posttoday

พระสงฆ์ และชาวพุทธ มีการบ้านอื้อใน รธน.ใหม่

24 เมษายน 2559

สมาน สุดโต

โดย...สมาน สุดโต

หมายเหตุ : ผู้มีอำนาจโปรดทราบข้อเขียนต่อไปนี้เป็นการแสดงความคิดเห็นในมาตรา 67 ในร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น มิได้รณรงค์รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ว่าด้วยเรื่องศาสนา เพียงมาตราเดียว ก็หนักมาก ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ พระสงฆ์และชาวพุทธจะมีการบ้านอื้อเลย เพราะเนื้อหาในบทบัญญัติจี้ตรงประเด็นเรื่องการศึกษา การเผยแผ่ และการปกป้องคุ้มครองที่เป็นจุดอ่อนของพุทธเถรวาท ที่รอคอยการยกเครื่องมานานนัก

ในขณะที่นักวิชาการศาสนาวิจารณ์ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ลำเอียง ที่บัญญัติว่าในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย

ท่านผู้มีเกียรติอ้างว่า การไปเน้นเถรวาท เหมือนไม่สนับสนุนนิกายอื่น เช่น บรรพชิตจีนและอนัมนิกาย ส่วนผู้เขียนว่าถ้าพิจารณาให้ถ่องแท้ มาตรา 67 ให้ความเป็นธรรมทุกศาสนา และนิกายอื่นในพระพุทธศาสนา เพราะบัญญัติว่ารัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น

ส่วนที่บัญญัติเน้นว่ารัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา นั้น ผู้เขียนเห็นว่าเป็นบทบัญญัติที่สร้างสรรค์ มุ่งแก้จุดอ่อนของพุทธเถรวาทได้ตรง และถูกต้องที่สุด เพราะพุทธเถรวาทที่สอนๆ กันไม่ได้ก่อปัญญา หรือความรู้ลึกซึ้ง จึงเห็นชาวพุทธติดพิธีกรรม ทำตัวส่งเสริมฮินดู ลุ่มหลงไสยศาสตร์ แม้กระทั่งพระเถระผู้ใหญ่ก็ยังเสกน้ำมัน ปั้นน้ำมนต์ ฟุ้งเฟ้อเหมือนเศรษฐี ไฮโซ เป็นคำถามของชาวพุทธเสมอว่า ไหนว่าละแล้ว

การจะหาชาวพุทธและพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก และพุทธวจนะนั้น หาได้ยากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร ซึ่งเป็นมานานแล้ว ทั้งนี้เพราะระบบการเรียนการสอนให้เข้าถึงหลักธรรมเถรวาทอ่อนปวกเปียก ขาดเป้าหมายชัดเจน ผู้เรียนมุ่งเพื่อสอบให้ได้แต่ละชั้น มากกว่าหาความรู้ ความเข้าใจในพระธรรมคำสอนที่ประเสริฐ

ดูได้จากหลักสูตรนักธรรมที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2435 หรือ 124  ปีมาแล้ว มิได้มีเป้าหมายล้ำลึก แรกทีเดียวก็ยกร่างให้พระนวกะ (พระบวชใหม่) เรียนในวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อมี พ.ร.บ.เกณฑ์ทหาร พ.ศ. 2488 ก็ช่วยให้ภิกษุสามเณรไม่ต้องเกณฑ์ทหาร ถ้าสอบได้องค์ธรรม ส่วนหลักสูตรธรรมศึกษาทุกระดับสำหรับฆราวาส เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2472 ก็สอนตามหลักสูตรนักธรรม ปัจจุบันนับจำนวนว่าปีหนึ่งมีผู้เข้าสอบเท่าไร เป็นตัวชี้วัดแม่กองธรรม แต่ไม่ใช่ตัวชี้วัดการรู้ธรรม แต่รับประกาศนียบัตรไป 1 ใบ

ส่วนการเรียนการสอบภาษาบาลี พัฒนาจากสอบปากเปล่ามาเป็นวิธีเขียนในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยใช้หลักสูตรที่สมเด็พระมหาสมณเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวโรรส ร่างขึ้นตั้งแต่ชั้นเปรียญตรีถึงเปรียญเอก แต่เรียนจบชั้นสูงสุดก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลี เพราะเป็นระบบท่องจำ เมื่อสอบบาลีได้ จะได้รับประกาศนียบัตร 1 ใบ และพัดเปรียญอีก 1 เล่ม

หลักสูตรทั้งหลายนี้ไม่เคยปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง และไม่เคยสำรวจผลสัมฤทธิ์ เพราะผู้เกี่ยวข้องไม่ทำ อ้างว่าแตะต้องไม่ได้ ดังนั้นการเรียนรู้หลักธรรม มิได้เป็นไปเพื่อพัฒนาจิตใจและปัญญา มีแต่ขาดๆ เกินๆ นานนับศตวรรษ

การจะให้การศึกษาเป็นไปเพื่อพัฒนาจิตใจและปัญญาตามหลักเถรวาท ต้องฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐานที่หลักสูตรนักธรรมไม่ได้เน้น นอกจากพระเถระบางรูปเห็นความสำคัญ จึงพัฒนาหลักสูตร และการฝึกอบรมขึ้น ดังเช่นสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ศ.ดร.สมศักดิ์ ป.ธ.9) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้สร้างหลักสูตรสอนวิปัสสนาภาวนา ระดับมหาบัณฑิต ที่วิทยาเขตบาฬีพุทธโฆส มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเปิดสำนักอบรมวิปัสสนาที่ อ.ปากช่อง เพื่ออบรมพระเถระที่ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์และเจ้าอาวาสใหม่ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์อบรมใน 18 ภาค เพื่อสร้างพระวิปัสสนาจารย์ แต่เป็นการดำเนินการในฐานะประธานศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อบัญญัติในรัฐธรรมนูญเปิดทางให้อย่างนี้ คณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคมต้องปฏิรูปการศึกษา ปรับปรุงการเรียนการศึกษาพระธรรมวินัยให้มีเป้าหมายชัดเจน ว่าเรียนจบประโยคแล้วจะต้องได้อะไร และทำอะไรได้ มิใช่แค่ถือแผ่นประกาศนียบัตร และพัดเปรียญเท่านั้น

ส่วนบทบัญญัติที่เกี่ยวกับมาตรการปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนานั้น เป็นบัญญัติที่เป็นรูปธรรม ถูกใจชาววัดและชาวบ้าน เพราะปัจจุบันได้แต่ทอดถอนใจ เมื่อเห็นอลัชชี หรือบุคคลทั้งที่เป็นชาวพุทธและศาสนาอื่นๆ จ้วงจาบ ล่วงเกินดูหมิ่น เหยียดหยามพระพุทธศาสนในหลากหลายวิธี แต่ไม่มีเครื่องมือไปจัดการ

จึงหวังว่ามาตรา 67 แห่งร่างรัฐธรรมนูญจะให้เครื่องมือ ก่อให้เกิดปฏิรูปการศึกษา และการปกครองคณะสงฆ์ ยกระดับให้เป็นองค์กรชั้นนำของสังคม ที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เอื้อต่อกฎหมาย และพระธรรมวินัย

ร่างรัฐธรรมนูญ มีผลบังคับเมื่อไร คณะสงฆ์และชาวพุทธมีการบ้านอื้อเลยละครับ