posttoday

"Pokemon Go" รัฐเตรียมพร้อมรับมือหรือยัง?

07 สิงหาคม 2559

เฟซบุ๊ก Time Chuastapanasiri

เฟซบุ๊ก Time Chuastapanasiri

อย่าวัวหายแล้วล้อมคอก

ส่องมาตรการรัฐ เตรียมพร้อมรับมือดีแล้วหรือยัง?

......

อย่าเข้าใจผมผิดนะครับ ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีนั้นสร้างขึ้นมาเพื่อประโยชน์มากกว่าโทษ แต่ทุกๆอย่างย่อมมีสองด้าน และมีผลกระทบต่อสังคมเสมอ เพียงแต่ว่าเรามองเห็นและตระหนักเรื่องนี้อย่างเข้าใจมากน้อยเพียงใด

ตอนนี้เกมโปเกม่อนกำลังเริ่มระบาด และจะทยอยสร้างความเดือดร้อนต่อผู้ที่ไม่ได้เล่น ทั้งการเล่นที่เกะกะกีดขวางบนท้องถนน การเล่นในขณะขับขี่ การเล่นในพื้นที่สาธารณะ ที่เสี่ยงต่อการละเมิดข้อบังคับด้านความปลอดภัย

มันก็แปลกดี ที่ "หน่วยงานรัฐบ้านเรา" เช่น กสทช.? ประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องนี้โดยตรง ไม่ยักกะออกมากำกับหรือดูแลอะไรเลย???

สงสัยท่านจะยังช็อค หรือกำลังง่วนอยู่กับการทำประชามติ หรืออะไรก็มิอาจทราบได้?

อย่างที่ผมบอก ว่า ประเทศไทย เป็นประเทศ "ปลายทางของผู้ใช้เทคโนโลยี" (end user) คือ "ใช้มันอย่างเดียว" โดยไม่ต้องมีกฎเกณฑ์อะไรที่เป็นเงื่อนไข หรือข้อบังคับในการใช้เทคโนโลยี ซึ่งบ่งบอกว่าบ้านเรานั้น "ด้อยพัฒนาและความรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีอย่างมาก"

เขาเรียกว่า "media and technology literacy" ทักษะการรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยี ซึ่งคือทักษะสำคัญของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21

ญี่ปุ่น หรือ อเมริกา หรือ ยุโรป มีกฎหมาย ข้อบังคับ กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ผู้พัฒนาซอฟแวร์พึงตระหนักและหลายฝ่ายทางด้านภาคประชาสังคม เช่น เครือข่ายพ่อแม่ ครู โรงเรียน ก็มีส่วนในการออกมาเรียกร้องให้ผู้พัฒนาเทคโนโลยี และผู้กำกับดูแลต้องกำกับควบคุมเทคโนโลยีของบริษัทเอกชนต่างๆ ให้มีความปลอดภัยและมั่นคง (safe and secure) โดยเฉพาะการปกป้องผู้ใช้ที่อาจเป็นเด็กและเยาวชน (กระทั่งผู้ใหญ่ และ ผู้ที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีนั้น แต่ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยอ้อม จากเทคโนโลยีนั้น)

ขณะที่ "ผู้เล่นเกม" มัก มองไม่เห็นผลกระทบของตนเองที่มีต่อคนอื่นๆ และสังคมรอบด้าน เพราะมองแต่เพียงว่า "นี่มือถือของฉัน ชีวิตฉัน เงินฉัน เวลาของฉัน สุขภาพของฉัน ฉันจะทำอะไรอย่างไรก็ได้"

มือถือทำให้ "ลัทธิปัจเจกชนนิยมและอัตตาผู้คนบวมเป่ง" คือ การไม่เคารพพื้นที่ บริบท และผู้คนอื่นๆ ที่อาศัยรวมกันในสังคม

ผมต้องขอชื่นชมผู้ที่พัฒนาเกม ว่าเก่ง แต่ขณะเดียวกัน ผมขอตำหนิ ในความคิดที่ไม่รอบคอ รอบด้านของบริษัทเอกชน ที่ฉกฉวยเอาจุดช่องโหว่วตรงนี้มาใช้

ใช่หรือไม่ว่า เกมโปเกม่อน ตอนนี้ คือ "การรุกพื้นที่ทางกายภาพด้วยความจริงเสมือน" และการเล่นเกมที่ไม่รู้จักกาลเทศะ นั้นคือการรุกล้ำพื้นที่และความปลอดภัยของคนที่ไม่ได้เล่นเกม

เรื่องนี้ฝากคนเล่นเกม คิดถึงมารยาททางสังคมแห่งการใช้พื้นที่สาธารณะด้วยนะครับ

โลกยุค 4.0 ได้คืบคลานเข้ามาแล้วในวันนี้

WEB 1.0 คือ website สมัยที่อินเทอร์เน็ต ทำได้เพียงแค่ "อ่านอย่างเดียว"

WEB 2.0 คือ weblog ที่เราสามารถพิมพ์แสดงความคิดเห็นเพิ่มได้ด้วย

WEB 3.0 คือ social media ที่เราสามารถคัดกรอง แชร์ แบ่งปันความรู้สึกนึกคิดผ่านเครือข่ายความสัมพันธ์ของผู้คน

วันนี้ WEB 4.0 คือ โลกที่ เทคโนโลยี AR/VR - augmented reality (ความจริงเพิ่มขยาย) และ Virtuality (ความเสมือนจริง) กำลังมาทาบทับเป็นหนึ่งเดียวกับความจริงทางกายภาพ

ผมคิดว่า ภายในสักเวลาหนึ่งเดือน ประเทศไทยจะได้ยินข่าวเช่น

- ผู้เล่นเกิดอุบัติเหตุ รถชน หรือ เดินข้ามถนนโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ

- ผู้เล่นพลัดตกคู คลอง ท่อ เพราะเพลิดเพลินกับการเดินจับโปเกม่อน

- ผู้เล่นถูกปล้น จี้ ชิงทรัพย์ จากมิจฉาชีพ ที่คอยดักจี้ปล้น

- ผู้เล่นเด็ก ถูกล่อลวงโดยอาชญากร ดักจับ ลักพาตัวไป

- ผู้เล่น เสียงาน เสียการ เพียงเพราะเสพติดและทุ่มเวลามากเกินไปในการเล่น

- ผู้เล่น เสียเงินและค่าดาต้าอินเทอร์เน็ตมหาศาล และจ่ายเงินจริงๆ ที่หามาได้เพียงเพราะต้องการซื้อของ ซื้อไอเท็มในเกม

- มีการซื้อขายไอเท็ม โดยการแลกเปลี่ยนกับบางอย่าง เช่น เงิน ยาเสพติด เซ็กส์ หรือ การละเลยทอดทิ้งเด็ก (หลายปีก่อน พ่อแม่คู่หนึ่งในจีน ประกาศขายทารกน้อยของตนเอง เพื่อเอาเงินไปซื้อเล่นเกมออนไลน์มาแล้ว )

ผมยืนยันว่า "เกมไม่ผิด เทคโนโลยีไม่ผิด" เพราะปัญหาที่แท้จริง คือ มนุษย์ตกเป็นรองเป็นทาสขอเทคโนโลยี - ในทางนิเทศศาสตร์ เราอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากการใช้งานเทคโนโลยี ตามทฤษฏีที่เรียกว่า "technology determinism" ทฤษฏีเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนด คนเล่นเกมมองไม่เห็นว่าตนเองสร้างผลกระทบต่อผู้อื่นอย่างไร มองว่าตนเองไม่เกี่ยวกับส่วนรวม เพราะ ขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมานานแล้ว ตั้งแต่เป็นโรคติดโทรศัพท์มือถือ

คนติดมือถือ สะท้อนความบกพร่องทางสังคมอย่างหนึ่ง คือ ขาดทักษะทางชีวิตจริงและหลงผิดว่าโลกเสมือนจริงคือโลกที่แท้จริง

ความสนุกของเกม ทำให้ลืมมองโลกว่ามีเรื่องสนุก เพราะในเกม เป็นความสนุกที่่ตนเองควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ มันน่าตื่นเต้นกว่า เร้าใจกว่าจึงทำให้มองว่าโลกจริงๆ นั้นน่าเบื่อ

เมื่อ "ความสนุกในโลกเสมือนจริง มันสนุกมากเสียยิ่งกว่าความสนุกในโลกทางกายภาพ" ผู้คนเสพติดเกม ก็มักจะยกข้ออ้างมาสนับสนุนข้อดีด้านดีของเกมเพื่อบอกว่า โลกในเกมนั้นดีกว่าโลกจริงๆ มากมาย (คล้ายๆ ในหนังไซไฟวิทยาศาสตร์หลายๆ เรื่อง เช่น The Matrix, Surrogate)

สิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้ คือ หน่วยงานรัฐไทย่่มีความรู้ ความพร้อมต่อการปฏิบัติหน้าที่ตนเองหรือยังครับ

1. กสทช. : มีหน้าที่กำกับโดยตรงเลยครับ ควรหารือเพื่อออกมาตรการกำกับเทคโนโลยีนี้โดยเร่งด่วน ตั้งแต่มาตรการจำกัดอายุผู้เล่น มาตรการด้านราคาค่าบริการ มาตรการ้านข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้เล่น และ การเยียวคุ้มครองผู้บริโภคคนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีนี้ ควรเรียกผู้นำเข้าและผู้ให้บริการค่ายโทรศัพท์มือถือ มากำกับ และควรออกประกาศให้ผู้ให้บริการมือถือค่ายต่างๆ ออกซิมเด็ก โดยเฉพาะได้แล้ว และควรใช้ซิมือถือเด็ก เป็นบริการจดทะเบียนโดยพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่เข้าระบบรายเดือน หรือมีมาตรการกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายบริการ ไม่ใช่ปล่อยให้ค่ายมือถือรุกคืบเอาประโยชน์กำไรจากผู้บริโภคที่ไม่รู้เท่าทันภาคธุรกิจเอกชนอย่างนี้

2. การรถไฟ การท่าเรือ รถไฟฟ้ากทม ทั้ง MRT และ BTS และเรือยนต์โดยสารตามท่าต่างๆ ควร เร่งออกประกาศคำสั่งห้ามผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ จับเล่นเกมโปเกม่อน บริเวณสถานี ทั้งบันไดเลื่อน บันได บริเวณชานชาลา และในรถไฟฟ้า และบริเวณท่าน้ำ โป๊ะ จุดขึ้นลงเรือโดยสารด้วย

3. โรงเรียน มหาวิทยาลัย บรรดาผู้บริหารโรงเรียนทั้งหลาย ควรมอบเป็นนโยบายให้ครูประจำชั้น และครูอื่นๆ กำชับไม่ให้เล่นเกมนี้ในบริเวณโรงเรียนโดยเด็ดขาด และระมัดระวังพื้นที่ด้านรอบข้างโรงเรียน เช่น ถนนหน้าโรงเรียน หรือพื้นที่จุดรับส่งเด็กนักเรียน

4. กระทรวงศึกษาธิการ เร่งส่งเสริมวิชาเรียนรู้เท่าทันสื่อ และเทคโนโลยี ให้กับคุณครูผู้สอน และจัดอบรพ่อแม่ผู้ปกครองให้รู้เท่าทันภัยและอันตราย หรือิทธิพลที่มาจากเทคโนโลยีด้วย เพราะ พ่อแม่ดูจะมีปัญหานี้มาก ขาดความรู้ที่จะบอกกล่าวตักเตือนลูกๆ

อ้อ!! อย่าลืมกำชับครูด้วยว่า ไม่ให้เล่นในขณะที่อยู่ในโรงเรียน กำลังสอน หรือขณะทำกิจกรรมกับเด็ก

5. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ออกมาตรการห้ามเล่นกมนี้ ในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เช่น อุทยานปประวัติศาสตรื โบราณสถาน โบราณวัตถุ และห้ามใช้ไม้เซลฟี่ หรือ โดรน ในบางจุดที่มีความเสี่ยงที่ผู้เล่นจะใช้เครื่องเล่นนี้ จับสัตว์โปเกม่อน

6. กระทรวงไอซีที ควรหารือเพื่อออกมาตรการป้องกันและคุ้มครองกระบวนการอาชญากรรมทั้งหมดที่เสี่ยงต่อผู้เล่นที่เป็นเด็กและเยาวชนอย่างเร่งด่วน (กระบวนการ Phishing หรือ Pharming) และความปลอดภัยทางด้านการเงิน ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหลาย ที่กำลังจะเกิดขึ้น

เพราะรัฐไทยนั้นช้า ไม่ทันภาคธุรกิจเอกชน ก็เลยทำให้เมืองไทย ชอบแก้ปัญหาแบบวัวหายล้อมคอก!

ที่มาจากเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10153989110513732&set=a.483861243731.261519.720008731&type=3&theater