่วัยรุ่น และเป็นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต เพียงแต่โดยส่วนใหญ่ตอนวัยรุ่นอาจจะไม่เป็นปัญหารุนแรงมากนักเพราะของที่สะสมมักจะยังไม่มาก (เพราะเพิ่งเริ่มสะสม) แต่จะเริ่มเป็นปัญหาหนักเมื่อวัยผู้ใหญ่ เพราะของที่สะสมจะเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่พบว่าโรคจะเป็นลักษณะเรื้อรัง ไม่หายขาด โดยอาการอาจจะเป็นเยอะขึ้นเป็นบางช่วง โดยเฉพาะช่วงที่มีความเครียดมักจะมีการสะสมของมากขึ้น

=== การรักษา ===

โรคนี้การรักษาด้วยยาพบว่าได้ผลเล็กน้อย โดยยาที่ใช้เป็นยากลุ่มยาต้านเศร้า (antidepressant)

ส่วนการรักษาที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือการการสอนการตัดสินใจ(ในการเก็บ/ทิ้งของ) การจัดกลุ่ม และการสอนวิธีการเก็บของที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงฝึกให้ทนได้กับการทิ้งของ ซึ่งพบว่าวิธีการเหล่านี้สามารถช่วยลดของที่สะสมลงได้เกือบๆ 1 ใน 3 (ซึ่งก็ถือว่าเยอะแล้ว)

อันนี้มาแถมครับ มีคนถามสาเหตุเนื่องจากเป็นโรคที่ค่อนข้างใหม่ จึงมีข้อมูลการศึกษาน้อยมากเมื่อเทียบกับโรคทางจิตเวชอื่นๆ แต่จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่ากรรมพันธุ์น่าจะมีส่วนต่อการเกิดโรค เพราะพบว่า 80% ของผู้ป่วยจะมีญาติสายตรงที่มีอาการคล้ายๆ กัน การศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ทางสมองพบว่า สมองบางส่วน (เช่น ส่วน cingulate cortex และ occipital lobe) ของผู้ที่เป็นโรคนี้ มีทำงานลดลง ซึ่งน่าจะส่งผลต่อการคิดและการตัดสินใจ

แต่ถ้าถามแบบกลไกทั้งหมด คำตอบคือ ยังไม่รู้ครับ :P

แต่ในบางกรณี หากเริ่มมีอาการเป็นครั้งแรกในตอนอายุมากๆ อาจเกิดจากโรคทางสมองอื่นๆ ได้ เช่น ในโรคสมองเสื่อมบางคนก็มีอาการเก็บสะสมของได้ เป็นต้น

#หมอคลองหลวง :)

ที่มา https://www.facebook.com/ThaiPsychiatricAssociation/photos/a.499791366791551.1073741828.483246708446017/893100724127278/?type=3&theater

ภาพจาก สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย