posttoday

ตำรวจไทยไม่เข้าใจจิตวิทยาในการเกลี้ยกล่อม "ไม่ให้ฆ่าตัวตาย"

22 พฤษภาคม 2559

เฟซบุ๊ก Arnond Sakworawich

เฟซบุ๊ก Arnond Sakworawich

กระบวนการเจรจาที่ล้มเหลว ตำรวจไทยไม่เข้าใจจิตวิทยาในการเกลี้ยกล่อม ดร.วันชัย ไม่ให้ฆ่าตัวตาย

อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence สาขาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร (นิด้า)

ผมนั่งดูโทรทัศน์การถ่ายทอดสด live เหตุการณ์ที่ตำรวจจะเข้าจับกุม ดร. วันชัย ดนัยตโมนุท ผู้ก่อเหตุฆ่า ดร.พิชัย ชัยสงคราม และ ดร.ณัฐพล ชุมวรฐายี อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ทั้งนี้เหตุการณ์ในการจับกุมตัวเกิดขึ้นที่โรงแรมสุภาพ ย่านสะพานควาย และสถานีโทรทัศน์แทบทุกช่องถ่ายทอดสดเหตุการณ์ดังกล่าวที่ ดร. วันชัย พยายามฆ่าตัวตายและตำรวจกับญาติพยายามเกลี้ยกล่อมให้มอบตัวและไม่ฆ่าตัวตาย

ทั้งนี้วิธีการที่ตำรวจเกลี้ยกล่อมตั้งแต่เที่ยงยันหกโมงเย็นเป็นเวลายาวนานมาก ดร. วันชัย ย่อมเครียด เพลีย และเหนื่อย อีกทั้งอากาศก็ร้อนมาก ผลสุดท้ายนั้น ดร. วันชัย ยิงปืนจ่อเข้าขมับขวาเพื่อฆ่าตัวตาย แม้ผู้ตายวางแผนไว้ก่อนและไตร่ตรองล่วงหน้าว่าจะลาโลก แต่หากมีการเจรจาที่ดีกว่านี้ ผลอาจจะไม่เป็นเช่นนี้

ผมได้นั่งดูในโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดสดขอตั้งข้อสังเกตดังนี้

1. การถ่ายทอดสดการฆ่าตัวตายจะเป็นตัวแบบ (Model) ในการฆ่าตัวตายต่อไปกับคนที่คิดจะฆ่าตัวตาย คนเราเรียนรู้จากการสังเกต (Observation learning) ตามแนวคิดของทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning Theory) ของ Albert Bandura ข้อนี้ต่อไปจะมีคนเลียนแบบการฆ่าตัวตายด้วยวิธีการนี้มากขึ้น เพราะมีตัวอย่างให้เห็นแล้ว และสื่อมวลชนไทยแทบทุกช่องได้มีส่วนร่วมด้วยช่วยกันถ่ายทอดสดการฆ่าตัวตายให้คนไทยและเยาวชนไทยนับล้านๆ คนได้ดูเป็นตัวอย่าง นี่อาจจะเป็นการถ่ายทอดสดการฆ่าตัวตายที่มีคนชมมากที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทยหรือของโลก

2. การให้นักข่าวเข้าไปถ่ายทอดสดมากๆ เห็นกล้องมากขนาดนั้นสร้างความกดดันแก่คนที่คิดฆ่าตัวตายมาก การที่ตกเป็นข่าวเช่นนี้และมีนักข่าวมาจ้องเป็นร้อยๆ หากไม่ฆ่าตัวตายจริง แล้วมีชีวิตอยู่รอด ชีวิตก็คงเสียชื่อเสียงมาก แม้จะถูกดำเนินคดีแล้วก็ตาม คำถามคือตำรวจคือ บชน หรือ หน่วยอรินทราช ทำไมจึงปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ นักข่าวมาเองหรือเรียกมานั้นก็ไม่สำคัญ แต่ต้องจัดการให้ได้และดีกว่านี้ ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ให้กระบวนการเจรจาในภาวะวิกฤติที่คนถือปืนจะฆ่าตัวตายถ่ายทอดสดกันขนาดนี้ เป็นการสร้างความกดดันให้กับผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายเป็นอย่างยิ่ง กล้องนับร้อยๆ ตัว คนดูนับล้าน มีผลมาก

3. การปล่อยให้พี่สาวกับนักศึกษา (ไม่แน่ใจว่าความสัมพันธ์คืออะไรกันแน่ บางกระแสบอกว่าเป็นหัวหน้างานเก่า) ใส่เสื้อเกราะเข้าไปใกล้ในระยะประชิดเช่นนั้น ต้องคิดให้รอบคอบ และควรมีนักจิตวิทยาคลินิคเข้าไปให้คำแนะนำ เรื่องที่ควรพูดคือ ความผูกพัน (attachment) ระหว่างครอบครัว ความผูกพันทางจิตใจ ต้องพยายามให้ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ (Meaning of life) ซึ่งสำคัญมาก หนังสือคลาสสิคทางจิตบำบัดซี่งเขียนโดยจิตแพทย์ชาวยิวชื่อ Victor Frankl ผู้สูญเสียทุกคนในครอบครัวที่เขารักในค่ายกักกันสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ชื่อ A man search for meaning อธิบายเรื่องเหล่านี้ไว้ชัดเจนมาก

สิ่งที่ขัดสายตามากที่สุดคือการที่พี่สาวและนักศึกษาใช้โทรโข่งในการพูดกับผู้ตาย การใช้โทรโข่งนั้นเป็นวิธีการที่ลดความเป็นมนุษย์ (Dehumanize) ในการพูดกันสื่อสารกันกับคนที่พยายามฆ่าตัวตายลงไป และนอกจากนี้ยังทำให้ผู้ที่เข้าไปเกลี้ยกล่อม ไม่กล้าพูดถึงเรื่อง attachment ส่วนตัวในครอบครัวหรือ emotional bonding แบบลึกสุดใจ เพราะขาดความเป็นส่วนตัวที่จะพูดต่อโทรโข่ง แม้ว่าจะมีเสียงรบกวน ตำรวจน่าจะจัดการเรื่องเสียงรบกวนมากกว่า ให้ใช้เสียงธรรมชาติในการเจรจาเกลี้ยกล่อมจะได้ผลมากกว่าทั้งสำหรับผู้พยายามฆ่าตัวตายและผู้เจรจา

4. การที่ตำรวจปรบมือเป็นระยะเมื่อ ดร. วันชัย ยอมดื่มน้ำ หรือลดปืนลง เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม ท่าทางในการปรบมือ นั้นทำให้ ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายรู้สึกกดดัน และรู้สึกว่ามีคนกำลังชมการแสดงอยู่ การปรบมือกับสายตานั้นไม่สอดคล้องกัน ผู้พยายามฆ่าตัวตายย่อมอ่านสายตาผู้ปรบมือซึ่งคือเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ การปรบมือแบบนั้นทำให้ลดความรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ มนุษย์ทุกคนย่อมรับรู้ด้วยสายตาและใจได้ว่าการกระทำต่างๆ รวมถึงการปรบมือนั้นเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติหรือไม่ หรือเป็นการเล่นละคร การปรบมือเป็นระยะเช่นนั้นทำให้ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายรู้สึกว่าตนเองเป็นเด็กเล็กๆ ที่ไม่มีวุฒิภาวะ และเป็นการเร้าให้เกิดความเครียดมากขึ้น

5. ผมเห็นว่าตำรวจพูดเยอะมาก และพี่สาวที่ไปเจรจาก็พูดเยอะมาก เวลาวิกฤติอย่างนี้ คนที่เครียด คือ ดร. วันชัย ต่างหากที่ควรจะได้พูดสิ่งที่อยู่ในใจออกมาให้มาก การพูดออกมาทำให้ระบายความเครียดและอารมณ์ในจิตใจ การที่ตำรวจแย่งพูด การที่พูดมากๆ คนฟังยิ่งได้ข้อมูลมากขึ้นเครียดมากขึ้น รอวันระเบิดอารมณ์ออกมาเท่านั้นเอง การได้พูดเป็นการระบายอารมณ์ (Emotional venting) สิ่งที่ควรทำคือต้องให้ ดร. วันชัยได้พูดออกมาให้หมดจดหมดใจต่างหาก หลักสำคัญของการเจรจาน่าจะเป็นการที่ผู้พยายามฆ่าตัวตายได้พูดแต่เที่ยวนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น

6. การที่ ดร. วันชัย ถอยร่นออกไปเรื่อยๆ และอีกฝ่ายคือครอบครัวและตำรวจรุกคืบเข้าไปเรื่อยๆ ทำให้พื้นที่ส่วนตัว (Personal space) และระยะปลอดภัย (Safety zone) ของ ดร. วันชัย ลดลงไปเรื่อยๆ ทำให้อีดอัดมากขึ้น เครียดมากขึ้น ฝ่ายหนึ่งถอย อีกฝ่ายหนึ่งรุกไล่ไปเรื่อยๆ ความเครียดของฝ่ายที่ถอย ย่อมมากกว่า เรื่องนี้เป็นหลักทั่วไปทางจิตวิทยา

7. การที่นายตำรวจในเสื้อขาว ทราบว่าคือ ผบชน. เข้าไปเปิดค้นรถของ ดร. วันชัย รื้อเอกสารออกมาดูจากหลังรถ และโยนทิ้งลงไป ทำให้ ดร วันชัย รู้สึกเสียเกียรติ ทำให้ ดร. วันชัย ซึ่งใช้รถเป็นเกราะหรือทางออกสุดท้ายในการหาทางออกหรือการหลบหนี หมดทางหนี หมดทางออก รถเป็นพื้นที่ส่วนตัวอย่างหนึ่ง และเป็นทางหนีด้วย การไปบุกรุกและยึดครองพื้นที่ส่วนตัวทำให้ ดร. วันชัย รู้สึกกดดันมาก และรู้สึกว่าตัวเองไม่มีพื้นที่ส่วนตัวและทางหนีอีกแล้ว หลังจาก ผบชน ไปครองรถและรื้อรถได้ไม่นาน ดร. วันชัย ก็ฆ่าตัวตาย

จากการถ่ายทอดสดที่ได้รับชมดังกล่าว ทำให้รู้สึกว่า

1. สื่อมวลชนคงต้องเรียนรู้วิธีการถ่ายทอดสดเหตุการณ์ดังกล่าวให้ดีกว่านี้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางลบต่อสังคมในอนาคต

2. ตำรวจควรเข้าใจจิตวิทยาในการเกลี้ยกล่อมมากกว่านี้

3. ควรมีนักจิตวิทยาคลินิค เข้าไปช่วยคลี่คลายเหตุการณ์ โดยใช้หลักจิตวิทยา ใจเขาใจเรา ผลอาจจะไม่ออกมาเช่นนี้ก็ได้

ขอแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสียทุกฝ่าย

ขอแสดงความเสียใจกับประเทศไทยที่เรากำลังสร้างตัวแบบในการฆ่าตัวตายให้คนไทยและเด็กไทยได้ชมผ่านโทรทัศน์พร้อมๆ กันนับล้านๆ คน ทั่วประเทศ

ที่มา https://www.facebook.com/Arnond.s/posts/10154268152797728